Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บทนำงานวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย : ความเป็นมา เป้าหมาย ความล่าช้า และผลลัพธ์ของงาน


งานวิจัยนี้เป็นที่มาของทั้งยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ และ สองพระราชบัญญัติในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ที่มุงแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ แต่รายงานวิจัยเขียนยังไม่เสร็จเสียที

บทนำงานวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย

: ความเป็นมา เป้าหมาย ความล่าช้า และผลลัพธ์ของงาน

-----------------------------------------------------------------------

เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ก็คือ ๗ ปีมาแล้ว เค้าโครงเบื้องต้นของงานวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทยประมาณหนึ่งก็ถูกคิดขึ้นในหัวสมองของผู้วิจัย ซึ่งร่ายรำอยู่ในงานวิจัยเกี่ยวกับคนอพยพ แรงงานต่างด้าวและบุคคลบนพื้นที่สูงมาได้ระยะหนึ่ง

ผู้วิจัยเริ่มต้นงานคิดเรื่องการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศขึ้น เพราะได้รับมอบหมายให้ทำงานฎีกาวิเคราะห์เกี่ยวกับสัญชาติไทยของบุตรที่เกิดในประเทศไทยของเหล่าแรงงานต่างด้าวหรือคนอพยพในอดีตของประเทศไทย ในยุคนี้ของผู้วิจัยนั้น ไม่ได้ตระหนักเลยว่า พรศรีใน ฎ.๙๘๙/๒๕๓๓[1] ก็คือบุตรของคนอพยพจากประเทศเวียดนามที่มากลายเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย  ผู้วิจัยมาเรียนรู้ต่อมา เมื่อได้ทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของรัฐในเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ว่า คนอพยพจากประเทศเวียดนาม ดังบุพการีของพรศรี ซึ่งมักถูกเรียกในประเทศไทยว่า “ญวนอพยพ” นั้น น่าจะเป็นคนที่เกิดในประเทศเวียดนามและน่าจะออกจากประเทศนี้ก่อนที่จะมีการก่อตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern Nation State) อันทำให้ต้องมีระบบทะเบียนราษฎรในประเทศนี้ ในยุคที่มนุษย์ต้องมี “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ญวนอพยพจึงไม่มี หากพวกเขายังอาศัยอยู่ในเวียดนาม รัฐเวียดนามก็คงยอมรับพวกเขาในสถานะ “คนสัญชาติ (National)” เพราะพวกเขาเกิดในประเทศเวียดนาม พวกเขาก็น่าจะมีสัญชาติเวียดนามโดยหลักดินแดน และพวกเขาก็มีบุพการีเชื้อสายเวียดนามและน่าจะเกิดในประเทศเวียด อันทำให้เกิดความสัมพันธ์กับรัฐเวียดนามโดยหลักสืบสายโลหิต อันน่าจะทำให้มีสัญชาติเวียดนามโดยหลักสืบสายโลหิตอีกด้วย แต่เมื่อพวกเขาอพยพออกมาจากเวียดนามก่อนที่จะถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรเวียดนาม พวกเขาจึงไม่ได้รับการรับรองจากประเทศเวียดนามในสถานะประชากรของเวียดนาม และเมื่อพวกเขามาปรากฏตัวในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับพวกเขาเลย ก็เป็นธรรมดาที่รัฐไทยสมัยใหม่ก็จะมองพวกเขาเป็น “คนต่างด้าว (Alien)” กล่าวคือ รัฐไทยแยกพวกเขาออกจาก “คนสัญชาติไทย (thai national)”  

รัฐไทยสมัยใหม่เริ่มปรากฏตัวขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังจะเห็นจากการเกิดขึ้นของแนวคิดในการจัดการประชากรที่มีลมหายใจบนแผ่นดินไทย เราค้นพบว่า ในยุคสมัยนี้ ก็ปรากฏมีคนต่างด้าวจำนวนไม่น้อย และนับแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ เราก็เห็นการเร่มต้นของระบบทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เพื่อที่จะบอกว่า มนุษย์ผู้ใดเป็น “คนในบังคับ (subject) ของรัฐไทย”[2]   เราอาจเชื่อได้ว่า  รัฐไทยน่าจะประสบผลสำเร็จที่จะประกาศใช้บทกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อสำรวจและทำทะเบียนบุคคลให้แก่มนุษย์ที่อาศัยในสังคมไทยใน พ.ศ.๒๔๙๙ ทั้งนี้ โดยการปรากฏตัวของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙[3] ซึ่งมนุษย์ที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยนั้นมีทั้งที่ถูกบันทึกว่า เป็น “คนสัญชาติไทย” และเป็น “คนต่างด้าว”[4] 

ด้วยงานวิจัยเกี่ยวกับบุคคลบนพื้นที่สูงที่ผู้วิจัยศึกษาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นต้นมา ผู้วิจัยพบว่า สังคมไทยเข้าใจผิดว่า ราษฎรไทยหมายถึงคนสัญชาติไทยเท่านั้น และสังคมไทยแยกความแตกต่างระหว่าง “คนไร้รัฐ” และ “คนไร้สัญชาติ” ไม่ออก 

ข้อค้นพบดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยยื่นขอทุนการวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจ ต่อปัญหาดังกล่าว โดยตั้งชื่อโครงการวิจัยนี้ว่า “การปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ”  ซึ่งต่อไปจะเรียกเพียงย่อๆ ว่า โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ

โครงการวิจัยนี้ได้รับการอนุมัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวิจัยและบริการทางวิชาการ ครั้งที่ ๙/๒๕๔๕ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕ และกว่าจะเริ่มต้นทำงานด้วยเงินทุนวิจัยนี้ ก็ตกมาในราวต้นปี พ.ศ.๒๕๔๖  จะเห็นว่า จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาเกือบ ๗ ปี

อะไรคือความล่าช้าในการจัดทำรายงานการวิจัยดังกล่าว ??

---------------------------------------------------------

๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕ – ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๖

: เริ่มต้นทำงานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้

----------------------------------------------------------

ตามที่ได้เสนอในโครงการวิจัยฯ ผู้วิจัยเสนอที่จะดำเนินการทั้งหมด ๙ ขั้นตอน กล่าวคือ (๑.) งานติดต่อประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์การระหว่างประเทศที่ยอมรับเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ (๒.) งานสำรวจกฎหมาย แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้อง (๓.) งานสำรวจชุมชนในประเทศไทยที่มีคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐ (๔.) งานเตรียมเอกสารประกอบการเสวนา (๕.) งานเขียนรายงานสรุปผลการศึกษาที่ใช้ในการนำเสวนา (๖.) งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติในการจัดการ (๗.) งานเขียนรายงานสรุปผลการศึกษาที่ได้รับจากการเสวนา (๘.)   งานเสวนาเพื่อเสนอองค์ความรู้ในการจัดการ และ (๙.) งานเสนอรายงานการสรุปผลการศึกษาต่อสาธารณชน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เราอาจจำแนกงานใน ๙ ขั้นตอนนี้ออกเป็น ๓ ธรรมชาติ กล่าวคือ (๑) งานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหา (๒) การจัดการองค์ความรู้เพื่อจัดการปัญหา และ (๓) งานถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสู่สังคม

 

งานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหา

ด้วยความตั้งใจที่จะไม่ทำเพียงงานวิจัยเชิงเอกสาร หากแต่จะทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สังคม  ผู้วิจัยจึงเห็นว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการทำงานวิจัยโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ มีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

ปัจจัยสำคัญในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯในประการแรก  ก็คือ  “การสร้างประชาคมวิจัย”  เพื่อเป็นกลไกการวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ที่สังคมยอมรับได้ ซึ่งความเป็นไปได้ ก็คือ สมาชิกของประชาคมนี้จะต้องประกอบไปด้วยคนจากทุกภาคส่วนของสังคม  ซึ่งผลลัพธ์ของการทักทอเครือข่ายคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจึงเริ่มต้นด้วยโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ นี้เอง[5]

ปัจจัยสำคัญในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯในประการแรก  ก็คือ การสำรวจกฎหมาย แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้อง ด้วยงานวิจัยนี้เป็นงานด้านนิติศาสตร์ หัวใจสำคัญของงานจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอบคำถาม ๓ คำถามหลัก กล่าวคือ (๑)  กฎหมายและนโยบายในเรื่องคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่ผูกพันประเทศไทยคืออะไร ? ซึ่งเป็นคำถามในเชิงนิติศาสตร์เชิงกฎเกณฑ์ (Normative Legal Science or Legal Science Proper) นั้นเอง (๒) คนในลักษณะใดจึงจะประสบความไร้รัฐความไร้สัญชาติ ? ตลอดจนผลของการตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติคืออะไร ? ซึ่งเป็นคำถามในเชิงนิติศาสตร์เชิงข้อเท็จจริง (Legal Science of Fact) นั้นเอง และ (๓) กฎหมายและนโยบายที่ใช้ต่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาตินั้นมีความยุติธรรมและเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามในเชิงนิติศาสตร์เชิงคุณค่า (Legal Science of Value) นั้นเอง เราตระหนักได้ว่า แม้คนในประชาคมวิจัยฯ จะมีใจและความรู้ แต่หากเราไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุของปัญหา ? เราก็ไม่อาจนำกฎหมายและนโยบายไปแก้ไขส่วนใดของปัญหา หรือหากเราไม่ทราบว่า กฎหมายและนโยบายเป็นตัวสร้างปัญหา เราก็อาจจะเอากฎหมายและนโยบายที่มีปัญหาไปสร้างทุกขภาวะแก่สังคมมากขึ้นไปอีก การเชี่ยวชาญและรอบรู้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่นักวิจัยจะต้องทำให้ได้

ปัจจัยสำคัญในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯในประการที่สาม   ก็คือ ชุมชนในประเทศไทยที่มีคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐ  เราคงตระหนักได้ว่า แม้จะมีประชาคมวิจัยที่เข้มแข็ง และแม้จะเชี่ยวชาญในกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่หากเราหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติไม่พบ งานวิจัยเพื่อพัฒนาก็จะไม่มีประโยชน์อันใด การลงจากหอคอยงาช้างเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในสังคม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราคงสร้างสรรค์กฎหมายและนโยบายที่ดีไม่ได้ หากเราไม่อาจทดสอบประสิทธิผลของกฎหมายและนโยบายได้ การค้นพบชุมชนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ก็คือ การค้นพบ “ห้องทดลองทางสังคม” และเมื่อการทดลองทางสังคมได้เกิดขึ้น สูตรสำเร็จในการจัดการปัญหาย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน

จะเห็นว่า งานงานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ จึงเป็นชุดความรู้ ๓ ส่วน  และผู้วิจัยย่อมจะต้องดำเนินงานสร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ ๑ ให้คู่ขนาดไปกับงานที่ ๒ กล่าวคือ งานสำรวจกฎหมายและแนวนโยบาย และงานที่ ๓ กล่าวคือ งานสำรวจชุมชนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ

ในความเป็นจริง ผู้วิจัยได้ใช้เวลาทั้งปีกับงานทั้งสามส่วนนี้ จึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องขยายกำหนดเวลาที่ทำงานวิจัยส่วนที่ ๔ – ๙ ออกไปทำในปีถัดไป

---------------------------------------------------------

๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๖ – ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗

: เริ่มต้นทำงานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัดการองค์ความรู้ในการจัดการปัญหา

----------------------------------------------------------

          ในช่วงปีที่ ๒ ก็ยังมีงานเชื่อมเครือข่าย งานสำรวจนโยบายเก่าๆ ที่หายาก หรือ ใหม่ๆ  และงานสำรวจชุมชน แต่งานข้างต้นมิใช่เป้าหมายของปีที่ ๒ สำหรับในช่วงที่สอง ซึ่งเราเริ่มเข้าใจข้อเท็จจริงของมนุษย์ไร้รัฐไร้สัญชาติมากขึ้น และเข้าใจข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่อาจใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงชัดขึ้น  สิ่งที่เรามุ่งมั่นในปีนี้ ก็คือ การทบทวนองค์ความรู้เก่าและการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่สำหรับจัดการองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย

          ในปีนี้ เราตื่นใจกับการค้นพบว่า มีองค์ความรู้ ๒ ประเภทที่จำเป็นสำหรับการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย กล่าวคือ (๑) องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติของบุคคล และ (๒) องค์ความรู้ในการจัดการองค์ความรู้แรก เราพบว่า มีนักกฎหมายจำนวนมากที่เข้าใจแม่นยำกฎหมายสัญชาติ อันเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่ใช้จัดการปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติ แต่นักกฎหมายดังกล่าวนี้ไม่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่รักษาการตามกฎหมายสัญชาติยอมรับที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้เพื่อแก้ไขปัญหาจริงในสังคมได้ หาก ๒ องค์ความรู้นี้ไปด้วยกัน การแก้ไขปัญหาที่ว่า ยาก ก็ยังสำเร็จได้ แต่หาก ๒ องค์ความรู้นี้ไม่ไปด้วยกัน  การแก้ไขปัญหาที่ว่า ง่าย ก็ยังไม่อาจสำเร็จได้

เพื่อสร้างชุดองค์ความรู้เพื่อจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ผู้วิจัยเริ่มตระหนักในความจำเป็นที่จะแม่นยำในศาสตร์อื่น นอกเหนือจากนิติศาสตร์  แต่ด้วยประชาคมวิจัยของเรามีคนที่มีองค์ความรู้อย่างหลากหลาย  เราจึงบรรลุที่จะพัฒนา “ชุดความรู้สำเร็จรูป” สำหรับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย เราค้นพบ know - how ในช่วง ๖ เดือนแรกของการวิจัยในปีที่ ๒

เราเตรียมเวทีสาธารณะเพื่อระดมสมองผู้รู้ในสังคมไทย เพื่อทบสอบประสิทธิผลขององค์ความรู้ที่เราคิดว่า ค้นพบแล้ว ซึ่งก็คืองานของเราในอีก ๕ ขั้นตอนที่เหลือจากที่เราทำไม่เสร็จในปีที่ผ่านมา นั่น ก็คือ  (๔.) งานเตรียมเอกสารประกอบการเสวนา (๕.) งานเขียนรายงานสรุปผลการศึกษาที่ใช้ในการนำเสวนา (๖.) งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติในการจัดการ (๗.) งานเขียนรายงานสรุปผลการศึกษาที่ได้รับจากการเสวนา (๘.) งานเสวนาเพื่อเสนอองค์ความรู้ในการจัดการ

เวทีสาธารณะเพื่อหารือเรื่องความเป็นไปได้ในการใช้ “ชุดความรู้กฎหมายสำเร็จรูป” ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติ ถูกจัดขึ้นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ โปรดคลิกดูภาพเวทีดังกล่าว ตรงนี้

ผู้วิจัยมีภารกิจต้องไปต่างประเทศจนถึงวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒  จะกลับมาเล่าต่อในภายหลัง



[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ฎีกาวิเคราะห์ : คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ : สัญชาติไทยของบุตรของบุคคลผู้ถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว. ๓๓๗ (นางพรศรี เฉลิมพร กับพวก โจทก์ พ.ต.ท.เติมศักดิ์ ช้างแก้ว จำเลย) ใน: วารสารนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ๒๑ (๒๕๓๔) ๒, ๒๘๔-๒๙๓

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=41&d_id=41

[2] ในวันนี้ เราเรียกว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยว่า เป็น “ราษฎร (civilian) หรือประชาชน (people) หรือประชากร (population) ของรัฐไทย” แล้วแต่ความนิยมของเหล่านักวิชาการที่เข้ามาศึกษา แต่ผู้วิจัยปรารถนาที่จะเรียนมนุษย์ดังกล่าวว่า “ราษฎรไทย” ทั้งนี้  ตามชื่อของกฎหมายที่มุ่งจะสำรวจและทำทะเบียนให้แก่มนุษย์ดังกล่าว

[3] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, พ.ศ.๒๔๙๙ : รัฐไทยเริ่มต้นระบบการจดทะเบียนการเกิดทั่วไปสำหรับมนุษย์ในสังคมไทย, บทความเพื่อรายงานการตรวจสอบสถานการณ์เรื่องการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติในประเทศไทย, เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=342&d_id=341

http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/56490

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ราษฎรไทยคือใครกัน ? ..แล้วคนไม่มีสัญชาติไทยอาจมีสถานะเป็นราษฎรไทยได้ไหม ?, งานเพื่อหนังสือรพีประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=312&d_id=311

[5] โปรดดูรายชื่อของบุคคลที่เข้าร่วมโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ

หมายเลขบันทึก: 251958เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาขอบคุณ เลยตามมาอ่านงานวิจัยด้วยครับ อาจารย์สบายดีไหมครับ

สบายดีค่ะ

แม้กำลังใช้หนี้กรรมค่ะ ต้องไล่เขียนงานวิจัยที่ขอมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ แต่ยังไม่ส่งรายงานสุดท้าย ทั้งที่ผลการวิจัยใช้ประโนชน์ไปนานแล้ว

อยากไปหาดใหญ่กับชาวโกทูโนจัง อ.ขจิตไปไหมคะ

ไปครับ อาจารย์หมอวิจารณ์ พ่อครูบา ลุงเอก ฯลฯ ก็ไปครับ ไปด้วยกันไหมครับ

อยากไปค่ะ

หารือเลขาก่อนค่ะ

พรุ่งนี้ จะแจ้งคุณมะปรางค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท