องค์กรแห่งความสุข VS องค์กรแห่งการสร้างสรรค์


คอลัมน์ แยบยลกลยุทธ์ โดย ผศ.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค
ขอสับหลีกหนีจากอุณหภูมิที่ร้อนแรงทางการเมืองของไทยสักครู่ครับ เพื่อให้ทุกท่านได้คลายเครียดและเข้าสู่การเป็นหนึ่งในสมาชิกของ "องค์กรแห่งความสุข" หรือที่สากลนิยมเรียกว่า happy organization นั่นเอง โดยได้มีรายงานการวิจัยออกมาว่า หากผู้บริหารสามารถสร้างให้องค์กรของตนมีบรรยากาศการทำงานที่ดี เป็นมิตร และบุคลากรทุกท่านในองค์กรของตนมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร กระตือรือร้นในการทำงานแล้ว ก็จะทำให้พนักงานทั้งหลายขององค์กรนั้น มีความ ทุ่มเท สนุกสนานกับการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่องค์กรคาดหวังและต้องการมากในยุคปัจจุบัน คือ การพัฒนาเข้าสู่การเป็นองค์กรแห่งการสร้างสรรค์ (creative organization) ที่จะมีแนวคิดใหม่ๆ ความคิดที่แปลกแหวกแนว มีการใช้ความพยายามที่มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนามูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการต่างๆ ของกิจการในอนาคตอีกด้วย
ผีหลอก
จริงๆ เรื่องนี้ ท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงจะสัมผัสได้กับองค์กรของท่าน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวขณะนี้ ซึ่งหากเราต้องทำงานในสถานการณ์ที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงปลอดภัย อาจมีอันตรายเกิดขึ้น เช่น ต้องทำงานในสถานที่ที่ยังไม่มีความสงบเรียบร้อยทางการเมือง มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นเนืองๆ แล้วเช่นนี้ ก็นำไปสู่ขวัญกำลังใจในการทำงานที่หดหาย ยากที่จะไปมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาคิดค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรครับ เนื่องจากแต่ละวันก็ต้องสนใจกับความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก หรือหากท่านต้องทำงานอยู่ภายใต้สถาน การณ์ที่มีความเครียด และความกดดันจากสภาพการณ์รอบข้างอยู่ตลอดเวลา ดังที่หลายๆ ท่านกำลังเผชิญความเครียดจากปัจจัยทางการเมืองขณะนี้ ก็ยากที่จะสงบจิตสงบใจนิ่งๆ และมุ่งมั่นต่อการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
ผีหลอก
ผีหลอก
ดังนั้น หากต้องการที่จะพัฒนาองค์กรของเรา ให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ อันจะนำไปสู่นวัตกรรมในสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แตกต่างเป็นเอกลักษณ์จากคู่แข่ง สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การทำให้บุคลากรของเรามีความสุขกับการทำงานในกิจการเสียก่อน โดยได้มีการประยุกต์หลักการทางจิตวิทยาเข้ามาในประเด็นนี้เช่นกันครับ โดยได้มีการพิจารณาปัจจัยหลักสองด้าน คือ ด้านบรรยากาศในการทำงาน และด้านเนื้อหาของงานที่ให้บุคลากรทำ
ผีหลอก

ในด้านแรก คือ บรรยากาศในการทำงานนั้น ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว เนื่องจากได้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันค่อนข้างแพร่หลายครับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรระหว่างเพื่อนร่วมงาน ไม่ให้มีการชิงดีชิงเด่น แข่งขันกันจนมากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในการทำงานที่เกินกว่าจะควบคุมได้ จะยิ่งนำไปสู่ความเครียดและความไม่ไว้วางใจกัน เกิดการปกปิดข้อมูล ไม่ร่วมมือประสานงานกัน ยิ่งจะทำให้บรรยากาศของการระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ลดน้อยลงไปอีก
ผีหลอก
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายลูกน้อง การดูแลที่เป็นธรรม การให้ความเอาใจใส่อย่างเหมาะสม รวมถึงการมีกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการระหว่างกันบ้าง เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน จะสร้างความสุขในการทำงานให้กับบุคลากรอย่างมาก เนื่องจากลูกน้องเองก็จะมีความเครียดเกร็งน้อยลง ไม่คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ถูกด่าถูกตำหนิจากหัวหน้า ซึ่งก็จะทำให้ลูกน้องมีความกล้าที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งเดิมให้หัวหน้าพิจารณาได้ ซึ่งไอเดียเหล่านี้นี่เองจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพทางการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างมาก
ผีหลอก
ดังในกรณีของบริษัท Pixar ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังแอนิเมชั่นระดับโลกอย่าง ทอย สตอรี่ ฯลฯ และได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ของโลกทีเดียว ก็ได้มีนโยบายสร้างบรรยากาศให้เกิดการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานดังกล่าว โดยจะมีการให้อิสระเปิดกว้างทางความคิดใหม่ๆ ไม่ให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีข้อจำกัดทางความคิดว่าจะต้องดำเนินไปในแนวทางเดิมๆ เท่านั้น รวมถึงผู้บริหารให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรต่างๆ เงินทุน เวลา และที่สำคัญที่สุดคือ การให้ความเชื่อมั่นกับพนักงานให้เกิดความกล้าเสี่ยงและยอมรับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งผู้บริหารเองก็จะไม่ตำหนิพร่ำเพรื่อถึงความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนดังที่คาดหวัง ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน เหมือนดังที่ตนเองเป็น "ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการคนหนึ่ง" มิใช่เพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้นครับ
ผีหลอก
ด้านที่สอง ก็คือ ทางด้านของเนื้องานที่ให้บุคลากรทำ ทางด้านนี้ได้รับการวิเคราะห์ว่ามีอิทธิพลสูงมากเช่นกัน ถึงแม้ว่าองค์กรจะมีซูเปอร์สตาร์ที่มีความสามารถในการทำงานสูงมาก หรือมีระบบเทคโนโลยีในการดำเนินงานที่สลับซับซ้อนสูงกว่าคู่แข่งขันอย่างมากมายในธุรกิจ ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ในองค์กรได้ครับ ประเด็นหลักที่ค้นพบจากการศึกษานี้คือ ต้องให้บุคลากรมีความรักและมีความสุขกับงานที่เขาได้รับมอบหมายไป จึงจะสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ออกมาได้
ผีหลอก
โดยทางด้านจิตวิทยาก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในการจัดการอย่างมาก โดยกล่าวว่าหากพนักงานมีความรักชอบในงานที่ทำ จะช่วยขจัดความเบื่อหน่ายในการทำงานลงได้ อีกทั้งยังสร้างความกระตือรือร้นและสมาธิในการทำงานด้วย เสมือนกับว่านั่งทำงานที่ตนชอบหลายชั่วโมงก็เสมือนว่าเวลาเพิ่งผ่านไปไม่ถึงสิบนาที และจากความรู้สึกในช่วงดังกล่าวนั้น จะช่วยสร้างและกลั่นกรองความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไม่จำกัดเลยทีเดียว นับเป็นอาวุธทางการแข่งขันอย่างหนึ่ง เช่น ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม ซึ่งมักจะมีการเสาะหาผู้ที่มีความสามารถทางด้านโปรแกรมมิ่งและต้องเป็นผู้ที่ความรักลุ่มหลงในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาช้านาน เพื่อให้เข้ามาเป็นนักพัฒนาเกม เขียนโปรแกรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกมขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ กระตุ้นความแตกต่างและตื่นตาตื่นใจต่อผู้เล่นเกมอย่างมาก การนำผู้ที่รักในเนื้องานดังกล่าวอย่างจริงจังมาพัฒนา จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจนี้
ผีหลอก
และในเนื้อหาของงานที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องมีความท้าทายแอบแฝงอยู่ในงานดังกล่าว มิใช่เป็นงานประจำวันที่พนักงานทำอยู่ทุกวันได้อยู่แล้ว แต่ควรต้องมีขอบเขตงานที่กว้างขวางขึ้น ท้าทายขึ้น ให้พนักงานมีโอกาสไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เป้าหมายที่ตั้งให้กับพนักงานต้องมีความชัดเจน ว่าจะต้องให้เขาบรรลุอะไรบ้าง จึงจะสร้างความสุขและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าหมายและขอบเขตของงานอย่างท้าทายมากขึ้นนั้น ก็นับว่าเป็นดาบสองคมเช่นกัน เนื่องจากเป็นงานที่ท้าทายมากเกินไป ซับซ้อนและยากเกินกว่าความสามารถของพนักงาน จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียดและนำไปสู่การท้อถอยในการทำงานมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผลทางลบอย่างมากต่อการพัฒนานวัตกรรม
ผีหลอก
เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดและประชาชนต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่ามากขึ้น แต่บริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งกลับตั้งเป้าให้สินค้าใหม่ของตนต้องนำเสนอสู่ตลาดและสร้างสถิติใหม่ของการเติบโตด้านยอดขายในปีนี้ให้มากกว่าช่วงที่ประชาชนมีอำนาจซื้อสูงๆ และไม่อ่อนไหวต่อราคา ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่ยากและมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ จึงอาจส่งผลทางลบต่อความสุขของพนักงานในด้านลบได้มากกว่า
ผีหลอก
ดังนั้น บุคลากรที่เกร็ง เครียด และหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกิน แม้จะเป็นเรื่องงานก็ตาม ผลลัพธ์ของการทำงานก็จะไม่ดีและสร้างสรรค์เท่าคนที่มีความสุขและรักในงานที่ทำครับ ดังนั้นเราทุกคนช่วยมาสร้าง "องค์กรแห่งความสุข" ให้กับทั้งพนักงานและตัวของท่านเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่าครับ
หมายเลขบันทึก: 25336เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แวะผ่านเข้ามาอ่านเห็นหัวข้อขึ้นไว้น่าสนใจดี แต่เมื่อได้อ่านไปแล้วประเมินว่า เป็น Secondary Data มาจากแหล่งข้อมูลอื่น การ Copy & Development เป็นเรื่องที่ดีเรื่องหนึ่ง ทำได้ไม่ผิดอะไร แต่อยากจะขอแนะนำให้ลงแหล่งที่มา (Source) ของข้อมูลไว้ด้วย เพื่อว่าผู้ที่สนใจประเด็นนี้อย่างจริงจังจะได้ Link เข้าไปติดตามค้นคว้าต่อไปได้ และอีกอย่างอ่านแล้วให้วิเคราะห์ (Analysis) และพยายามสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นองค์ความรู้ (Body of Knowledge) ของเราเอง ผิดหรือถูก ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่เราได้ใช้ประสบการณ์ มุมมอง ความคิดของเรา แล้วหยิบยกขึ้นสู่เวที ลปรร. ต่างหาก Mr.DUO'54 ทำได้อยู่แล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท