จดหมายรักจากครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์


จดหมายรักKM

จดหมายรักจากครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
    
สวัสดีครับชาวKM.ชุมชนที่รัก
      
      ฉบับนี้มีเรื่องเล่าถึงชาวโคทั้งหลาย ว่าเราจะทำให้โคหายผอมแห้งหัวโตได้อย่างไร ก็อยากจะแจ้งแถลงเรื่องราวที่ชาวKM.บุรีรัมย์กำลังคิดและทำให้โคทุกตัวลงพุงให้ได้  ภายใต้ Keyword ที่ว่า    “มีวัวอ้วนดีกว่ามีเมียอ้วน”
       คงเป็นที่ทราบแล้วนะครับว่าเกษตรกรยุคนี้มีเรื่องรุมเร้ามากมาย ถามว่าถ้ามีโอกาสเลือกทำการจัดการความรู้ ประเด็นแรกที่เราต้องทำคือการค้นหาวิธียกระดับกิจการงานในครัวเรือน ให้มีรายได้พอเพียงที่จะอยู่ในสังคมบริโภคนิยมตามควรแก่อัตภาพ การค้นหาวิธีการเรียนรู้ด้านวิทยาการต่างๆมาต่อยอดต้นทุนอยู่แล้ว น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนในลำดับต้นๆ แล้วค่อยเชื่อมโยงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆมาสนับสนุนวิธีทำการบ้านชุมชนต่อไป
        ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงโค ถ้าจัดการเรื่องอาหารให้ดี เราจะเลี้ยงขังไว้ในคอกได้อย่างสะดวก มูลโคที่ได้ไม่ตกหล่นไปไหน ทำบ่อหมักปุ๋ย แล้วนำปุ๋ยที่ว่านี้ไปปลูกพืชผักหรือปรับปรุงดิน เราก็จะพึ่งตนเองด้านโปรตีน เนื้อนมไข่ ปุ๋ยปลูกผักปลอดสารพิษ เอาวิทยาการใหม่ๆเช่นการผสมเทียม การให้แร่ธาตุอาหาร ทำให้โคมีสุขภาพดี สายเลือดดี ทำให้ขายได้ราคาดี วงจรการพึ่งพาตัวเองจะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ผลลัพธ์เชิงประจักษ์จะค่อยๆชัดขึ้น ทำให้เกิดความตระหนักว่าทำไม..เราถึงต้องใส่ใจค้นหาวิชาการใหม่ๆมาเสริมในอาชีพของเรา
         สมาชิกส่วนมาก ยังขาดความรู้ที่เหมาะสมในการปรับปรุงกิจกรรมอาชีพ  ส่วนใหญ่ยังติดยึดกับความเคยชิน ทั้งๆที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงโคในหมู่บ้านต่างๆ  ยังนิยมไล่ต้อนไปเลี้ยงตามชายทุ่ง เป็นการนำพาสัตว์ไปหาหญ้าในธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะขาดแคลนและมีข้อจำกัดมากขึ้น  ถ้ามีการปลูกหญ้า ตัดหญ้ามาเลี้ยงโคจะทำได้ไหม
      วิธีการเลี้ยงทั้ง2ลักษณะนี้ เกษตรกรผู้เลือกปฏิบัติย่อมเห็นจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไป  ถ้ามีการศึกษาเพื่อเสนอให้เห็นภาพของการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม จะทำให้เกิดการขยายผลการเลี้ยงปศุสัตว์เชิงการพัฒนาได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะปรับวิธีสร้างงานให้สอดคล้องกับการเพิ่มรายได้จากต้นทุนที่เกษตรกรมีอยู่เดิม  ประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การคิดค้นพัฒนารูปแบบอาชีพต่างๆของเกษตรกร ให้มีความตั้งใจที่จะใส่ความรู้ลงไปในงานของแต่ละครัวเรือน เมื่อเกิดความคม-ชัด-ลึก-แล้ว การประชุมฝึกอบรมก็จะขยายไปถึงระบบความนึกคิดที่เข้มแข็งขึ้น มีสาระใหม่ๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้น    ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นการก่อหวอดสังคมแห่งการเรียนรู้เชิงบูรณาการ
     อนึ่ง  รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์  ในนามของโครงการโคล้านตัว ซึ่งทางผู้เสนอโครงการวิจัยมีส่วนร่วมจัดเสวนาโครงการให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ/หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางปฏิบัติภายใต้วัฒนธรรมการเมือง พบว่ามีปัญหาซับซ้อนจนไม่อาจจะเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม การเสนอชุดความรู้จากงานทดลองเรื่องนี้ จึงเป็นการตอกย้ำวิธีคิดวิธีการว่า ถ้าให้ชาวบ้านคิดและทำเองจะมีผลลัพธ์และมีความเป็นไปแตกต่างจากที่ภาครัฐฯคิดอย่างไร
       ในเครือข่ายฯ  มีสมาชิกเลี้ยงโคอยู่จำนวนมาก การวิจัยเพื่อให้ได้ชุดความรู้ใหม่ หรือนวัตกรรมต่างๆจากพื้นที่  จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ทางอ้อมได้ระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น วิธีการปลูกหญ้าชนิดต่างๆ การประดิษฐ์เครื่องอัดฟางด้วยตนเอง การใช้สมุนไพรเลี้ยงสัตว์  รวมทั้งการคลี่ดูประเพณีความเชื่อเก่าๆว่ามีเหตุผลในมิติใดบ้าง
เป้าหมายของกิจกรรม
·          เพื่อสนับสนุนแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์การดื่มนมเพิ่มขึ้น ในโครงการจึงเน้นการเลี้ยงโคพันธุ์ซาฮิวาลเป็นหลัก ซึ่งเป็นโคพันธุ์กึ่งนมกึ่งเนื้อ นอกจากช่วยให้ชุมชนพึ่งตนเองด้านนมบริโภคได้แล้ว ยังเป็นการเสริมรายได้ประจำวันในช่วงรีดนมอีกด้วย
·          เพื่อศึกษาความรู้ด้านปศุสัตว์ชุมชน โดยหยิบประเด็นเรื่องอาหารสัตว์มาเป็นชนวน  กระตุ้นให้ชาวบ้านหันมาสนใจการใช้ใบไม้รอบบ้านมาเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์มากขึ้น
·          เพื่อค้นหาวิธีใช้ความรู้เข้าไปแก้ไขปัญหาการทำมาหากินของชาวบ้าน เน้นไปคลิ๊กที่วิธีทำเชิงประจักษ์ เพื่อให้คำถามที่ค้างคาใจเคลื่อนไหว
·          เพื่ออธิบายวิธีแสวงหาความรู้ในโลกปัจจุบัน ที่มีการเลือกวิธีเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง การรู้วิธีเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะยกเครื่องความรู้ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นพลังระดับหนึ่ง แต่ถ้าได้วางแผนเชื่อมโยงความรู้กับนักวิชาการนักวิจัย โดยออกแบบให้ชาวบ้านเป็นผู้ทดลอง ผู้ค้นหาคำตอบ การพัฒนาศักยภาพระดับชุมชนก็จะมีประสิทธิภาพเกิดขึ้น
·          เพื่อพิสูจน์ว่า ชาวบ้านมีวิธีคิดวิธีวิจัยเป็นของตนเองอยู่แล้ว คำว่า วิถีไทย ภูมิปัญญาไทย หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น คือแก่นของระบบการวิจัยสายพันธุ์ไทยนั่นเอง เพียงแต่ผู้ที่
เกี่ยวข้องที่ไม่สันทัดโครงสร้างหรือวิธีการวิจัยไทบ้าน หยิบเอาวิธีวิจัยเชิงวิชาการมาครอบ
โดยไม่ตระหนักถึงการจัดการความรู้วิถีไทย ทำให้งานวิจัยชุมชนถูกคุมกำเนิด ควรให้ชาวบ้านได้ค้นคว้าเพื่อแก้ไขปัญหาในครัวเรือนเขาเอง นี่คือเสน่ห์งานวิจัยระดับชุมชน 
          นักวิชาการที่เป็นคุณพ่อรู้ดีทั้งหลายควรจะยืนดูห่างๆ  อย่าล้วงลูกโดยไม่จำเป็น
ถ้าไม่เข้าใจในหลักการวิจัยสายพันธุ์ไทยอย่างแท้จริงแล้ว  อาจจะไปบิดเบือนบริบทวิจัย
ชุมชนให้ชะงักโดยไม่รู้ตัว การมีอิสระทางความคิดจึงมีความหมายและมีความสำคัญ
เพียงพอที่คนนอกหรือนักวิชาการจ๋าทั้งหลายควรจะอดทนรอฟัง รอดู และขยักเวลาไว้ทำ
ความเข้าใจระหว่างกันในภายหลัง ถ้ารักที่จะปูทางให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน
อย่างแท้จริง
·          เพื่อประสานบทบาทของนักวิชาการและปัญญาชนท้องถิ่น ควรช่วยกันทำให้สำนึกของ
ชุมชนและประชาสังคมแจ่มชัด ชุมชนและท้องถิ่นมีวัฒนธรรมมีคุณค่ามีน้ำใจที่ดีงามมี
ประวัติศาสตร์มีรากเหง้าอยู่แล้ว เพียงแต่ข้อมูลและคุณค่าเหล่านี้อยู่กระจัดกระจาย ไม่มี
การบันทึกการถ่ายทอดมาสู่ระดับกว้าง หรือเคยปฏิบัติอยู่อ่อนตัวลงไป ทำให้เราไม่
ตระหนักว่าวัฒนธรรมที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร การศึกษาสิ่งที่สะท้อนความคิดความรู้สึก
และปัญหาของชาวบ้าน ของประชาชนธรรมดาๆ เป็นการศึกษาไม่ใช่เพื่อนักวิจัยเอง
เท่านั้น แต่เพื่อชาวบ้านโดยชาวบ้าน
·          เพื่อสะท้อนให้เห็นช่องทางที่ปัญญาชนและนักวิชาการสามารถที่จะประกอบภาพทีกระจัด
กระจาย ต่อจิกซอขึ้นเป็นแผนเรียนรู้ชุมชน ให้ง่ายต่อความเข้าใจ และเป็นพลังก่อหวอดให้
เกิดสำนึกในชุมชน ที่จะรวมตัวกันพัฒนาอย่างอิสระตามภาวะที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
มากกว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะกำหนดให้ ถ้าเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ผู้คนทั้งหลายจะมีที่ยืน มี
ศักดิ์ศรี มีจิตใจ มีความรัก ที่อยากจะพัฒนาและท้องถิ่นของตัว และจะได้พลังผู้คนด้วย
ความสมัครใจ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.         ได้รูปแบบการสร้างชุดความรู้แบบไทบ้าน
2.         ได้วัฒนธรรมการทำงาน การช่วยเหลือแบ่งปัน เอื้ออาทรทางวิชาการ ระหว่างนักวิชาการกับนักพัฒนาวิชาชีพระดับชุมชน
3.         ได้กระตุ้นให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ การใช้ประโยชน์จากใบไม้มากขึ้น
4.         ได้ช่วยให้โคทั้งอีสานที่ขาดแคลนหญ้าช่วงฤดูแล้งที่ผอมแห้งผอมโซ  มีสภาพตัวโตไม่ชะงักความเจริญ ช่วยให้การขยายพันธุ์ปรับปรุงพันธุ์อยู่ในสภาพปกติเช่นภูมิภาคอื่น
5.         ได้คำตอบเชิงประจักษ์แก่นโยบายส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคฉบับรัฐบาล
6.         ได้กลุ่มพัฒนาวิชาชีพเลี้ยงโคซาฮิวาลพันธุ์แท้ ซึ่งจะกำหนดเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อช่วยทาง
ราชการผลิตโคพันธุ์นี้สนองตอบความต้องการเกษตรกร ที่มีการจองซื้อโคพันธุ์ซาฮิวาล
และยังไม่ได้รับโค  ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี (2548) เป็นจำนวนมากถึง 7,690 ตัว ( ตัวผู้ 2,153 ตัว เมีย 5,537 ตัว) จากเกษตรกร 1,244 ราย
7.         ได้ความร่วมมือการฝึกอบรมผสมเทียม การแปรรูปอาหาร ถนอมอาหารจากโปรแกรมส่งเสริมและพัฒนาของกรมปศุสัตว์
8.         ได้แผนงานพัฒนารายได้สืบเนื่อง เช่น การปลูกหญ้าเพื่อเก็บเมล็ดจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ การปลูกหญ้าจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมตามโครงการนาหญ้า การปลูกผักอินทรีย์จากการใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักที่ผลิตเอง ตลอดจนการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อการนำใบมาเลี้ยงสัตว์
9.         ได้เครือข่ายวิชาการด้านปศุสัตว์ ช่วยให้สมาชิกได้มีช่องทางประสานงานกับบุคลากรและหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้วิธีการจัดการเชิงวิชาการ เช่น การทำเบอร์หู การทำรหัสฟาร์ม การทำข้อมูลฟาร์ม การทำทะเบียนประวัติพ่อแม่ลูกโค เพื่อขอรับการรับรองพันธุ์จากทางราชการ
10.       ได้โจทย์วิจัยทำร่วมกับหน่วยงานราชการ นอกจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีแผนงานทำระบบสารสนเทศปศุสัตว์ชุมชนนำร่องในพื้นที่เครือข่ายปศุสัตว์ของโครงการ
การนำผลทดลองไปใช้ประโยชน์
1.         ภาครัฐ  โครงการโคล้านตัว
2.         ภาคราชการ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการ กรมพัฒนาชุมชน ปศุสัตว์จังหวัด เกษตรจังหวัด
3.         ผู้ว่าฯCEO.งานส่งเสริมกรมการปกครอง องค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น
4.         วิทยาลัยเกษตรกรรม วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยการอาชีพ
5.         ภาคเอกชน บริษัทในวงการปศุสัตว์
6.         เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน สหกรณ์ปศุสัตว์ กลุ่มเลี้ยงปศุสัตว์รายย่อยทั่วไป
      ผมเข้าใจอย่างนี้ครับ การรักในการแสวงหาความรู้ ให้มีขวัญกำลังใจอยู่เสมอ  จะสร้างรักษาไว้อย่างไร  กรณีอาจแตกต่างกันไปในต่างสาขาวิชา วิธีที่ดีคือรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนธรรมดา กับชาวบ้าน กับท้องถิ่น นักวิชาการท้องถิ่นมีความสำคัญที่จะประกอบข้อมูล ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจท้องถิ่น ขึ้นเป็นระบบเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
หากเราอยู่กับชีวิตผู้คน ศึกษาและสร้างองค์ความรู้จากชีวิตจริงของผู้คนในเขตท้องถิ่นของเรา เราจะรู้สึกว่าการค้นคว้าของเรามีความหมาย เป็นความหวังและความไว้วางใจ ที่ชาวบ้านเชื่อถือและมีมอบไว้ให้แก่เรา ความมีชีวิตชีวา การต่อสู้ของพวกเขาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จะทำให้เรามั่นใจในที่ยืนและคุณูปการของเรา
ออกแบบกิจกรรม
1.         พันธุ์โค 
-           ศึกษาวิธีการเลี้ยงโคพันธุ์ซาฮิวาลพันธุ์แท้
-           ศึกษาเปรียบเทียบกับการเลี้ยงโคพันธุ์เดร้ามาสเตอร์ลูกผสม
2.         พันธุ์ไม้ที่นำมาทดลองเลี้ยงโค
-           กลุ่มไม้ยืนต้นที่โคชอบกินใบ
-           กลุ่มไม้ผักยืนต้นพื้นเมือง
-           กลุ่มไม้ล้มลุก
-           กลุ่มผลไม้
-           กลุ่มสมุนไพร
3.         พันธุ์หญ้า
-           ศึกษาพันธุ์หญ้าที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตในที่ดอน
-           ศึกษาพันธุ์หญ้าที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตในที่ลุ่ม
-           ศึกษาพันธุ์หญ้าพื้นถิ่น/วัชพืชอาหารสัตว์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ
4.         ชนิดพืชอาหารสัตว์ที่ปลูกเพื่อลดต้นทุนอาหารข้น
-           ปลูกมันสำปะหลัง
-           ปลูกข้าวฟ่าง
-           ปลูกข้าวโพด
5.         ชนิดวัตถุดิบเหลือใช้จากการทำไร่ทำสวน
-           ยอดอ้อย
-           ต้นข้าวโพด
-           ต้นถั่วลิสง
-           ผลไม้สุกที่ด้อยคุณภาพและเศษผักที่คัดทิ้ง
6.         งานค้นคว้าข้อมูลคุณค่าของใบไม้และอาหารสัตว์
-           ส่งใบไม้ไปให้กรมวิชาการเกษตรวิเคราะห์สารอาหารที่มีอยู่ในใบไม้
-           ตรวจสอบคุณค่าวัตถุดิบอาหารข้น สูตรอาหารกับสำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์
-           ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน๊ท
-           ศึกษาจากเอกสารกองส่งเสริมปศุสัตว์
-           ศึกษาจากนิตยสารด้านการเกษตร
-           ศึกษาจากการประชุมหารือในกลุ่มเป้าหมาย
-           ศึกษาจากนักวิชาการ/จัดเวทีวิชาการ
7.         การปรับปรุงพันธุ์โค
-           ปีแรกให้การผสมเทียมโคพันธุ์ซาฮิวาลทั้งหมด
-           ปีถัดไป โคในโครงการจะใช้วิธีผสมจริงจากพ่อโคพันธุ์แท้เลือดร้อย
-           โคสมาชิกในกลุ่มทดลองร่วม แบ่งออกดังนี้
1 แม่โคพื้นเมือง  เลือกผสมเทียม กลุ่มติดเบอร์หูสีเขียวผสมพันธุ์พื้นเมือง
2 แม่โคลูกผสมเบอร์หูสีเหลือง เลือกผสมเทียมโคพันธุ์ต่างประเทศ
3 แม่โคและพ่อโคที่เข้าโครงการวิจัย ต้องผสมพันธุ์แท้เท่านั้น
4 กลุ่มเลี้ยงโคขุน จะผสมพันธุ์โคที่เหมาะสมเช่น กำแพงแสน ชาร์โลเล่ร์ เป็นต้น
8.         นวัตกรรมการเลี้ยงโค
-           การสร้างคอกโคแบบประหยัด
-           การทำหลุมหมักมูลโค
-           การทำเครื่องอัดฟางแบบง่าย
-           การวางแผนเตรียมอาหารสัตว์ให้มีพอเพียงตลอดปี
-           การใช้ใบไม้มาเลี้ยงสัตว์แทนหญ้าในช่วงแล้ง
-           การทำประวัติ/ทะเบียนโค


พบกันใหม่เมื่อใจต้องการ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25708เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
-ขจิต ฝอยทอง( khajit's blog)
  • ผมตามครูบามาจากสานปฎิรูป มาเป็น New School
  • ดีใจที่ได้มาอ่านใน  gotoknow
  • ผมมีโคไม่กี่ตัวคงต้องขอความรู้จากครูบานะครับ

ขอบพระคุณครูบาที่นำเรื่องต่างๆมาแบ่งปันค่ะ

เห็นด้วยที่ครูบาบอกว่าเพลงที่นำมาใส่เป็นเพลงที่เพราะที่สุดค่ะ หนูไม่รู้จักเพลงนี้เลยค่ะ แต่เพราะและมีความหมายกินใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท