ชีวิตที่พอเพียง : 12. ระลึกชาติที่หลวงพระบาง


• เช้าวันที่ ๒๒ เมย. ๔๙ ผมวิ่งออกกำลังที่ถนนหน้าโรงแรมวิลลาสันติ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่หลวงพระบาง    ถนนมีลักษณะโรยหิน ไม่ได้ลาดยาง    คล้ายกับถนนปรมินทร์มรรคา ที่เชื่อมตลาดชุมพรกับปากน้ำและผ่านหน้าบ้านผมที่ตำบลท่ายาง  อ. เมือง  จ. ชุมพร  เมื่อ ๕๐ ปีก่อน    ผมถ่ายรูปถนนที่หลวงพระบางมาให้ดูด้วย

                                     

                                         ถนนหน้าวิลลาสันติ ยามเช้า


• สมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยม ที่โรงเรียนศรียาภัย  ซึ่งสมัยที่ผมเรียน ชื่อว่า โรงเรียนชุมพร “ศรียาภัย” ตั้งแต่ปลายปีที่เรียน ม. ๑  อายุ ๑๐ ขวบ ผมก็ถีบจักรยานไปโรงเรียนบนถนนเส้นนี้ ระยะทาง ๖ กม. ไป – กลับ วันละ ๑๒ กม.   เป็นเวลาเกือบ ๕ ปี
• ถนนที่สภาพไม่ดี หน้าฝนมีหลุมบ่อน้ำขังอยู่ทั่วไปบนผิวถนน    เราต้องฝึกการหลบหลีกหลุมบ่อ และสังเกตจดจำเส้นทาง   ถ้าเผลอถีบรถตกลงในหลุมลึกโดยไม่รู้ว่าลึกเพราะน้ำขังอยู่เต็ม อาจล้มได้    ที่สำคัญต้องระวังรถยนต์ที่แล่นสวนหรือแล่นขึ้นหน้าแล่นทับน้ำกระเด็นมาโดน    ต้องหาทางหลบไปสวนหรือให้เขาขึ้นหน้าตรงจุดที่ปลอดภัยจากน้ำ   หน้าแล้งฝุ่นมากเพราะถนนโรยลูกรัง    ฝุ่นลูกรังเป็นสีแดง   วันไหนโดนรถยนต์ที่วิ่งเร็วมากสวนหรือขึ้นหน้า   วันนั้นสระผมน้ำจะแดง    อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือรถที่วิ่งเร็วมากอาจดีดก้อนหินมาโดนเรา    ชีวิตที่ต้องต่อสู้ช่วยเหลือตัวเอง ระมัดระวังตนเองตั้งแต่เด็ก เป็นประโยชน์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว    ทำให้เราเป็นคนอดทน    เมื่อต้องเผชิญความยากลำบากก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนมาก   บอกตัวเองว่าตอนเด็กๆ ลำบากกว่านี้
• จุดที่ถีบจักรยานยากที่สุดคือสะพานท่านางสังข์   ซึ่งเข้าใจว่าโดนแขวงการทางเปลี่ยนชื่อด้วยความเข้าใจผิดเป็น “สะพานนางสังข์” ไปแล้ว    ในสมัยโน้นเป็นสะพานปูด้วยไม้ตามขวางของสะพาน มีไม้ปูตามยาวเป็นไม้กระดานข้างละ ๓ แผ่น สองข้าง ให้รถยนต์แล่นได้เรียบ   แต่ต้องขึ้นสะพานทีละข้าง สวนกันบนสะพานไม่ได้    การขี่จักรยานขึ้นสะพานนี้ต้องการทักษะ ๒ อย่าง มิฉะนั้นอาจล้ม หรือต้องลงรถและจูงรถขึ้นสะพาน    ซึ่งจะทำให้เสียศักดิ์ศรีสิงห์จักรยาน   ทักษะอย่างแรกคือการปั่นตั้งหลักแต่ไกลให้สามารถขึ้นสะพานซึ่งมีความชันได้    และเมื่อขึ้นได้แล้วก็ต้องมีทักษะในการขี่รถไต่ไม้กระดานแผ่นเดียว   เพราะถ้าพลาดล้อรถตกลงไปในร่องระหว่างไม้กระดาน ก็อาจล้มได้    ที่จริงเราต้องมีทักษะที่สาม คือต้องดูให้ดีว่าจะไม่ขึ้นไปสวนกับรถยนต์กลางสะพาน  หรือถ้ามีรถยนต์ไล่หลังมาก็หลบให้เขาไปก่อน มิฉะนั้นจะโดนบีบแตรไล่
• ผมเป็นคนใจร้อน   ถีบจักรยานแบบถีบไปเรื่อยเอื่อยๆ ไม่เป็น    พอขึ้นรถได้ก็บึ่งเต็มที่    จึงเหงื่อโทรมทุกครั้ง    มาคิดในตอนนี้ว่าการขี่จักรยานตอนวัยรุ่นเป็นคุณแก่ชีวิตผมมาก    และการขี่แบบบึ่งเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิค    ทำให้ปอดใหญ่   ร่างกายแข็งแรง    และสมองแจ่มใส   ผมเป็นคนเล่นกีฬาไม่เป็น ถ้าไม่ได้การออกกำลังจากการถีบจักรยานไปโรงเรียนร่างกายคงไม่แข็งแรงอย่างนี้

วิจารณ์ พานิช
๑๑ เมย. ๔๙
หลวงพระบาง      

หมายเลขบันทึก: 25890เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

   ขอบพระคุณครับ  อ่านแล้วทำให้ระลึกชาติด้วยเหมือนกัน  ของผมดุเดือดเพราะ ระยะทางราว 9 กม  ข้ามเนินเขาสองลูก กว่าจะถึงตัวอำเภอไชยา  ระหว่างทางมีนกป่าสัตว์ป่านานาชนิดให้ได้ดูโดยไม่ต้องไปสวนสัตว์  รองเท้าไม่ได้สวม  เดินเท้าเปล่า  บางทีก็โดนปลวกตัวโตกัดเอาก็มี  ข้ามลำห้วยที่มีน้ำตลอดปี 2 ครั้ง ข้ามคลองที่มีสะพานไม้ทอดข้าม 3 - 4 ครั้ง

   เพราะขี่จักรยานไป-กลับไม่ไหว  จึงต้องไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ  ไม่ได้ออกกำลังแบบท่านอาจารย์ น่าเสียดาย  แต่วัดชยารามโดยท่านพระครูสุธนฯ เพื่อนตายของท่านอาจารย์พุทธทาส  ก็ได้ให้ความแข็งแกร่งกับชีวิตไว้มาก .. ขอบคุณต่อความยากลำบากและทุกประสบการณ์  ที่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตอย่างน่าพอใจมาจนปัจจุบัน

ผมเกิดหลังท่านอาจารย์หลายปีมากครับ แทบจะเรียกว่าเป็นพ่อเป็นลูกกันได้เลย
แต่ประสบการณ์ที่อาจารย์เล่าให้ฟังคล้ายๆกับชีวิตของผมในสมัยเด็ก(ประถมศึกษา) "การปั่นจักรยานไปโรงเรียน" การต้องฝ่าฟันถนนที่แสนลำบาก (ส่วนสะพานบ้านผมไม่มีแบบที่บ้านท่านอาจารย์)

สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ขนาดผมเกิดหล้งอาจารย์ตั้งเยอะ แต่บ้านผมยังทุระกันดารอยู่เลยครับ  ปัจจุบันนี้ดีขึ้นมากเลย มีถนนปูนซีเมนต์เข้าถึง (แต่สัญญาณโทรศัพท์ไม่ค่อยดี)

ความลำบากในวัยเด็กทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิต ต้องอดทน และอุตสาหะเช่นกัน (แต่คงไม่เท่าอาจารย์นะครับ)

ความลำบากและความทุกข์ ทำให้เรารู้ถึงความสุขที่แท้จริง

ผมก็ศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัยเหมือนกันครับ รุ่นหลังอาจารย์หมอวิจารณ์ประมาณ 30 กว่าปี :-)

สมัยผมเป็นยุคมอเตอร์ไซค์ เลยไม่ได้ออกกำลังกายเท่าไหร่ ขี่ไปโรงเรียนจากบ้านที่ตำบลนาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร (ศูนย์ราชการปัจจุบัน) ตอนนั้นถนนอาภากร (สมัยนั้นเป็นถนนไม่มีชื่อ) มีสภาพเหมือนในรูปเลยครับ สะพานไม้ที่ต้องใช้ทักษะในการข้ามคือสะพานหน้าวัดสามแก้วกับสะพานหน้าโรงฆ่าสัตว์ และต้องรู้จักสังเกตรถไฟด้วย เพราะถนนตัดผ่านทางรถไฟสองรอบ

ตอนสมัยผมเรียนมัธยม ภูเขาที่เป็นศูนย์ราชการปัจจุบันเป็นที่เขาตักดินขาย ดังนั้นทักษะพิเศษที่ต้องมีอีกอย่างคือต้องหลบรถสิบล้อบรรทุกดิน เพราะถ้าหลบไม่ถูกจังหวะอย่างน้อยๆ ก็จะโดนน้ำในหลุมดินลูกรังที่รถสิบล้อวิ่งผ่านกระเซ็นโดนชุดนักเรียน (ที่ไม่ค่อยขาว เพราะโดนฝุ่นลูกรังเป็นปกติ)

ถนนดินลูกรังที่สิบล้อบรรทุกดินวิ่งผ่านนั้น จะเป็นหลุมเป็นบ่อเยอะมาก ดังนั้นทักษะที่ต้องมีอีกอย่างคือทักษะการขับมอเตอร์ไซค์หลบหลุม ไม่ใช่หลบทีละหลุมนะครับ ต้องวางแผนล่วงหน้าไปหลายๆ หลุมอย่างต่อเนื่องจนถึงบ้าน ไม่แน่ใจว่าทักษะนั้นจะช่วยในการวิเคราะห์อะไรต่อมิอะไรในชีวิตในปัจจุบันหรือเปล่า แต่ก็น่าจะมีส่วนอยู่ครับ เพราะสังเกตว่าตัวเองชอบวางแผนถึง "ขั้นต่อไป" ในทุกเรื่องที่กำลังทำอยู่เสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท