ธปท. ชี้บาทแข็งไม่กระทบส่งออก ประเมินเศรษฐกิจใหม่ 26 เม.ย.


ธปท. ชี้บาทแข็งไม่กระทบส่งออก ประเมินเศรษฐกิจใหม่ 26 เม.ย.
     ธปท. ชี้ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งกว่าสกุลอื่น จึงไม่กระทบส่งออก ระบุปล่อยค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะเดียวกัน 26 เมษายนปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่   พิจารณาปัจจัยน้ำมัน ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐประกอบ ด้านตลาดเงินจับตาประชุมจี-7 สรุปขยายกรอบเงินหยวน  ลุ้น ธปท. แทรกแซงบาทช่วยผู้ส่งออก
ดร.อัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง      ผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทต่อภาคการส่งออกของไทยว่า การส่งออกไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าด้วย โดยจะเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมปีก่อน  ที่ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ากว่าสกุลอื่นในภูมิภาค แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งออกมากกว่าประเทศอื่นมากนัก   "ตอนที่ค่าเงินสกุลอื่นแข็ง แต่ค่าเงินบาทไม่ได้แข็ง ไทยก็ไม่ได้ส่งออกดีกว่าเค้ามากนัก เรื่องของค่าเงินต้องใช้เวลาในการปรับตัว จะไปห้ามค่าเงินไม่ให้แข็งก็ไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในตลาด" ดร.อัจนากล่าว
ดร.อัจนา กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า-คู่แข่ง นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า  ค่าเงินบาทแข็งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเงินไหลเข้าก้อนโต โดยมาจากดีลซื้อหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อปลายเดือนมกราคม และช่วงเดือนมีนาคมที่เงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก   อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม 2548 จะเห็นว่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แล้วค่าเงินบาทต่ำมาก   ซึ่งขณะนั้น เงินเฟ้อไทยยังต่ำอยู่มากก็เลยไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยแล้วค่าเงินบาทไม่ได้แข็งมากไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และหากเทียบกับค่าเงินเกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย จะเห็นว่า ประเทศเหล่านี้แข็งค่ากว่าไทยมาก ดังนั้นค่าเงินบาทยังมีช่องทางให้แข็งขึ้นไปได้อีก
ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ยังไม่น่าเป็นห่วงแต่สิ่งที่น่าห่วงคือเรื่องราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเกิดปัญหาซัพพลายช็อก เพราะไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ไหน ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้ออย่างนี้ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน โดยเฉพาะหากลากยาวถึง 6 เดือน เพราะอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก   อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤติเหมือนในอดีต  "คิดว่าธนาคารกลางสหรัฐ น่าจะเข้าใกล้หยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยในไทยไม่น่าจะขยับขึ้นจนถึงเลข 2 หลัก" ดร.บัณฑิตกล่าว
ดร.อัจนา ยังได้กล่าวถึง การปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่ง ธปท. จะเผยแพร่ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อวันที่ 26 เมษายนนี้ด้วย โดยกล่าวว่า ในการปรับประมาณการครั้งนี้ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการใช้จ่ายของภาครัฐบาลด้วย โดยในส่วนของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงหลังจนถึงระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ในการประมาณการเศรษฐกิจครั้งก่อนหน้าของ ธปท.แม้จะไม่ครอบคลุมถึงในข้อสมมติฐานแบบทั่วไปแต่ในข้อสมมติฐานแบบแย่ที่สุด ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันครอบคลุมราคาปัจจุบันอยู่แล้ว   โดยในรายงานเงินเฟ้อ เมื่อเดือนมกราคม ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 4.75-5.75% เงินเฟ้อ 3.5-5%
รายงานข่าวจากนักค้าเงิน ระบุว่า ค่าเงินเช้าวานนี้ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเมื่อวานนี้ เนื่องจาก           มีแรงซื้อดอลลาร์ในตลาด offshore ต่อเนื่อง เคลื่อนไหวที่ระดับ 37.83-37.86 บาทต่อดอลลาร์   นอกจากนี้ การอ่อนของค่าเงินบาทอาจมีการเก็งกำไรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเพราะสัปดาห์หน้า อาจมีเงินไหลเข้ามาเพื่อการซื้อกิจการในไทย   นอกจากนั้น ดอลลาร์แข็งค่าแค่ระยะสั้น แต่ระยะยาวคาดดอลลาร์จะอ่อนค่าลง เพราะทุนสำรองของสหรัฐที่เป็นดอลลาร์ลดน้อยลง และมีสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยระยะยาว ดอลลาร์จึงอ่อนค่าลง โดยวานนี้ เยน/ดอลลาร์ อยู่ที่ 117.56-117.59 เยน
นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนมาก โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 40 สตางค์ โดยอ่อนค่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ระดับ 38.08 บาท ต่อดอลลาร์ และแข็งค่าสุดของสัปดาห์ที่ระดับ 37.65 บาทต่อดอลลาร์ ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีครึ่งด้วย
ปัจจัยสำคัญของความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากข่าวการขยายกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน นักบริหารเงินกล่าวว่า  ขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าได้ชัดเจนนัก เนื่องจากต้องติดตามการประชุมกลุ่มจี-7 ที่จะประชุมกันในวันที่ 21 เมษายนนี้ ว่าจะมีการหารือเรื่องการขยายกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนหรือไม่   นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์หน้า เนื่องจากตลาดมองว่าค่าเงินดอลลาร์ควรอ่อนค่าลงมากกว่านี้ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐให้ลดลง ทำให้ค่าเงินภูมิภาคยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้อีก สำหรับปัจจัยอื่นคงต้องรอการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนหน้านี้   อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตา ธปท. ด้วยว่าจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบมาก ซึ่งเชื่อว่าธปท.อาจเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในการดูแลค่าเงินบาท ทั้งนี้ กรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-38.20 บาทต่อดอลลาร์

กรุงเทพธุรกิจ 22 เม.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25326เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2006 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท