Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๗๕ จบ)


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้

บทส่งท้าย
KM ประเทศไทย :  เคลื่อนไหวไร้รูปแบบ

         ปัจจุบันการจัดการความรู้ได้กลายเป็นกระแสที่สร้างความตื่นตัวต่อการนำไปใช้ในหน่วยงาน/องค์กร/ชุมชน โดยเห็นว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาองค์กร มีประสิทธิภาพและคุณภาพเพิ่มขึ้น
         จากการติดตามการใช้การจัดการความรู้ของสังคมไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก จึงพบการนำการจัดการความรู้ไปใช้ในรูปแบบ วิธีการ และระดับที่แตกต่างกัน  โดยในภาคเอกชนยังคงก้าวนำภาคส่วนอื่น ๆ  เพราะ KM ( Knowledge  Management)เป็นกระแสโลก บริษัทเอกชนขนาดใหญ่จึงมักทำเรื่องการจัดการความรู้อยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผลทางธุรกิจ จึงมักเป็นเรื่องที่รู้กันภายในองค์กร    แต่ปัจจุบันการจัดการความรู้ในภาคเอกชนมีการเปิดตัวและเผยแพร่กระบวนการและวิธีการออกมาแลกเปลี่ยนกันเรียนรู้กันมากขึ้น  เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด   บริษัทสแปนชั่น ไทยแลนด์  จำกัด ฯลฯ
         ในภาคราชการก็กำลังมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักแม้จะเริ่มอย่างสับสนกับการตีความ และหาวิธีที่จะบูรณาการการจัดการความรู้ไปไว้ในการทำงาน  เพื่อจะได้ร่วมขบวนการปฎิรูปการทำงานแนวใหม่ที่มีการจัดการความรู้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่ง    แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเราก็ได้เห็นความพยายามของภาคราชการที่จะนำการจัดการความรู้ไปใช้และปัจจุบันก็เกิดตัวอย่างดี ๆ ที่สามารถนำไปจุดประกายให้เกิดขบวนปฏิบัติการจัดการความรู้ในองค์กรราชการคึกคักและหลากหลาย เช่น  โรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งตัวอย่างการจัดการความรู้ในองค์กรที่สามารถบูรณาการการจัดการให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการและในเนื้องานประจำ   ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือเกิดความร่วมมือของหน่วยราชการในจังหวัดในการแก้ปัญหาชุมชน 
         ขณะที่ในภาคประชาสังคม  คำว่า “การจัดการความรู้”  ชาวบ้านอาจไม่รู้จักแต่เมื่อดูจากผลสำเร็จที่ทำจะพบว่ามีกิจกรรมของการจัดการความรู้อยู่ แม้จะเป็นการจัดการความรู้แบบไม่เต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบริบท   โดยในส่วนนี้ สคส.ได้เข้าไปเติมเต็มกิจกรรมการจัดการความรู้ของชุมชนและประชาสังคม โดยเข้าไปดำเนินการในหลายลักษณะ ทั้งการให้ทุนสนับสนุนทำโครงการ  และการกระตุ้นผ่านเครือข่ายความร่วมมือ  ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนเกิดผลสำเร็จและมีพลังในการขับเคลื่อนมากขึ้น อาทิ โครงการฟ้าสู่ดิน โรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี เครือข่ายโรงพยาบาล   หรือแม้แต่การทำเองอยู่แล้วของชุมชนไม้เรียง ซึ่งเป็นตัวอย่างของอีกหลาย ๆ ชุมชนที่ทำเรื่องการจัดการความรู้อยู่แล้วแต่เป็นการทำไปตามธรรมชาติ  ซึ่งการจัดการความรู้ลักษณะนี้ต้องการการกระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่อง
         ก้าวต่อไปของการจัดการความรู้ในสังคมไทย จึงต้องดูผลจากการการนำการจัดการความรู้ไปใช้ ซึ่งจะก่อให้เกิดรูปแบบการจัดการความรู้ที่หลากหลาย และเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องเฉพาะของกลุ่ม/องค์กร/ชุมชน/หน่วยงาน/ ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้  แต่เป็นวิธีการและกระบวนการที่ผู้ใช้ต้องสร้างขึ้นเอง   ซึ่งตัวอย่างเล็ก ๆ ในหนังสือเล่มนี้อาจช่วยจุดประกายให้เกิดการจัดการความรู้ที่แพร่หลายมากขึ้น  และหวังว่าในที่สุดจะช่วยทำให้สังคมไทยเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคง
          “เพราะการจัดการความรู้ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา แต่การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้ตามแต่เนื้องาน ทำให้เห็นช่องทางและคาดหวังผลสำเร็จที่ดีกว่าได้ ด้วยการปฎิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”


โครงการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้เพื่อสังคม
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
โทร. 0-2619-9701

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25905เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท