ยุทธศาสตร์จัดการ “ทุนปัญญา”


ยุทธศาสตร์จัดการ “ทุนปัญญา”


          ยิ่งได้มีเวลาใคร่ครวญ   ผมก็ยิ่งเห็นคุณค่าของ “ยุทธศาสตร์ทุนปัญญา”   คือการเห็นคุณค่าของทุนปัญญาที่มีอยู่แล้วภายในองค์กร   จะทำอะไรก็คิดถึง “ทุนปัญญา” (intellectual capital) ที่มีอยู่แล้ว  ดำเนินการเสาะหารวบรวมเอามายกย่องและสนับสนุนให้สร้างคุณค่าและมูลค่าแก่องค์กรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป   ซึ่งในกระบวนการนี้   ความดี   คนดี   ผลงาน  ก็จะได้รับการยกย่อง   ปูนบำเหน็จ   และได้รับการส่งเสริม


          ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการจัดการความรู้   เราใช้ยุทธศาสตร์ทุนปัญญาได้เสมอ


          ยกตัวอย่าง   ถ้าองค์กรตัดสินใจว่าจะใช้ CoP เป็นเครื่องมือหลักของการจัดการความรู้   เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่   มีการแบ่งซอยหน่วยงานมาก   มีการทำงานหลากหลายแนว


          ก็สามารถใช้ยุทธศาสตร์ทุนปัญญาในการเริ่ม CoP ได้   โดยตั้งสมมติฐานหรือความเชื่อว่า   ภายในองค์กรมีคนรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือก๊วน   ตามความสนใจเรื่องบางอย่างอยู่แล้ว   เช่นชมรมดนตรีไทย   ชมรมพุทธศาสน์   ชมรมดูนก   กลุ่มพนักงานจัดซื้อ   ชมรมไอที  เป็นต้น   ทีมแกนนำของ KM ในองค์กรจะต้องหาข้อมูลของกลุ่มเหล่านี้อย่างคร่าว ๆ    และมาร่วมกันขบคิดว่าจะมีทางยกระดับคุณค่าและมูลค่า (value) ของกลุ่มเหล่านี้   สำหรับหนุนการบรรลุ “หัวปลา” (เป้าหมายหลัก) ขององค์กรได้อย่างไร 
         
หัวใจคือการมองเห็น “โอกาส” ที่จะใช้ศักยภาพของกลุ่มที่มีอยู่แล้ว     เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มเหล่านี้   คือมองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็น “ทุนปัญญา” ขององค์กร   แม้จะยังไม่ค่อยจะมีพลังนัก   เนื่องจากยังไม่ได้มีการ “จัดการเป้า” ให้พุ่งไปตาม “หัวปลา” ขององค์กร


          ตรงนี้แหละครับที่ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะจัดการอย่างไร   ขึ้นอยู่กับความสามารถในการคิดและจัดการของทีมแกนนำ KM ขององค์กร   ที่จะมองเห็นวิธีชักชวนให้กลุ่มเหล่านั้นขยับหรือปรับวัตถุประสงค์หรือทิศทางอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เข้ามาสอดคล้องกับ “หัวปลา” ขององค์กร   ที่ในภาษาการจัดการเรียกว่าการทำให้เกิด alignment


          เมื่อพอมองเห็นลู่ทาง   ทีม “คุณอำนวย” ก็ไปพูดคุยลองเชิงกับแต่ละกลุ่มว่าแนวคิดดังกล่าวพอเป็นไปได้อย่างไรบ้าง   พอให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มตื่นตัว   แล้วก็ชักชวนกันมาเข้า “ตลาดนัดความรู้เพื่อการสร้าง CoP”   เชิญแกนนำของแต่ละกลุ่ม (กลุ่มละ 4 – 5 คน   เลือกคนที่มีพื้นฐานและความคิดแตกต่างกัน)   มาเข้าตลาดนัดเพื่อผลัดกันเล่าเรื่องความสำเร็จของการรวมตัวในกลุ่มตน   แล้วเกิดผลงานที่ช่วยส่งผลให้การบรรลุ “หัวปลา” ขององค์กรเกิดง่ายขึ้น   โดยมี “คุณลิขิต” คอยสกัด “ขุมความรู้” เพื่อการบรรลุ “หัวปลาย่อย” ของกลุ่มตามโมเดล “ปลาตะเพียน”


          ในตอนท้ายของการประชุม   ผู้เข้าร่วมทุกคนร่วมกันทำ AAR   เพื่อให้ทีม “คุณเอื้อ”,  “คุณอำนวย”,  และ “คุณลิขิต” รวบรวมความเห็นไปดำเนินการส่งเสริมการก่อตั้ง CoP ต่อไป


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   13 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 2484เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2005 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท