การจัดการความรู้ป่าชุมชน


การจัดการความรู้เกิดขึ้นได้เมื่อลงมือทำ

การจัดการความรู้ป่าชุมชน

      เราไปจัด KM workshop ให้กับโครงการติดตามและสนับสนุนชุมชน : การจัดการความรู้และพัฒนาการจัดการป่าโดยชุมชน (PDF)  เมื่อวันที่ ๘-๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา   ณ พระนครแกรนด์วิว     มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งงานนี้ผู้จัดต้องการให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะความสามารถในการจัดกระบวนการสรุปบทเรียน  และเพื่อให้การดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมได้ด้วยตนเอง  ด้วยวิธีการเล่าเรื่องการทำงานป่าชุมชนของแต่ละโครงการ (๙ โครงการ จำนวน ๒๐ คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6-7 คน) ที่ภาคภูมิใจและประสบความสำเร็จในพื้นที่ของตนเองแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  โดยมีคุณธวัช หมัดเต๊ะ เป็นวิทยากรหลัก  และคุณสุภาภรณ์ ธาตรีโรจน์ เป็นผู้ช่วยวิทยากร  

สามารถถอดบทเรียนการทำงานป่าชุมชนออกมาดังนี้

การประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. เข้าใจระบบนิเวศ/ภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ตัวเอง
2. มีกลไกหรือรูปแบบความร่วมมือของกลุ่ม องค์กร สถาบันในท้องถิ่น ในการสร้างรูปธรรมในการจัดการพื้นที่
3. มีการสร้าง/ขยายแนวคิดและพื้นที่การทำงาน
4. มีแผนการจัดการทรัพยากรที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่นและความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ
5. ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคมและมีกฎหมายรองรับ

แนวคิดและกระบวนการในการทำงาน

1. การสร้างการมีส่วนร่วมภายในชุมชนและประสานความร่วมมือจากภายนอกในการจัดทรัพยากร
2. การจัดทำแผนร่วมกันจากทุกภาคส่วนในชุมชนในการจัดการทรัพยากรของชุมชน
3. สร้างเทคนิควิธีการแนวความคิดในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น
4. สร้างความรู้และวิธีการจัดการความรู้ในการจัดทรัพยากร
5. เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

การจัดการใช้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ

1. มีการตระหนักและรวมตัวการจัดการป่าในชุมชน/เครือข่าย
2. มีกิจกรรมในการจัดการป่าชุมชน เช่น การป้องกันไฟป่า พิธีกรรม ความเชื่อ และการประสนงานร่วมกันในท้องถิ่น

3. มีระบบคุ้มครองและการจัดการทรัพยากรใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกระบบ
4. คนส่วนใหญ่ในชุมชนมีระบบวิถีชีวิตคนกับป่า อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลเกิดการจัดการป่าทั้งระบบ
5. โลกต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดและการปฏิบัติสู่แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน

การรวบรวมองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรในชุมชน

1. รู้จักสภาพภูมินิเวศน์ แหล่งที่อยู่ ของทรัพยากรในชุมชน
2. รู้จักการใช้ประโยชน์ ข้อควรระวังในการใช้ตัวทรัพยากรนั้น ๆ
3. รู้จักกระบวนการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และครอบครัว
4. ขยายผลให้เกิดการปฏิบัติจริงทั้งชุมชน/เครือข่าย+การเรียนรู้ ประสบการณ์ภายนอก
5. มีการรวบรวม บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเผยแพร่แก่สังคม ในระดับชุมชน มีวิทยากรชาวบ้านอธิบายเรื่องราวได้ ส่วนกิจกรรมนั้นก็ดำเนินการต่อไป อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ช่วงกระบวนการทำ  KM  มีหลายสิ่งเกิดขึ้น ดังนี้
     1. ช่วงที่ให้ตัวแทนป่าชุมชนเล่าเรื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถเล่า (Tacit Knowledge  = ความรู้ที่อยู่ในคน) ออกมาได้ดี  แต่พอถึงช่วงให้จับประเด็น  เกิดความสับสนหรืองง..   เริ่มจาก Facilitator และ Note taker (คุณอำนวยและคุณลิขิต) มีคำถามว่า ทำอย่างไร อย่างนี้ใช่ไหม  ช่วยแนะนำให้หน่อย  และตัวแทนป่าชุมชน  ก็มีคำถามเช่นกันว่า จับประเด็นไปเพื่ออะไร จับไปทำไม  เพราะจากการสอบถาม  พวกเขาคิดว่า การเดินทางมา Workshop ครั้งนี้ แค่มาเล่าเรื่องอย่างเดียว เพื่อให้ผู้จัดนำเรื่องราวการทำงานป่าชุมชนในระยะ 2-3 ปีที่อยู่ในโครงการไปสรุปบทเรียนเท่านั้น  แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี    ดังนั้นในการจัด KM workshop ครั้งนี้ จึงเป็นการย้ำเตือนว่า ก่อนทำต้องเตรียม  Facilitator และ Note taker ให้เข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ของ KM ให้ชัดเจน  สำหรับเรื่องการประสานงานและการเก็บความรู้จากเรื่องเล่า Facilitator และ Note taker  เข้าขากันได้ดีมาก (น่าชื่นชม)  แต่ด้วยเวลาอันจำกัด  ก็ทำให้ข้อมูล Tacit knowledge จำกัดลงไปด้วย   
จึงขอความกรุณาให้ทุกท่าน  ช่วยเสนอแนะแนวทาง เกี่ยวกับเรื่องของเวลาที่ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่าควรทำอย่างไร  จึงจะหาความเหมาะสมได้

     2. บรรยากาศโดยรวมของการทำ  KM workshop  เป็นกันเอง ใช้ภาษาเข้าใจง่าย ๆ และให้โอกาสแสดงข้อเสนอแนะที่ยังคาใจหรือขัดข้องใจอยู่พร้อมปัญหาและแนวทางแก้ไขต่าง ๆ ในแต่ละวันที่จัด   ไม่กำหนดว่าต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องสี่เหลี่ยม สามารถออกนอกห้องได้ตามความต้องการ เช่น โต๊ะรับแขก   และใครอยากจะชงชา ชงกาแฟ ก็ออกมาชงได้  บวกกับความอยากรู้อยากเห็นและความตื่นเต้นเกี่ยวกับกระบวนการของ KM  ว่าต้องทำอะไรต่อ  มีบางท่านพูดว่า ทำไมไม่บอกให้หมดและละเอียดไปเลย  ชอบกั๊กไว้ ยิ่งทำให้อยากรู้ไปอีก  นี่ก็เป็นการสร้างแรงกระตุ้นอีกแบบหนึ่ง แต่ก็อาจเกิดอาการเซ็งได้ในบางครั้ง        

     3. การทำแก่นความรู้มีการใช้ card technique และการวาดภาพไม้บรรทัดให้มีสเกล 5 สเกล ลงบนกระดาษ เพื่อให้เขียนแก่นความรู้  5 ระดับที่ได้ลงไป แทนการใช้ตารางแห่งอิสรภาพ  จากนั้นประเมินหรือชี้วัดการทำงานป่าชุมชนแต่ละชุมชนด้วยกระดาษตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดพอประมาณเขียนชื่อชุมชนของตนเอง (mini card technique) แล้วนำไปติดแก่นความรู้แต่ละระดับ   งานนี้ไม่ได้ใช้ภาพธารปัญญา  ใช้บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วาดลงในกระดาษเหมือนทำตารางแห่งอิสรภาพ  สำหรับภาคปฏิบัติการใช้ไม้บรรทัดทำได้ดี  แต่จะมีบางคนยังสับสน  การทำบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ต้องหาค่าช่องว่าง (GAP) = Target (อนาคต) – Current (ปัจจุบัน)  สุดท้ายก็ทำได้  และบอกว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป 
                  
                                         

     4. ได้ขุมความรู้ (Knowledge Assets) และแก่นความรู้ (Core Competence) ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานป่าชุมชน ซึ่งความรู้นี้ได้สกัดออกมาจากเรื่องเล่าความสำเร็จในการดำเนินงานของ ๙  โครงการ  โดยทางผู้จัด กล่าวว่าพอใจมาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการการจัดการความรู้ (KM) และการทำงานป่าชุมชนในหลาย ๆ รูปแบบ 

     5. มีการเปิดใจเกี่ยวกับเรื่องการเขียน และการพูด/เล่า ว่ามีจุดเด่นและจุดอ่อน ตรงไหน   ซึ่งก็ได้ออกมาหลายจุด เช่น การเล่าเรื่องสามารถแสดงความรู้สึก จิตนาการ อาการออกมาได้มากกว่าการเขียน  การเล่าสามารถเล่าเรื่องออกมาได้มากมายไม่จำกัดมากกว่าการเขียน
มีการแนะนำว่าการทำสมาธิก่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ ทำ KM ดีมาก   จะช่วยให้มีสติมากขึ้น    

หมายเหตุ 
     ป่าชุมชนที่เข้าร่วม KM workshop คือ ชุมชนกาญจนบุรี  ชุมชนบุรีรัมย์ ชุมชนหนองบัวลำภู ชุมชนอินแปง จังหวัดสกลนคร ชุมชนคลองตะเสะ จังหวัดตรัง  ชุมชนกุดขาคีม จังหวัดสุรินทร์ ชุมชนดงนาทาม จังหวัดอุบลราชธานี และชุมชนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

    ต่อเนื่องจากเรื่องความรู้เล็ก..เล็ก ในบล็อกคุณธวัช หมัดเต๊ะ   และติดตามเรื่องราวการจัดการความรู้ป่าชุมชนต่อไป ขณะนี้กำลังรอรายละเอียดบางส่วนที่ยังขาดหายไป จากโครงการติดตามและสนับสนุนชุมชน: การจัดการความรู้และพัฒนาการจัดการป่าโดยชุมชน (PDF)


 

คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 260เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2005 02:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท