ศิลปะและการถ่ายทอดสื่อสารเพื่อนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยบูรณาการ


....ผมเห็นจุดร่วมของทักษะปัจเจกที่กำกับด้วยสมองซีกซ้ายและซีกขวา ที่ลงตัวอยู่ในตัวเองของแต่ละคน เห็นการส่องทางให้กันของความเป็นวิทยาศาสตร์ในศิลปะ และองค์ประกอบศิลปะในความเป็นวิทยาศาสตร์ แม้แต่ละคนจะเข้าสู่สาระและความเป็นจริงต่างๆ ด้วยวิถีและวิธีที่แตกต่างกัน ทว่า ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ ความปีติยินดี สันติและความงอกงามภายใน อาจเข้าถึงร่วมกันได้....

              มหาวิทยาลัยมหิดล  หนุนให้ทีมสหสาขาจากหลายคณะและสถาบัน  ทำวิจัยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ร่วมกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นคณะและสถาบันทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ และได้นำร่องโดยใช้ชุมชนเป็นฐานปฏิบัติการวิจัย (Community-Based Program) การพัฒนากรอบดำเนินงานแบบผสมผสานหลายสาขา ทำให้ต้องเรียนรู้เพื่อจัดการกับปัญหาทางการปฏิบัติเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำไปก็ยิ่งพบว่า การที่เราพัฒนาตนเองมาอย่างแยกส่วนนั้น ทำให้เราต้องใช้พลังงานในการที่จะเป็นทีมและเครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ด้วยกัน ที่มากมายเป็นอย่างยิ่ง  ตัวตนและพรมแดนทางวิชาชีพ ก่อให้เกิดช่องว่างเต็มไปหมด แม้แต่ความพยายามที่จะสื่อความเข้าใจกันในเรื่องที่เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เมื่อคิดและตัดสินใจคนเดียว  สาขาเดียว  ทว่า  พอเรียนรู้เป็นทีมสหสาขา  กลับไม่ช่วยให้ยิ่งง่ายอย่างที่คิด  การวางตัวเองลงก่อน  ทั้งตัวตน  ความรู้  ความเชี่ยวชาญ  รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือที่ต่างก็เป็นความเชี่ยวชาญของตน  อาจจะทำให้สามารถขึ้นกรอบการทำงานใหม่ๆ และสร้างบริบทจากการปฏิบัติ  ให้ทีมมีพื้นฐานการทำงานในแนวทางใหม่ๆได้

              เมื่อมีแนวคิดดังกล่าวร่วมกัน  เครื่องมือที่นำเอามาใช้ก็คือ การเรียนรู้ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และเนื่องจากเป็นระยะแรกๆ ซึ่งสารัตถะของการทำงานยังไม่ลงลึกและไม่ยุ่งยากอะไรมากนัก  ผมเลยขออาสาเป็นผู้ออกแบบและจัดกระบวนการให้  เครื่องมือการเรียนรู้ชุมชน  ที่สามารถใช้ทักษะปัจเจกและการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เป็นหลัก  ถูกดึงออกมาใช้เยอะแยะ  รวมทั้งดัดแปลงของท่านอื่นๆด้วย เช่น การทำแผนที่เดินดินและการสำรวจผังเครือญาติ ของคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  แห่งสำนักวิจัยสังคมสุขภาพ  สวรส การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพบางด้าน ของ ดร.ลือชัย  ศรีเงินยวง แห่งสังคมศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยมหิดล 

               ฐานคิดของเราก็คือ  การพากันหาประสบการณ์และการเรียนรู้เชิงประจักษ์ จากการเรียนรู้ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมด้วยกัน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับตัวตนของปัจเจกและตัวตนของทีม ที่เอื้อต่อการทำงานวิจัยแบบบูรณาการในระยะต่อไปได้  ความเข้าใจชุมชน  จะช่วยให้เราได้ทัศนะที่คลายความติดยึดกับกรอบของแต่ละสาขา  ได้จิตใจอย่างใหม่  อีกทั้งช่วยวางกรอบการคิดจากประสบการณ์ เพื่อระดมพลังสร้างสรรค์การทำงานด้วยกันบนเงื่อนไขอย่างใหม่ (Re-setting Context)

               ส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ชุมชนดังกล่าว  ผมได้ใช้การวาดรูป  วาดแผนที่และแผนภาพต่างๆที่เกี่ยวกับชุมชน  รวมทั้งเน้นให้ช่วยกันลดอุปสรรคในการสื่อความเข้าใจกัน (Communication Barriers) โดยใช้การวาดรูป ทำสื่อ และทำเครื่องมือการวิจัย  ทั้งเพื่อการเก็บข้อมูล  การสื่อสารและการนำเสนอต่างๆเกี่ยวกับการวิจัย  ให้มีพลังในการเข้าถึงความรุ้สึกและก่อเกิดความเข้าอกเข้าใจกัน  ทั้งในหมู่ทีมวิจัยและกับชาวบ้านหลากอาชีพ  เหนือการใช้ถ้อยคำและภาษา

              ผลของกระบวนการดังกล่าว  ช่วยให้ทีมมีความคืบหน้าในการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ดีขึ้นมากทีเดียว การได้เหนื่อยยาก และการได้ปฏิบัติ  ตลอดจนการได้สัมผัสกับชีวิตของชุมชนด้วยตนเองด้วยกัน ให้ได้ การรู้และประจักษ์แก่ตนเอง เกิดขึ้นในหมู่นักวิจัย ทำให้มีพื้นฐานในการฝ่าข้ามอุปสรรคที่คาดเดาไม่ได้ระหว่างการปฏิบัติ ได้พอสมควร

              จะด้วยความสนใจเป็นทุนเดิมของนักวิจัยหรือเห็นผลดีจากการปฏิบัติงานในสนามด้วยกันหรืออย่างไรก็แล้วแต่  ทีมได้ขอให้ผมจัดอบรม การวาดรูปและการทำ Mind Mapping  เสริมศักยภาพให้แก่ทีมอย่างเป็นการเฉพาะ.... เพื่อเป็นเครื่องมือการวิจัยให้แก่ทีมวิจัยบูรณาการ ประมาณนั้น

              เป็นเรื่องที่น่าท้าทายสำหรับทีมนักวิจัยมาก  แต่ที่มากกว่าคือ จัดว่าเป็นความท้าทายสำหรับผมอย่างยิ่ง  เพราะกลุ่มผู้ขอเรียนรู้เรื่องนี้  ล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสาขาที่เรียกว่า Hard Sciences  อีกทั้งบางส่วน  ก็เป็นนักวิจัยอาวุโสที่สวมหมวกผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล อีกใบหนึ่ง  กระบวนการต่างๆคงจะเกิดความยุ่งยากจากการสื่อสารข้ามสาขา (Cross-discipline Communication for Transform)เป็นอย่างยิ่ง เราไปจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ฝึกใช้เครื่องมือทางการวาด การพัฒนาการคิด และการถ่ายทอดสื่อสาร ด้วยการวาดรูปแบบต่างๆ หามรุ่งหามค่ำ 3 วัน 2 คืน ผลที่เกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นการอบรม  และต่อจากนั้น เมื่อกลับมาทำงานร่วมกันต่อไปอีก  ก็พบว่า เรามีเครื่องมือช่วยการทำงานเป็นกลุ่มวิจัยแบบข้ามสาขา ได้ดีขึ้น  ทีมวิจัย  มีความเป็นบูรณาการอยู่ในตัวเอง และสามารถดำเนินการวิจัยแบบข้ามกรอบสาขาวิชา ได้ดีกว่าเดิม  เป็นประสบการณ์ที่ดีมากจริงๆ

               ผมเห็นจุดร่วมของทักษะปัจเจกที่กำกับด้วยสมองซีกซ้ายและซีกขวา ที่ลงตัวอยู่ในตัวเองของแต่ละคน  เห็นการส่องทางให้กันของความเป็นวิทยาศาสตร์ในศิลปะ  และองค์ประกอบศิลปะในความเป็นวิทยาศาสตร์  แม้แต่ละคนจะเข้าสู่สาระและความเป็นจริงต่างๆ  ด้วยวิถีและวิธีที่แตกต่างกัน ทว่า ความเข้าใจ  ความตระหนักรู้ ความปีติยินดี   สันติและความงอกงามภายใน  อาจเข้าถึงร่วมกันได้

หมายเลขบันทึก: 26307เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2006 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
       ลืมไป  โครงการที่ผมนำมาบันทึกเก็บตกไว้นี้ คือ โครงการเครือข่ายการวิจัยบูรณาการเพื่อการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง  โครงการชุมชนคลองใหม่  อำเภอสามพราณ จังหวัดนครปฐม  เป็น 1 ใน 6 ของเครือข่ายการวิจัยล่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะและสถาบันที่ร่วมกันทำ มีหลายสาขา คณะสาธารณสุขศาสตร์  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน  คณะเทคนิคการแพทย์  คณะพยาบาลศาสตร์  สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

จะด้วยความสนใจเป็นทุนเดิมของนักวิจัยหรือเห็นผลดีจากการปฏิบัติงานในสนามด้วยกันหรืออย่างไรก็แล้วแต่  ทีมได้ขอให้ผมจัดอบรม การวาดรูปและการทำ Mind Mapping  เสริมศักยภาพให้แก่ทีมอย่างเป็นการเฉพาะ.... เพื่อเป็นเครื่องมือการวิจัยให้แก่ทีมวิจัยบูรณาการ ประมาณนั้น

ศิลปะใครว่าไม่สำคํยเน๊าะท่านอาจารย์...

อ้าว แล้วใครล่ะว่าไม่สำคัญฮึครูอ้อยเล็ก สำหรับกิจกรรมกับกลุ่มที่ผมนำมาเล่านี้ เป็นเหมือนการพัฒนาการทำวิจัยสุขภาพชุมชนที่ผสมผสานมิติใหม่ๆเข้าด้วยกันน่ะครับ เป็นบทเรียนจากการได้เจอของจริงและจากกลุ่มคนที่อยู่แถวหน้าในศาสตร์ของเขา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ดีของสังคมเลยอยากบันทึกและรายงานทิ้งๆไว้ครับ หากไม่สามารถดึงให้เข้ากับวิถีคตนเองได้อย่างสนิท คนอื่นก็จะได้มีแง่มุมได้ความคิดไปพัฒนาต่อครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท