การพัฒนาครูด้วยกลยุทธ์ "ตลาดนัดวิชาการ"


“ถ้าครูแน่นและแม่นในเนื้อหา ลีลาก็จะมาเอง”

  แนวคิดพื้นฐาน
 
                ปัจจุบันเรากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์กันหนาหูมากขึ้น  แม้แต่ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็พบว่ามีหลายโรงเรียนที่ผลการประเมินด้านคุณภาพผู้เรียนในมาตรฐานที่ 4 เรื่องการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ
                การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน คือ การอบรมพัฒนาครูที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นการบูรณาการคิดวิเคราะห์คิดสังเคราะห์และมีการรณรงค์ไม่ให้ครูสอนโดยเน้นเนื้อหา ซึ่งเป็นจุดประสงค์ปลายทางที่ถูกต้อง แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเพียงความพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รูปแบบ มากกว่า แก่นแท้ ที่ยั่งยืน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากนัก
                เราอาจลืมคิดไปว่า ถ้าครูขาดความรู้ที่ลึกซึ้งและขาดนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนย่อมยากที่จะคิดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ของนักเรียนได้ และถ้านักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก คิดเลขไม่เป็น (ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน) ก็ยากที่จะมีความรู้ตามกลุ่มสาระต่าง ๆ ได้ เช่นเดียวกัน
                ผมอาจจะคิดแบบครูโบราณที่มองว่า การพัฒนาความรู้ในเนื้อหาสาระเป็นความต้องการจำเป็นลำดับแรก ส่วนการพัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนรู้จะเป็นความต้องการจำเป็นลำดับถัดไปที่มีความจำเป็นมากเช่นกัน การจะผนวกเอาการพัฒนาทั้งด้านความรู้และเทคนิคการจัดการเรียนรู้บูรณาการเข้าด้วยกันเป็นเรื่องที่ดีแต่ดูค่อนข้างทำได้ยากและเป็นอุดมคติไปหน่อย
                ผมยังมีความเชื่อว่า “ถ้าครูแน่นและแม่นในเนื้อหา ลีลาก็จะมาเอง”  ซี่งจะทำให้ครูเป็นโค้ชที่เก่ง มองเห็นช่องทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการพัฒนาผู้เรียน และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ (แผนการสอน) ให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการสอนโดยเน้นเนื้อหาดังที่หลายคนเป็นห่วงกัน
 
            เราคงจำได้ถึงจุดมุ่งหมายการจัดการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ของบลูม(Bloom ) 6 ขั้นตอน คือ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์  การสังเคราะห์และการประเมินค่า (ที่เราท่องกันมาว่า “จำใจใช้วิสังประ” ) ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่า พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ดีจะเป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์และการประเมินค่าได้
                        ผมจึงยืนยันว่า ถ้าครูขาดความมั่นใจในเนื้อหาความรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ตนเองสอนก็จะขาดความคิด ความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ด้วย ซึ่งดูเหมือนเป็นความคิดของครูโบราณที่มีการคิดแบบแยกส่วน
                        เราอาจจะมั่นใจว่าครูที่เรียนจบปริญญาตรีแล้วจะแน่นในเนื้อหาสาระในวิชาเอกที่ตนเองเรียนโดยไม่ต้องมาพัฒนากันอีกก็สามารถสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544 ได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ไม่ค่อยมั่นใจนัก เพราะโดยสภาพหลักสูตรของสถาบันผลิตครู จะมีรายวิชาให้เรียนมากมายซึ่งอาจทำให้การเจาะลึกในเนื้อหาความรู้ย่อหย่อนไปบ้าง และเมื่อจบออกมาทำงานยังมีข้อมูลยืนยันว่าเรายังใฝ่รู้ใฝ่เรียนเพิ่มเติมกันน้อย  ขณะที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีสาระการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายมากขึ้นและกระทรวงศึกษาธิการก็ประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนครูสูง จึงพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยจัดครูเท่าที่มีอยู่เข้าสอนให้ครบตามกลุ่มสาระ
                        จึงเห็นว่าหากทุกฝ่ายยอมรับความจริง และมาร่วมกันช่วยเหลือครูให้ได้รับการพัฒนา ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยร่วมกันสำรวจปัญหาความต้องการจำเป็นของครูในเนื้อหาสาระเรื่องที่ครูยังขาดความมั่นใจในแต่ละเรื่องแต่ละกลุ่มสาระทั้ง 8 กลุ่มสาระ โดยแยกเป็นช่วงชั้นที่ 1 – 2 (ประถมศึกษา) และ ช่วงชั้นที่ 3  - 4  (มัธยมศึกษา) รวม 16 กลุ่ม แล้วสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้อย่างดีในแต่ละเรื่องมาเป็นวิทยากร กำหนดสถานที่อบรม แล้วจัดทำเป็นหลักสูตรภาพรวมในรูปแบบของตลาดนัดวิชาการ โดยอาจมอบภารกิจให้ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระรับผิดชอบ ก็น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ ทำให้ครูมีทางเลือกในการเพิ่มพูนความรู้ เกิดนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้ ใฝ่พัฒนาตนเอง ที่จะเป็นแบบอย่างในการสร้างนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้ให้แก่นักเรียน และเป็นการส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เป็นองค์กรเครือข่ายวิชาชีพที่มีความเข้มแข็งด้วย
 
กลยุทธ์ ตลาดนัดวิชาการ ที่จังหวัดนนทบุรี
                        แนวคิดพื้นฐานข้างต้นได้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นแล้วที่จังหวัดนนทบุรีในปีงบประมาณ 2548 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้สนับสนุนงบประมาณ 1,360,600 บาท ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 1 และ เขต 2 ร่วมกันจัดตลาดนัดวิชาการ โดยใช้ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ 16 ศูนย์ เป็นฐานและเป็นเจ้าภาพการอบรม ที่มีความรับผิดชอบตามข้อตกลงร่วมกัน และมุ่งปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการอบรมที่เน้นเนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบที่เป็นพิธีการ  
 
 เงื่อนไขการมอบประกาศนียบัตรการอบรม                     

       เราได้ประชาสัมพันธ์ไปว่า หลักสูตรการจัดการตลาดนัดวิชาการ 124  หลักสูตร 432 ชั่วโมง เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูให้เกิดความมั่นใจในสาระการเรียนรู้สู่การเป็นครูมืออาชีพ โดยอบรมฟรีในวันเสาร์และมีประกาศนียบัตรให้ด้วย
        ดังนั้นเพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพของหลักสูตร เราจึงต้องกำหนดเงื่อนไขการมอบประกาศนียบัตรการอบรมโดยมีสมุดบันทึกการเข้าร่วมอบรมตามหลักสูตรตลาดนัดวิชาการ (คล้ายพาสปอร์ต)ให้ผู้เข้าอบรมคนละ 1 เล่ม และกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้เข้ารับการอบรม ดังนี้
1.   พิจารณาเลือกเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดได้ทุกหน่วยอบรม
2.   การเข้ารับการอบรมแต่ละครั้ง ให้เจ้าของสมุดบันทึกข้อมูลตามรายการที่กำหนด ได้แก่ วันที่ เวลา เรื่องที่เข้าอบรม ชื่อวิทยากร
3.   การรับรองการเข้ารับการอบรมจะต้องมีตราประทับและลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อบรมนั้นทุกครั้ง
4. ในวันสุดท้ายของการเข้ารับการอบรมให้มอบสมุดประจำตัวนี้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อบรมนั้น สำหรับเป็นข้อมูลเพื่อการประเมินมอบประกาศนียบัตรแสดงถึงการพัฒนาตนเองและวิชาชีพต่อไป
5.การได้รับประกาศนียบัตรจะต้องมีเวลาเข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาทั้งหมดโดยกำหนดเวลาทั้งหมดของแต่ละกลุ่มสาระคือ 27 ชั่วโมง (จำนวน 9 หลักสูตร หลักสูตรละ 3 ชั่วโมง ) ซึ่งต้องมีเวลาเข้ารับการอบรมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 21 ชั่วโมง

    บทสรุป

                การจัดตลาดนัดวิชาการที่จังหวัดนนทบุรี ปี 2548 สิ้นสุดลงแล้ว ผลการประเมินเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย มีผู้เข้ารับการอบรมรวมกว่า 4 หมื่นคน ผ่านเกณฑ์การประเมิน 21 ชั่วโมง ได้รับประกาศนียบัตร 4 พันคนเศษ  รูปแบบดังกล่าวได้รับความสนใจจากหลายจังหวัดนำไปประยุกต์จัด และความสำเร็จดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ สพฐ.คัดเลือก สพท.นนทบุรีเขต 1 เป็นต้นแบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ในปี 2549

           บทเรียนการจัดตลาดนัดวิชาการสามารถสรุปได้ว่า  การกระจายอำนาจให้ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้มีความเป็นอิสระที่จะคิดกลยุทธ์สืบสานการพัฒนาครูตามความต้องการจำเป็นและตามบริบทของแต่ละศูนย์  จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพครูตามกลุ่มสาระ/สาขาของตนอย่างแท้จริงเพื่อสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า
                “…แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีจะก้าวหน้า ข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน แต่ก็ไม่สามารถทดแทนครูได้ เพราะการศึกษามิใช่เป็นเพียงการรับความรู้ รับข้อมูลข่าวสารเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่าคือ การฝึกคิด การบ่มนิสัยให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเอง และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ส่วนนี้ต้องใช้คนสอนเท่านั้น ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกลเพียงใด ก็ยิ่งต้องการครูที่มีความสามารถมากขึ้นเพียงนั้น  ครูต้องพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันโลก จึงจะสามารถอบรมบ่มนิสัยคนในยุคใหม่ได้

                                            ********************************

                                                                                                                                           ธเนศ  ขำเกิด [email protected]


 
 
 


 

 

หมายเลขบันทึก: 25981เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท