"สิ่ง"ที่ยึด-ไม่ยึดติด


เราจะกระโดดและทุ่มกาย-ใจ เข้ามาเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับสิ่งที่ตนพึงได้ตามสิทธิของความเป็น "มนุษย์"..

       "ไม่ยึดติด แต่จะสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง"พบประโยคนี้ใน คห. ของคุณ"คนข้างนอก" ที่มาร่วม ลปรร. ในบันทึก "ความสุข...การทำงานอยู่ที่ซี..?" ทำให้รู้สึกชอบและตรงจริตตัวเอง ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่คุณ"คนข้างนอก" บอกว่า " ไม่ยึดติด " นั้น ต้อง " วาง และว่างจริงๆ " ถ้ายังมีความรู้สึกอื่นแทรกอยู่...เรา...อาจ " ยึด " กับ คำว่า " ไม่ยึดติด " โดยไม่รู้ตัวก็ได้


       เราทุกคนในที่ทำงาน"จิตเวช" มีอะไรคล้ายๆ กัน หรือในบางคนอาจแตกต่างบ้าง แต่จิตวิญญาณในการทำงานก็ค่อนข้างจะมีเหมือนกัน อย่างน้อยสิ่งหนึ่งล่ะคือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ ไม่มีใครเกี่ยงงาน ไม่มีใครละทิ้งงาน เพราะเกียจคร้าน หนักเอาเบาสู้ไม่เคยบ่น (บางครั้งลงลุยโครงการติดต่อกัน...และต้องทุ่มพลังลงไปทั้งหมด เช่น โครงการยาเสพติดต่างๆ) คอยช่วยเหลือกันและกันตามความสามารถที่ตนถนัด และที่สำคัญไม่เคยมีใครมีความรู้สึกว่าคนอื่นจะได้ดีกว่า ดังนั้นระบบการให้ความดีความชอบ(ขั้นครึ่ง-สองขั้น)จึงไม่มีผลใดใดต่อการทำงานของเรา

       ภาพการทำงานของเรามักเป็นภาพที่เดินเคียงข้างกันไป ถามว่ามีขัดแย้งกันไหม ในความเป็นจริงก็มี แต่เป็นความขัดแย้งต่อทัศนะการทำงาน บางครั้งก็ถกกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด จนกว่าเราจะหาข้อสรุปนั้นได้ แล้วก็เบาสบายใจ เพราะทุกฝ่ายได้พูดได้ฟังกัน และก็ดำเนินงานช่วยเหลือกันต่อไปเราเลือกที่จะพูดกันตรงๆ เพราะจะได้ไม่มีอะไรที่มาค้างคาใจ เพราะเวลาทำงานจะได้ทำอย่างสบายใจและเต็มที่ไม่มีที่ติดค้างใจ ถึงแม้บางความคิดที่เสนออาจตกไปแต่นั่นอยู่ภายใต้เหตุและผล หาใช่เป็นการครอบงำสั่งการ

       การทำงานที่เรายึดถือเป็นที่หนึ่ง และซีเรียสในการให้ความสำคัญอย่างมาก คือ "ผู้ป่วย" เพราะโดยตามความเป็นจริงผู้ป่วยของเรามักโดนปฏิเสธจากสังคม ดูเหมือนจะได้รับอะไรที่ไม่เท่าเทียมมากนักจากสังคมที่เป็นอยู่ แม้แต่มารับบริการทางด้านสาธารณสุข เช่น หากมีผู้ป่วยคนใดดูท่าจะสื่อสารไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ หน่วยอื่นก็จะบอกว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช ให้ส่งมาจิตเวชเลย หรือแม้บางครั้งผู้ป่วยเรามารักษาโรคทางกาย เช่น มาตรวจร่างกาย มาทำฟัน ฯลฯ แต่เจ้าหน้าที่บางคนก็เลือกที่จะไม่ถาม ว่าผู้ป่วยมาทำอะไร พอเห็นบัตรเป็นผู้ป่วยที่มารับยาจิตเวช ก็จะส่งมาที่แผนกเราเลย โดยไม่ได้ไตร่ถาม ดังนั้น อะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ของผู้ป่วยเรา เราจะกระโดดและทุ่มกาย-ใจ เข้ามาเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับสิ่งที่ตนพึงได้ตามสิทธิของความเป็น "มนุษย์"..

       การทำงานที่เป็นไปและเป็นอยู่อะไรก็ตามที่ทำให้เราต้องละเลยจากผู้ป่วย เราก็จะให้ความสำคัญน้อยลง เพราะเราคิดว่าที่ทำงานทุกวันนี้ คืออะไร หากเราไม่ทำกับผู้ป่วย แล้วเราจะทำอะไร และทำทำไม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 25207เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท