เล่าเรื่องวันที่ ๒๐ - ๒๔ เมษายน ๒๕๕๒


 

 

วันที่  ๒๕  เมษายน  ๒๕๕๒
เรียน  เพื่อนครู  ผู้บริหารที่เคารพรักทุกท่าน

 วันจันทร์ที่ ๒๐  เมษายน  ๒๕๕๒  ออกจากบ้านพักเมืองนนท์ ๐๕.๓๐ น. ใช้ถนนรัตนาธิเบศร์เพื่อไปขึ้นทางด่วนที่งามวงศ์วาน  แม้จะเป็นวันทำการวันแรก หลังจากหยุดยาวมาร่วม ๑๐ วัน แต่รถยังไม่มาก ทางด่วนสามารถใช้ความเร็วได้ปกติ  ถึงวิทยาลัยเกือบ ๐๘.๓๐ น. ไม่ต้องทานอาหารเช้า เข้าแถวเคารพธงชาติกันเลย  ภาคเช้าเรียนเรื่องการบริหารงานชายแดนที่มีประสิทธิภาพ จากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหนองคาย นายสุพจน์  เลาวัณย์ศิริ ท่านเล่าประสบการณ์ให้พวกเราฟังถึงการทำงานชายแดน  การกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศนิยมใช้ธรรมชาติในการแบ่ง เช่น หากเป็นภูเขาจะใช้สันปันน้ำเป็นจุดแบ่ง  หากเป็นแม่น้ำก็จะใช้ร่องน้ำลึกเป็นจุดแบ่ง  หากเป็นพื้นราบทั่วไปก็ทำความตกลงกันปักหมุดปักแนว  การจราจรของผู้คนผ่านแดนนั้นก็จะมีการไปมาหาสู่กันตลอดเวลา แต่ละด่านก็จะมีเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) และการเก็บภาษี คือศุลกากร โดยทั่วไปการจราจรผ่านแดนจะมีจุดผ่านไปมา ๓ ลักษณะคือ (๑) จุดผ่อนปรน เป็นจุดที่กระทรวงมหาดไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ อนุมัติให้เปิดสำหรับประชาชนผ่านไปมา ลาวเรียกว่า "ด่านประเพณี" (๒) จุดผ่านแดนชั่วคราว เป็นการเปิดการผ่านไปมาเป็นครั้งคราว เช่น ด่านสำหรับนำเข้าแร่ ไม้ ด่านนี้สามารถเก็บภาษีได้  (๓) จุดผ่านแดนถาวร ใช้หลักสากลในการเดินทางไปมา การติดต่อกับต่างประเทศเป็นเรื่องของรัฐบาล หรือกระทรวงการต่างประเทศ องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ การทำงานชายแดนต้องมีเอกภาพ หากขัดแย้งระหว่างส่วนราชการจะมีปัญหามาก ไม่สามารถจะไปชนะใครได้ การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันเป็นการส่วนตัวช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก   บ่ายเรียนเรื่องการประชาสัมพันธ์  อ.ทวินันท์  คงคราญ  เป็นผู้บรรยาย ได้นำประสบการณ์ในการทำหน้าที่สื่อมวลชนและบริหารงานประชาสัมพันธ์มาถ่ายทอดให้พวกเรามีความรู้ความเข้าใจได้มาก การประชาสัมพันธ์เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ภาพลักษณ์จะดีต้องทันสมัย  ผลงานดี  บริการดี  และรับผิดชอบต่อสังคม  ภารกิจของการประชาสัมพันธ์ เริ่มตั้งแต่การต้อนรับ  การประสานงาน  การบริการข้อมูล  การผลิตสื่อ การวางแผนการประชาสัมพันธ์  การประเมินผล  การเป็นที่ปรึกษาองค์การ  การเป็นตัวแทนขององค์การ  ส่วนเครื่องมือการประชาสัมพันธ์ เริ่งตั้งแต่การเผยแพร่ข่าวสาร  การพัฒนาบุคลากร  สื่อมวลชนสัมพันธ์  การบริหารภาวะวิกฤติ  ชุมชนสัมพันธ์  เครื่องมือการประชาสัมพันธ์อื่น ๆ กิจกรรมสาธารณะ  รัฐบาลสัมพันธ์  กิจการพิเศษ  การบริหารข่าวเชิงยุทธ์  ได้พูดถึงกลยุทธการ PR อมตะ  (๑) เอกภาพภายในเสริมไว้ตลอดกาล  (๒) ประเมินผลเป็นรูปธรรมเพื่อความชัดเจน (๓) บริการเป็นเลิศเกิดความประทับใจ (๔) สื่อสาร ๒ ทางเป็นกลางกับทุกกลุ่ม (๕) ใช้การมีส่วนร่วมมาเป็นจุดรวมใจแผนงาน (๖) วางจุดขายให้ชัดและยืนหยัดเจตนารมณ์ (๗) ยามผิดเรายอมรับ พร้อมปรับปรุงและชดใช้  สุดท้ายได้อธิบายถึงกลยุทธการตลาดที่สำคัญ (๑) Brand Building (๒) Customer Relationship Management (๓) Corperate Social Responsibility (๔) Public Relations (๕) Customer Experience (๖) Telemarketing (๗) Co-Branding (๘) Idea Centric  เย็นออกกำลังกาย ๑๐ ท่าพยายม  เลิกแล้วขึ้นห้องพักทำรายงานจนดึก

 

 วันอังคารที่ ๒๑  เมษายน  ๒๕๕๒  วันนี้ทั้งเช้าและบ่าย ๖ ชั่วโมง เรียนเรื่อง การบริหารความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาล อาจารย์ จิรพร  สุเมธีประสิทธิ์ เป็นวิชาที่เข้าใจยาก เช่น  วิธีการประเมินการควบคุมความเสี่ยงระดับองค์กร  ให้ดำเนินการดังนี้ 1.        กำหนดเป้าหมายหลักขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายงาน 3 เป้าหมาย  เรียงตามลำดับความสำคัญ (Top 3 Goals) 2.               ทำการประเมินว่าเป้าหมายหลักขององค์กรแต่ละเป้าหมาย (จาก 3 เป้าหมาย)  มีระดับความเสี่ยงอย่างไร  ด้วยการใช้แบบฟอร์มที่กำหนด 3.         ในการวัดค่าของความเสี่ยงว่าจะอยู่ในค่าคะแนนของผลกระทบรุนแรงระดับใด  ระหว่าง 1-5 ให้เป็นไปตามเกณฑ์ Risk Appetite แต่ละฝ่ายงานตามที่ได้รับความเห็นชอบโดยเคร่งครัด 4.   กรณีที่ค่าคะแนนของความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นประเด็นของผลกระทบหรือโอกาสที่จะเกิด  หรือทั้งผลกระทบและโอกาสที่จะเกิด  มีระดับตั้งแต่ 3 ขึ้นไปภายหลังจากการควบคุม ณ ระดับปัจจุบัน  จะต้องระบุแผนงานจัดการความเสี่ยงในลักษณะของการถ่ายโอน  ลด  ควบคุม  ที่ชัดเจน  มิให้ระบุว่ายอมรับความเสี่ยง 5.              หน่วยงานจะต้องทำการติดตามความเสี่ยงตามค่าเป้าหมายระดับองค์กรจัดทำไว้ทุกเดือนและระบุสถานะของความเสี่ยงในปัจจุบันเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Risk Profile) ให้เห็นว่าความ   เสี่ยงลดลงหรือไม่  ถ้าไม่ลดลงต้องหาทางปรับ/เพิ่มแผนการจัดการความเสี่ยงให้เพียงพอ 6.                กรณีที่พบว่าการลด/กำจัด/ควบคุมความเสี่ยงที่เป็นความเสี่ยงระดับองค์กรเกี่ยวข้องกับฝ่ายงานอื่น  จะต้องขยายกิจกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุมฝ่ายงานต่างๆ เหล่านั้นด้วย  7.   หากมีความจำเป็นให้นำเสนอขอความสนับสนุนผ่านผู้บริหารระดับสายงานเพื่อขอความ ร่วมมือข้ามสายงาน ฝ่ายพัฒนาองค์กรและบริหารความเสี่ยง  ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะรวบรวมผลการติดตามความคืบหน้าของการจัดการความเสี่ยงระดับองค์กรเป็นรายเดือน  จากทุกฝ่ายงานและนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง/คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเพื่อทราบเป็นประจำทุกเดือน  ผลการพิจารณาดังกล่าวจะนำเสนอต่อฝ่ายบริหาร ต่อไป  ผลที่คาดว่าจะได้รับ  - ทุกฝ่ายงานรับทราบและผูกพันกับค่าเป้าหมายขององค์กรทุกฝ่ายงาน - มีการบริหารความเสี่ยงเพื่อควบคุมตนเอง ให้ผลลัพธ์ระดับองค์กรบรรลุผล

  วันพุธที่ ๒๒  เมษายน  ๒๕๕๒  าคเช้าเป็นการเรียนเรื่องการปฏิบัติงานในราชพิธี  รัฐพิธี การรับเสด็จการถวายรายงานและการสมาคม  อาจารย์สรรชัย  เทียมทวีสิน ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง เป็นผู้บรรยาย  เนื้อหาเป็นแนวปฏิบัติในเรื่องในรั้วในวังที่พวกเรารู้แบบงู ๆ ปลา ๆ มาคราวนี้จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแผน  ผมนำบางเรื่องมาเล่าสู่กันฟังเท่าที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงดังนี้ พระราชพิธี  หมายถึงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดไว้เป็นประจำตามราชประเพณี ** ก่อนถึงงานพระราชพิธีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มี หมายกำหนดการ ของงานพระราชพิธี   ความหมายของคำว่า.... หมายกำหนดการ” “กำหนดการและหมายรับสั่ง  หมายกำหนดการ เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอน ของงานพระราชพิธีและรัฐพิธี โดยเฉพาะลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมราชโองการ ขึ้นต้นด้วยข้อความว่านายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการพระราชวัง  รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าเสมอไป ต้องส่งต้นหมายกำหนดการดังกล่าวนี้ เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการเพื่อให้เป็นพระบรมราชโองการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหมายรับสั่งเป็นเอกสารที่ออกถึงพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯรวมไปถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทราบ  : เป็นเอกสารที่ออกถึงหน่วยงานของสำนักพระราชวังที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีต่าง ๆ : เป็นเอกสารที่ออกถึงผู้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องต่าง ๆ ตอนล่างสุดของหมายรับสั่งเขียนไว้ว่า… “ทั้งนี้ให้จัดการตามหน้าที่และกำหนดการตามรับสั่ง อย่าให้ขาดเหลือ ถ้าสงสัยให้ถามผู้รับรับสั่งโดยหน้าที่ราชการแล้วลงชื่อผู้รับรับสั่ง ผู้สั่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้รับรับสั่งคือ เลขาธิการพระราชวัง   การแต่งกายตามหมายกำหนดการ กำหนดการ  หมายรับสั่ง ในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีต่าง ๆ  ให้แต่งกายตามหมายกำหนดการ กำหนดการ  หมายรับสั่ง  ซึ่งจะระบุว่า แต่งเครื่องแบบปกติขาว ครึ่งยศ หรือเต็มยศ และระบุถึงการประดับสายสะพาย ถ้าหมายกำหนดการ ไม่ระบุสายสะพาย ก็ให้สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน  การแต่งกาย.....เครื่องแบบเต็มยศ  เครื่องแบบครึ่งยศ  เครื่องแบบปกติขาว  เครื่องแบบปกติกากีคอพับแขนยาว  การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กรณีที่หมายกำหนดการได้กำหนดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ๑. เต็มยศ สายสะพายมหาจักรี ให้สวมสายสะพาย หากไม่ได้รับพระราชทานสายสะพายดังกล่าว ให้สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน  ๒. เต็มยศ สายสะพายนพรัตน์ หากไม่ได้รับพระราชทานสายสะพายดังกล่าว ให้สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน  ๓. เต็มยศ สายสะพาย จุลจอมเกล้า ให้สวมสายจุลจอมเกล้า หากไม่ได้รับพระราชทานสายสะพายดังกล่าว ให้สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน ๔. เต็มยศ สายสะพายช้างเผือก ให้สวมสายสะพายตระกูลช้างเผือก  คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช) หรือปถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช) สุดแต่ว่าได้รับพระราชทานชั้นใด กรณีที่ได้รับพระราชทาน        สายสะพายปถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม) เป็นสายสะพายสูงสุดให้สวมสายสะพายดังกล่าว ๕. เต็มยศ สายสะพายมงกุฎไทย ให้สวมสายสะพายตระกูลมงกุฎไทย คือ มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม) หรือ ปถมภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม) สุดแต่ว่าจะได้รับพระราชทานชั้นใด  เต็มยศ สายสร้อยจุลจอมเกล้า ให้สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน (ที่มิใช่สายสะพายจุลจอมเกล้า) แล้วสวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า  เต็มยศ (ไม่กำหนดสายสะพาย) ให้สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน ****ข้อที่ควรทราบ ๑. หากหมายกำหนดการระบุให้สวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นสายสะพาย ซึ่งต้องสวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า จะต้องสวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่น เพราะจะสวมสายสร้อยจุลจอมเกล้ากับสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในขณะเดียวกันมิได้๒. ห้ามมิให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ไปในงานที่ไม่เป็นงานมงคล          การจัดงานเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา การลงนามถวายพระพร ๑. จัดแต่งห้องประชุมหรือห้องโถงหรือศาลาประชาคมแล้วแต่ความเหมาะสมของอาคาร สถานที่ ตกแต่งประดับธงชาติ ติดแผงอักษรพระปรมาภิไธย ๒. ตั้งโต๊ะหมู่ประดับแจกันดอกไม้ พานพุ่มดอกไม้ ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งธูปเทียนแพกระทงดอกไม้ บนโต๊ะลงนามจัดสมุดพร้อมปากกาวางให้เรียบร้อย และจัดเจ้าหน้าที่รับรองคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาลงนาม๓. เมื่อลงนามในสมุดเรียบร้อยแล้วถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์๔. การแต่งกายอนุโลมตามที่สำนักพระราชวังกำหนด คือแต่งกายเครื่องแบบปกติขาว พ่อค้า ประชาชนแต่งกายสากลนิยม***  เมื่อเสร็จงานการลงนามแล้วให้รวบรวมสมุดที่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนลงนามถวายพระพร นำส่งสำนักราชเลขาธิการ โดยทำหนังสือนำเรียนราชเลขาธิการ  ***   รัฐพิธี  หมายถึง งานที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาฯ ให้ทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี     มีหมายกำหนดการที่กำหนดไว้เป็นประจำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน   การถวายราชสักการะในโอกาสวันที่ระลึกต่าง ๆ ทางราชการได้กำหนดให้มีการถวายราชสักการะโดยวางพานพุ่มหรือพวงมาลาถวายราชสักการะ ซึ่งมีแนวปฏิบัติคือ...หากวันที่ระลึกนั้นเป็นโอกาสคล้ายวันสวรรคตจะกำหนดให้เป็นการวางพวงมาลา แต่ถ้าวันที่ระลึกนั้นไม่ใช่โอกาสคล้ายวันสวรรคตจะกำหนดให้วางพานพุ่มสถานที่จัดงานหากเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งมีพระบรมรูปประดิษฐานอยู่แล้ว ให้ตกแต่งประดับธงชาติตามความเหมาะสม หากไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์จะเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมรูปออกตั้งประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ มีพานพุ่ม ดอกไม้ ตั้งแต่ง ณ สถานที่อันควรจะเป็นหอประชุมหรือที่รโหฐานได้ตามสะดวกการถวายราชสักการะมีขั้นตอนดังนี้๑. ผู้เป็นประธานและคณะถวายความเคารพ (หากสวมหมวกทำวันทยหัตถ์)๒. ประธานรับพานพุ่มวางหรือพวงมาลาวาง๒.๑ กรณีเป็นพานพุ่ม๒.๑.๑ พานพุ่มดอกไม้ พุ่มตาด ให้วางที่โต๊ะซึ่งจัดเตรียมไว้ ๒.๑.๒ พานพุ่มทองพานพุ่มเงิน ให้วางที่โต๊ะซึ่งจัดเตรียมไว้ โดยวางพานพุ่มทองไว้เบื้องขวาของประธาน และวางพานพุ่มเงินเบื้องซ้ายของประธาน ๒.๒ กรณีเป็นพวงมาลา๒.๒.๑ ประธานเดินตามผู้เชิญพวงมาลา๒.๒.๒ ผู้เชิญพวงมาลาหันด้านหน้าของพวงมาลาออก ๒.๒.๓ ประธานรับพวงมาลาขึ้นวางที่ขาหยั่ง ๓. ประธานถวายความเคารพ (กรณีไม่มีเครื่องทองน้อย) หรือ ถอดหมวกเพื่อจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย แล้วกราบไม่แบมือ ๑ ครั้ง ๔. ประธานไปยืนอยู่หน้าแถวคณะ แล้วทำความเคารพพร้อมกัน เป็นเสร็จการ ๕. เจ้าหน้าที่นำพานพุ่ม หรือพวงมาลาไปตั้งที่จัดไว้ หากเป็นพานพุ่มทอง พานพุ่มเงินให้เจ้าหน้าที่เชิญไปตั้งที่จัดไว้โดยนำพานพุ่มทองไว้เบื้องขวาของพระบรมรูป หรือพระบรมฉายาลักษณ์ และนำพานพุ่มเงินไว้เบื้องซ้าย   พิธี หมายถึง งานที่ผู้ใดก็ตามสามารถจัดขึ้นตามลัทธิ ตลอดจนแบบอย่าง  ธรรมเนียม ประเพณี การปฏิบัติของในแต่ละสังคมหรือท้องถิ่น พิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลแต่ไม่ได้กำหนดเป็นพระราชพิธีหรือรัฐพิธี เช่น พิธีรับรองพระราชอาคันตุกะและพิธีรับรองผู้นำ หรือประมุขต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล  ภาคบ่ายท่านผู้ว่าฯพินัย  อนันตพงศ์ มาชี้แจงเรื่องการนำเสนอการศึกษารายบุคคลที่จะดำเนินการปลายเดือนหน้าให้พวกเราทราบ   เย็นเขาออกกำลังกายกันปกติ ผมงดเพราะมีงานติดพัน  เย็นมีนัดหมายกลุ่ม กป.๓ ไปทานข้าวกันที่ร้านอาหารมุมอร่อย หลังที่ว่าการอำเภอบางละมุง ร้านติดทะเลบรรยากาศดี  ประมาณ ๓ ทุ่มก็กลับมาทำงานที่ห้องพักต่อจนหลังเที่ยงคืน จึงพักผ่อน

  วันพฤหัสบดีที่ ๒๓  เมษายน  ๒๕๕๒  ภาคเช้า ดร.อรพินท์  สพโชคชัย  จาก กพร. บรรยายเรื่อง การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม  การมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง กระบวนการที่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้เข้าร่วมในการรับรู้ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะ ร่วมเสนอปัญหา/ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิดแนวทาง ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และร่วมกระบวนการพัฒนาในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาหลักการในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เริ่มมาจากบทเรียนของความล้มเหลวในการพัฒนาชุมชนชนบท ที่ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาแบบยั่งยืน ประกอบกับกระแสความคิดของนักวิชาการทั้งในประเทศและในระดับสากล เกี่ยวกับเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้การพัฒนาในยุคหลัง ๆ ได้เน้นประชาชนในชุมชนเป็นเป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนา และมีส่วนร่วมของประชาชน (People’s Participation) จึงเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาชุมชน โดยตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ค่อนข้าชัดเจน ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา ก็คือ กระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ และภาคีอื่น ๆ นอกจากภาครัฐ เช่น ธุรกิจเอกชน ประชาชน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ให้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ เพราะการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืนในสังคมประชาธิปไตย เกิดจากการพัฒนาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการ และร่วมรับประโยชน์จากการพัฒนา  สำหรับแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ซึ่งหากขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไป จะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ โดย 5 ขั้นตอนนั้น ได้แก่(1) การมีส่วนร่วมในการรับรู้ สามารถให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ(2) การมีส่วนร่วมในการเลือกและเสนอแนวทางเพื่อตัดสินใจ(3) การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ(4) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานติดตามตรวจสอบ(5) การมีส่วนร่วมรับประโยชน์ และเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะ  บ่าย อาจารย์วิโรจน์  นวลแข  ได้บรรยายเรื่อง การบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต ท่านได้ให้ข้อมูลระดับลึกแก่พวกเรา และให้พวกเราได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาสำหรับรัฐบาล ซึ่งท่านย้ำว่าจะนำไปเสนอนายกรัฐมนตรี   เย็นมีงานเลี้ยงสังสรรค์ด้านหลังอาคาร มีร้องรำทำเพลงกันพอแก้เหงา  สามทุ่มผมก็ขึ้นห้องพักเพื่อทำงานต่อ

  วันศุกร์ที่ ๒๔  เมษายน  ๒๕๕๒  ภาคเช้า อ.กัลยา  หนูทอง จากสำนักงาน ก.พ. มาบรรยายเรื่องการใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการพลเรือน ฉบับใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบซีเข้าระบบแท่ง เหมือนของครูเรา มีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากสนใจคงต้องเข้าไปศึกษาในเวบไซด์ของ ก.พ.  บ่าย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมชาย  ใช้บางยาง มาบรรยายเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต  ปริมาณคนฟังเหลืออยู่ ๑ ใน ๓ แต่ก็เลิกเร็วกว่าตารางเล็กน้อย  ทุกคนรีบเดินทางกลับบ้านกัน  ถนนวันนี้ไม่จอแจคับคั่ง สามารถใช้ความเร็วได้ปกติ จึงถึงบ้านประมาณ ๑๗ นาฬิกา

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

 

    

 

 

 ไม่ลืมท่ายาง :พนมไพร ลูกเพชร

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 256496เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 06:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท