เพื่อน(เรา)..ช่วยเพื่อน(เรา)


เป็นกิจกรรม Peer Assist ที่เนียนในเนื้องาน..

การทดสอบทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ต้องมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้เพื่อเป็นการพัฒนางานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการอยู่เสมอ.....หน่วย "ฮีมาโต" ก็เช่นกันค่ะ นำเครื่องมืออัตโนมัติเข้ามาช่วยในการทดสอบมากขึ้นทุกวัน และเทคโนโลยีการใช้งานก็พัฒนาให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา

ต้นเดือนมีนาคม หลังจากที่เราได้เลือกใช้หลอดบรรจุเลือดที่เหมาะสม สำหรับการทดสอบ CBCเรียบร้อยแล้ว  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน เราจึงหันมาใช้ระบบส่งเลือดเข้าเครื่องทดสอบอัตโนมัติ (Autosampler)  โดยไม่ต้องใช้คนเป็นผู้ส่งเลือดเข้าเครื่อง ทำให้ต้องมีการเรียนรู้วิธีใช้งานระบบนี้ โดยเริ่มจากการอ่านคู่มือที่ให้มากับเครื่อง แล้วทดลองใช้งานจริงกันเลย เมื่อเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติงานก็หาวิธีแก้ไขกันไปตอนนั้น

   วิธีเดิมใช้คนเป็นผู้ส่งเลือดเข้าเครื่อง ต้องใช้คน 1 คนใส่คำสั่งทดสอบทีละราย  จากนั้นผสมเลือดในหลอดให้เข้ากัน เปิดฝาจุกแล้วนำหลอดเลือดส่งเข้าเครื่อง
   วิธีใหม่คือ ใช้ระบบส่งเลือดเข้าเครื่องอัตโนมัติ  (autosampler) เครื่องจะผสมเลือด ดูด และทำการทดสอบอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติงานเพียงแค่ใส่ข้อมูลคำสั่งเริ่มต้นเท่านั้น

เดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนแห่งการเรียนรู้วิธีใช้งาน ผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานในจุดนี้คือ พี่เม่ย นู๋เม้าส์ และพี่ทร  เราสามคนก็เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน เมื่อได้ข้อสรุปก็จะบันทึกวิธีใช้งานรวมถึงปัญหาและวิธีแก้ไขไว้ด้วยค่ะ จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมเราก็ได้วิธีใช้งานระบบ autosampler ติดไว้ข้างเครื่องเพื่อให้คนอื่นๆที่เวียนมาปฏิบัติงานได้อ่านและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

...แต่ปัญหาบางอย่างก็ต้องเรียนรู้กันเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆไป บอกกล่าวกันไว้ก่อนก็ไม่ได้ เช่นการเปลี่ยนน้ำยาระหว่างเครื่องทำงาน ปัญหาสิ่งส่งตรวจไม่ได้คุณภาพ เครื่องทำงานติดขัดด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง  ดังนั้นในเดือนเมษายน เมื่อเปลี่ยนทีมงานเข้ามาปฏิบัติงานที่เครื่องเป็นน้องกระปุก กับน้องออง โดยมีพี่เม่ยยืนงานต่ออีก 1 เดือน พี่เม่ยก็เริ่มมีความรู้สึกเหมือนกับต้อง "กรอเทปกลับ" คือต้องสอนงานเดิมซ้ำอีกครั้ง...เอ!...อย่างนี้กว่าจะเวียนมาครบทุกคน (เจ้าหน้าที่ประมาณ 16 คน) เราคงต้องกรอเทปกลับกันจนเทปยืดแน่ๆเลย  และในบางครั้งเราก็มีธุระอื่นอาจไม่มีเวลาอยู่ให้คำแนะนำได้ตลอด ทำไงดีหนอ...?

...ในช่วงต้นเดือนเมษายน ได้สังเกตเห็นว่าเมื่อน้องกระปุก(ทีมเจ้าบ้าน)เริ่มใช้งานระบบ autosamplerใหม่ๆ และมีปัญหา ก็จะเรียกหานู๋เม้าส์ (ทีมผู้มาเยือน) ผู้มีประสบการณ์เข้ามาให้คำแนะนำ เพราะเคยผ่านปัญหาเช่นเดียวกันนี้มาก่อน จนถึงขณะนี้ใกล้สิ้นเดือนเมษายนแล้ว ดูน้องกระปุกก็สามารถใช้งานระบบใหม่ได้อย่างคล่องแคล่วพอสมควร แบบนี้เรียกว่า Peer Assist หรือเปล่าหนอ....? 

ได้การ....!พี่เม่ยคิดแผนงาน เพื่อน(เรา)ช่วยเพื่อน(เรา) ขึ้นมาได้ โดยการบอกให้น้องกระปุกต้องมีหน้าที่เข้ามาคอยให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ระบบ autosampler ให้กับทีมใหม่ในเดือนหน้า(พฤษภาคม) และเมื่อถึงเดือนถัดๆไปก็จะใช้วิธีเดียวกันนี้ สลับเปลี่ยนเวียนกันไปเรื่อยๆ  มีปัญหาใหม่ๆที่ไม่เคยพบและจัดการไม่ได้ ค่อยตามหาพี่เม่ย หรือช่างประจำเครื่องค่ะ....

ด้วยวิธีนี้....ก่อเกิดประโยชน์ได้หลายประการคือ.....
  • พี่เม่ยก็ไม่เหนื่อยมาก ไม่ต้องคอยมาสอนเรื่องเดียวกันซ้ำๆถึง 8-10 รอบ มีเวลามาทำอย่างอื่นได้อีก
  • น้องๆทีมงานก็มีความสามัคคีกลมเกลียวกันยิ่งขึ้น เพราะได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหา เรียนรู้ไปพร้อมๆกันในการทำงาน
  • ฝึกทักษะของบุคคลากรให้สามารถให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา คิดแก้ไขปัญหา และสามารถทำงานเป็นทีมได้
  • สุดท้าย...งานก็สำเร็จลุล่วงได้แบบเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะให้ใครจะเป็นผู้ปฏิบัติก็ตาม
หมายเลขบันทึก: 25373เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2006 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอเรียกเพิ่มเติมว่า Peer assist on the job training (ไวยากรณ์ถูกหรือเปล่าเอ่ย คุณครูโอ๋)

รบกวนเสนอแนะ ทีม KFC ด้วยนะครับ

ไปจัดหา VCD ไอซ์เอจ มาแล้วครับ ภาค ๒

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท