ความรับผิดชอบ


ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนและสิ่งที่ตนกระทำ

          ความรับผิดชอบ  โดยทั่วไป หมายถึง ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน  คือรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ  รวมทั้งการปรับปรุงพัฒนาการงานในหน้าที่  ในความรับผิดชอบของตน  มีความเพียรพยายามปฏิบัติตนในหน้าที่โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก  หรือปัญหาอุปสรรค  มีความกล้า  ความจริงใจที่จะรับผิดชอบ  คือ ความผิด  หรือรับความขอบที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน  ผู้ที่ไม่รู้หน้าที่และความรับผิดชอบ  จะทำการสิ่งใดก็ไม่สำเร็จและมักจะโยนความผิดให้บุคคลอื่น เช่น เมื่อเรียนไม่ดี  เรียนไม่สำเร็จ  ก็โทษบุคคลอื่น เช่น ครู อาจารย์สอนไม่เข้าใจ  โทษความยากจน  ความลำบากยากเข็ญ  หรือโทษบิดามารดาไม่ให้การสนับสนุน  การโยนความผิดให้บุคคลอื่นมีเฉพาะในบุคคลที่ขาดความรับผิดชอบเท่านั้น

          ผลของการกระทำที่แสดงถึงความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และการกระทำของตน ตัวอย่างเช่น

          - การอุทิศเวลา  มีความเสียสละ  มีความเพียรพยายามทำงานอย่างน้อยเต็มเวลา  เต็มกำลังความสามารถและเต็มในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน

          - มีความรับผิดชอบในผลของงาน  ในหน้าที่ความรับผิดชอบและในงานที่รับมอบหมาย  มีผลงานแสดง  สามารถประเมินประสิทธิผล  คือ ผลสำเร็จ  ผลที่เกิดขึ้น  ประเมินประสิทธิภาพ  คือ ความสามารถที่ทำให้เกิดผลในการทำงาน  ตรวจสอบได้จาก  การทำงานนั้นเต็มกำลังความสามารถหรือไม่  และผลของงานนั้นเป็นที่พึงพอใจหรือไม่

          ขอยกตัวอย่าง  ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ที่จะต้องสร้างให้แก่บุคคลในชาติรู้สำนึกในความรับผิดชอบ เช่น

          1.  ความรับผิดชอบในการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียน

              นักเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการศึกษาเล่าเรียนให้ประสบผลสำเร็จ  มีความขยันหมั่นเพียร  มีความตั้งใจจริง  อดทนต่อสิ่งที่ไม่พึงพอใจต่างๆ มีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทุกรายวิชา  มีข้อสงสัยก็ซักถาม  มีการเตรียมบทเรียนล่วงหน้า  มีความมุมานะ  อุทิศทุ่มเททำงานให้เต็มเวลาเต็มความสามารถส่งงานหรือทำงานหรือศึกษาค้นคว้าตามครูสั่งนักเรียนที่รู้หน้าที่และมีความรับผิดชอบ    จะมีสัมฤทธิผลในการเรียนสูง  เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน

            2.  ความรับผิดชอบต่อตนเอง

               ความรับผิดชอบต่อตนเอง  คือ การยอมรับผลที่เกิดจากการกระทำของตนทั้งดีและไม่ดี  ถูกหรือผิด  มีความสำนึก  คือ รู้ตัวว่าผิดแล้ว  จะไม่คิดทำผิดอีกต่อไป  ไม่ปัดความรับผิดชอบให้ผู้อื่น  และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

              -  มีความรับผิดชอบทางกาย  คือ ดูแลรักษาสุขภาพของตนให้ดีอยู่เสมอ  ช่วยเหลือตนเองในกิจการต่างๆ ที่สามารถช่วยตัวเองได้  มีการทำงานบ้าน  งานอดิเรก  คืองานพิเศษที่ทำเพื่อความเพลิดเพลิน  ออกกำลังกาย  และไม่ทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อกายและสุขภาพของตนเอง

               -  ความรับผิดชอบทางใจ  ด้านคุณธรรมความดี  มีจิตตั้งมั่นในการละบาปทั้งปวง คือไม่ทำชั่ว  ทำกุศลให้ถึงพร้อม  คือทำแต่ความดี  และทำจิตให้ผ่องใส  คือมีจิตสะอาดบริสุทธิ์

              -  ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน  ปรับปรุงพัฒนาการทำงานหรือการเรียนของตนให้มีประสิทธิภาพ  ได้ประสิทธิผลและมีสัมฤทธิผลในการเรียนที่ดีขึ้น  สูงขึ้นหรือดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้  มีความรับผิดชอบในการประกอบกิจกรรมหรือการงานที่สุจริตไม่เลือกงานและต้องปฏิบัติงานให้เรียบร้อยไม่คั่งค้าง

          3.  ความรับผิดชอบต่อครอบครัว

                  ผู้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว คือ ผู้ที่มีความตั้งใจในการช่วยเหลือการงานต่างๆ ในครอบครัว  ช่วยกันแบ่งเบาภาระต่างๆ ตามกำลังความสามารถ  ร่วมแสดงความคิดเห็นเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์  เพิ่มความสงบสุขของครอบครัว  ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ประสานความเข้าใจอันดีในครอบครัว  สร้างความรัก  ความเข้าใจอันดี  มีความหวังดี  เมตตาและมีน้ำใจไมตรีอันดีต่อกัน  ช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้ครอบครัว  ช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่าย

          4.  ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมสังคมและประเทศชาติ

               บุคคลที่อยู่ในสังคม  มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม  สังคมและประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น

                1)  ประพฤติปฏิบัติตนตามกฎหมาย  ระเบียบข้อบังคับ  ขนบธรรมเนียมของสังคม

               2)  รับใช้ชุมชน  สังคม  ตามความรู้ ความสามารถ  ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี  เสียภาษีอากร  สดับตรับฟัง  คือเอาใจใส่คอยฟังข่าวคราว  หรือ    ความคิดเห็นในเหตุการณ์บ้านเมือง  ในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐและช่วยสังคมด้านต่างๆ เท่าที่มีความพร้อมและสามารถทำได้

                3)  เสียสละแรงกาย  สติปัญญาให้ความคิดเห็น  สละทรัพย์หรือสิ่งของช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก  ให้การสงเคราะห์คนที่ควรช่วย  ช่วยผู้อนาถา  โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อน

              4)  ช่วยดูแล  ระมัดระวัง  สอดส่องการรักษาทรัพย์สมบัติของส่วนรวม  ช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สวนสาธารณะ  ต่อต้านผูแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

                5)  เป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา  รู้แพ้  รู้ชนะ  รู้อภัย  และมีสติระลึกรู้  ไม่ร่วมมือร่วมใจกับผู้ก่อกวน  ปลุกปั่น (ยุยงให้แตกแยก) ก่อจลาจล  (แสดงความวุ่นวายในบ้านเมือง  สร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง)  ไม่ร่วมกระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม

              6)  เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน  ไม่คิดหรือกระทำและช่วยเหลือต่อต้านผู้ที่คิดหรือกระทำ  เพื่อเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นประโยชน์ส่วนตน

                  7)  เสริมสร้างคนดี  สนับสนุนคนดี  ไม่สนับสนุนส่งเสริมหรือยินดีกับคนชั่ว  คนโกงกิน  ช่วยเสริมสร้างคนดี  ให้คนดีเป็นตัวแทนหรือมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง 

          ...ในบ้านเมืองนั้น  มีทั้งคนดีและไม่ดีไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด  การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย  จึงไม่ใช่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี  หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี  ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ  ไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...

          ความโดยสรุป  เรื่องความรับผิดชอบ  ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

        ...การทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง  ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน  สำคัญที่สุด  ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า  ความรับผิดชอบ  ให้ถูกต้อง  ขอให้เข้าใจว่า  รับผิด  ไม่ใช่รับรางวัล หรือคำชมเชย  การรู้จักรับผิดหรือยอมรับรู้ว่าอะไรผิดพลาดเสียหายและเสียหายเพราะอะไร  เพียงใดนั้น  มีประโยชน์ทำให้บุคคลรู้จัก รับผิดพลาดเสียหายและเสียหายเพราะอะไร  เพียงใดนั้น  มีประโยชน์ทำให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง  ยอมรับความผิดของตนเองโดยใจจริง  เป็นทางที่จะช่วยให้แก้ไขใหม่  ส่วนการรู้จักรับผิดชอบหรือรู้อะไรถูก  อันได้แก่ถูกต้องตามความมุ่งหมาย  ถูกตามหลักวิชาการ  ถูกตามวิธีการนั้น          มีประโยชน์ทำให้ทราบแจ้งว่า  จะทำให้งานสำเร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร  จักได้ถือปฏิบัติต่อไป  นอกจากนั้นเมื่อเข้าใจความหมายคำว่า  รับผิดชอบ  ตามนัยดังกล่าวแล้ว  ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ  จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้  จึงใคร่ขอให้บัณฑิตศึกษาและสังวรระวังในความรับผิดชอบให้มากที่สุด  ผู้ใดมีความรับผิดชอบ            จะสามารถประกอบการงานให้บรรลุผลสำเร็จ  ตามที่มุ่งหมายไว้ได้อย่างแน่นอน

                พระบรมราโชวาท  ในพิธีประราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  16  กรกฎาคม  2519

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 258996เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2009 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท