มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

ข้อเสนอแนะในเชิงวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ในสังคมไทย


เก็บความมาบอกต่อ

ข้อเสนอแนะในเชิงวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ในสังคมไทย[1]
--------------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ฯพณฯ วัฒนา เมืองสุข
วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘
--------------------------------------------------------------------------------------------------
โดย นักวิจัยในโครงการศึกษาปัญหาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ตและโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กองทุน ศ.คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อที่ประชุมเสวนาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ยกร่างโดย อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และนักวิจัยมูลนิธิ ศ.คนึง ฦๅไชย
โดยแนวคิดพื้นฐานในการคิดค้นมาตรการในการจัดการนั้น มาจากการทำงานของนักวิจัยในโครงการศึกษาปัญหาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ตและโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะงานสารนิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เรื่อง การจัดการปัญหาเกมพิวเตอร์ในสังคมไทย : ผลกระทบและแนวคิดในการจัดการ โดยนางสาวขวัญใจ สุชาติพงศ์กุล ภายใต้การควบคุมของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร กองทุน ศ.คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
--------------------------------------------------------------------------------------------------
(๑) ความเป็นมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเด็กติดเกม ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาในสังคมหลายประการ[1] กล่าวคือในแง่ของการเลียนแบบพฤติกรรมในเนื้อหาของเกม และปัญหาด้านการบริโภคเวลาที่ไม่เหมาะสมทั้งในมิติของการใช้เวลากับเกมมาเกินไป และทั้งในมิติของการใช้เวลาในการเล่นเกมในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่เพียงเฉพาะกับเด็ก และเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในสังคมไทย[2][3] ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นปัญหา เป็นที่มาของการระดมแนวคิดเพื่อคิดค้นถึงมาตรการและยุทธศาสตร์ในการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมโดยวางอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หลังจากเวทีระดมความคิดเห็นดังกล่าว ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้หารือกับเครือข่ายประชาคมผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต[2]เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อนำมาสู่ยุทธศาสตร์และแผนการทำงานในเชิงรูปธรรมเพื่อจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ในสังคมไทย
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๑ : การสร้างเกณฑ์ในการชี้วัดระดับความรุนแรงของเนื้อหาเกม (Rating)
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
ปัญหาที่สำคัญประการแรกก็คือ เกมที่ดีเป็นอย่างไร?เกมที่ไม่ดีเป็นอย่างไร? เกมอย่างไรเหมาะสมกับวัย และอายุของผู้เล่นเกม เป็นคำถามที่มีความสำคัญที่จะต้องได้รับการตอบอย่างจริงจัง
เพื่อทำให้การตอบคำถามดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแนวคิดอันเป็นพื้นฐานของความรู้เกี่ยวกับระดับความมีคุณภาพของเนื้อหาของเกมที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชน และความเหมาะสมสำหรับสังคมไทยเป็นอย่างไร ยังคงไม่มีความชัดเจน
ประกอบกับเกณฑ์ในการชี้วัดระดับคุณภาพของเนื้อหาที่มีอยู่เป็นเพียงการนำเข้ามาซึ่งความรู้ที่ได้รับการพัฒนามาจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในทิศทางที่เป็นเพียงการกำหนดความรุนแรงเชิงเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเพศ อายุ ของผู้บริโภค โดยที่ไม่ได้ลงไปพิจารณาถึง เนื้อหาของเกมอย่างไรเหมาะสมกับมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุ และแต่ละวัย
ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า เกมที่ดีเป็นอย่างไร? เกมที่ไม่ดีเป็นอย่างไร? จำเป็นที่จะต้องพัฒนาแนวคิดที่ว่าด้วย เกณฑ์ในการชี้วัดระดับคุณภาพของเนื้อหาของเกมที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย และในขณะเดียวกัน เกณฑ์ในการชี้วัดระดับคุณภาพของเนื้อหาดังกล่าว
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อให้การจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สนับสนุนให้มีการจัดการที่ตัวเนื้อหาของเกม โดยการสร้างความชัดเจนให้กับ “แนวคิดการจัดระดับคุณภาพของเนื้อหาของเกม” หรือ การจัดเรตติ้ง โดยการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านแนวคิดของการชี้วัดคุณภาพของเนื้อหาในเกมที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในสังคมไทย ตลอดจน “การจัดระดับคุณภาพของเนื้อหาของเกมที่มีอยู่ในสังคมไทย” โดยการจัดตั้ง “องค์กร” กลางที่มีความหลากหลายทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ (สายจิตวิทยา สายสังคมศาสตร์ สายนิติศาสตร์ สายนิเทศศาสตร์ สายเศรษฐศาสตร์) ภาคประชาชน (กลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว ครู และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น) ภาคธุรกิจ (ธุรกิจผู้นำเข้าเกม ธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ธุรกิจนิตยสารเกม เป็นต้น) ภาคสื่อมวลชน
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯจัดเวทีเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับเกณฑ์ในการชี้วัดระดับคุณภาพเนื้อหาของเกมคอมพิวเตอร์ รวมกันในกลุ่ม ภาคธุรกิจ ด้านเกมทั้งโดยตรงและเกี่ยวเนื่อง รวมทั้ง ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม ในกลุ่มวิชาการด้านต่างๆ (จิตวิทยา นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ) ในกลุ่มภาคประชาชน (ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว และองค์กรพัฒนาเอกชน) ในกลุ่มภาคราชการ (ทั้งสายวัฒนธรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานทางด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ) เพื่อสร้างความชัดเจนและเป็นเอกภาพด้านเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหาของเกม
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๒ : การสร้างประมวลจริยธรรม (Code of Conduct) ในกลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจ
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กลไกที่สำคัญในการจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ ก็คือ ผู้ประกอบการเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดการประกอบการโดยตรงและการประกอบการที่เกี่ยวเนื่อง[4] อย่างน้อย ๗ กลุ่มธุรกิจ (๑) ธุรกิจให้บริการและดูแลระบบออนไลน์ (๒) ธุรกิจให้บริการ server อันเป็นที่ตั้งของเกมออนไลน์ (๓) ธุรกิจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ ตัวอย่าง เช่น ในปัจจุบันมีการทำวารสารหรือนิตยสารเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะเจาะจง นอกจากนั้นในทุกหนังสือพิมพ์รายวัน จะมีคอลัมน์เกี่ยวเกมคอมพิวเตอร์ อาทิ เดลินิวส์ ผู้จัดการ (๔) ธุรกิจจัดจำหน่ายเกมคอมพิวเตอร์ (๕) ธุรกิจค้าปลีกเกมคอมพิวเตอร์ (๖) ธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ (Internet Café) ซึ่งให้บริการเกมคอมพิวเตอร์ และ (๗) ธุรกิจคุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอันเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์
ดังนั้นเพื่อให้มาตรการในการจัดการถูกจัดทำขึ้นและได้รับการรับรองอย่างจริงจังในกลุ่มภาคธุรกิจการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของภาคธุรกิจและจัดทำข้อปฏิบัติร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจโดยวางอยู่บนพื้นฐานของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จะทำให้กลไกในการจัดการในกลุ่มภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโดยตรงหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เป็นไปได้อย่างแท้จริง
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อให้การจัดการที่กลุ่มผู้ประกอบการเกมอยู่ในสภาวะที่ได้รับการยอมรับและบังคับใช้จากภาคธุรกิจอย่างจริงจัง จึงเสนอให้ภาครัฐโดยกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจจัดทำ “ประมวลจริยธรรม” ทั้งในแง่ของประมวลจริยธรรมของกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่ม รวมทั้ง ประมวลจริยธรรมระหว่างกลุ่มร่วมกัน เพื่อให้เกิดเป็นประเพณีปฏิบัติในลักษณะของความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ ในทิศทางเดียวกันและเป็นเอกภาพ อันจะนำไปสู่ข้อบังคับในกลุ่มภาคธุรกิจเพื่อควบคุมการประกอบการระหว่างกันเองในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้นำเข้าเกมคอมพิวเตอร์ กลุ่มอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ กลุ่มนิตยสารเกมคอมพิวเตอร์ ที่จะช่วยเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีในการเล่มเกมคอมพิวเตอร์ในสังคมไทย
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯจัดเวทีวิชาการเพื่อระดมแนวคิดเกี่ยวกับ การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมในกลุ่มภาคธุรกิจ เพื่อแปลงสภาพมาสู่ประมวลจริยธรรม โดยเฉพาะในกลุ่ม ภาคธุรกิจทั้งธุรกิจโดยตรงและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้ง ในกลุ่มสื่อมวลชน
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๓ : เร่งการจดทะเบียนร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกมคาเฟ่ (Registration) และการกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจประกอบด้วยสัดส่วนของภาควิชาการ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
นอกจากการสนับสนุนให้เกิดการสร้างประมวลจริยธรรมในกลุ่มภาคธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ และประมวลจริยธรรมระหว่างกลุ่มภาคธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์แล้ว มาตรการในการจัดการปัญหาที่แหล่งของการบริโภคเกมของมนุษย์ในสังคมไทยก็เป็นอีกข้อต่อหนึ่งที่มีความสำคัญ
ในปัจจุบัน ถึงแม้การขออนุญาตประกอบการ[5]ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกม(ออนไลน์)คาเฟ่ ซึ่งต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์นั้น แต่ในทางข้อเท็จจริง การขออนุญาตประกอบการดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อการกำกับดูแลในเชิงเนื้อหาของการประกอบการ เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพาณิชย์และระบบทะเบียนทางการค้าเท่านั้น
ในขณะที่ การขออนุญาตในการประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกม(ออนไลน์)คาเฟ่ นั้นไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ ทำให้การตรวจตรา หรือการกำกับดูแลคุณภาพของร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกมคาเฟ่ ไม่สามารถกระทำได้
ดังนั้น เพื่อการจัดการปัญหาที่แหล่งของการเข้าถึงเกมของผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยกลไกจากภาครัฐในการเข้าไปสร้างระเบียบในการประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกมคาเฟ่ ในรูปแบบการขออนุญาตในการประกอบการที่สามารถเข้าไปตรวจสอบคุณภาพของการประกอบการธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกมคาเฟ่ได้
นอกจากนั้นแล้วเพื่อสนับสนุนกลไกในการจัดการโดยภาคธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ การให้เจ้าหน้าที่ในการตรวจตรา โดยอาศัยอำนาจ ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกอบด้วยองค์กรหรือตัวแทนจากภาคธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นแนวคิดที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดพลังของประมวลจริยธรรมในกลุ่มผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
ซึ่งโดยผลดังกล่าวทำให้กระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจัดทำประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้ อุปกรณ์ฮารด์ดิสก์ เป็นหนึ่งในวัสดุเทปและโทรทัศน์เพื่อให้ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกมคาเฟ่ ตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ จึงเสนอให้ กระทรวงฯ ผลักดันให้ประกาศกระทรวง ฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับโดยไม่ชักช้า เพื่อนำมาสู่การจดทะเบียนเพื่อการกำกับดูแลด้านคุณภาพของการประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
และในส่วนของเจ้าหน้าที่ในการตรวจตราทั้งด้านเนื้อหา ด้านเทคโนโลยี ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ในการประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งโดยผลของประกาศกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งผู้แทนจากกระทรวงต่างๆเป็นเจ้าพนักงานผู้ตรวจในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร กล่าวคือ ให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ตรวจตราด้านเนื้อหา และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้ตรวจด้านเทคโนโลยี นั้น เป็นการเน้นที่เจ้าพนักงานที่มาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ซึ่งไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของสังคม ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดพลังของการกำกับดูแลกันเองของสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มภาคธุรกิจ จึงเสนอให้ กระทรวงฯ ผลักดันให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจนั้นประกอบขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคม โดย เพิ่มสัดส่วนของภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดพลังของการตรวจตรามากยิ่งขึ้นทั้งยังเป็นการสนับสนุนกลไกในการควบคุมกันเองของลุ่มภาคธุรกิจด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คลอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงเสนอให้ กระทรวงฯผลักดันให้เกิดรูปแบบการทำงานของเจ้าพนักงานผู้ตรวจที่เป็นระบบ เพื่อให้การตรวจตรานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ของสังคมไทย
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯจัดเวทีวิชาการเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ด้านจำนวนประชากรร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และแสวงหาแนวทางในการจดทะเบียนร้านเกมคาเฟ่ และร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ในกลุ่ม ภาคราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ ภาควิชาการด้านกฎหมาย ด้านประชากร ภาคประชาชน และภาคธุรกิจเจ้าของเกม ผู้นำเข้าเกมคอมพิวเตอร์ ภาคธุรกิจร้านเกมคาเฟ่ และร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๔ : การเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามเกมที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายตามแหล่งขายสินค้า
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
ปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น นอกจากปัญหาด้านการบริโภคเวลาแล้ว ปัญหาเรื่องเนื้อหาของเกมที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น การลวนลามทางเพศ การข่มขืน การถ้ำมอง หรือเกมที่มีเนื้อหาของการส่งเสริมการกระทำการอันผิดกฎหมาย เช่น เกมในลักษณะชิงทรัพย์ ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ล้วนแต่เป็นเกมที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อพฤติกรรมของผู้เล่นเกม
ในขณะเดียวกัน เกมต่างๆเหล่านี้ถูกวางขายในตลาดหรือศูนย์การค้าที่เด็ก เยาวชนและมนุษย์ในสังคมไทยสามารถหาซื้อได้อย่างง่ายดาย เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกมคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมระบาดแพร่หลายในสังคม ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายในด้านการปราบปราม จับกุมผู้ขายสินค้าตามแหล่งขายในบริเวณต่างๆที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดของเกมคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว การปราบปรามที่แหล่งของการขายสินค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะทำให้เกมคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมถูกลดปริมาณลง
ดังนั้น เพื่อทำให้มาตรการในการปราบปรามที่แหล่งของการขายสินค้ามีประสิทธิภาพ จึงเสนอต่อกระทรวงฯ ที่จะสนับสนุนและติดตามผลการทำงานในการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงและดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังในการปราบปรามเกมประเภทดังกล่าว
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯจัดเวทีวิชาการเพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจสอบผลการดำเนินงานและสร้างความเข้าใจร่วมกันอันจะนำไปสู่การปราบปรามเกมที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ในกลุ่ม ภาคราชการที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ร่วมกับภาคประชาชน และภาคธุรกิจเกม ภาคธุรกิจในส่วนของเจ้าของพื้นที่ที่เป็นแหล่งเสี่ยงภัยต่อการระบาดของเกมที่มีเนื้อหาดังกล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๖ : มาตรการในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลในเกม
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริโภคเวลาของผู้ที่ลงทะเบียนและเข้ามาเล่นเกม ในเกมคอมพิวเตอร์ทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์ที่ได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญของมนุษย์ในฐานะผู้บริโภคเกมคอมพิวเตอร์ ประกอบกับ ปัญหาการไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลผู้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ในระบบเกมออนไลน์ ได้กลายเป็นปัญหาที่มีความสืบเนื่องกันในเรื่องของการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลที่เข้ามาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ในอันที่จะสร้างระบบการควบคุมปริมาณการใช้เวลาและการค้นหาตัวผู้เล่นเกมที่มีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย
หลังจากที่มีมาตรการในการลงทะเบียนโดยการใช้หมายเลขบัตรประชาชนของผู้ที่จะสมัครเล่นเกมและเชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลของผู้เล่นเกม ซึ่งถูกริเริ่มขึ้นโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่าช่องโหว่ของการจัดทำมาตรการปรากฏใน ๒ ลักษณะกล่าวคือ
ลักษณะที่ ๑ เกิดกระบวนการสวมสิทธิหมายเลขบัตรประชาชนของผู้อื่นโดยกลุ่มผู้เล่นเกมและผู้ประกอบธุรกิจให้บริการหมายเลขบัตรประชาชนของผู้อื่น
ลักษณะที่ ๒ เกิดการกระทำในลักษณะที่นำไปสู่ความผิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาทผ่านเกม เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุจากการไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลที่แท้จริงได้ และหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เมื่อมีการสืบค้นไปยังผู้เล่นเกมปรากฏว่ามีการสวมสิทธิของเจ้าของหมายเลขบัตรประชาชนอื่น ทำให้ไม่อาจดำเนินการอย่างใดกับผู้กระทำที่แท้จริงได้
ซึ่งปัญหาทั้งสองประการนี้ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก กระบวนการในการพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของเจ้าของหมายเลขบัตรประชาชน ในกระบวนการจดทะเบียนเพื่อเข้าสู่เกมในครั้งแรก (Register) นั้น เป็นเพียงการจดแจ้งตัวตนของผู้เล่นเกมที่ไม่มีกระบวนการในการตรวจสอบไปยังเจ้าของหมายเลขบัตรที่แท้จริงประกอบกับ การไม่มีการรายงานผลการจดแจ้งดังกล่าวไปยังเจ้าของหมายเลขบัตรที่แท้จริงทำให้ผู้เล่นเกมที่สวมสิทธิอาศัยช่องทางดังกล่าวละเมิดต่อการกำกับดูแลด้านระยะเวลาในการเล่นเกม และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเกมได้
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อให้กระบวนการในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กระบวนการในการตรวจสอบฐานข้อมูลเพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลทั้งในแง่ของเจ้าของหมายเลขบัตรที่แท้จริง และการรายงานผลการเข้าใช้บริการในเกมคอมพิวเตอร์ไปยังเจ้าของหมายเลขบัตรที่ใช้ในการลงทะเบียน จึงเสนอให้กระทรวงการฯ ผลักดัน มาตรการในการติดตามและยืนยันตัวบุคคล ซึ่งหมายถึงกระบวนการในการลงทะเบียนโดยใช้หมายเลขบัตรเดียวสำหรับทุกเกมเพื่อสร้างระบบ ๑ บุคคล ๑ ตัวตนในการเข้าสู่เกม ประกอบกับ กระบวนการในการระบบประเมินสถิติของการเข้าเล่นเกมและรายงานผลไปยังเจ้าของหมายเลขบัตร เพื่อป้องกันกระบวนการในการสวมสิทธิโดยผู้อื่น
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯจัดเวทีเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมแนวคิดและแสวงหาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลและการรายงานผลเชิงสถิติของการเข้าเล่นเกม ในกลุ่มภาคราชการ (กระทรวงมหาดไทย)กลุ่มภาคธุรกิจเกม (รวมทั้งธุรกิจแม่ข่ายเกม หรือ Game Server) ธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ รวมทั้ง เครือข่ายภาคประชาชน
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๗ : การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของสังคมในรูปแบบของเครือข่ายเฝ้าระวัง
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
ทุกวันนี้ โครงสร้างความคิดในการจัดปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเกมคอมพิวเตอร์ วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เด็ก และเยาวชน เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา และเป็นผู้ก่อปัญหา แต่ในทางตรงกันข้าม กระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับมนุษย์ในสังคมไทย ตลอดจนการความเข้มแข็งให้กับประชาสังคมมักไม่ได้รับการเอาใจใส่ในเชิงรูปธรรมอย่างแท้จริง
การสร้างนวัตกรรมใหม่เชิงความคิดที่ผลักดันแนวคิดให้สังคมเป็นเจ้าของเรื่องที่เป็นปัญหา และสนับสนุนกลไกในการแก้ไขปัญหาโดยให้เจ้าของปัญหาหรือเจ้าของเรื่องเป็นส่วนสำคัญของกลไกในการจัดการเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้าง ความเข้มแข็งให้กับสังคม รวมทั้ง ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าเป็นกลไกที่สำคัญในการจัดการต่อปัญหาที่จะเข้ามาเฝ้าระวัง ตรวจตรา กำกับดูแลสังคมโดยสังคม จะช่วยให้ปัญหาได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังโดยประชาชนในพื้นที่ ทั้งยังเป็นการอุดช่องโหว่ของความไม่ต่อเนื่องของการจัดการได้อีกทางหนึ่ง
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาสังคม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดในเรื่องของสังคมเป็นเจ้าของปัญหาร่วมกันและร่วมจัดการปัญหาอย่างเป็นเครือข่ายเอกภาพ จึงเสนอให้กระทรวงฯผลักดันให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวังที่เป็นเอกภาพ โดยเน้นการทำงานของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นหลัก
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯจัดเวทีเชิงปฎิบัติการเพื่อระดมแนวคิดและจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายเข้มแข็งในรูปของเครือข่ายเฝ้าระวัง ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาสังคม ในกลุ่มภาคประชาชน ภาคธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ ร่วมกับ การทำงานด้านเครือข่ายที่มีอยู่ในส่วนต่างๆของภาครัฐ เช่น Cyber Inspector Team ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อสร้างความชัดเจนและเป็นเอกภาพของเครือข่ายเฝ้าระวังความมั่นคงของมนุษย์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะที่ ๘ : การสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับสังคมในรูปแบบกิจกรรมโรงเรียนเคลื่อนที่และการสื่อสารสาธารณะ
--------------------------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดในการพิจารณา
-----------------------------------------
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วันนี้ ปัญหาเกมคอมพิวเตอร์เป็นปรากฏการณ์ที่ปรากฏอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชนและมนุษย์ในสังคมไทยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และบุคคลเหล่านี้ อาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาและประโยชน์จากเกมคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้กลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่บางส่วนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเกมคอมพิวเตอร์
ในขณะที่บุคคลในส่วนต่างๆของสังคมยังคงขาดความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยของเกมคอมพิวเตอร์ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเฝ้าระวังบุตรหลาน หรือ ในกรณีที่ไม่เข้าใจถึงผลกระทบเชิงสร้างสรรค์ที่ได้จากเกมคอมพิวเตอร์ทำให้หลายฝ่ายจำกัดการเล่มเกมของบุตรหลานอย่างสุดโต่ง
แนวทางในการจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ ไม่อาจหลีกเลี่ยงกระบวนการในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มเฉพาะบางกลุ่มที่มีความสนใจเล่มเกมเท่านั้น แต่ต้องมีความหลากหลาย ทั้งมิติของเพศ อายุ การศึกษา วัฒนธรรม และครอบคลุมในทุกพื้นที่ของสังคม
นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการในการสื่อสารความรู้ทั้งในแง่ของการสื่อสารด้านสถานการณ์ การสื่อสารเชิงความรู้ การสื่อสารเชิงกระตุ้นเตือนภัย และการสื่อสารเชิงขับเคลื่อนการจัดการ รวมทั้งการสื่อสารเชิงอ้างอิงให้กับสังคมกลุ่มต่างๆ เป็นกระบวนการที่จะทำให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์และสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อให้เกิดกระบวนการในการเสริมสร้างความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ และสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างครอบครัวและคนในสังคม อันเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาโดยการสร้างรากฐานของภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้กับสังคม จึงเสนอต่อกระทรวงฯในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในรูปแบบของโรงเรียนเคลื่อนที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว กระทรวงยังต้องผลักดันให้เกิดการสื่อสารสาธารณะทั้งในเชิงการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์และการสื่อสารเชิงเตือนภัยเฝ้าระวัง เป็นประจำและต่อเนื่องในประเด็นด้านเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สังคมได้รับรู้สถานการณ์ ความรู้ในการจัดการที่เหมาะสม
------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อตอบสนองต่อ แนวคิดในการจัดการ ต่อท่านรัฐมนตรีฯ
------------------------------------------------------------------------------------------
เสนอให้ทางกระทรวงฯ จัดเวทีเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดสร้างหลักสูตรการให้ความรู้ ความเข้าใจกับสังคมโดยอาศัยองค์ความรู้จากเครือข่ายๆในการทำงานในรูปแบบของโรงเรียนเคลื่อนที่ โดยเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจในมิติต่างๆ เช่น มิติของเทคโนโลยี มิติของของศีลธรรม วัฒนธรรม มิติของความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยลงไปให้ความรู้ ความเข้าใจที่เน้นการในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
นอกจากนั้นแล้ว เสนอให้ทางกระทรวงจัดเวทีวิชาการเพื่อ ระดมแนวคิดและจัดทำพื้นที่ในการสื่อสารสาธารณะด้านความมั่งคงของมนุษย์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ในการสื่อสารในกลุ่มสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อสร้างตัวตนในการสื่อสารที่เป็นเอกภาพ
------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา :: http://www.archanwell.org/autopage/show_pa...id=216&d_id=215
http://www.archanwell.org/autopage/show_pa...&page=2&start=1

หมายเลขบันทึก: 24867เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เชิงอรรถ
[1] อิทธิพล ปรีติประสงค์ / สมา โกมลสิงห์ / พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร , รัฐควรคิดอย่างไรต่อปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ ? โครงการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต กองทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
[2] รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, เกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ : สร้างสรรค์หรือทำลายสังคมไทย ? บทความรายงานสถานการณ์เกมคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสังคมไทย เพื่อประกอบรายงานความก้าวหน้าของแนวทางการประมวลสถานการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับสุขภาพคนไทยในรอบปี ในการประชุมคณะกรรมการชี้แนะทิศทางของโครงการรายงานสุขภาพคนไทยประจำปี ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนส่งเสริมสนับสนุนสุขภาพ ในวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2546 เวลา 9.00 น. – 12.00 น.
[3] โดย นางสาวขวัญใจ สุชาติพงศ์กุล , เกมคอมพิวเตอร์ : สภาพปัญหาในสังคมไทย วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗
[4] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และนายสมา โกมลสิงห์ เกมคอมพิวเตอร์และผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในสังคมไทย วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นบทความวิจัยเพื่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงสถานการณ์หนึ่งอันกระทบต่อสิทธิของเด็กและเยาวชนในสังคมไทยในปัจจุบัน
[5] ตกอยู่ภายใต้ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์(ฉบับที่ ๗)พ.ศ. ๒๕๔๖ และโดยอาศัยอำนาจจากพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการเป็นพาณิชยกิจ พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้การประกอบกิจการ การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์ การให้บริการตู้เพลง เป็นพาณิชยกิจ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙

Ref:: http://www.archanwell.org/autopage/show_pa...id=216&d_id=215
http://www.archanwell.org/autopage/show_pa...&page=2&start=1
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท