วิธีการประเมิน


วิธีการประเมินผลการเรียนรู้

วิธีการประเมิน

                        ในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  ผู้สอนควรใช้วิธีการวัดและประเมินผลอย่างหลากหลาย  เหมาะสม  สอดคล้องกับตัวชี้วัด/มาตรฐานการเรียนรู้  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนความรู้ความสามารถและศักยภาพของผู้เรียน  โดยผู้สอนสามารถเลือกวิธีการประเมินจากวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้

                        ๑.    การสังเกตพฤติกรรม  เป็นการเก็บข้อมูลจากการดูการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนโดยไม่ขัดจังหวะการทำงานหรือการคิดของผู้เรียน การสังเกตพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ตลอดเวลา แต่ควรมีกระบวนการที่ชัดเจน และมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการประเมินอะไร โดยอาจใช้เครื่องมือ เช่น แบบประเมินค่า แบบตรวจสอบรายการ สมุดจดบันทึก เพื่อประเมินผู้เรียนตามตัวชี้วัด  และควรทำการสังเกตบ่อยครั้งเพื่อขจัดความลำเอียง

                        ๒.   การสอบปากเปล่า  เป็นการให้ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการพูด ตอบประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามมาตรฐาน ผู้สอนเก็บข้อมูล จดบันทึก รูปแบบการประเมินนี้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน สามารถมีการอภิปราย โต้แย้ง ขยายความ ปรับแก้ไขความคิดกันได้  มีข้อที่พึงระวังคือ อย่าเพิ่งขัดความคิดขณะที่ผู้เรียนกำลังพูด

                        ๓.   การพูดคุย  เป็นการสื่อสาร ๒ ทางอีกประเภทหนึ่งระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน สามารถดำเนินการเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ โดยทั่วไปมักใช้อย่างไม่เป็นทางการเพื่อติดตามตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เพียงใด เป็นข้อมูลสำหรับพัฒนา วิธีการนี้อาจใช้เวลา แต่มีประโยชน์ต่อการค้นหา วินิจฉัย
ข้อปัญหา ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัญหา อุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
เป็นต้น

                        ๔.   การใช้คำถาม  การใช้คำถามเป็นเรื่องปกติมากในการจัดการเรียนรู้ แต่ข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าคำถามที่ครูใช้เป็นด้านความจำ และเป็นเชิงการจัดการทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนใหญ่ เพราะถามง่าย แต่ไม่ท้าทายให้ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง การพัฒนาการใช้คำถามให้มีประสิทธิภาพแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่สามารถทำได้ผลรวดเร็วขึ้น หากผู้สอนมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินในชั้นเรียน โดยทำการประเมินเพื่อพัฒนาให้แข็งขัน (Clarke, 2005) Clarke ยังได้นำเสนอวิธีการฝึกถามให้มีประสิทธิภาพ ๕ วิธี ดังนี้

                                วิธีที่ ๑    ให้คำตอบที่เป็นไปได้หลากหลาย  เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้นเปลี่ยนการถามแบบความจำให้เป็นคำถามที่ต้องใช้การคิดบ้างเพราะมีคำตอบที่เป็นไปได้หลายคำตอบ (แต่พึงระวังว่าการใช้คำถามหมายความว่าผู้เรียนต้องผ่านการเรียนรู้ มีความเข้าใจพื้นฐานตามตัวชี้วัดที่กำหนดให้เรียนรู้มาแล้ว) คำถามแบบนี้ทำให้ผู้เรียนต้องใช้การตัดสินใจว่า คำตอบใดถูก หรือใกล้เคียงที่สุดเพราะเหตุใด และที่ไม่ถูกเพราะเหตุใด นอกจากนี้ การใช้คำถามแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ยิ่งขึ้นอีกหากมีกิจกรรมให้ผู้เรียนทำเพื่อพิสูจน์คำตอบ

                                วิธีที่ ๒   เปลี่ยนคำถามประเภทความจำให้เป็นคำถามประเภทที่ผู้เรียนต้องแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผล  การใช้วิธีนี้จะต้องให้ผู้เรียนได้อภิปรายกัน ผู้เรียนต้องใช้การคิดที่สูงขึ้นกว่าวิธีแรก เพราะผู้เรียนจะต้องยกตัวอย่างสนับสนุนความเห็นของตน เมื่อให้ประโยคที่ผู้เรียนจะต้องสะท้อนความคิดเห็น ผู้เรียนจะต้องปกป้องหรืออธิบายทัศนะของตน การฝึกด้วยวิธีการนี้บ่อย ๆ จะเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ฟังที่ดี มีจิตใจเปิดกว้างพร้อมรับฟัง และเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นโดยผ่านกระบวนการอภิปราย ครูใช้วิธีการนี้กดดันให้เกิดการอภิปรายอย่างมีคุณภาพสูงระหว่างเด็กต่อเด็ก และให้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาแก่
ทุกคนในชั้นเรียน

                                วิธีที่ ๓   หาสิ่งตรงกันข้าม หรือสิ่งที่ใช่/ถูก สิ่งที่ไม่ใช่/ผิด และถามเหตุผล วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น จำนวนในวิชาคณิตศาสตร์ การสะกดคำ โครงสร้างไวยากรณ์ในวิชาภาษา เป็นต้น เมื่อได้รับคำถามว่าทำไมทำเช่นนี้ถูก แต่ทำเช่นนี้ผิด หรือทำไมผลบวกนี้ถูก แต่ผลบวกนี้ผิด หรือทำไมประโยคนี้ถูกไวยากรณ์แต่ประโยคนี้ผิดไวยากรณ์ เป็นต้น จะเป็นโอกาสให้ผู้เรียนคิดและอภิปรายมากกว่าเพียงการถามว่าทำไมโดยไม่มีการเปรียบเทียบกัน และวิธีการนี้จะใช้กับการทำงานคู่มากกว่าถาม
ทั้งห้อง แล้วให้ยกมือตอบ

                                วิธีที่ ๔   ให้คำตอบประเด็นสรุปแล้วตามด้วยคำถามให้คิด  เป็นการให้ผู้เรียนต้องอธิบายเพิ่มเติม

                                วิธีที่ ๕   ตั้งคำถามจากจุดยืนที่เห็นต่าง  เป็นวิธีที่ต้องใช้ความสามารถมากทั้งผู้สอนและผู้เรียน เพราะมีประเด็นที่ต้องอภิปรายโต้แย้งเชิงลึกเหมาะที่จะใช้อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเชิงจริยธรรม เป็นต้น

                        นอกจากนี้ การใช้ Bloom’s Taxonomy  เป็นกรอบแนวคิดในการตั้งคำถามก็เป็นวิธีการที่ดีในการเก็บข้อมูลการเรียนรู้จากผู้เรียน

                        ๕.   การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ (Journals)  เป็นรูปแบบการบันทึกการเขียนอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้เรียนเขียนตอบกระทู้ หรือคำถามของครู ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความรู้ ทักษะที่กำหนดในตัวชี้วัด   การเขียนสะท้อนการเรียนรู้นี้นอกจากทำให้ผู้สอนทราบความก้าวหน้าในผลการเรียนรู้แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการด้านทักษะการเขียนได้อีกด้วย

                        ๖.    การประเมินการปฏิบัติ  (Performance  assessment)  เป็นวิธีการประเมินงานหรือกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติงานเพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาของผู้เรียน   การประเมินลักษณะนี้  ผู้สอนต้องเตรียมสิ่งสำคัญ    ประการ คือ  ภาระงาน (Tasks)  หรือกิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติ  เช่น การทำโครงการ /โครงงาน  การสำรวจ  การนำเสนอ การสร้างแบบจำลอง  การท่องปากเปล่า  การสาธิต การทดลองวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ  การแสดงละคร  เป็นต้น   และเกณฑ์การให้คะแนน   (Scoring Rubrics)   การประเมินการปฏิบัติ อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะงานหรือประเภทกิจกรรม  ดังนี้

                                w  ภาระงานหรือกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติและผลงาน  เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ  การแสดงละคร แสดงเคลื่อนไหว การประกอบอาหาร การประดิษฐ์      การสำรวจ การนำเสนอ การจัดทำแบบจำลอง   เป็นต้น  ผู้สอนจะต้องสังเกตและประเมินวิธีการทำงานที่เป็นขั้นตอนและผลงานของผู้เรียน

                                w  ภาระงานหรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างลักษณะนิสัย  เช่น  การรักษาความสะอาด  การรักษาสาธารณสมบัติ/สิ่งแวดล้อม กิจกรรมหน้าเสาธง  เป็นต้น  จะประเมินด้วยวิธีการสังเกต  จดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้เรียน

                                w  ภาระงานที่มีลักษณะเป็นโครงการ/โครงงาน เป็นกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติและผลงานที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ    จึงควรมีการประเมินเป็นระยะๆ เช่น  ระยะก่อนดำเนินโครงการ/โครงงาน  โดยประเมินความพร้อมการเตรียมการและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงาน  ระยะระหว่างดำเนินโครงการ/โครงงาน  จะประเมินการปฏิบัติจริงตามแผน วิธีการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ และ         การปรับปรุงระหว่างการปฏิบัติ   สำหรับระยะสิ้นสุดการดำเนินโครงการ/โครงงาน  โดยการประเมินผลงาน  ผลกระทบและวิธีการนำเสนอผลการดำเนินโครงการ/โครงงาน

                                w  ภาระงานที่เน้นผลผลิตมากกว่ากระบวนการขั้นตอนการทำงาน  เช่น การจัดทำแผนผัง  แผนที่  แผนภูมิ กราฟ ตาราง ภาพ แผนผังความคิด เป็นต้น  อาจประเมินเฉพาะคุณภาพของผลงานก็ได้

                                ในการประเมินการปฏิบัติงาน  ผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการประเมิน  เช่น  แบบมาตรประมาณค่า  แบบบันทึกพฤติกรรม  แบบตรวจสอบรายงาน  แบบบันทึกผลการปฏิบัติ  เป็นต้น

                        ๗.        การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน  (Portfolio  assessment)   แฟ้มสะสมงานเป็นการเก็บรวบรวมชิ้นงานของผู้เรียนเพื่อสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน  เช่น  แฟ้มสะสมงานที่แสดงความก้าวหน้าของผู้เรียน  ต้องมีผลงานในช่วงเวลาต่างๆที่แสดงถึงความก้าวหน้าของผู้เรียน   หากเป็นแฟ้มสะสมงานดีเด่นต้องแสดงผลงานที่สะท้อนความสามารถของผู้เรียน  โดยผู้เรียนต้องแสดงความคิดเห็นหรือเหตุผลที่เลือกผลงานนั้นเก็บไว้ตามวัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน  แนวทางในการจัดทำแฟ้มสะสมงาน
มีดังนี้   

                                w กำหนดวัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงานว่าต้องการสะท้อนเกี่ยวกับความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียนในเรื่องใดด้านใด  ทั้งนี้อาจพิจารณาจากตัวชี้วัด/มาตรฐานการเรียนรู้

                                w วางแผนการจัดทำแฟ้มสะสมงานที่เน้นการจัดทำชิ้นงาน  กำหนดเวลาของการจัดทำแฟ้มสะสมงาน และ เกณฑ์การประเมิน

                                w จัดทำแผนแฟ้มสะสมงานและดำเนินการตามแผนที่กำหนด

                                w ให้ผู้เรียนเก็บรวบรวมชิ้นงาน

                                w ให้มีการประเมินชิ้นงานเพื่อพัฒนาชิ้นงาน  ควรประเมินแบบมีส่วนร่วม โดย ผู้ประเมิน  ได้แก่  ตนเอง  เพื่อน  ผู้สอน  ผู้ปกครอง  บุคคลที่เกี่ยวข้อง

                                w ให้ผู้เรียนคัดเลือกชิ้นงาน  ประเมินชิ้นงาน  ตามเงื่อนไขที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนด  เช่น  ชิ้นงานที่ยากที่สุด  ชิ้นงานที่ชอบที่สุด  เป็นต้น  โดยดำเนินการเป็นระยะ  อาจจะเป็นเดือนละครั้งหรือบทเรียนละครั้งก็ได้

                                w ให้ผู้เรียนนำชิ้นงานที่คัดเลือกแล้วจัดทำเป็นแฟ้มที่สมบูรณ์  ซึ่งควรประกอบด้วย  หน้าปก  คำนำ  สารบัญ  ชิ้นงาน  แบบประเมินแฟ้มสะสมงาน  และอื่นๆ ตามความเหมาะสม

                                w ผู้เรียนต้องสะท้อนความรู้สึกและความคิดเห็นต่อชิ้นงานหรือแฟ้มสะสมงาน

w สถานศึกษาควรจัดให้ผู้เรียนแสดงแฟ้มสะสมงานและชิ้นงานเมื่อสิ้นภาคเรียน/
ปีการศึกษาตามความเหมาะสม                      

๘.         การวัดและประเมินด้วยแบบทดสอบ  เป็นการประเมินตัวชี้วัด ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) เช่น ข้อมูล ความรู้ ขั้นตอน วิธีการ กระบวนการต่าง ๆ เป็นต้น ผู้สอนควรเลือกใช้แบบทดสอบให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวัดและประเมินนั้นๆ เช่น  แบบทดสอบเลือกตอบ  แบบทดสอบถูก-ผิด  แบบทดสอบจับคู่  แบบทดสอบเติมคำ  แบบทดสอบความเรียง เป็นต้น ทั้งนี้แบบทดสอบที่จะใช้ต้องเป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพ  มีความเที่ยงตรง (Validity)  และเชื่อมั่นได้ (Reliability)

                        ๙.    การประเมินด้านจิตพิสัย (Affective Domain)  เป็นการประเมินคุณธรรม  จริยธรรม  คุณลักษณะและเจตคติ  ที่ควรปลูกฝังในการจัดการเรียนรู้  ซึ่งวัดและประเมินเป็นลำดับขั้นจากต่ำสุดไปสูงสุด ดังนี้

                                w  ขั้นรับรู้  เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกว่ารู้จัก  เต็มใจ สนใจ

                                w  ขั้นตอบสนอง  เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงว่าเชื่อฟัง ทำตาม  อาสาทำ  พอใจที่จะทำ

                                w ขั้นเห็นคุณค่า  (ค่านิยม)  เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงความเชื่อ  ซึ่งแสดงออกโดยการกระทำหรือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ยกย่องชมเชย สนับสนุน ช่วยเหลือหรือทำกิจกรรมที่ตรงกับความเชื่อของตน ทำด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และปฏิเสธที่จะกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตน

                                w ขั้นจัดระบบคุณค่า เป็นการประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม อภิปราย เปรียบเทียบ  จนเกิดอุดมการณ์ในความคิดของตนเอง

                                w ขั้นสร้างคุณลักษณะ  เป็นการประเมินพฤติกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เสมอในสถานการณ์เดียวกัน หรือเกิดเป็นอุปนิสัย

                                       การวัดและประเมินผลด้านจิตพิสัย  ควรใช้การสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติเป็นหลักและสังเกตอย่างต่อเนื่องโดยมีการบันทึกผลการสังเกต   ทั้งนี้อาจใช้เครื่องมือการวัดและประเมินผล  เช่น  แบบประเมินค่า    แบบตรวจสอบรายการ  แบบบันทึกพฤติกรรม  แบบรายงานพฤติกรรมตนเอง เป็นต้น

                                       นอกจากนี้อาจใช้แบบวัดความรู้และความรู้สึก  เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม  เช่น  แบบวัดความรู้โดยสร้างสถานการณ์เชิงจริยธรรม  แบบวัดเจตคติ  แบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม แบบวัดพฤติกรรมเชิงจริยธรรม  เป็นต้น

๑๐.   การประเมินตามสภาพจริง  (Authentic  assessment)  เป็นการประเมินด้วยวิธีการที่หลากหลายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน   จึงควรใช้การประเมินการปฏิบัติ (Performance  assessment)  ร่วมกับการประเมินด้วยวิธีการอื่น ภาระงาน(Tasks) ควรสะท้อนสภาพความเป็นจริง หรือใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากกว่าเป็นการปฏิบัติกิจกรรมทั่ว ๆ ไป  ดังนั้น การประเมินสภาพจริงจะต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลไปด้วยกัน และกำหนดเกณฑ์การประเมิน (Rubrics) ให้สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง

                        ๑๑.  การประเมินตนเองของผู้เรียน (Student self - assessment) การประเมินตนเองนับเป็นทั้งเครื่องมือประเมินและเครื่องมือพัฒนาการเรียนรู้  เพราะทำให้ผู้เรียนได้คิดใคร่ครวญว่าได้เรียนรู้อะไร  เรียนรู้อย่างไร  และผลงานที่ทำนั้นดีแล้วหรือยัง  การประเมินตนเองจึงใช้เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง  การใช้การประเมินตนเองของผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จได้ดีจะต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน  มีเกณฑ์ที่บ่งบอกความสำเร็จของชิ้นงาน / ภาระงาน  และมาตรการการปรับปรุง    แก้ไขตนเอง

                                เป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนดชัดเจนและผู้เรียนได้รับทราบหรือร่วมกำหนดด้วย  จะทำให้ผู้เรียนทราบว่าตนถูกคาดหวังให้รู้อะไร ทำอะไร มีหลักฐานใดที่แสดงการเรียนรู้ตามความคาดหวังนั้น  หลักฐานที่มีคุณภาพควรมีเกณฑ์เช่นไรเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนพิจารณาประเมิน  ซึ่งหากเกิดจาก
การทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนด้วยจะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น  การที่ผู้เรียนได้ใช้การประเมินตนเองบ่อยๆ โดยมีกรอบแนวทางการประเมินที่ชัดเจนนี้  จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินได้ค่อนข้างจริงและซื่อสัตย์  คำวิจารณ์ คำแนะนำของผู้เรียนมักจะจริงจังมากกว่าของครู              การประเมินตนเองจะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น  หากผู้เรียนทราบสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขได้ตั้งเป้าหมาย           การปรับปรุงแก้ไขของตน  แล้วฝึกฝน พัฒนาโดยการดูแล สนับสนุนจากผู้สอนและความร่วมมือของครอบครัว

                      &nb

หมายเลขบันทึก: 251367เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2009 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท