การวิเคราะห์สถิติเบื้องต้นในผู้ป่วยที่มารับการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง


สถิติ

การวิเคราะห์สถิติเบื้องต้นในผู้ป่วยที่มารับการวินิจฉัยหลอดเลือดสมองที่หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด รพ.ศิริราช ระหว่างปี 2547-2550

Basic Statistics of Diagnostic Cerebral Angiography patient at Intervention Neuroradiology, Siriraj Hospital in 2004-2007


สมจิตร จอมแก้ว อนุ.รังสีเทคนิค
จุฑา ศรีเอี่ยม อนุ.รังสีเทคนิค
ตองอ่อน น้อยวัฒน์ อนุ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สมจิตร จอมแก้ว, จุฑา ศรีเอี่ยม, ตองอ่อน น้อยวัฒน์. การวิเคราะห์สถิติเบื้องต้นในผู้ป่วยที่มารับการวิจนิจฉัยหลอดเลือดสมองที่หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด รพ.ศิริราช ระหว่างปี 2547-2550.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(2): 107-12.

 

บทคัดย่อ

ความสมบูรณ์ของข้อมูลของหน่วยงานเป็นความสำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการหน่วย การนำสถิติมาช่วยในการรายงานผลการทำงานเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่นิยม ซึ่งจะต้องมีการควบคุมระบบการลงข้อมูลที่ดี และมีความครบถ้วน ตัวอย่างหนึ่งคือการจำแนกสถิติในผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของการทำงาน และเป็นการนำเสนอภาพเสมือนของความสำเร็จของหน่วยงาน (unit success) และแสดงตัวชี้วัดการทำงานของหน่วยงาน (indicator) ได้ การจำแนกสถิติในผู้ป่วยที่มารับการวินิจฉัยหลอดเลือดสมองเป็นข้อมูลหนึ่งที่สำคัญและจะบ่งชี้แนวโน้มการบริการต่อไปอีกด้วย

 

หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เริ่มดำเนินการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการพัฒนาแนวทางในการดูแลผู้ป่วยและการทำหัถตการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจวินิจฉัย ผลความสำเร็จทางเทคนิค และความปลอดภัยของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรวบรวมผลการทำหัตถการอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านข้อมูลพื้นฐาน ความสำเร็จทางเทคนิค อัตราภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะเป็นข้อมูลแสดงผลการทำงานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของหน่วยได้ การวิจัยนี้จึงเป็นการรวบรวมและแจกแจงทางสถิติอย่างเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดต่อไป

นิยาม

วิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งอเมริกา (the american college of radiology,2005) ได้ให้คำนิยามของ diagnostic cervicocerebral angiography คือ กระบวนการที่กระทำต่อผู้ป่วยโดยการแทงสายสวนหลอดเลือดผ่านผิวหนังไปยังหลอดเลือดที่เลี้ยงลำคอและศีรษะ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีและทำการเก็บภาพทางรังสีของระบบหมุนเวียนโลหิตทั้งในส่วนลำคอและศีรษะโดยเก็บภาพเป็นชุดภาพซึ่งทำได้ทั้งแบบเป็นฟิล์มหรือเก็บแบบดิจิตอล

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาความสำเร็จทางเทคนิคของการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองของหน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด รพ.ศิริราช
2. เพื่อศึกษาอัตราภาวะแทรกซ้อน และประเภทของภาวะแทรกซ้อนของการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองของหน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด รพ.ศิริราช
3. เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงประชากรของผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองของหน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด รพ.ศิริราช

วัสดุและอุปกรณ์

เกณฑ์คัดเลือก

ผู้ป่วยมารับการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองของหน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระหว่าง มกราคมพ.ศ. 2547 – ธันวาคม พ.ศ. 2550 จำนวน 961 ราย

เกณฑ์คัดออก
ผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการวางแผนรักษาทางรังสีร่วมรักษาต่อเนื่องอื่นๆ

ผลการวิจัย

สรุปผลการวิจัย

จากตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบเพศของผู้ป่วยที่มารับบริการตรวจวินิจฉัยรังสีวิทยาหลอดเลือดระบบประสาทพบว่า มีอัตราส่วนระหว่างเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกันโดยมีเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย (53.59% : 46.41%)

จากตารางที่ 2 แสดงอายุของผู้ป่วย พบว่า ระดับอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 42.77-45.06 ปี โดยมีผู้ป่วยที่มีอายุมากที่สุดมีอายุ 93 ปี และผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 2 เดือนเท่านั้น

จากตารางที่ 3 แสดงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเนื่องจากหัตถการการตรวจวินิจฉัย

พบว่า ภาวะแทรกซ้อนย่อยโดยรวมอยู่ที่ 1.46% โดยมากที่สุดเกิดในปีพ.ศ. 2549 คือเกิดถึง 8 ราย และมีภาวะแทรกซ้อนหลักรวมอยู่ที่ 0.42% โดยระหว่างปีพ.ศ. 2547-2550 เกิดถึง 4 ราย โดยเกิดถึง 2 รายในปีพ.ศ. 2549

จากตารางที่ 4 พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการส่งมาตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองเพื่อวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง คือ 45 ราย ในปี 2547 และ 75 ราย ในปี 2549 อย่างไรก็ตามกลับมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2550 มีส่งตรวจเพียง 35 รายเท่านั้น ข้อบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งก็คือการส่งตรวจเนื่องจากสงสัยโรคทางหลอดเลือดสมอง แต่ผลการตรวจไม่พบความผิดปกติ ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง คือระหว่าง 13.19-24.32% รองลงมาได้แก่การส่งตรวจ Brain AVM ซึ่งมีการส่งตรวจในอัตราระหว่าง 17.36-15.32% และการตรวจมะเร็งสมอง โดยมีอัตราส่งตรวจระหว่าง 6.86-11.99% ส่วนการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคทางหลอดเลือดสมองอื่นๆ นั้นมีอัตราพอๆ กัน

 

 

วิจารณ์ผลการวิจัย

จากการวิเคราะห์ทางสถิติเบื้องต้นทำให้สามารถแสดงการกระจายของข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของหน่วยงาน โดยแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี ที่สำคัญก็คืออัตราภาวะแทรกซ้อน ซึ่งทำให้สามารถแสดงผลของหัตถการที่มีอัตราภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่ามาตรฐานสากล1 อย่างไรก็ตามกลับพบว่าในปีพ.ศ. 2549 มีอัตราภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าปีอื่นๆ ทั้งภาวะแทรกซ้อนหลักและภาวะแทรกซ้อนย่อยซึ่งอาจต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไปอีก ในระดับการใช้เส้นควบคุม (control chart) ส่วนการกระจายตัวของผลการวินิจฉัยเป็นการแสดงถึงตัวแปรเข้า (input) อย่างหนึ่งของหน่วยงานและแสดงแนวโน้มที่สำคัญของประเภทผู้ป่วย เมื่อคิดเป็นร้อยละ ซึ่งผู้ป่วยที่ส่งมาเพื่อวินิจฉัยและพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองกลับมีร้อยละที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบผลการวินิจฉัยหลอดเลือดว่าเป็นปกติในอัตราใกล้เคียงเดิมแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น ผลการวิเคราะห์ทางสถิตินี้จะมีผลช่วยในการวางแผนงาน ทั้งในด้านการจัดการงบประมาณ การเผยแผ่ประชาสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ให้ได้ เพื่อการพัฒนาหน่วยงานอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

บรรณานุกรม
1. Practice guideline for the performance of diagnostic cervicocerebral angiography in adults, ACR Practice Guideline, the american college of radiology,2005 : 125-139

2. ศิลป์ชัย นิลกรณ์. สถิติเบื้องต้น สำหรับงานวิจัย. http://www.navy.mi.th/nrdo/jreport/mmaga/maga2_50/10.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 251495เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2009 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 03:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท