ความสำคัญของสภามหาวิทยาลัย


สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความก้าวหน้าและการพัฒนาของสถาบัน บทบาทหน้าที่ของกรรมการสภาแต่ละคนจึงมีอยู่อย่างสูง

ดูเหมือนว่า  กพร. และ สมศ. นับวันจะคล้ายฝาแฝดกันมากขึ้นทุกที ทุกที เพราะแนวทางการประเมินที่กำหนดขึ้นใหม่หลายอย่างคล้ายกันมาก  โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา มาตรฐานที่เพิ่มขึ้นใหม่ เช่น มาตรฐานการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย : สภาสถาบันที่เป็นองค์กรสูงสุดขององค์การ ต่างก็นำมาเป็นมาตรฐานการประเมินที่ให้ความสำคัญอย่างมาก

สำหรับอาจารย์ธรรมดาๆ อย่างดิฉัน ที่ผ่านมา ก็เคยได้แต่สงสัยว่า สภามหาวิทยาลัย มีไว้ทำอะไร  ถึงเวลาเลือกตั้ง ดิฉันก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไรนัก  เพราะรู้จักท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายก็แต่เฉพาะท่านที่มีชื่อเสียง แบบที่เรียกว่า อือ! ชื่อนี้คุ้นหู และที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ ไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยว่า กลุ่มบุคคลผู้ได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นกรรมการ จะมีความสำคัญอย่างไรกับการงานของเรา  ทำให้เกิดความงุนงง สงสัยว่า  ทำไมต้องประเมินสภามหาวิทยาลัยด้วยนะ

หู ตา ดิฉัน สว่างขึ้นมาก จากการอ่านหนังสือ เรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ ในการบริหารจัดการอุดมศึกษาไทย ของ รศ.ดร.ไพฑูรย์  สินลารัตน์ ซึ่งท่านได้ให้ความกระจ่างถึงที่มา ที่ไป ว่า

ในระบบราชการ รูปแบบเดิม  แม้จะมีสภาสถาบันอยู่  แต่สภาเองก็ไม่ใช่องค์กรสูงสุด  และไม่มีอำนาจตัดสินใจเต็มที่  ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ในการกลั่นกรองพัฒนาเพื่อนำเสนอหรือพิจารณาให้สอดคล้องกับส่วนกลาง และเพื่อพิจารณารับทราบอีกครั้งหนึ่ง

แต่  ในยุคนี้ ยุคที่มีการปฏิรูปการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดไว้ในมาตรา 36 โดยสรุปแบบไม่ใช้ภาษากฎหมายพอสังเขปได้ว่า  กฎหมายให้ความเป็นอิสระแก่สถาบันอุดมศึกษาในการบริหารงาน และมีสภาสถาบันเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง นั่นก็คือ ต่อไปนี้ สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของสถาบัน  มีอำนาจตัดสินใจในทุกเรื่อง และการตัดสินใจของสภาถือได้ว่าเสร็จสิ้นในสถาบัน ไม่ต้องส่งให้หน่วยงานภายนอกอีกต่อไป...... 

เมื่อมีอิสระ มีอำนาจ ก็ต้องมีความรับผิดชอบ "สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความก้าวหน้าและการพัฒนาของสถาบัน บทบาทหน้าที่ของกรรมการสภาแต่ละคนจึงมีอยู่อย่างสูง  แต่ละคนต้องรับผิดชอบแต่ละเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาไป  การเลือกกรรมการสภา การดำเนินการประชุมสภา  การติดตามงานของสภา และการประเมินงานของสภาจึงถือได้ว่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการสภาทุกคน คนที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการสภาทุกคน ต้องถือเป็นภาระหน้าที่มากกว่าตำแหน่งที่มีเกียรติอย่างที่เป็นมาแต่เดิม"

"ในประเด็นของกรรมการสภาฯ เมื่อมีความรับผิดชอบมากขึ้นอย่างนี้  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกกรรมการสภาที่ มีความรู้ความเข้าใจในกิจการของอุดมศึกษา และมีส่วนเกี่ยวพันกับอุดมศึกษาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็จะต้องมีแนวทางการพัฒนาอุดมศึกษาเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย  ไม่เช่นนั้น จะเป็นกรรมการสภาโดยหน้าที่  ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อการพัฒนาสถาบันอย่างจริงจัง  การพิจารณาเลือกตัวบุคคลซึ่งนอกจากเป็นหน้าที่แล้วยังต้องมีเวลาและมีความสนใจในกิจการของการอุดมศึกษาด้วย"

ยังมีข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ได้กำหนดอย่างละเอียดละออ ถี่ถ้วน ครอบคลุม ไว้แล้วในมาตรา 8 วงเล็บ 2 ว่า "ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา" การแปลงหลักคิดนี้ออกมาสู่การปฎิบัติ อาจารย์ไพฑูรย์กล่าวว่า

"เท่าที่เป็นอยู่ เราจะพบว่า กรรมการของสภาสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ นอกจากตัวแทนคณาจารย์และผู้บริหารแล้ว ก็จะมีบุคคลอื่นที่เข้ามาร่วมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนของกรม กองต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยราชการของรัฐเป็นหลัก หรือไม่ก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการ หรือเป็นคนที่ข้าราชการเลือกขึ้นมาเอง จึงไม่ใช่ตัวแทนของสังคมอย่างแท้จริง"

การที่ได้สภาสถาบันซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของสถาบัน จึงจำเป็นจะต้องเป็นสภาของสังคม คือมีกรรมการสภาที่เป็นคนนอกสถาบันเป็นส่วนใหญ่ (Lay Board) ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐ ฝ่ายราชการ และตัวแทนของสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง เช่น ผู้แทนขององค์กรอุตสาหกรรม ผู้แทนขององค์กรด้านเกษตรและชาวนาชาวไร่  ผู้แทนจากสมาคมบริหารวิชาการ วิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิทางอุดมศึกษาต่างๆ เป็นต้น  โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องเป็นตัวแทนที่เลือกโดยกลุ่มของบุคคลเหล่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวแทนที่คนในสถาบันเลือกกันมาเอง  เพื่อจะทำให้การตัดสินใจของตัวแทนเหล่านั้นเป็นไปอย่างอิสระ  และคำนึงถึงความต้องการขององค์กรและกลุ่มของเข้าเอง  ไม่ต้องเกรงใจผู้บริหารและอาจารย์อย่างที่เป็นอยู่

ดิฉันจึงใคร่ขอป่าวประกาศให้ประชาคมชาวมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะท่านคณาจารย์ที่รักทุกท่านทราบว่า  สภามหาวิทยาลัย มีความสำคัญมากนะค่ะ  ทั้งนี้ประสิทธิผลการดำเนินงานของสภาฯ จะดีแค่ไหน สร้างประโยชน์ได้เพียงไร แท้ที่จริง เป็นอานิสงฆ์ผลบุญ ผลกรรมของพวกเราเองทั้งนั้น  ที่เลือกเอง ขอให้ทุกท่านโชคดีจากการเลือกที่มีวิจารณญาณมากขึ้นนะค่ะ 

 

 

 

 

  

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 2571เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2005 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท