ชื่นชมศูนย์วิจัย : RCSD (7) วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา


• การประชุมแบ่งออกเป็น 15 ช่วง (session)   แต่ช่วงแรกเรียกว่าช่วงเปิด   และช่วงสุดท้ายเรียกว่าช่วงสรุปและปิด   ที่ให้ชื่อช่วงเป็นตัวเลขจึงมี 13 ช่วง
• การประชุมช่วงแรกหัวข้อภาพรวมว่า วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา กิจกรรมด้านวัฒนธรรมและความเป็นตัวตน
• ตอนผมมาทำงานที่ สกว. ผมได้เรียนรู้เรื่องทางสังคมศาสตร์มาก    ได้เข้าใจ (คงจะไม่ลึกนัก) เรื่องการสร้างวาทกรรม (คำพูด, ชื่อ, ประโยคหรือวลี รวมทั้งคำอธิบาย) ให้ติดปากคน เพื่อให้เกิดความเชื่อ ความเชื่อถือ หรือการครอบงำความคิด   เราตกอยู่ภายใต้การสร้างวาทกรรมจากหลากหลายฝ่ายอยู่ตลอดเวลา    เช่นจากโฆษณาสินค้า   จากรัฐบาล   จากพรรคการเมือง    จากต่างประเทศ    ดังนั้นถ้าเราจะพัฒนาอะไร เราต้องรู้จักใช้การสร้างวาทกรรม (discourse) เป็นเครื่องมือ เพื่อการสื่อความเชื่อ ความคิดลึกๆ ให้ติดหูติดปาก สื่อกันเข้าใจได้ลึกโดยใช้คำสั้นๆ    ดังนั้นในขบวนการ KM เราจึงมีวาทกรรม “คุณกิจ”  “คุณอำนวย”  “คุณลิขิต”   “คุณเอื้อ”  ฯลฯ  และใช้ได้ผลมาก
• ในเวลา 2 ชม. มีการนำเสนอ 3 เรื่อง   เป็นการศึกษาในเวียดนาม 2 เรื่อง(แรก)  และเรื่องสุดท้ายศึกษาในชาวเขาเชียงใหม่
• เรื่องแรกนำเสนอเหตุการณ์คนแตกตื่นจาก รูปปั้น Virgin Mary ที่เมืองโฮชิมิน ซิตี้ “น้ำตาไหล” และการแก้ไขสถานการณ์โดยทางการศาสนาคาทอลิก และตำรวจ   ดร. ฟาม ฉิง เฟือง จากสถาบันวัฒนธรรมศึกษา   Academy of Social Sciences ของเวียดนามนำเสนอเหตุการณ์พร้อมการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์  หาความหมายทางสังคม-วัฒนธรรม   ผมจับความไม่ค่อยได้   ดร. เฟืองตอบคำถามในภายหลังว่า คนตีความว่าพระแม่มารีร้องไห้เพราะเสียใจที่มีความเลวร้าย (เช่นคอรัปชั่น) เกิดขึ้นในบ้านเมือง    ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกว่าในประเทศไทยก็มีเหตุการณ์พระพุทธรูป “ร้องไห้” ยามบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ เช่น พระพุทธชินราช   ซำปอกงที่อยุธยา
• เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการพัฒนาบนพื้นที่สูง   จุดน่าสนใจคือผู้นำเสนอชื่อนายหวงคำ เป็นไทขาว บ้านอยู่ใกล้เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู ในเวียดนาม   คุณหวงคำบอกว่าที่บ้านเขาพูดภาษาไท คล้ายภาษาลาว   คุณหวงคำเป็น นศ. ป. เอกของ University of Washington มาทำวิจัยที่ RCSD   ผมได้เรียนรู้ว่าในเวียดนามมีชนกลุ่มน้อยถึง 53 เผ่า   ผมจับความการนำเสนอไม่ค่อยได้  (และเห็นว่าเนื้อหาที่นำเสนอมากเกินไปสำหรับเวลา 15 นาที) เข้าใจว่าเป็นการเปรียบเทียบระดับของการพัฒนาทางสังคมของแต่ละชนเผ่าตามทฤษฎี Evolution Theory   ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับสมมติฐานว่าชนเผ่าที่ได้ชื่อว่า “ล้าหลัง” จะต้อง “พัฒนา” ตามรอยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้เดินทางผ่านไปแล้ว    ผมคิดว่าแต่ละชนเผ่าน่าจะได้เรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลวของวัฒนธรรมอื่นในประเทศเดียวกัน    และเลือกทางเดินที่ตนเห็นว่าดีที่สุดสำหรับตนและส่วนรวมของประเทศ

          

บรรยากาศในห้องประชุม 

คุณหวงคำ ชาวไทขาว ขวา  และ ดร. เดชา ตั้งศรีฟ้า ซ้าย 


• ผมชอบสังเกตเทคนิคการนำเสนอ    ผมสังเกตวิธีที่นักสังคมศาสตร์ใช้ PowerPoint ช่วยสร้างความเข้าใจในการนำเสนอ   เห็นว่ามักใช้ข้อความยาวๆ ฉายขึ้นจอ    ทำให้ตัวอักษรเล็กและอ่านไม่ออก  
• เรื่องที่ 3 นำเสนอโดยทันตแพทย์ที่มาเรียนปริญญาเอกที่ RCSD (ทญ. ศศิธร ไชยประสิทธิ์ เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มช.)  เสนอผลการวิจัยความเข้าใจเรื่อง “ร่างกาย” (body) ในอดีตกาล กับในปัจจุบัน   ในอดีตมีความเชื่อเรื่อง ธาตุ 4, อวัยวะ 32, ขวัญ  โยงกับความเชื่อเรื่องระบบจักรวาล    โยงกับการเมืองเรื่องการตั้งรัฐชาติ   การจัดระบบของการแพทย์แผนไทยเดิม และการแพทย์ตะวันตก    วิธีใช้ Ppt นำเสนอก็บอกว่านี่ไม่ใช่คนทางสังคมศาสตร์แท้ๆ    ผมจับความได้ว่าสมัยโบราณสังคมล้านนามอง “ร่างกาย” แบบไม่แยกส่วนจากจิตใจและวิญญาณ   ผมเข้าใจว่าคุณหมอศศิธรได้ศึกษาทำความเข้าใจวิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทยอย่างลงลึกและเชื่อมโยงมาก   มีการพูดถึง tacit form of ritual practice, cultural body, body within the state of health   ซึ่งผมจับความไม่ได้ทั้งหมด   แต่ทำให้นึกถึงคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์          
• ผู้วิพากษ์คนแรกคือ Dr. Grant Evans  นักวิชาการฝรั่งเศส   ให้ความเห็นว่าวิธีการที่คนท้องถิ่นมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกวิธีหนึ่งคือใช้พลังจากนอกโลก ใช้พลังศักดิ์สิทธิ์   ใช้เมื่อคนรู้สึกว่าตนไม่มีพลังควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวได้    การตั้งคำถามต่อวิธีดำเนินการของรัฐบาลเวียดนามในอดีต ให้ชนส่วนน้อยต้องเดินตาม “ถนนสู่ความก้าวหน้า” เส้นทางเดียวกันหมด   เป็นการสร้างวาทกรรมที่ดีมาก    เรื่องร่างกาย กับ แนวคิดด้านสุขภาพ    เป็นตัวอย่างสังคมที่คนมีทางเลือก   โชคดีมากที่สังคมไทยมีระบบบริการสุขภาพ 2 ระบบคู่ขนาน    ควรศึกษาการแพทย์ทางเลือกของจีน ซึ่งรัฐบาลมีบทบาทสูงมาก    ศึกษาศาสนาในฐานะสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อ ไม่ใช่ศึกษาตัวทฤษฎี   
   

ทญ. ศศิธร ไชยประสิทธิ์ 

Dr. Grant Evans 


• ผู้วิพากษ์ที่มีสีสันมาก เพราะลงรายละเอียดมากคือ ดร. เดชา ตั้งศรีฟ้า  จากคณะรัฐศาสตร์ มธ.   กล่าวถึงความทันสมัย,  โลกาภิวัตน์,  การอ้างว่ารู้ กับการรู้ ไม่เหมือนกัน,   epistemology complex ความรู้ที่คนใช้ประโยชน์ได้,    science vs. nonscience knowledge, communicative rationality vs. noncommunicative irrationality,  การต่อสู้ระหว่างความสมเหตุสมผล กับความไม่สมเหตุสมผล,    Ecosphere, cosmology : battle ground ระหว่างคู่ตรงกันข้าม   แต่มีพลังอื่นอีก ศศิธร – รัฐชาติ   เฟือง – รัฐ  ศาสนา   ความศักดิ์สิทธิ์   ตลาด – สินค้า   ทำความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นสินค้า    ความรู้ของคนเล็กคนน้อยที่ถูก marginalize,   epistemic battle, politics, science understanding vs. use of scientific paradigm,    คนเมือง vs. ชนกลุ่มน้อย,   ร่าง (body) ส่วนบุคคล   สังคม   การเมือง   วัฒนธรรม,  น้ำตาขายได้   ที่จริง ดร. เดชาพูดแบบมีเหตุมีผลต่อเนื่องกัน แต่ผมทำหน้าที่ คุณลิขิต บันทึกได้เพียงแค่นี้ เพราะความเข้าใจมีเพียง ๑๐ – ๒๐%
• ผมตีความว่าเรื่องรูปปั้นร้องไห้เป็นวาทกรรมเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โยงกับความรู้สึกของผู้คนต่อบ้านเมือง    เรื่องการพัฒนาบนที่สูงของเวียดนามเป็นวาทกรรมของรัฐ เพื่อจัดระบบชนกลุ่มน้อย   ส่วนเรื่องร่างกายเป็นวาทกรรมระดับบุคคล    ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ ผมมีปัญญาทำความเข้าใจได้แค่นี้เอง

วิจารณ์ พานิช
๒๔ เมย. ๔๙
หลวงพระบาง / ล้านช้าง / ศรีสัตนาคนหุต / สุวรรณภูมิ / เชียงรุ้งเชียงทอง / เมืองซัว

หมายเลขบันทึก: 25491เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท