อีโบ๊ะ


การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มเติมให้กับนักเรียนชั้น ม.1 ซึ่งมุ่งเน้นปูพื้นฐานให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ ดำเนินมาจนถึงคาบสุดท้ายของปีการศึกษานี้แล้ว กิจกรรมที่นักเรียนลงมือศึกษาด้วยตนเองทุกครั้งนั้น ต้องการให้นักเรียนรู้จักวิธีการและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเรียนต้องมีโอกาสใช้ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างที่ตนเองต้องการในโอกาสต่อไป 

ที่สำคัญ ถ้านักเรียนได้ฝึกแก้ปัญหาต่างๆด้วยกระบวนการเช่นนี้ซ้ำๆ น่าเชื่อได้ว่า ขั้นตอนวิธีการเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในหัวใจของนักเรียนได้ เมื่อนั้น นักเรียนจะรักการแสวงหาความรู้ และมีเหตุผลในการใช้ชีวิตมากขึ้น 

บอกนักเรียนไว้ตั้งแต่แรกว่า วิชานี้ต้องการให้นักเรียนรู้จักขั้นตอน วิธีการ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ สามารถออกแบบและทดลองเรื่องที่สงสัยหรือเป็นปัญหา โดยการควบคุมตัวแปรต่างๆได้อย่างรัดกุม อันจะนำไปสู่ผลการทดลองที่น่าเชื่อถือ “คาบสุดท้ายนี้ ครูจึงอยากรู้ว่า นักเรียนแต่ละกลุ่ม แต่ละคน จะทำได้ดังที่เคยบอกไว้หรือเปล่า” 

ทุกครั้งของการเรียนเรื่องต่อไป นักเรียนต้องคิด และเตรียมอุปกรณ์มาล่วงหน้า ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่พิเศษกว่าตรงที่ นักเรียนแต่ละกลุ่มต้องคิดเองทั้งหมด ตั้งแต่ระบุปัญหาเลย นักเรียนสงสัยอะไรในชีวิตประจำวันบ้าง บอกตัวเองให้ได้ก่อน ไอน์สไตน์บอกว่า การตั้งปัญหาสำคัญกว่าการตอบปัญหาเสียอีก เพราะในที่สุดปัญหาจะนำไปสู่คำตอบหรือความรู้  แต่ถ้าไม่มีปัญหา คำตอบจะไม่เกิด โลกเราจะขาดความรู้

นักเรียนกลุ่มนี้สงสัยว่า รถหลอดด้ายจะแล่นได้เร็วหรือช้าขึ้นกับอะไร สมมติฐานหรือคำตอบที่นักเรียนคาดเดาล่วงหน้า คือ ความเรียบ-ความขรุขระของล้อหลอดด้าย นักเรียนทดลองโดยนำหลอดด้ายชนิดเดียวกันมา 2 หลอด หลอดหนึ่งใช้มีดกรีดวงล้อให้เป็นรอยโดยรอบ แล้วนำหลอดด้ายทั้งสองมาทำรถ เปรียบเทียบความเร็วกัน

กลุ่มนี้สงสัยว่าปืนปากกาน่าจะยิงได้แรง กระสุนไปไกลที่สุด เพราะจำนวนสปริงที่ใช้ ยิ่งมากน่าจะยิ่งแรง แต่ผลการทดลองยิ่งทำให้นักเรียนสงสัยมากขึ้น เพราะสปริง 2 ตัว ยิงได้ไกลกว่าสปริง 1 ตัว  แต่ถ้าเพิ่มสปริงเป็น 3 ตัว ผลกลับตรงกันข้าม “อาจเพราะอุปกรณ์อื่นๆของปากกา ไม่สามารถรับแรงดันสปริงที่มากเกิน”นักเรียนอภิปรายผล 

กลุ่มนี้สงสัยว่านกกระดาษแบบสองหัวกับหัวเดียว แบบใดจะร่อนอยู่ในอากาศได้นานและไกลกว่ากัน เห็นนักเรียนคิดและทำ ก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมนักเรียนคิดเช่นนี้ เพราะนกกระดาษทั้งสองที่นักเรียนพับขึ้นมานั้น รูปร่างหน้าตาก็ไม่เห็นจะแตกต่างกันสักเท่าไหร่ นักเรียนตอบว่า “เพราะแบบสองหัวมีส่วนหัวหนักกว่าแบบหัวเดียว ฉะนั้นการร่อนน่าจะต่างกัน แต่แบบใดจะดีกว่าเท่านั้น” นี่กระมังที่ว่า หากครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูจะได้เรียนรู้ไปกับเด็กๆด้วย

นักเรียนหญิงกลุ่มนี้สงสัยว่าปืนก้านกล้วยแบบใดจะดังกว่า และเดาว่าการบากก้านกล้วยให้หนา เสียงจะดังกว่าบากก้านกล้วยบาง กลุ่มนี้ตั้งใจทำการทดลองมาก ช่วยกันวัดระยะการบาก ทั้งขนาดและความห่างให้เท่าๆกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อควบคุมตัวแปร สำหรับผลการทดลองก็เป็นอย่างที่นักเรียนคิด

และกลุ่มนี้สงสัยว่าอีโบ๊ะที่ทำจากไผ่สดกับไผ่แห้ง อย่างไรเสียงจะดังกว่า ครั้งแรกที่นักเรียนเอ่ยชื่อ “อีโบ๊ะ” ก็ซักนักเรียนใหญ่ เพราะตัวเองไม่รู้จักและชื่อแปลก แต่พอนักเรียนอธิบายลักษณะให้ฟัง จึงนึกออก “อ๋อ! ตอนเป็นเด็ก ครูก็เล่น” นึกในใจว่า นี่ถ้านักเรียนไม่นำอีโบ๊ะมาเรียนรู้  เราคงลืม ไม่รู้จัก คงไม่ใช่แค่อีโบ๊ะ แต่น่าจะมีอีกหลายอย่างที่เราลืมไปแล้ว ทั้งๆที่ครั้งเป็นเด็กเคยเล่น

พลันฉุกคิดขึ้นมา ครูอาจจะลืมของเล่นได้ แต่ครูต้องไม่ลืมอารมณ์ชอบเล่น ชอบสนุกสนาน เมื่อครั้งเป็นเด็กของตนเอง จะได้เข้าใจเสมอว่า เด็กชอบสนุกสนาน ชอบเล่น เล่นเพื่อเรียนรู้ ไม่เช่นนั้นแล้วเราคงทำหน้าที่ครูได้ไม่ดี เพราะครูมีหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ

หมายเลขบันทึก: 254749เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

แค่เห็นชื่อเรื่องก็น่าสนใจแล้วค่ะ ช่างคิดซะจริงๆเชียว

ของเล่นแบบนี้ ยังมีอีกหรือ ดีจังที่คุณครูยังได้ให้เด็กเล่นได้

ดีจังเลยครับ ชอบการเรียนแบบนี้เอาเรื่องที่เด็กเล่นมาเป็นเรื่องการเรียน แต่ผมก็ไม่ได้เห็นอีโบ๊ะนานมากๆๆ เรียกเหมือนบ้านผมเลย ขอบคุณครับ

ครูแป๋ม ขอพรพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
โปรดดลบันดาลให้ ท่านอาจารย์ธนิตย์
ปราศจากทุกข์ให้ชีวิตมีแต่ความสนุกสุขสันต์
ในวันสงกรานต์ 2552 ตราบนี้และตลอดไปค่ะ.

   

เยี่ยมเลยครับ

การละเล่นพื้นบ้าน

ซึ่งทำให้การละเล่นต่างๆไม่สูญหายไปจากชุมชน

สวัสดีครับอาจารย์ อีโบ๊ะ ตามรูปบ้านผมเรียก "ฉับโผง"ครับ ส่วนอีโบ๊ะ หรือโบ๊ะ ใช้เรียกแพะตัวผู้ที่เคราดกครับท่าน

สวัสดีค่ะ ครูธนิตย์

  • ดีจังเลยค่ะครูค่ะ ฝึกให้เด็กๆ ได้รู้จักตั้งคำถาม รู้จักคิด และลองทำเพื่อตอบข้อสงสัยของตัวเอง ..
  • และเด็กๆ ก็ทำได้ดีเสียด้วย สนุกด้วยอีกตะหาก ..
  • ขอร่วมสนับสนุนกิจกรรมของคุณครูซึ่งก่อเกิดนักวิจัยรุ่นเยาว์เลยนะค่ะเนี่ยะ ...
  • กิจกรรมทั้ง 4 อย่าง เคยเล่นอยู่อย่างเดียว คือ ปืนก้านกล้วยหล่ะค่ะ แถมไม่ได้ทำเองเสียด้วย มีผู้ใหญ่ทำให้เล่นค่ะ ..
  • ส่วน 3 กิจกรรมแรกนั้นเคยเห็นค่ะ แต่ไม่เคยเล่นเลย
  • ว่าแต่เจ้านก 2 หัวเนี่ยะ มันเหมือนกับเครื่องบินเลยนะค่ะ
  • เคยพับเครื่องบินแต่แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนค่ะ เคยคิดดัดแปลงเหมือนกัน ถ้ามีหางจะร่อนต่างกับไม่มีหางอย่างไร หรือ จะพับปลายทางโน้นนิด ทางนี้หน่อย จะต่างกันไหม ประสาเด็กหล่ะค่ะ ....
  • ส่วนเจ้าอีโบ๊ะ นี่ไม่รู้จักเลยค่ะ ทำอย่างไร และเล่นอย่างไรค่ะเนี่ยะ .... แต่ดูเด็กๆ เค้าสนุกกับการได้คิด ได้ทดลองนะค่ะ
  • ดีจังค่ะ

อ้อ! สวัสดีปีใหม่ไทยย้อนหลังด้วยนะค่ะ คุณครูธนิตย์ .. ขออนุญาตรดน้ำดำหัว ตรงนี้เลยนะค่ะ ^^

  • ชื่อของเล่นพื้นบ้านนี้ ดูแปลกดี..
  • ขอบคุณคุณปริมครับ
  • ยังมีครับ และครูอย่างเราก็ลืมไปแล้ว..
  • ขอบคุณครู ป.1ครับ
  • ลองค้นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปแล้ว เรียกอีโบ๊ะนี่ล่ะครับ..
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
  • คงมีความสุขกับเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านไปแล้ว เช่นกันนะครับ
  • ขอบคุณครูแป๋มครับ
  • เด็กๆสนุกและได้เรียนรู้กับของเล่นพื้นบ้านที่ตนเองคุ้นเคย
  • ขอบคุณครูดอยครับ
  • ได้ความรู้เพิ่มว่าทางใต้เรียก ฉับโผง
  • และอีโบ๊ะ หรือโบ๊ะ ใช้เรียกแพะตัวผู้ที่เคราดก
  • จากที่ได้ลองค้นดู อีโบ๊ะ อาจหมายถึง ปืนลูกซองด้วยครับ
  • ขอบคุณวอญ่าครับ
  • เด็กๆเรียกกระดาษ ซึ่งพับให้หัวมีสองซีกกับหัวซีกเดียว ว่านกสองหัวและนกหัวเดียว เลยเรียกตาม..
  • อีโบ๊ะเป็นของเล่นพื้นบ้านไทยๆ ลักษณะเป็นกระบอกไม้ไผ่ หัวท้ายเปิด มีไม้ไผ่อีกอันหนึ่งเหลาเป็นก้านเล็กๆ ซึ่งใส่เข้าไปในรูกระบอกไม้ไผ่ได้พอดี
  • วิธีเล่นคือ ยัด/อัดกระดาษเปียกใส่เข้าไปในรูกระบอกไม้ไผ่ทั้งสองด้าน(หัว-ท้าย) เกิดช่องว่าง หรือช่องอากาศในกระบอกระหว่างกระดาษเปียกทั้งสอง จากนั้น ใช้ก้านไม้ไผ่เล็กๆใส่ในกระบอกด้านหนึ่ง แล้วกระแทกกระดาษ(อัดแน่น)แรงๆ ทำให้แรงดันอากาศในกระบอกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดันให้กระดาษอีกด้านหนึ่งหลุด-พุ่งออกไปคล้ายกระสุน เกิดเสียงดัง  
  • สวัสดีปีใหม่ไทยย้อนหลังเช่นกัน..ขอบคุณคุณnattapachครับ

เป็นกิจกรรมที่นักเรียนสนุกค่ะ เพราะได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวของเขาเอง

มาเพราะขำชื่อค่ะ

 นึกว่าอ.ให้เด็กๆผลิตปืนลูกซองสั้น

ที่ชาวบ้านเรียกว่าอีโบ๊ะ อิอิ

ที่แท้ปืนก้านกล้วย

เด็กๆเล่นมาเยอะค่ะ

อ.เคยให้เด็กเล่นอีปุ๊ไหมคะ 55+

อีปุคือการเอาต้นไผ่เล็กๆๆที่ม่ตันมาทำลำกล้อง แล้วเหลาไม่ไผ่ตันขนาดแหย่ลงไปในลำกล้องได้ทะลุมาเป็นตัวช่วยในการยิง

ต่อจากนั้นก็ปีนต้นชมพู เก็บดอกตูม(สมัยก่อนมีต้นชมพูเขียวต้นใหญ่ใกล้ๆบ้านเขา ไม่ต้องหวงกัน และมันออกมากจนเจ้าของรำคาญใจ เนื่องจากลูกมันแน่นมากไปจึงไม่โต และลูกเล็ก แถมรสฝาดด้วย)

เอามาอัดลงไปในปืนลำไผ่ เล่นตำรวจปราบผู้ร้ายกัน สนุกมาก   เพราะต้องหลบให้ดี ไม่งั้นเจ็บตัว

นึกขึ้นได้ ว่ายางกล้วยนี่ร้ายนัก เปื้อนเสื้อสีขาวแล้วทำให้เสื้อราคาตกค่ะ ต้องระวังมากๆ

ขอบคุณค่ะ

  • อีโบ๊ะกับอีปุ๊น่าจะอย่างเดียวกันครับ แต่ใช้ลูกคนละแบบ..
  • ขอบคุณkrutoiมากครับ
  • เด็กได้ทำเอง จะสนใจดี..
  • ขอบคุณMSU-KM :panatung~natadeeมากครับ

แวะผ่านมาเห็น...

เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนที่ดีมากค่ะ

ทั้งรูปแบบกิจกรรม เนื้อหาสาระ วิธีการทดลอง และผลที่เด็กจะได้รับ

สนับสนุนให้สอนแบบนี้ต่อไปนะคะ

^^

สวัสดีค่ะ...Vij เคยเล่นอีโบ๊ะค่ะ...แต่เรียกเหมือนบังเลย...ว่า "ฉับโผง" อิๆๆ ปืนก้านกล้วยก็เคยเล่น นึกถึงตอนเล็ก ๆ เลยนะเนี่ยะ...สอนกิจกรรมให้เด็กแบบนี้ดีจังค่ะ...ดูแลสุขภาพนะคะคุณครู

  • ตั้งใจจะให้เป็นแบบนี้ต่อไปเหมือนกันครับ
  • ขอบคุณคุณปิ๊งครับ
  • แสดงว่าตอนเป็นเด็กๆบู๊น่าดูเหมือนกันนะครับ
  • ขอบคุณอ.Vijครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท