ความล้มเหลวของการวางแผน


จงเขียนในสิ่งที่จะทำ(จริง) จงทำตามสิ่งเขียน (จริง) และจงปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

       การวางแผนเป็นการเตรียมการล่วงหน้าว่าจะทำอะไร  ทำอย่างไร   อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การวางแผนจึงเป็นกระบวนการบริหารหรือการทำงานที่เป็นระบบ ที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษ
                        ปัจจุบันนักบริหารต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่คิดว่าจะทำอะไรก็เขียนออกมา แต่จะต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์  ยุทธวิธี  กล่าวคือ  ต้องมีการวิเคราะห์สภาพบริบท  มีการกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดพันธกิจ เป้าหมาย จึงนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ การทำแผนปฏิบัติการ แล้วดำเนินการและติดตามประเมินผล มีข้อมูลย้อนกลับไปสู่การปรับปรุงพัฒนาการวางแผนในโอกาสต่อไปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตามวงจร PDCA คือวางแผน (Plan) ปฏิบัติ (Do) ประเมิน (Check) และปรับปรุงพัฒนา (Act.)
                        การวางแผนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการคิดที่ไม่เป็นระบบ ไม่แยบยล มีความเร่งรีบในการจัดทำ โดยมอบให้ผู้รับผิดชอบไปเขียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ทันส่งตามเวลากำหนด จึงขาดการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำของบุคลากรตั้งแต่แรก รวมทั้งการตรวจสอบกลั่นกรองก็ทำไม่รอบคอบ แต่ไปเน้นการทำรูปเล่มของแผนให้สวยหรูเพื่อแจกจ่ายหรือรายงานไปยังที่ต่าง ๆ
                        สิ่งชี้วัดสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การวางแผนไม่ประสบผลสำเร็จคือขาดการนำข้อมูลสภาพปัจจุบัน ปัญหาที่แท้จริงมาวิเคราะห์จัดทำแผน จึงเป็นความต้องการจากสามัญสำนึกของผู้เขียนมากกว่า ข้อมูลความต้องการจำเป็นเชิงประจักษ์จากผลการประเมินที่แท้จริง   จึงมีคำพูดที่ล้อเลียนถึงความไม่สัมฤทธิ์ผลของการวางแผนหลายประโยค เช่น
                        “แผนการสอน ก็คือ แผนการส่ง” (คือไม่ได้วางแผนเพื่อสอนแต่วางแผนเพื่อส่งให้ฝ่ายบริหารตรวจหรือเพื่อรับการประเมินเอกสาร ให้แล้วเสร็จไปโดยไม่ต้องสอนตามนั้น  อาจเรียกว่าทำแบบส่งๆก็ได้)
                        “แผน คือกระดาษเปื้อนหมึก”
                        “ แพลน แล้วก็นิ่ง (Planning)”
                        เคยมีวิทยากรท่านหนึ่ง ถามผู้เข้ารับการอบรมว่า การวางแผนคืออะไร ก็ได้รับคำตอบอย่างสะใจจากผู้เข้ารับการอบรมคนหนึ่งว่า
                        “การวางแผน คือการนำแผนที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วมาวางไว้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย”
 
 
                                      ***********************

                                     ธเนศ  ขำเกิด   [email protected]

หมายเลขบันทึก: 25296เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2006 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เริ่มต้นเข้ามาศึกษาทางด้านนี้แล้วครับ เนื่องจากตำแหน่งงานเปลี่ยนไป ขอบคุณที่มีบทความดีๆให้อ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท