รูปแบบการนิเทศโรงเรียนในฝันของ Roving Team เขตตรวจราชการที่ ๔


          เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖  คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ”หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน” ๙๒๑ โรงเรียน  พ.ศ. ๒๕๔๗ สพฐ.ได้ตั้งผมเป็นหัวหน้าคณะนิเทศโรงเรียนในโครงการนี้ ในเขตตรวจราชการที่ ๔ (นนทบุรี  ปทุมธานี  พระนครศรีอยุธยา  และอ่างทอง) ซึ่งมี อ.ชุมศรี  บุญสิทธิ์ และ อ.ประสงค์  สังข์ดิษฐ์ เป็นทีมงาน ดูแลโรงเรียน  ๓๖ โรงเรียน ๗ เขตพื้นที่การศึกษา  ซึ่งเราเรียกคณะนี้ว่า  Roving Team ซึ่งเหมือนกับคณะเคลื่อนที่เร็วไปช่วยโรงเรียนนั่นแหละ(แต่จริงๆก็เร็วยาก)
                พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๘  ผมกับทีมงานได้กำหนดกลยุทธ์การนิเทศร่วมกับ ศน.สพท.ในเขตตรวจราชการที่ ๔ (๗ สพท.) และผู้บริหารโรงเรียนในโครงการ  ว่าจะทำกิจกรรมร่วมกัน ๓ กิจกรรม  โดยให้ผมและทีมงานเป็นแกนหลัก คือ
                ๑.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานที่โรงเรียนในฝันด้วยกัน เดือนละ ๑ ครั้ง กำหนดประเด็นไปดูและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครั้งละ ๑ วัน แต่ละโรงเรียนก็จะพาคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆขับรถไปกันเองไปเจอกันที่โรงเรียนนั้นๆ  เราไม่มี/ไม่ใช้งบประมาณกัน เราต่างทำกันด้วยใจรัก มีพันธะสัญญาทางใจต่อกัน  โรงเรียนเจ้าภาพก็ดูแลต้อนรับกันเหมือนพี่เหมือนน้อง  ไม่ติดระบบราชการ  ๒ ปีผ่านไป เราทำได้ถึง ๑๕ ครั้ง(มีโรงเรียนนอกเขตบ้าง) และสิ้นปีเราพอจะได้รับงบประมาณบ้างเล็กน้อยที่จะพอช่วยโรงเรียนเจ้าภาพบ้าง เราก็ได้มีการจัดนิทรรศการเสนอผลงานเป็นการประชุมสรุปผลประจำปีกัน ๒ ปี  โดยในเดือนกันยายน ปี ๒๕๔๗ จัดที่โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม (ผช.รมว.ศธ.ปิยะบุตร์  ชลวิจารณ์มาเป็นประธาน) ท่านปิยบุตร์ชื่นชมและให้ข่าวไปทั่วประเทศ  ปี ๒๕๔๘ จัดที่โรงเรียนบางปะหัน  เป็นการจัดนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่มาก (ท่านที่ปรึกษาฯนิวัตร  นาคะเวช เป็นประธาน)  ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่อง KM เลย แต่ทำได้ตามกระบวนการที่ใกล้เคียงอย่างประหลาด  ผลการประเมินผู้เข้าร่วมต่างชื่นชอบกันมาก  และสรุปกันว่า เป็นวิธีเรียนรู้ที่แท้จริง โดยแต่ละโรงเรียนก็มีบริบทของตนเอง ไปดู/ฟังคนอื่นแล้วก็เกิดแนวคิดเทียบเคียงมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนเอง ซึ่งเป็นผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนในเขตตรวจราชการที่ ๔ ผ่านการประเมินเป็นต้นแบบในฝันแล้วถึง ๒๖ โรงเรียน (จาก ๓๖ โรงเรียน)และเป็นโรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานกันปีละหลายโรงเรียน(อาจดูทึกทักไปหน่อยก็ได้)
          ๒.การจัดทำสารสู่ฝันเผยแพร่ซึ่งกันและกันโดยแทบไม่ต้องใช้หนังสือราชการเดือนละ ๑ ฉบับ  ผมลงมือเขียนเองติดต่อกันทุกเดือน โดยทีมงานช่วยดูแลประสานงานจัดส่งทั้งเอกสาร(ทำปกสวย) และลงในเว็บไซต์ สพท.นนทบุรี เขต ๑ ติดต่อกันไม่เว้น  รวมทั้งสิ้น ๑๘ ฉบับ ปัจจุบันหลังจากที่อบรมเรื่อง KM แล้วผมก็ย้ายมาลงที่บล็อกนี้แล้ว  ซึ่งมีหลายเรื่องที่ลงจึงอาจจะไม่เป็นสารสู่ฝันโดยตรง แต่ก็กว้างขวางขึ้น  ถ้ามีเรื่องเกี่ยวข้องกับโรงเรียนในฝันผมก็จะลงในบล็อกนี้
          ๓.การเยี่ยมนิเทศโรงเรียนในฝัน  กำหนดเป้าหมายว่าอย่างน้อยโรงเรียนละ ๑ ครั้ง ก็สามารถทำได้ตามเป้าหมาย  แต่ปีที่ ๒ ไม่สามารถไปได้ครบ  ถือว่าไปเยี่ยมให้กำลังใจกัน  เรื่องนี้ค่อนข้างทำได้ยาก  งบประมาณก็มีน้อย  ต้องขับรถไปกันเอง  และงานประจำที่เขตพื้นที่การศึกษาตนเองก็มีมาก  เราทำเพราะสนุกอยากจะทำกัน  โดยผม  อ.ชุมศรี และ อ.ประสงค์ (คู่ทุกข์คู่ยากกัน ๓ คน) ขับรถกันไปแต่ละโรงเรียน ไปสมทบกับ ศน.สพท.ที่ดูแลโรงเรียนในฝันแต่ละเขต  ไปโรงเรียนไหนก็ให้การต้อนรับอย่างดี ต่างดีใจที่เราไปก็รู้สึกอบอุ่นเป็นพี่เป็นน้องกัน  แต่ก็อยู่กับเขาได้ไม่นาน  ถือว่ามาเยี่ยมกันมากกว่า
                พอสิ้นปีที่ ๒ เราก็จัดทำรายงานสรุปการดำเนินงานกัน(ดูได้ที่เว็บไซต์ สพท.นนทบุรี เขต ๑)  สาระก็คล้ายกับที่กล่าวข้างบนนี้แหละ  พอมาถึง ปี ๒๕๔๙  เป็นปีแห่งการที่โรงเรียนรับการประเมินเป็นต้นแบบในฝันกัน  เราก็เลยเปลี่ยนจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เป็นการไปช่วยซักซ้อมให้โรงเรียนที่พร้อมรับการประเมิน  แต่ก็ทำได้ไม่กี่แห่ง  ต้องขอบคุณ ศน.สพท.ทั้ง ๗ เขต ที่เป็นภาระดูแลซักซ้อมให้โรงเรียนอย่างดี  โรงเรียนใดที่ผมและคณะไปได้ก็จะไปทุกแห่ง  วันที่โรงเรียนรับการประเมินจริงเราก็จะเชิญโรงเรียนในฝันด้วยกันที่ยังไม่ผ่านการประเมินไปดูเป็นแนวทางเตรียมความพร้อมของตนเอง  โรงเรียนใดผ่านแล้วก็จะไปเป็นกำลังใจและไปดูเพื่อจะได้ทำให้ดียิ่งขึ้น บางโรงก็ถูกเชิญร่วมเป็นกรรมการประเมินด้วย  ผมและคณะก็ถูกเชิญเป็นกรรมการประเมินด้วย(ตามองค์ประกอบของกรรมการประเมิน)แต่ก็ไปไม่ได้ทุกโรงเหมือนกัน  ก็ผ่านไป ๒๖ โรงเรียนแล้ว เหลืออีก ๑๐  โรงเรียนเท่านั้น
                เมื่อเร็วๆนี้เราได้ประชุม ศน. ทั้งหมดทุกเขตพื้นที่มาทบทวนถึงกิจกรรมที่จะทำกันต่อเนื่อง(ทั้งๆที่ไม่มีงบประมาณและงานก็มากขึ้นกว่าทุกปี)  ผมได้เล่าเรื่อง KM ให้พรรคพวกฟัง ต่างก็เห็นดีเห็นงามว่า เราจะทำเหมือนทุกปีคงไม่ได้แล้ว  เลยตกลงกันว่าจะลองประชุมโดยใช้กระบวนการ KM ด้วยรูปแบบ Video Conferrence  (ดังที่เคยเขียนไว้ในบล็อกที่ผ่านมา)  ส่วนการช่วยเหลือก็จะให้โรงเรียนในฝันจับคู่ดูแลกัน โดยมี ศน.เป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือ  และถ้าโรงเรียนใดพร้อมรับการประเมินเราก็จะถือโอกาสไปดูงานกันที่โรงเรียนนั้น
                 ทั้งสนุกและก็เหนื่อยดี...
                         
                               
หมายเลขบันทึก: 26182เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2006 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท