การพัฒนาทักษะการฟัง – พูดภาษาอังกฤษด้วยวิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านพอกหนองแข้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ


การสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทางทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ

ชื่อเรื่อง                       การพัฒนาทักษะการฟัง พูดภาษาอังกฤษ โดยวิธีการสอนแบบตอบสนองด้วย

                                      ท่าทาง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านพอกหนองแข้

                                      อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้ศึกษาค้นคว้า            นางพรสวรรค์  ขาวแร่

ที่ปรึกษาการวิจัย  นายวิบูลย์ศักดิ์  เจตนา

หน่วยงาน                   โรงเรียนบ้านพอกหนองแข้ อำเภอห้วยทับทัน

ปีที่พิมพ์                      2552

บทคัดย่อ

                   การศึกษาค้นคว้าฉบับนี้มีความมุ่งหมายดังนี้  1)  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทักษะการฟัง-พูด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วยวิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง และ 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ทักษะการฟัง - พูดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลักที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านพอกหนองแข้  อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา  2551  จำนวน 18  คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive  Sampling)  ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการศึกษาค้นคว้า 2 วงจร ดังนี้ วงจรที่ 1 ประกอบไปด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1-3 และวงจรที่ 2 ประกอบไปด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4-6 เพื่อปรับปรุงและพัฒนาทักษะฟัง-พูด ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนภาษาอังกฤษ การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าได้แก่ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษจำนวน 1 คนและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 จำนวน18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้จำนวน 6 แผน 2) แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียนเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนแบบไม่มีโครงสร้าง 3) แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง และ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 15 ข้อ เทคนิคที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่ผู้ศึกษาค้นคว้าพัฒนาขึ้น การตรวจผลงานจากการทำใบงานของนักเรียนในแต่ละแผน นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากแหล่งข้อมูลของผู้ศึกษาและผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าดังกล่าวมาวิเคราะห์ โดยใช้เทคนิคสามเส้าแล้วรายงานผล โดยใช้การบรรยายตามรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

                         ผลการศึกษาค้นคว้าปรากฏ ดังนี้

1.     ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทักษะการฟัง-พูด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลัง

เรียนโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วยวิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง คะแนนทดสอบก่อนเรียนมีค่าเท่ากับร้อยละ 48.15 และคะแนนทดสอบหลังเรียนมีค่าเท่ากับร้อยละ 81.85 แสดงว่า คะแนน

เฉลี่ยการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  

 

                         2. พฤติกรรมการเรียนรู้ทักษะการฟัง-พูด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การวิจัย

เชิงปฏิบัติการด้วยวิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง ตามแผนการเรียนรู้ทั้ง 6 แผน จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนพบว่า

                                วงจรที่ 1 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในขั้นปฏิบัติ พบว่า ด้านทักษะฟัง-พูด ของนักเรียน 11 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 18 คน ที่สามารถฟังและปฏิบัติหรือตอบคำถามได้บ้างแต่ต้องใช้เวลาในการคิด และทบทวนคำถามของครูก่อนที่จะตอบหรือปฏิบัติในสิ่งที่ครูพูด ส่วนด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงออกและไม่กล้าขอเป็นอาสาสมัครในการปฏิบัติกิจกรรมเพราะไม่มั่นใจและกลัวผิด เนื่องจากออกเสียงและจำคำศัพท์ไม่ได้ นักเรียนถนัดในกิจกรรมที่ร่วมกันทำเป็นกลุ่มมากกว่าการปฏิบัติกิจกรรมคนเดียว และมีบางส่วนที่หยอกล้อกันบ้าง

                                วงจรที่ 2 ผู้ศึกษาค้นคว้าจัดกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนออกเสียงและจำคำศัพท์ได้โดยใช้กิจกรรมเกม เพลงและการวาดภาพระบายสีในการออกเสียงและสอนคำศัพท์ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สร้างความสนุกสนาน และดึงดูดใจของนักเรียนในการร่วมกิจกรรม พบว่า จากการทำกิจกรรมดังกล่าวนักเรียนสามารถจดจำคำศัพท์ได้รวดเร็วและนานขึ้น รวมทั้งการออกเสียงคำศัพท์ได้ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น ปัญหาที่นักเรียนไม่กล้าแสดงออกนั้น ผู้ศึกษาค้นคว้าได้ดำเนินการแก้ไขโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมากขึ้น ฝึกและปฏิบัติให้บ่อยครั้งขึ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้การเสริมแรงขณะปฏิบัติกิจกรรม ให้คำแนะนำและแก้ไขข้อบกพร่องอย่างเป็นกันเอง พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความมั่นใจและอาสาในการปฏิบัติกิจกรรมมากขึ้น

                   ผลจากการตรวจใบงาน พบว่า นักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะการฟังดีขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักเรียน 18 คน มีนักเรียนผ่านเกณฑ์การประเมิน 14 คน ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 4 คน และจากแบบสังเกตพฤติกรรมและทักษะฟัง-พูด พบว่า มีนักเรียนผ่านเกณฑ์การประเมิน 15 คน และไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 3 คน

                   วิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทางเป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ อีกทั้งวิธีการสอนนี้เน้นพัฒนาทักษะการฟัง-พูด เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน ซึ่งเป็นการสอนที่ไม่ฝืนหลักธรรมชาติของการสอนภาษา ให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมตามตัวอย่างจากครูและอาสาสมัครหลาย ๆ ครั้ง ช่วยให้นักเรียนเกิดความมั่นใจในการพูดออกเสียงคำศัพท์ รูปประโยคและไม่อายที่จะแสดงออกในการร่วมกิจกรรมก่อให้เกิดความสนุกสนานซึ่งเป็นแรงจูงใจในการเรียนและมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ

หมายเลขบันทึก: 251842เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 06:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าสนใจดี

ครูสอนอังกฤษ สพท.ศก.3

เหมาะสำหรับชั้นประถมต้นจริง ๆ

ครูห้วยทับทันวิทยาคม ศรีสะเกษ เขต 2

น่าจะสร้างเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษให้กับนร.ได้ดี

เลือก TPRเป็นหัวข้อสาระนิพนธ์ค่ะแต่หาเอกสารอ่านยากจัง มีเอกสารอะไรจะแนะนำให้อ่านไหมค่ะ กำลังหาหนังสือ learning Another Language Through Actionsของ James Asherอ่านแต่หาไม่ได้ มีคำแนะนำดีๆบ้างไหมค่ะ

คุณครูเก่งมากเลยครับ มีการพัฒนาการสอนมาต่อเนื่อง ลูกศิษย์ครูคนนี้มีทุกวันนี้ได้เพราะมีครูที่เป็นครูจริงๆ ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าคนหนึ่ง อยากบอกว่ารักและคิดถึงครูมากๆ ขอให้ครูมีสุขภาพกายและใจที่ดีตลอดไปนะครับ(จาก...นักศึกษานิด้า)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท