สภาพทั่วไปของป้าช้าจีน


สภาพทั่วไปของป้าช้าจีน

ป่าช้าจีน มีถนนลาดยางตัดกลาง ทางทิศตะวันออกจะเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ มีต้นไม้ใหญ่น้อยปกคลุมทั่วบริเวณ แม้แดดจากดวงอาทิตย์ในเดือนเมษายนจะสาดส่องลงมาเพียงใด ก็ยังมีต้นไม้ให้ร่วมเงากับผู้เข้ามาเยือนได้อย่างสบายใจ นอกจากนั้น รอบๆ บริเวณทางฟากตะวันออกจะมีเครื่องหมาย ฮวงซุ้ย บัว (เจดีย์) ตั้งอยู่เรียงราย มีกุฏิเล็กๆ สำหรับให้พระสัญจรมาพัก ๓ หลัง มีศาลาประกอบพิธีทั่วไปหลังใหม่ ๑ หลัง สุดเขตทางตะวันออกจะมีบ่อเก็บน้ำอยู่ ๓ บ่อ สำหรับอุปโภคเท่านั้น ส่วนทางตะวันตกอีกฟากถนนก็จะมีเครื่องหมาย ฮวงซุ้ย บัว (เจดีย์) เรียงรายอยู่เช่นกัน นอกจากนั้น จะมีเชิงตะกอน ศาลาที่พักประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพอยู่ ๓ หลัง ซึ่งยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้ แต่ดูเหมือนจะไม่มีการใช้อีกแล้ว โดยสังเกตจากต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมและหญ้าบนพื้นดินตรงลานที่ศาลาล้อมอยู่ นอกจากนั้นก็ไม่เห็นร่องรอยทางสำหรับเดินเข้าไปที่ศาลานั้นเลย

ข้อสังเกตการทำบุญว่างที่ป่าช้าจีน
การทำบุญว่างที่ป่าช้าจีน คือการทำบุญในรอบปีช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับป่าช้าจีนแห่งนี้น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายในรอบปีของชาวไทยและพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันเชงเม้งของชาวจีนด้วย โดยสังเกตจากฮวงซุ้ยบางแห่งมีร่องรอยการเซ่นไหว้ตั้งแต่ประมาณวันที่ ๕ เมษายน ข้อนี้ น่าจะเกิดจากชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยังยึดมั่นในจารีตเดิมของบรรพบุรุษ และมีฮวงซุ้ยจำนวนหนึ่งมีการเซ่นไหว้ในวันทำบุญว่างนี้ ข้อนี้สันนิษฐานว่า ลูกหลานซึ่งมีเชื้อสายทางชาวจีนผสมชาวไทย ได้ประยุกต์ความคิดทั้ง ๒ ส่วนเข้าด้วยกัน จึงมีการจัดพร้อมกันทีเดียวในวันทำบุญว่าง
การทำบุญที่เรียกว่า “ทำบุญว่าง” เห็นจะมีแต่เพียงในจังหวัดสงขลา ส่วนจังหวัดอื่นๆ อาจเรียกว่า การบังสุกุลอัฐิบรรพชน การทำบุญวันสงกรานต์ ซึ่งจะทำกันในช่วงวันสงกรานต์คือประมาณวันที่ ๑๒ -๑๕ โดยลูกหลานจำนำอัฐิบรรพบุรุษไปวัดให้พระบังสุกุล แต่การทำบุญว่างในจังหวัดสงขลานั้น โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่และอำเภอควนเคียงที่ผู้เขียนเคยเข้าไปสังเกตในพื้นที่นั้น ชาวบ้านจะกำหนดวันกันเอง จากนั้นก็จะไปรวมตัวกันที่เปลว (ป่าช้า) โดยนิมนต์พระมาจากที่ต่างๆเพื่อบังสุกุลอัฐิผู้ตายที่บรรจุอยู่ในบัว (เจดีย์) บางหมู่บ้านไม่มีเปลว เนื่องจากมีวัดขึ้นมาแทนที่ ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันไปตามวันนัดนั้น ดังนั้น ในช่วงนี้พระจึงไม่ค่อยว่างเนื่องจากต้องเดินสายรับนิมนต์จากที่ต่างๆ เพื่อรักษาศรัทธาของชาวพุทธ

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 25071เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2006 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท