การดูแลพัฒนาผู้เรียนของครูต้องทำอย่างบูรณาการ


เป็นรูปแบบการดูแลพัฒนาผู้เรียนของครูที่ปรึกษาที่บูรณาการ มาตรฐานด้านผู้เรียน(ระบบประกันคุณภาพ)กับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้ทฤษฎีปลูกฝังและสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม 2 ทฤษฎีเป็นฐาน

            ตอนเรียนวิชาครูสมัยก่อนเราจะได้เรียนวิธีสอนที่มักมีรูปแบบไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น วิธีสอนแบบบรรยาย  แบบเล่นปนเรียน   ใช้กรณีตัวอย่าง  การแสดงบทบาทสมมติ  การสาธิต  การอภิปรายกลุ่มย่อย  ศูนย์การเรียน  สถานการณ์จำลอง  แบบสืบสวนสอบสวน เป็นต้น 
          แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป  จากข้อมูลการวิจัยเรื่องคุณวุฒิของครูและคุณภาพงานครูของ ร.ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ (2549 )  ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบการเตรียมครูและการบำรุงรักษาครูคุณภาพ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ร่วมกับคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พบข้อมูลสภาพการปฏิบัติงานของครู ด้านปัญหาเกี่ยวกับผู้เรียนที่ครูพบต่อสัปดาห์ว่า  มีเด็กเรียนรู้ช้าในห้องเรียนที่ครูสอนคิดเป็นร้อยละ 79.71  มีเด็กที่มีพฤติกรรมก่อกวนคิดเป็นร้อยละ 24.95  นอกจากนั้นยังพบว่ามีครูที่เคยถูกนักเรียนขู่ทำร้ายร่างกายและมีครูที่เคยถูกนักเรียนทำร้ายร่างกายส่วนหนึ่งอีกด้วย  และยังพบว่าครูมีภาระทั้งการปฏิบัติการสอน และการปฏิบัติงานนอกเวลาทั้งเรี่องเกี่ยวข้องกับนักเรียนและเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโรงเรียนเป็นจำนวนมาก
       การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ครูเราต้องทำงานหนักและทำงานแบบ Matrix มากขึ้นโดยต้องทำงานหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน  ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนก็มีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้น  ดังนั้นการจัดการเรียนรู้และดูแลพัฒนาผู้เรียนของครูจะใช้เพียงวิธีสอนเก่า ๆ วิธีเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาและดูแลพัฒนาผู้เรียนให้ประสบผลสำเร็จได้
        นักการศึกษาในปัจจุบันจึงพยายามคิดค้นเทคนิควิธีการสอนที่บูรณาการหลาย ๆ เทคนิคเข้าด้วยกันมาใช้เช่น
          วิธีการเรียนรู้แบบ 4 MAT  ที่มุ่งผสมผสานการพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวาทั้งสองด้านให้สมดุลกัน
          วิธีการเรียนรู้แบบ KWL  เพื่อใช้ในการสอนอ่าน จากผังตาราง 3 ช่อง
          วิธีการเรียนรู้แบบ PBL เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้น
          วิธีคิดแบบ six steps  เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาในอนาคต
          วิธีสอนแบบ storyline  ที่นำแนวคิดการบูรณาการ  การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยการผูกเรื่องแต่ละตอนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เป็นต้น
                                     
          ถ้าดูบริบททางการศึกษาปัจจุบัน  มีหลายเรื่องที่เข้ามาในสถานศึกษาทั้งโดยนโยบายและโดยกฎหมาย  เช่นการประกันคุณภาพการศึกษา  หลักสูตร  ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน  การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน  การประเมินเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนวิทยฐานะ  การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น  ซึ่งเป้าหมายปลายทางของทุกเรื่องดังกล่าวก็มุ่งไปสู่ การพัฒนาผู้เรียน ทั้งสิ้น
          จากบริบทดังกล่าวทำให้ผู้เขียนมีแนวคิดที่จะบูรณาการทุกเรื่องข้างต้นให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นองค์รวม โดยใช้เรื่องที่คิดว่าครูหลายคนคงสนใจคือเรื่องการดูแลพัฒนาผู้เรียนตามบทบาทของครูที่ปรึกษาประจำชั้นเรียน ซึ่งมีแนวคิดและแนวปฏิบัติ ดังนี้
 

แนวคิด
1.     เป็นการใช้มาตรฐานการศึกษาด้านผู้เรียนในระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป็นฐานในการดูแลพัฒนาผู้เรียน
2.     เป็นการบูรณาการเชื่อมโยงนโยบายและกฎหมายที่กล่าวข้างต้นทุกเรื่องเข้าด้วยกัน  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียน ตามมาตรฐานด้านผู้เรียนทุกมาตรฐานให้สูงขึ้นและผลสำเร็จดังกล่าวจะเป็นอานิสงส์ในการประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูให้สูงขึ้น
3.     เป็นการบูรณาการใช้ทฤษฎีการปลูกฝังและสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมเรื่องการทำค่านิยมให้กระจ่าง ( Value Clarification : VC ) และเรื่องการปรับพฤติกรรม
     ( Behavior Modification : BM )  เข้าด้วยกัน
 
 แนวปฏิบัติ
          ผมขอเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติการดูแลพัฒนาผู้เรียนตามบทบาทของครูที่ปรึกษาประจำชั้นเรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยใช้เอกสารหมายเลข 1-3 เป็นเครื่องมือในการดำเนินการดังนี้

       1.การสำรวจตนเองของนักเรียน     โดยใช้เอกสารหมายเลข 1ตามตัวอย่าง
 

                                                                           เอกสารหมายเลข  1

แบบสำรวจตนเองของนักเรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียน

ชื่อ…………………………………….………..ชั้น…….………ห้อง…..…………….เลขที่……………
                                                วันที่สำรวจตนเอง……………………………………………
คำชี้แจง     ให้นักเรียนสำรวจตนเองตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียนตามรายการที่กำหนดในช่องที่  1  แล้วเขียนระบุพฤติกรรมหรือผลการปฏิบัติของตนเอง แต่ละตัวบ่งชี้ลงในช่องที่  2  พร้อมทั้งเขียนเครื่องหมาย  /ในช่องที่  3  ลงในรายการที่นักเรียนคิดว่ายังต้องปรับปรุงตนเองดังตัวอย่าง โดยขอให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและเปิดใจยอมรับในสิ่งที่ ตนเอง ยังบกพร่อง  ซึ่งถือเป็นความกล้าทางจริยธรรมที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ และการสำรวจนี้จะไม่มีผลในด้านลบต่อนักเรียนแต่ประการใด(ขออภัยไม่สามารถพิมพ์ตารางในบล็อกได้)

ครูที่ปรึกษาประจำชั้นเรียนอาจดำเนินการตามขั้นตอนนี้ดังนี้
1.1  จัดทำแบบสำรวจตนเองของนักเรียนตามตัวอย่างให้ครบทุก   มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียนซึ่งอาจปรับภาษาให้จูงใจ  ในการตอบของนักเรียนและหาคุณภาพของเครื่องมือนี้ตามวิธีการทางวิชาการ 
1.2   ก่อนดำเนินการสำรวจควรพูดคุยสร้างความเข้าใจกับนักเรียนตามคำชี้แจงเสียก่อนเพื่อให้นักเรียนเกิดความสบายใจในการเขียนพฤติกรรมหรือผลการปฏิบัติของตนเอง รวมทั้งกล้าระบุรายการที่คิดว่ายังต้องปรับปรุงตนเองด้วย
1.3   ครูที่ปรึกษาอาจใช้ชั่วโมงโฮมรูมหรือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้นักเรียนสำรวจตนเอง  และไม่ควรรีบเร่งให้นักเรียนตอบแบบสำรวจให้เสร็จในครั้งเดียว  อาจทยอยให้ตอบครั้งละ 1-2 มาตรฐานก็ได้
1.4 หลังจากที่นักเรียนตอบแบบสำรวจเสร็จแล้วควรจัดให้นักเรียนมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อน ๆ เพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับซึ่งกันและกัน
1.5 ครูที่ปรึกษาซึ่งมีข้อมูลนักเรียนแต่ะละคนตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอยู่แล้วอาจใช้เทคนิคการทำค่านิยมให้กระจ่าง ( VC. )   ตั้งคำถามให้นักเรียนเกิดความกระจ่างในค่านิยมและตัดสินใจตอบแบบสำรวจได้ด้วยตนเองอีกครั้ง

     2.  การวางแผนการปฏิบัติตน      โดยใช้เอกสารหมายเลข 2 ดังตัวอย่าง

                                                                           เอกสารหมายเลข  2
แผนการปฏิบัติตนของนักเรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียนที่นักเรียนยืนยันว่ายังต้องปรับปรุงตนเอง
ชื่อ ………………………ชั้น…..............ห้อง……….....เลขที่………
คำชี้แจง    หลังจากนักเรียนได้สำรวจตนเองตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียนตามเอกสารหมายเลข 1 และได้ร่วมหารือ ทบทวนกับเพื่อน ๆ และคุณครู พร้อมทั้งยืนยันพฤติกรรมที่นักเรียนคิดว่ายังต้องปรับปรุงตนเองแล้ว  ขอให้นักเรียนนำพฤติกรรมที่นักเรียนยืนยันว่ายังต้องปรัปปรุงตนเองทุกรายการมาวางแผนการปฏิบัติตนตามแบบและตัวอย่างที่กำหนด(ขออภัยที่ไม่สามารถลงตารางในบล็อกได้)

           แนวปฏิบัติของครูที่ปรึกษาในขั้นตอนนี้ต้องพยายามให้คำแนะนำช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถเขียนแผนการปฏิบัติตนได้ตามเงื่อนไขที่ตนคิดว่าสามารถปฏิบัติได้ด้วยความสบายใจ  ไม่ควรคาดคั้นหรือตั้งเกณฑ์สูงเกินไป  เพราะจะทำให้นักเรียนเกิดความท้อ และไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามแผน  ครูควรใช้ทฤษฎีการปรับพฤติกรรม  เพื่อเสริมแรงช่วยเหลือเขามากกว่า และเมื่อนักเรียนทุกคนวางแผนปฏิบัติตนเสร็จแล้ว ครูควรจัดกลุ่มพฤติกรรมตามที่นักเรียนวางแผนการปฏิบัติตนแต่ละมาตรฐาน แล้วหาทางดูแลช่วยเหลือเขาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ถ้าเป็นเรื่องการเรียนอาจประสานเพื่อนครูหรือฝ่ายวิชาการช่วยสอนพิเศษให้ หรืออาจจัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน  หากเป็นกลุ่มสาระที่ตนสอนก็จะไปช่วยดูแลด้วยตนเอง เป็นต้น

3.การติดตามผลการปฏิบัติตนของนักเรียน      โดยใช้เอกสารหมายเลข 3 ดังตัวอย่าง
                                                                                     เอกสารหมายเลข  3

แบบติดตามผลการปฏิบัติตนตามแผนที่นักเรียนกำหนด

ชื่อ…………………………ชั้น……........ห้องเรียน…........เลขที่…………………
คำชี้แจง ให้นักเรียนบันทึกผลการปฏิบัติตนตามแผนที่ตนเองกำหนดแต่ละรายการเป็นระยะ ๆ ทุก 3เดือนหลังจากที่ได้วางแผนไว้จนสิ้นปีการศึกษา  โดยระบุผลตามแนวทางแก้ปัญหา/ปฏิบัติตนและเป้าหมาย/เกณฑ์ที่ต้องการให้เกิด  แล้วนำเสนอให้คุณครูที่ปรึกษาพิจารณาให้ความเห็นและลงชื่อแต่ละครั้ง(ขออภัยที่ไม่สามารถลงตารางในบล็อกนี้ได้)

     แนวปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ ครูที่ปรึกษาควรมีการติดตามผลการปฏิบัติตนของนักเรียนแต่ละคนตามแผนและเงื่อนไขที่นักเรียนกำหนด เป็นระยะ ๆ เทคนิคที่ควรใช้ในการปรับพฤติกรรมขั้นตอนนี้คือ การตั้งคำถามที่เสริมแรงนักเรียนเช่น
         * เป็นอย่างไรบ้าง ปฏิบัติตามแผนแล้วหรือยัง
        *มีปัญหาในการปฏิบัติตรงไหน จะให้ครูช่วยอะไรบ้าง
         *เรามาช่วยกันหาสาเหตุกันดีไหม ว่าเป็นเพราะอะไร
         *ที่เธอปฏิบัติไม่ได้ตามแผนเพราะเกณฑ์ที่ตั้งสูงไปหรือเปล่า ลดเกณฑ์ลงหน่อยดีไหม พอทำได้แล้วค่อยเพิ่มเกณฑ์
        * เธอทำได้ดีแล้วนี่ คิดว่าจะขยายเกณฑ์อีกไหม
        * เรามาเปลี่ยนเงื่อนไขกันหน่อยดีไหม
      *วิธีการปฏิบัติตนที่เธอกำหนดไว้ในแผนยากเกินไป เธอคิดว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่
       * ดีมากทีเดียวที่เธอสามารถปฏิบัติได้ตามแผนที่วางไว้ ครูหวังว่าเธอคงทำต่อไปนะ
       *ครูได้รับคำชมจากครูหลายคนว่านักเรียนห้องเราตั้งใจเรียนดีกว่าแต่ก่อนมาก
        * ครูสังเกตว่าพวกเรารู้จักรับผิดชอบในตัวเองมากขึ้น มาโรงเรียนแต่เช้าและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์             ฯลฯ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

      หากนักเรียนสามารถวางแผนและปฏิบัติตนตามแผนได้อย่างต่อเนื่อง น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายประการคือ
1.  มาตรฐานคุณภาพด้านผู้เรียนทุกมาตรฐานจะเพิ่มขึ้นเป็นรายบุคคล ถ้าครูที่ปรึกษาทุกคนดูแลนักเรียนเช่นนี้ไปพร้อมกันก็จะส่งผลให้คุณภาพของผู้เรียนทั้งโรงเรียนตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาสูงขึ้นด้วย
2. เป็นการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่ครูสามารถ x-rays นักเรียนเป็นรายบุคคลบังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
3. ครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสาระอาจเทียบเคียงแนวปฏิบัตินี้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระที่สอน และสามารถใช้ในการประเมินคุณลักษณะของผู้เรียนตามหลักสูตรได้ รวมทั้งสามารถเพิ่มสมรรถนะและพัฒนาผลงานทางวิชาการของตนได้ด้วย

****************

ผู้เขียน...ธเนศ  ขำเกิด


 


 


 
     


                                                                                     

 

 
 
 

 
หมายเลขบันทึก: 26042เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2006 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท