มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

เก็บอดีตเปิดประเด็น:สำนึกอาสาสมัคร โดย บก.ลายจุด


เป็นกระทู้เก่าในเว็บไทยเอ็นจี ที่คิดว่ามีประเด็นน่าสนใจที่น่าจะนำมาต่อยอดความคิดที่นี่ได้ ไม่อยากให้ความคิดดีๆ นั่นจมหายไปกับกาลเวลา เลยคัดลอกมาลงอีกครั้ง ครับ..

สำนึกอาสาสมัคร
http://www.thaingo.info/webboard/view.php?id=4317


</a> จากกระทู้ ถ้าวันดีคืนดีมีคนมาVolunteer กับองค์กรท่าน ท่านจะทำยังไง ?

ผมขอนำข้อเขียนของผมเกี่ยวกับอาสาสมัครมาแบ่งปัน ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับรับฟัง Feedback ไปในตัว
————————

สำนึกอาสาสมัคร : คนหัวใจอาสา

โดย สมบัติ บุญงามอนงค์
มูลนิธิกระจกเงา
1. หัวใจอาสา
อาสาสมัคร จะต้องมีใจอาสา หรือ หัวใจอาสา จึงจะเกิดเป็นสำนึกอาสาสมัครได้ มิใช่เพียงแค่ความคิด เพราะความคิด ไม่ทำให้คนนั้น ๆ ก้าวออกมามีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การสร้างกระบวนการที่กระทบต่อจิตใจของผู้คน ให้รู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่า และ อยากเห็นการช่วยเหลือ หรือ การทำความดีจึงเกิดขึ้น
ซึ่งเครื่องมือ หรือ กระบวนการสร้างจิตสำนึกอาสาสมัคร จะต้องคำนึงถึง การสื่อความรู้สึก หรือ สร้างความสะเทือนใจต่อความรู้สึก และความรู้สึกนั้นคือ ความรักในมนุษยชาติ ความรู้สึกทุกข์ร้อนไปกับความทุกข์ร้อนของผู้อื่น ความรู้สึกมีส่วนร่วม หรือ เกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ หรือ ศรัทธาต่อความดี

2. ขบวนการคนหนุ่มสาว (รั้วมหาวิทยาลัย)
ในยุค 30 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นขบวนการนักศึกษาที่เติบโต และ ออกเดินทางรับใช้สังคมในรูปแบบ
ต่าง ๆ สำนึกของการรับใช้ การทำความดี และ สร้างการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยหนึ่ง เกิดขึ้นอย่างท่วมท้น แล้ว
จางหายไป หลังจากยุคแสวงหาของเหล่าคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย สังคมไทยก็เกิดงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในรูปขององค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงยุคหนึ่ง องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีฐานคนทำงานที่มาจากนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยก็ค่อย ๆ ประสบปัญหากับคนรุ่นใหม่ที่เดินทางข้ามรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่วงการนักพัฒนา เพราะบรรยากาศการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในมหาวิทยาลัยซบเซาจนมีคนถามหา “คนหนุ่มสาวหายไปไหน” หรือ “มหาวิทยาลัยตายแล้ว”

3. ปัจจัยกระตุ้นการแสดงออกในกิจกรรมเพื่อสังคม
บรรยากาศทางการเมืองอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่หลายคนเชื่อว่า เป็นเหตุให้เกิดยุค คนหนุ่มสาวในยุคแสวงหาขึ้น เมื่อมีความอยุติธรรม ก็ย่อมเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจที่รักความเป็นธรรมได้เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยทางการเมืองในอดีต จะเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างขบวนการนักศึกษา และ ก่อให้เกิดสำนึกเพื่อสังคมขึ้น แต่ปัจจุบัน ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้คนเข้าถึงได้ยาก เพราะมีความซับซ้อน และเกิดอคติกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองขึ้น ดังนั้น หากจะนำประเด็นเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสร้างขบวนขึ้นมาใหม่ จึงเป็นสิ่งทียากลำบาก และ ไม่ก่อให้เกิดผลได้ชัดเจนนัก
แต่กิจกรรมอย่าง การบริจาคเลือด การเป็นสมาชิกอาสาสมัครเครือข่ายวิทยุ จ.ส.100 หรือ ร่วมด้วยช่วยกัน หรือ กิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์ กลับขยายตัว และ มีรูปแบบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคม

4. คนอาสาอยู่ไหน ?
ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า กิจกรรมเพื่อสังคมในรั้วมหาวิทยามีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับคุณภาพและปริมาณ แต่หากเรามองคุณภาพของกิจกรรมเพื่อสังคมเพียงแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ก็จะไม่เห็นภาพรวมที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป

เครือข่ายชุมชนอิเลคทรอนิคส์
- ชุมชน จ.ส.100
รูปธรรมที่สุด คือ สมาชิกของ จ.ส.100 และ วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งมีการสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือกันภายใต้สภาพปัญหาเดียวกัน คือ สภาพจราจร จนต่อมาได้พัฒนาเนื้อหาไปสู่การให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ โดยมีสื่ออิเลคทรอนิคส์ ที่ผสมกันระหว่าง เครือข่ายวิทยุ และ โทรศัพท์มือถือ ด้วยการผสมผสานทางเทคโนโลยี และ การมีจุดเกาะเกี่ยวร่วมกันของปัญหา ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพ มีการเชื่อมโยงกัน และ เกื้อหนุ่นกันอย่างเป็นระบบ โดยมีผู้ดำเนินรายการวิทยุเป็นตัวกลาง เชื่อมโยงระหว่างอาสาสาสมัคร กับ ผู้ทุกข์ร้อน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

- ชุมชน Webboard
หรือ ชุมชนอิเลคทรอนิคส์คอย่าง ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ เช่น Pantip.com ที่จะมีการรวมกลุ่มสมาชิกไปทำกิจกรรมด้านสังคมอยู่ตลอดเวลา โดยการริเริ่มเหล่านั้น ก็มักเกิดจากสมาชิกคนใดคนหนึ่ง แล้ว ขายความคิดผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ และเมื่อมีผู้เข้ามาพบเห็น จึงเกิดแนวร่วมขึ้น

- เว็บไซด์ครูบ้านนอก www.bannok.com
บ้านนอก.คอม อาจจะเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งของเว็บไซด์ NGOs ชื่อกลุ่มกระจกเงา ที่มีการระดมอาสาสมัครได้มากทีสุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในกิจกรรม ครูบ้านนอก ซึ่งเป็นการเปิดรับอาสาสมัครขึ้นไปทำกิจกรรมค่ายเด็กดอย ที่ จ.เชียงราย ทุกเดือน ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 66 รุ่น ซึ่งรับรุ่นละ 20-30 คน และ มีผู้สนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเวบหมื่นกว่าคนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

- Budpage.com
เป็นเว็บไซด์ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแต่มีกลวิธีที่สร้างความน่าสนใจในรูปแบบต่าง ๆ จนทำให้มีคนหนุ่มสาวเข้ามาใช้บริการในเว็บไซด์จำนวนมาก อีกทั้งมีการทดลองการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครผ่านอินเทอร์เน็ต และ สร้างกิจกรรมร่วมกันทั้งใน Online และ Offline มีการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสำเนาแผ่นซีดีที่เกี่ยวกับการบวชเรียน แจกจ่ายกันนับหมื่นแผ่น โดยทางผู้ดำเนินการเว็บไซด์ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย แต่อาสาสมัครเสนอตัวบริจาคและทำสำเนากันเอง รวมถึงมีกิจกรรมสร้างกุฏิพระด้วยดิน ซึ่งมีอาสาสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และในแต่ละวันมีผู้เข้าร่วมชมเว็บไซด์มากกว่า 1-2 พันคนต่อวัน

5. จิตใจอาสาสมัคร
คุณสมบัติ คนที่จะมีจิตใจอาสาสมัคร คือต้องมีจิตใจที่ละเอียด อ่อนไหวกับความทุกข์ยากของผู้คนและความอยุติธรรมทางสังคม พร้อมที่จะบริจาคตัวเองในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้อื่น ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล และในรูปขององค์กร กล่าวคือ ผู้ที่มีจิตใจอาสาสมัคร ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีองค์กรสังกัด ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าเรื่องเล่าในนิทานบางเรื่อง หรือ แม้แต่ในการ์ตูน หรือ ในหนังบางเรื่อง สามารถสร้างจิตสำนึกเรื่องการทำความดี และ กระตุ้นสร้างให้คนอยากอาสาสมัคร หรือ เสนอตัวเองเพื่อเป็นผู้แก้ปัญหา ดังนั้นกระบวนการสร้างอาสาสมัครจะต้องเป็นกระบวนการที่กระทบต่อระบบจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ไม่ใช่เป็นการทำงานในเชิงความคิดล้วน ๆ

6. เงื่อนไขและข้อจำกัดของการเป็นอาสาสมัคร
จากการพูดคุยกับคนที่ทำงานด้านสังคมพบว่า มีผู้เสนอตัวมาช่วยงานเป็นอาสาสมัครอยู่ไม่น้อย และหลายองค์กรมีผู้คนเสนอตัวอยากทำงานอาสาสมัครมีจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดบางอย่างเช่น มีสถานที่พักกับที่ทำงานไกลออกไป เดินทางไม่สะดวก หรือมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมไม่มากนัก ไม่สามารถทำงานแบบต่อเนื่อง หรือ วันละหลาย ๆ ชั่วโมงได้ ภายใต้ข้อจำกัดของอาสาสมัคร ทำให้การเป็นอาสาสมัครเป็นไปได้ยากมาก และ คนพวกนี้มักถูกปล่อยให้กลืนหายไปในสังคมอย่างน่าเสียดาย เพราะพวกเขามีใจอาสาแล้ว แต่ขาดความพร้อมที่ไม่ลงตัวกัน ระหว่างตัวอาสาสมัครเอง กับ องค์กรที่จะรับอาสาสมัคร ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ทำงานอาสาสมัครจะต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับกิจกรรมและการดำเนินการขององค์กรภายใต้ข้อจำกัดของอาสาสมัครนั้น ๆ ยิ่งยืดหยุ่นได้มากเท่าไหร่ก็จะมีอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้มากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องมีรูปแบบ หรือ เงื่อนไข หรือ Option ให้หลากหลาย สำหรับเป็นทางเลือกให้แต่ละคนที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป
ยกตัวอย่างที่ ส.น.ง.กลุ่มกระจกเงา ที่ ก.ท.ม. ทุกวันศุกร์ จะมี นศ.ป โท ท่านหนึ่งชื่อคุณสา เธอได้ติดต่อขอบริจาคเวลาเพื่อเป็นอาสาสมัครสัปดาห์ละ 1 วัน และเราจัดกิจกรรมให้สำหรับ อาสาสมัครที่มีความพร้อมในการทำงานสัปดาห์ละ 1 วัน ในกรณีเดียวกับคุณสา คงมีอีกจำนวนมากมาย และไม่เฉพาะนักศึกษา แต่อาจรวมถึงคนทำงานประจำ ที่อาจจะอยากบริจาคเวลาในวันหยุดเช่น วันเสาร์ หรือ อาทิตย์ หรือ ช่วงเวลาหลังเลิกงาน โดยเฉพาะกรณีหลังเลิกงาน เราจะพบว่า มีคนทำงาน office ที่มาเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ให้กับหน่วยงานเรืองสุขภาพจิตและโรคเอดส์จำนวนมาก และความสำเร็จนี้ก็เกิดขึ้นจากความลงตัวและความยืดหยุ่นในการข้ามพ้นข้อจำกัดของอาสาสมัคร


7. กิจกรรมอาสาสมัครที่มีอยู่ในปัจจุบันมีรูปแบบไหนได้บ้าง ?
หากเรานับรวมพวกนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเต็มเวลาที่อยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ว่าเป็น “อาสาสมัครเพื่อสังคม” ด้วยเช่นกัน ก็คงเห็นว่ามีกลุ่มบุคคลเหล่านี้มากมายในหลากหลายกิจกรรม แต่ในที่นี้จะให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่เป็นอาสาสมัครไม่เต็มเวลา


อาสมัครให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์ ของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ACCESS ซึ่งอาสาสมัครจะเข้าเวรสลับกับเจ้าหน้าที่ประจำในช่วงตอนเย็นถึงดึก และ วันเสาร์-อาทิตย์
อาสาสมัครอ่านหนังสือใส่เทปให้คนตาบอด เพื่อทำห้องสมุดเสียง
อาสาสมัครรับพิมพ์งานจากกระดาษเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
http://www.seub.or.th/youcanhelp/ อาสาสมัครแจ้งข่าวจารจรของ วิทยุชุมชนใน กรุงเทพมหานคร ในกรณีนี้รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้ใช้รถใช้ถนนประสบอุบัติเหตุด้วย

อาสาสมัครสอนหนังสือให้กับเด็กข้างถนน ในโครงการครูข้างถนน ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
อาสาสมัครชุมชน ในเรื่องการการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือ เฝ้าระวังปัญหาค้ายาเสพติดในชุมชน หรือ แม้แต่อาสาสมัครอย่าง อ.ส.ม. หรือ อาสาสมัครสาธารณะสุขมูลฐาน ของรัฐ
อาสาสมัครโครงการครูบ้านนอก เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเด็กชาวเขาบนดอย 5 วันhttp://www.bannok.com/volunteer/ อาสาสมัครบ้านนอก ซึ่งเป็นการเปิดรับอาสาสมัครที่อยากทำงานเต็มเวลาในระยะเวลา 3 เดือน http://www.bannok.com/bannokvolunteer/ หรือ แม้แต่กิจกรรมฝึกงานของ น.ศ.ตามมหาวิทยาลัย ก็ยังสามารถประยุกต์เป็นงานอาสาสมัครได้เช่นกัน หากเราทำให้กิจกรรมของ น.ศ.ฝึกงานเป็นงานที่มีหัวใจและเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

นอกจากนี้ งานอาสาสมัครไม่ได้จำกัดตนเองอยู่เฉพาะในกิจกรรมขององค์กรภาคสังคมเท่านั้น แม้แต่ชมรมในมหาวิทยาลัย หรือ ในบริษัทเอกชน หรือ หน่วยงานราชการ ก็ยังสามารถก่อเกิดกลุ่มกิจกรรมที่มีการดำเนินการในลักษณะอาสาสมัครได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสังคมเรายังมีรูปแบบกิจกรรมอาสาสมัครนับพันนับหมื่นรูปแบบหลากหลายและกระจายอยู่ในทุกส่วนของสังคม


8. ทำไม งานอาสาสมัครถึงไม่รุ่ง ไม่เป็นที่นิยม
วิธีคิดของคนในสังคม มองว่า งานอาสาสมัครเป็นงานที่เสียประโยชน์ ไม่ค่อยมีเวลา ต้องเหนื่อย ยากลำบาก คนในสังคมแบบหนึ่งมองเรื่องตัวเองมากขึ้น และมองเรื่องคนอื่นน้อยลง ใครที่ทำงานพวกนี้แปลก หรือโง่ มีความผิดพลาดทางวิธีคิด หรือ มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า และด้วยวิธีคิดทำนองนี้จึงทำให้คนทำงานอาสาสมัคอ่อนล้าลงไป พร้อมกับปัจจัยในเชิงสนับสนุนงานอาสาสมัครก็มีน้อยมาก เราส่งเสริมการทำความดีไม่มากพอ แต่อุปสรรคมีเยอะ อย่างเช่น คนไปช่วยคนโดนวิ่งราว โดนแทงตาย ทำให้คนกลัวที่จะทำความดี

9. โง่ และ ผิด
ปัญหาคือในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังคนมองว่างานอาสาสมัคร เป็นงานที่คนไม่ฉลาดทำ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะวิธีคิดเป็นวัตถุนิยม การกระทำใด ๆ ต้องได้รับผลตอบแทน ดังนั้นหากกิจกรรมใดที่ทำไปแล้วไม่ได้ผลตอบแทน ก็ฟังดูไม่มีเหตุผลจูงใจที่จะทำ และหากใครทำเช่นนั้นก็จะขัดวิธีคิดข้างต้น ผลจึง การทำความดีในสายตาของคนบางคนกลายเป็นเรื่องโง่ หรือ ผิดไป
ดังนั้นต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ก่อน คือต้องสร้างให้คนเข้าใจว่า งานอาสาสมัครเป็นเรื่องดี เป็นงานของคนที่ฉลาด ส่วนประโยชน์ที่ได้ก็จะตกอยู่กับสังคมในทางตรง และ ทางอ้อมก็จะตกอยู่กับผู้กระทำดีนั้นเอง เพราะคุณภาพของชุมชน สังคมนั้น ๆ ก็จะดีขึ้นไปยิ่งขึ้น เราจึงได้อยู่ในสภาพแวดล้อม หรือ ชุมชนที่มีคุณภาพ

10. ทำดี มีคนเห็น ต้องบอกต่อ
ต้องสร้างให้คนรู้สึกดีกับการทำความดี และทำเมื่อมีโอกาส เช่นกรณี การขึ้นรถประจำทาง และลุกให้คนอื่นนั่ง แล้วถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ แล้วรู้สึกว่า ทำถูกหรือเปล่า ทำให้คราวหน้ารู้สึกว่าไม่ควร มนุษย์ต้องฝึกตนไม่ให้หวั่นไหวกับเรื่องพวกนี้ หรือ กรณีผู้ชายลุกให้ผู้หญิงซึ่งหอบของเต็มมือนั่งบนรถประจำทาง หลังจากที่นั่งกระสับกระส่ายอยู่นาน 4-5 ป้าย แต่เกิดจุดน่าสังเกตคือ เมื่อลุกขึ้นให้นั่ง ผู้ชายคนนั้นกลับรีบก้มหน้าเดินจากไปยืนคนละมุมรถเมล์กับหญิงสาว เนื่องจากเขินอายที่จะทำความดี
ในสังคมมีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการเสียสละที่นั่ง แต่ขัดเขินที่จะได้รับคำขอบคุณ หรืออายที่จะทำให้คนอื่นเห็น แล้วพูดว่า ลุกทำไม คนอื่นเขาไม่เห็นลุกกันเลย อยากดัง หรือต้องการอะไรหรือเปล่า จะเป็นวีรบุรุษเหรอ ตรงนี้เป็นไวรัสทางความคิด ซึ่งกัดกร่อนพลังของคนทำความดี
ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่ละเลยต่อการช่วยเหลือคนอื่นที่ทุกข์ยาก ต้องสร้างทำให้คนละเอียดอ่อน ทุกวันนี้กำแพงสูง ได้ยินเสียงข้างบ้านร้อง ปิดหน้าต่างเพื่อไม่รับรู้ปัญหา พรุ่งนี้ข้างบ้านตายเพราะถูกปล้น ต้องเรียนรู้เรื่องเพื่อนบ้าน ช่วยกันสอดส่องดูแล มันมีประโยชน์แก่ตัวเองด้วยนะ ต้องหากิจกรรมที่เรียบง่าย เกิดขึ้นได้ทุกที่ เช่นท้องถนน บนรถเมล์ ตลาด ห้าง ออฟฟิศ เหล่านี้เป็นงานอาสาช่วย เพราะเมื่อสังคมในชุมชนมันดีมีคุณภาพมากขึ้น
งานอาสาสมัครนั้นไม่ใช่เป็นงานที่เสียสละแล้วหมดไป แต่เป็นการได้คืน เพราะคุณภาพชีวิตคุณจะดีขึ้น เป็นความสุขที่ได้มาจากการกระทำ โดยไม่ต้องซื้อ ต้องทำลายความคิดเห็นแก่ตัวของคน เราไม่ได้แต่ต้องทำ เพราะเป็นหน้าที่มนุษย์ ที่เห็นคนร้องหรือทำร้ายร่างกายแล้วเรานิ่งเฉย นี่คือปัญหาใหญ่แล้ว ต้องมุ่งทำลายว่า ความคิดที่ว่า อย่าไปยุ่งเรื่องของชาวบ้าน หรือสามี-ภรรยา แต่ต้องเจาะลงไปที่ ขอบเขตอยู่จุดใด อย่างเช่นผู้ชายทำร้ายผู้ เราต้องแก้ให้สังคมเข้าใจว่า ถึงเป็นสามี-ภรรยา ก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายร่างกายกัน

11. ไวรัสความดี
ต้องมีการใช้สื่อทุกทางในการกระตุ้นสำนึกอาสาสมัคร ส่งความคิดเข้าไปในสมอหง ต้องทำให้คนไทยทั้งหมด เคยได้ยินคำว่า สำนึกอาสาสมัคร เพื่อนำไปสู่การโน้มน้าวไปสู่การเห็นชอบในการก้าวมาทำงานอาสาสมัคร

การเผยแพร่การทำความดีในรูปแบบไวรัสคอมพิวเตอร์น่าสนใจ ไวรัสคือโปรแกรม โปรแกรมคือวิธีคิดของโปรแกรมเมอร์ เมื่อปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารมวลชน ที่ใช้เรื่องรณรงค์ด้านต่างๆ ไวรัสคอมพิวเตอร์น่าสนใจและถือเป็นช่องทางเผยแพร่ด้านหนึ่ง เพราะสามารถเผยแพร่ความคิดผ่านปัจเจกบุคคลได้ วิธีการคือ ไวรัสถูกเขียนด้วยคนหนึ่งคน เพื่อคนรับหนึ่งคน หลังจากนั้นก็เช็คว่าในเครือข่ายของคุณมีผู้รับสารกี่คน จัดการส่งให้กระจายออกไป และไวรัสจะสามารถจัดการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมเดิมของแต่ละคน เปรียบเทียบความเป็นคน และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเหมือนกัน เช่น โครงการครูบ้านนอก ที่มีคนสมัครเยอะ ไม่ใช่เพราะทำการประชาสัมพันธ์ดี แต่มันเกิดจากการบอกต่อประเภทปากต่อปาก

12. อิฐแห่งความคิดดี
ระบบความคิดของมนุษย์มีลักษณะคล้ายกับอิฐที่ก่อตัวขึ้นมา โดยจะมีชุดความคิดเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวเชื่อมโยงกันเป็นระบบความคิดใหญ่ ดังนั้น การสร้างกระบวนการคิดของอาสาสมัครเพื่อสังคม จะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาวิธีคิดชุดเล็ก ๆ ดังก้อนอิฐแห่งความคิดดี แล้วค่อย ๆ ก่อลงบนระบบความคิดของอาสาสมัคร โดยอิฐแต่ละก้อน อาจจะมีชื่อ และ แนวคิดสั้น ๆ ดังนี้
ท อิฐแห่งความเสียสละ
ท อิฐแห่งความเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยาก
ท อิฐแห่งความซื่อสัตย์
ท อิฐรักธรรมชาติ
ท อิฐรักในงานศิลปะ
ท อิฐสันติภาพ
ท อิฐแห่งการเรียนรู้โลกที่แท้จริง
ท อิฐน้ำใจ
ท ฯลฯ


13. ผู้ประกอบการทางสังคม SME
คนต้องการอาสาทำงานเพื่อสังคมมีเยอะ แต่กิจกรรมน้อยและไม่ตรงกับแนวคิดที่คนอยากอาสาต้องการ การประกอบด้านอาสมัครในสังคม มีไม่พอต่อผู้ที่จะเข้าไปอาสา และรูปแบบไม่เอื้ออำนวย ต้องมีการพัฒนารูปแบบ และขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับคนต้องการอาสาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมให้องค์กรที่ทำงานด้านสังคมได้คิดค้นรูปแบบกิจกรรมของอาสาสมัครให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรือ ชวนให้อาสาสมัครที่ดำเนินการอยู่แล้ว พัฒนาโครงการหรือกิจกรรมอาสาสมัครที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น หรือ อาจจะต้องมีการจัดตั้งสถาบันสำหรับการฝีกอบรม หรือ การจัดหาอาสาสมัครเพื่อป้อนสู่สังคม

14. ความดีไม่ผูกขาด ไม่จำกัดการทำความดี
เนื่องเพราะชุดคิดการผูกขาดการทำความดี หรือมีอนาจักรการทำความดีของตนในพื้นที่หรือเนื้อหานั้น ๆ การแย่งกันทำความดี อาจทำให้เกิดการลดทอนการกระทำของผู้อื่นลง และเพื่อมิให้กลุ่มคนที่ทำความดีต้องมาลดทอนกันเอง จึงควรมีการปรับทัศนคติเกี่ยวกับการผูกขาดการทำความดีใหม่ ทำให้การทำความดีเป็นสิ่งที่ไม่ถูกผูกขาด ทำได้ง่ายเมื่อมีโอกาส และ ทำแล้วทำอีกได้ ไม่มีผลเสีย

15. ชมรมจานผี
เป็นเรื่องเล่า เพื่อนกลุ่มหนึ่งจำนวน 4-5 คน ได้ไปปิกนิคกันในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ทันใดนั้นเห็นแสงบนท้องฟ้าสว่างไสวเคลื่อนตัวผ่านไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาต่างสรุปว่า สิ่งที่ตนเองเห็นนั้นน่าจะเป็นจานผี
เมื่อเวลาผ่านไป สมาชิกในกลุ่มจำนวนหนึ่งย้ายบ้านออกไป จากนั้นสิบปีให้หลังกลับมาเจอกันอีกครั้ง กลุ่มที่ไม่ย้ายไปไหน ก็ยังคงพบปะพูดคุยเรื่องเหตุกาณ์ในครั้งนั้นอยู่บ่อย ๆ และยังคิดว่าแสงที่เห็นในวันนั้น คือแสงจานผี แต่กลุ่มคนที่ย้ายออกไป ไม่ค่อยได้คุยกับใคร และเมื่อกลับมาจึงบอกว่าไม่แน่ใจว่าใช่จานผีหรือเปล่า หรืออาจเป็นอย่างอื่น นั่นเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ชมรมจานผี ที่เขาได้คุยกันตลอดเวลา
เปรียบเทียบกับการทำความดี ซึ่งหากอาสาสมัครมีโอกาสได้คุยกันตลอดเวลา ไม่ละเลยที่จะพูดถึงงานอาสาสมัคร เรื่องการทำดี มีการพบปะกันเป็นสมาคม ชุมชนการทำดีจะแข็งแรง แข็งแกร่ง สมาชิกจะคงยึดถือ ในความเชื่อในสิ่งที่กระทำอยู่ เช่นการทำความดี

16. ทุนทางสังคม ที่ไม่มีใครนำไปใช้
ยกตัวอย่าง ม.อ.ส. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องอาสาสมัครมายาวนาน ขณะนี้มีฐานข้อมูลของผู้ที่เสนอตัวมาช่วยงานอาสาสมัครเยอะมาก หลายร้อยคน แต่พบปัญหาคือ ไม่สามารถนำอาสาสมัครเหล่านี้ไปทำงานเพื่อสังคมได้ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาได้เสนอตัวหรือเขียนใบสมัครกรองข้อมูลส่วนตัวไว้แล้ว แต่เนื่องจากเงื่อนไขหลายประการ เช่น เวลาหรือ ความสนใจไม่ตรงกับงานบ้าง
เมื่อเกิดคนอาสาขึ้นมาแล้ว นั่นคือต้นทุนทางสังคม หากไม่นำต้นทุนตรงนี้ไปใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ หรือมูลค่า ฉะนั้นต้องหากลวิธี ดึงเขามาให้ได้ด้วยวิธีไหน คนอาสาบริจาคเวลาช่วงไหนได้ เป็นหน้าที่ขององค์กรต้องตั้งรับ
คนอาสาสมัครจะมี 3 สถานภาพ คือเริ่มต้นที่ เป็นลูกค้า คือมาร่วมกิจกรรม ต่อไปคือ เป็นเครือข่าย เพื่อไปบอกต่อให้คนมาอาสมัครด้วย และเมื่อถึงจุดหนึ่งคือจะไปเป็นผู้ประกอบการ คือจะได้เป็นผู้ดูอาสาสมัครต่อไป สร้างรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ให้แตกหน่อต่อยอดออกไป เกิดการเจริญเติบโต

17. หอยหลอด
ในสังคมมีคนมีความสามารถที่อยากมาเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมอยู่จำนวนมาก แต่เราไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครอยู่ที่ไหนกันบ้าง ดังนั้นหากเรานำกระบวนการวิธีของชาวบ้านที่จับหอยหลอดในผืนทราย ซึ่งหากจะเห็นตัวโผล่ขึ้นมาได้ ต้องเอาปูนขาวไปโรยไปบนผืนทราย เมื่อปูนขาวไปทำปฏิกิริยากับผิวของหอยหลอม พวกมันจะคันและปรากฏตัวขึ้นบนผืนทราย จากนั้นชาวบ้านก็จับหอยหลอดขึ้นมาได้
โดยวิธีคิดดังกล่าว เราอาจจะต้องพัฒนาเครื่องมือในการสืบค้นคนที่สนใจงานอาสาสมัครเพื่อสังคมออกมา โดยการใส่ Information ผ่านเข้าไปในสังคม เพื่อกระตุ้นปฏิกิริยาของอาสาสมัครให้ปรากฏตัวออกมา เช่น ไปเขียนกระทู้ไว้ในเว็บไซต์ Pantip.com ว่าต้องการอาสาสมัครมาช่วยงาน เมื่อมีผู้เสนอตัวเกิดขึ้น สังคมก็ขับเคลื่อนไปได้

18. อุดมคติ : ความจริง ความดี ความงาม กับการทำงานอาสาสมัคร
เรื่องอุดมคติ ที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวถึงองค์ประกอบของอุดมคติไว้ 3 ประการคือ ความจริง ความดี ความงาม
ความจริง : ต้องพาอาสาสมัครไปสัมผัสความจริงทางสังคม เช่น ปัญหาความยากจน สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง คนป่วย (ความตาย) ฯลฯ ตัวความจริงจะไปกระตุ้นความดีที่มีอยู่ภายในของมนุษย์ออกมา
ความดี : ส่งเสริมและยกระดับความดีของอาสาสมัคร ผ่านการกระทำ หรือ กิจกรรมต่าง ๆ ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ความดีก็จะถูกยกมาเป็นบุคลิกภาพหลักของคน ๆ นั้น
ความงาม : หมายถึงการกระทำใด ๆ ถึงที่สุดต้องนำไปสู่ความสุข ลดความขัดแย้ง ไม่มีความรุนแรง มีความลงตัว เหมาะสม
ด้วยหลักการทั้งสามจะทำให้กิจกรรมอาสาสมัครที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม(ความจริง) เพราะยึดถือความจริง และได้พัฒนาจิตใจของอาสาสมัคร (ความดี) โดยกิจกรรมที่มีศิลปะ ความงาม ไม่รุนแรง และ เป็นที่ยอมรับได้ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง (ความงาม)

19. ตลาดของหนุ่มสาว (กิจกรรมมหาวิทยาลัย)
กิจกรรมด้านสังคม มีประวัติศาสตร์มันเติบโตในมหาวิทยาลัย เกิดจากการเมือง ออกไปค้นหาความจริง ความลำบากในชนบท เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
กิจกรรมในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เพื่อความบันเทิง ความสุขของตน แต่ไม่ได้ไปค้นพบความจริงเรียนรู้ และทำให้ผู้อื่นดีขึ้น มันยังไม่สมบูรณ์ แต่มหาวิทยาลัยยังเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมความดี เพราะคนหนุ่มสาวอยู่ที่นั่น แต่ต้องค้นหารูปแบบ กิจกรรมเป็นกระบวนการ เนื่องจากเมื่อสังคมเปลี่ยน รูปแบบต้องเปลี่ยน ในอดีตยุคหนึ่งการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท เป็นแฟชั่น ได้รับนิยม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป คือ ความงามมันไม่พอที่จะดึงดูดคนให้เข้าไปสู่กิจกรรม แต่ความดี และความจริงยังมีอยู่ เราต้องค้นรูปแบบความงามใหม่ เพื่อการทำงานอาสาสมัครหรือออกค่าย อาสาสมัครต้องเป็นแฟชั่น หนุ่มสาวเป็นวัยทองของการแสวงหา เป็นช่วงเวลาที่ดี สำหรับกิจกรรมเหล่า

20. ป้ายบอกทาง
คนอยากทำความดี แต่ไม่รู้จะไปทางไหน ต้องมีป้ายบอกทาง เช่น ป้ายชวนทำกิจกรรมร่วมกันของครูบ้านนอก เชิญมาเป็นอาสาสมัครผ่านทางเว็บไซด์ www. Bannok.com ต้องประกาศ ผ่านสื่อทุกช่องทาง ให้ผู้คนได้รับรู้ว่ามาทำความดีได้ด้วยตัวเขาเอง
ขอยกตัวอย่างเวบในต่างประเทศชื่อ www.idealist.org เป็นเวบไซด์รวบรวมรายชื่อองค์กรที่ต้องการอาสาสมัครไปช่วยงาน ปัจจุบันรายชื่อหน่วยงานสี่หมื่นกว่าองค์กร และ มี list ของอาสาสมัครที่ต้องการสมัครเป็นอาสาสมัครกว่าแปดหมื่นคน การที่มีแหล่งข้อมูลงานอาสาสมัคร จะทำให้คนที่ต้องการอาสาสมัครไปช่วยงานและคนที่ต้องการเป็นอาสาสมัครได้มาพบปะกัน ดังนั้นความสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลองค์กรอาสาสมัคร และ การใช้เวบไซด์ในการเผยแพร่และเชื่อมโยงอาสาสมัครกับองค์กรต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นและมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง

21. ระเบิดเวลา
การทำงานกับคนบางคน โดยเฉพาะเด็ก ต้องติดตั้งระเบิดเวลาด้านความคิด ซึ่งจะไม่มีผลทันทีในระบบคิด เมื่อเด็กได้รับความคิดใหม่เข้าไป ด้วยเพราะประสบการณ์ที่มีอยู่อาจไม่สามารถเข้าถึงความคิดด้านอาสาสมัครได้ แต่เมื่อเดินทางไปสู่สภาวะหรือสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้ระเบิดความคิดทำงาน ความคิดเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป กลวิธีนี้ อาจจะเหมาะสำหรับการปลูกฝังเรื่องสำนึกอาสาสมัคร หรือ ความคิดดี ๆ ให้กับเด็กหรือคนรุ่นใหม่

โดย : บก.ลายจุด เมื่อ : 15/08/2004 11:09 PM

ที่มา http://www.vetoactor.org/webboard/view.php?id=5727


หมายเลขบันทึก: 26205เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2006 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท