Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๗๔)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๓๐)

การใช้ระบบบล็อก GotoKnow.org เพื่อการจัดการความรู้
เขียนจากประสบการณ์ของผู้พัฒนาและดูแลระบบ

ความนำ
         อาจกล่าวได้ว่า การเล่าเรื่องราวแห่งความสำเร็จ (Storytelling) เพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge Management) คือ การที่ผู้เล่าได้พยายามค้นหาและเรียบเรียง ความรู้ ความคิด เทคนิคการทำงาน และประสบการณ์แล้วถ่ายทอดผ่านตัวละครของเรื่องเล่า ซึ่งผู้อ่านมักจะสามารถเข้าถึงเนื้อเรื่องและเข้าใจประเด็นความรู้ที่สอดแทรกไว้ได้อย่างดี มีความสนุกสนาน หรือมีอารมณ์ร่วมตลอดในเนื้อเรื่อง
         หากเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ถูกบันทึกเป็นตัวหนังสือและถ่ายทอดออกสู่สาธารณชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จะเป็นการเปิดโอกาสให้เรื่องเล่าได้ผ่านสายตาของผู้อ่านที่หลากหลาย ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้มีสถานะเป็นผู้เขียน อีกทั้งได้แสดงความคิดเห็นต่อยอดความรู้ หรือนำความรู้ไปใช้ได้อย่างไม่ต้องเขินอาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้โดยไร้ซึ่งขอบเขตกั้นของความมีอาวุโส ความมีหน้ามีตา หรือความมีระดับทางสังคม และยังเป็นการเปิดโอกาสให้กำลังความรู้จากฐานล่างของสังคม ซึ่งเป็นความรู้ที่ควรค่าแก่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมาก ได้ปรากฎขึ้นอย่างเท่าเทียม
         นอกจากนี้ การพยายามนำเอาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาสนับสนุนการจัดการความรู้ ทำให้ความรู้เดิมที่ถูกถ่ายทอดและจัดเก็บอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบระเบียบ ไม่ประติดประต่อ ไม่ได้รับการปรับปรุง และไม่รู้ที่มาที่ไปของผู้ค้นคิดความรู้ สามารถถูกนำมาประมวลใหม่ จัดเก็บอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ปรับปรุงต่อยอด และถ่ายทอดแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ

GotoKnow.org
         หนึ่งในเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการความรู้ที่เน้นการบันทึกเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จและเน้นการจัดการเรื่องเล่าเหล่านี้ตามกระบวนการจัดการความรู้ คือ ระบบคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งที่ทำงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรียกระบบนี้ว่า “บล็อก (Blog) หรือ เว็บบล็อก (Weblog)” ในการนี้ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้สนับสนุนให้ทีมงานนักวิจัยชาวไทยโดย ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาระบบบล็อกดังกล่าวขึ้น โดยให้ชื่อระบบว่า GotoKnow.org (ดังแสดงในรูปที่ 1)
 

       
รูปที่ 1 หน้าหลักของเว็บไซต์ GotoKnow.org 

         GotoKnow.org เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการระบบบล็อกเพื่อการจัดการความรู้สำหรับปัจเจกบุคคล (Individual) และชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) ของประเทศไทย และมีบทบาทในการเป็นขุมความรู้รวมของไทย อีกทั้งยังเป็นที่รวมของผู้เชี่ยวชาญชาวไทยในด้านต่างๆ ที่มารวมตัวกันเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ลงในระบบบล็อก สมดังชื่ออย่างเป็นทางการของ GotoKnow.org คือ “The Gateway of Thailand Online Knowledge Management”
         จนถึงปัจจุบัน (16 กันยายน 2548) GotoKnow.org เปิดให้บริการมาแล้วประมาณสามเดือน (เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2548) ปัจจุบัน GotoKnow.org มีบล็อกทั้งสิ้น 800 บล็อก มีชุมชนบล็อกอยู่ 150 ชุมชน และมีบันทึกรวมทั้งหมด 3,500 บันทึก ผู้เขียนโดยส่วนใหญ่เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการโดย สคส. และได้รับการอบรมการใช้งาน GotoKnow.org เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก (Blog-to-Blog KM) อันต่อเนื่องจากการจัดการความรู้แบบพบปะกันในที่ประชุมปฏิบัติการแต่ละแห่ง (Face-to-Face KM)
         การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนขุมความรู้จากเรื่องเล่า (Knowledge Asset) และแก่นความรู้ (Core Competency) จากผู้พร้อมให้และผู้ใฝ่รู้ตามธารปัญญา (River Diagram) และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Stair Diagram) อันได้มาจากการประเมินตนเองตามตารางแห่งอิสระภาพในการประชุมเชิงปฏิบัติการแต่ละครั้ง ได้เริ่มแสดงผลให้เห็นอย่างต่อเนื่องและประจักษ์ชัดใน GotoKnow.org แห่งนี้ที่พร้อมรองรับการให้บริการสมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยอย่างเต็มที่

บล็อก: เทคโนโลยีเพื่อการจัดการความรู้
         สคส. ได้สนับสนุนการพัฒนาระบบบล็อกขึ้นเพื่อใช้เป็นเทคโนโลยีเพื่อการจัดการความรู้เชิงฝังลึก (Knowledge Management Solution) ความสามารถขั้นพื้นฐานของบล็อกในเชิงส่วนบุคคลคือ เป็นเสมือนสมุดบันทึกหรือไดอารี่ของแต่ละบุคคลที่เน้นการ “ให้” ทานที่เป็นความรู้แก่บุคคลอื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ต (ดังแสดงในรูปที่ 2) โดยเน้นการบันทึกเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ หรือ ไฟล์ข้อมูลต่างๆ ที่ใช้บรรจงแสดงความคิด ความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคการทำงาน อันนำมาซึ่งผลงานแห่งความสำเร็จต่างๆ ทีละเล็กละน้อย โดยนำเสนอหนึ่งหรือสองประเด็นต่อบันทึก และเขียนโดยสม่ำเสมอตั้งแต่วันละบันทึกจนถึงสัปดาห์ละบันทึก สะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนที่ทีมงานพบว่าจะสามารถสร้างจำนวนผู้อ่านประจำได้ดีกว่าการเขียนบันทึกอย่างไม่มีความสม่ำเสมอไม่ว่าบันทึกที่เขียนจะสั้นหรือยาวก็ตาม

     

รูปที่ 2 ตัวอย่างบล็อกใน GotoKnow.org 


         เทคนิคอีกอย่างที่จำเป็นต่อการเขียนบล็อกคือ การจัดกลุ่มบันทึกแต่ละบันทึกด้วยคำหลัก (Keyword) ที่แทนแก่นความรู้สำคัญของบันทึกนั้นๆ โดยตัวผู้เขียนเป็นคนสร้างคำหลักเองหรืออาจจะดึงเอาคำหลักของชุมชนบล็อกที่ถูกรวบรวมโดยผู้บริหารชุมชนก็ได้ ทีมงานพบว่าการกำหนดคำหลักทุกครั้งที่เขียนบันทึก นอกจากจะทำให้การค้นหาความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกันง่ายขึ้นแล้ว การจัดกลุ่มความรู้ด้วยคำหลักยังมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยทำให้ผู้เขียนคนหนึ่งๆ ได้เข้าใจและค้นหาตัวตนเจอว่าตนเองมีความถนัด (Competence) หรือมีความสนใจใคร่รู้ (Interest) ในด้านใดได้อย่างเด่นชัด
         นอกจากนี้ การเขียนบล็อกยังเป็นการเปิดเผยตัวเองออกสู่สาธารณชนให้เป็นที่รู้จักได้อย่างสวยงาม ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในแง่นี้ คือความต้องการเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม (Reputation) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดการจัดการความรู้ ดังคำกล่าวของ ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส. ในวงสนทนากับทีมงานครั้งหนึ่งที่ว่า “คนเราทุกคนต้องการเป็นใครสักคน (ที่เป็นที่ยอมรับ)”
         และยิ่งไปกว่านั้น การเขียนบล็อกยังเป็นการแสดงความพร้อมที่จะ “ให้” พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสิ่งที่ผู้เขียนบล็อกจะ “ได้” รับกลับคืน คือ ยิ่งเขียนยิ่งสร้างความมั่นใจให้ตนเองในสิ่งที่ตนเองรู้ (Confidence) และยิ่งเขียนก็ยิ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง (Creditability) สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการจัดการความรู้อีกเช่นกัน
         ยิ่งด้วยความสามารถของระบบบล็อกใน GotoKnow.org ที่แสดงจำนวนผู้คนที่เข้ามาอ่านบันทึกและจำนวนข้อคิดเห็นในแต่ละบันทึก (ดังแสดงในรูปที่ 3) ทำให้ผู้เขียนบล็อกยิ่งมีความท้าทายและมีความสนุกในการเขียนบันทึกอันเป็นเสมือนแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ที่ทำให้ผู้เขียนจะพยายามเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ที่มีคุณภาพบ่อยยิ่งขึ้น และการเขียนบ่อยๆ ย่อมเป็นการฝึกคิด ฝึกประมวลความรู้ ฝึกต่อยอดความคิดของตนเองได้ดีทีเดียว หรือเรียกได้ว่า เป็นหนทางของการจัดความรู้ส่วนบุคคล (Personal Knowledge Management) นั่นเอง

 

          
รูปที่ 3 ตัวอย่างข้อคิดเห็นและจำนวนผู้อ่านบันทึก 



หลักจริยธรรมในการเขียนบล็อก
         การ “ให้” ความรู้และประสบการณ์ผ่านทางระบบบล็อกซึ่งจะนำสู่ผู้อ่านนับล้านคนนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมในการเขียนอย่างจริงจังและเคร่งครัด หลักการเบื้องต้นก็เช่นเดียวกับการเขียนเพื่องานสื่อสารมวลชนทั่วไป คือ เขียนบันทึกบนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่เขียนอ้างอิงถึงข้อพิพาทความไม่ลงรอยใดๆ ที่เป็นการส่วนตัวของผู้เขียนกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างที่สำคัญในธรรมเนียมปฎิบัติของการเขียนเพื่อบล๊อกกับจริยธรรมการเขียนเพื่องานสื่อสารมวลชนคือ การเขียนเพื่อบล๊อกนั้นผู้เขียนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยอาจคำนึงถึงการแสดงความสมดุลของความคิดเห็นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ (Balance of Opinions) น้อยกว่าการเขียนเพื่องานสื่อสารมวลชน แต่ทีมงานกลับพบว่า การคำนึงถึงความสมดุลของความคิดเห็น ซึ่งเป็นมาตราฐานของสื่อสารมวลชนนั้น ไม่ได้ประพฤติปฎิบัติอย่างเคร่งครัดโดยสื่อสารมวลชนบางกลุ่ม ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้ที่ทำความรู้จักกับบล๊อกไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างของรูปแบบการเขียนสองประเภทที่ต่างกันได้
         การเน้นคุณภาพงานเขียนของทุกบันทึกก็เป็นส่วนสำคัญ เช่น ตรวจสอบการสะกดคำก่อนตีพิมพ์บันทึกนั้นลงในบล็อก ส่วนหลักอื่นๆ ก็เช่น เมื่อมีการใช้ข้อความ รูปภาพ หรือสื่อต่างๆ จากแหล่งอื่นจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาและลิงค์ที่อยู่อย่างชัดเจน ส่วนในเรื่องการแสดงความคิดเห็นนั้น หากผู้เขียนบล็อกไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นที่ผู้อ่านเสนอมาในบล็อก เจ้าของบล็อกก็ควรแสดงข้อคิดเห็นตอบกลับโดยความเคารพในข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่นำมาเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลบข้อคิดเห็นของผู้อ่านอย่างไม่มีเหตุผล ยกเว้นเป็นข้อคิดเห็นที่สร้างความปั่นป่วนต่อผู้เขียนบล็อกและผู้อ่านท่านอื่น
         เนื่องจากบล็อกเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ประเทศไทย ทีมงานพบว่าผู้เขียนบล็อกหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าบล็อกเป็นเสมือนเว็บบอร์ดที่มีผู้ดูแลระบบเป็นผู้จัดการทุกๆ อย่าง จึงทำให้ผู้เขียนบล็อกละเลยการดูแลความน่าอ่านความสะอาดตาของบล็อก (Look-and-Feel) ของตนเอง เช่น การไม่ลบทิ้งบันทึกที่ไม่ใช้งาน หรือ การไม่ลบทิ้งข้อคิดเห็นที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบ
         อันที่จริงแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า บล็อกคือเว็บไซต์อันเป็นแหล่งความรู้ที่ผู้เขียนบล็อกสร้างขึ้นเองและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้นี้สู่ผู้อื่น ดังนั้น ผู้เขียนบล็อกจึงมีสิทธิเต็มที่ในการบริหารบล็อกเองตามเห็นสมควร ซึ่ง GotoKnow.org (ดังแสดงในรูปที่ 4) ได้ให้บริการเครื่องมือในการบริหารบล็อกสำหรับผู้เขียนบล็อกแต่ละบล็อกอยู่อย่างพร้อมเพียง แต่อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาใดๆ ในการใช้บริการ GotoKnow.org ผู้เขียนบล็อกสามารถติดต่อผู้ดูแลระบบที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้และพัฒนาและดูแลระบบโดยรวมได้ตลอดเวลา

 
รูปที่ 4 แผงควบคุมการบริหารบล็อก 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25709เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท