ชีวิตที่พอเพียง : 8. ชนส่วนน้อย


ขยันเพราะฉันทะ กับขยันเพราะโลภะ แตกต่างกัน

ชีวิตที่พอเพียง :  8. ชนส่วนน้อย


  • ผมรู้สึกมากว่า ๓๐ ปี ว่าผมชอบมีชีวิตแบบชนส่วนน้อย
  • ชอบเข้าไปทำงานตรงที่คนเขาไม่นิยมเข้าไป    ซึ่งส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะผลประโยชน์ตอบแทนมันน้อย   ดังเช่นการละจากการเป็นหมอรักษาคนไข้ ไปเป็นหมอวิจัย และทำงานในห้องปฏิบัติการ    และการเข้าไปทำงานบริหารโดยไม่แสวงหาผลตอบแทน / ไม่รับผลตอบแทน
  • วิธีคิดของผมก็ไม่เป็นกระแสหลัก    ระดับของความซื่อสัตย์ที่ผมยึดถือลึกๆ ภายในใจที่ไม่บอกใครก็เคร่งครัดกว่าที่ผมเห็นกันทั่วๆ ไป    เช่นการรับค่าตอบแทนจากบริการทดสอบเอกชนเวลาเราส่งคนไข้ไปตรวจ ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่สบายใจ ไม่สะดวกใจที่จะรับ   การรับบริการต้อนรับหรือสนับสนุนการไปประชุมวิชาการต่างประเทศโดยบริษัทยา ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่ยอมรับ    เพราะรู้สึกเหมือนเราร่วมมือกับบริษัทยาสูบเงินจากคนไข้เอามาให้เราลับๆ    ดูมันไม่สง่างาม    เรื่องแบบนี้ยังมีอีกมากมาย จาระไนไม่หมด
  • ผมไม่ชอบการแย่งชิง   ไม่ว่าแย่งชิงอะไร   ตำแหน่งบริหารที่เคยเป็นก็ได้มาเพราะคนเขาเลือกหรือได้รับการสรรหา    ไม่เคยได้มาแบบแย่งชิงได้ชัยชนะ   ไม่เคยหาเสียง   ไม่เคยเอ่ยปากขอการสนับสนุน    ถ้ามีคนมาถามก็จะบอกให้ลงคะแนนให้คนอื่นเพราะเขาดีกว่าเก่งกว่า   
  • ผมคิดว่าตำแหน่งเป็นมงกุฎหนาม   ได้มาก็หนักและต้องรับผิดชอบสูง    แต่ถ้าต้องทำก็เพราะต้องตอบแทนสังคม   ต้องยอมหนักยอมเหนื่อยยอมเจ็บปวดเพื่อทำให้สังคม/หน่วยงานดีขึ้น    ถ้ามีคนอื่นที่เก่งกว่าดีกว่าเรามารับผิดชอบ ก็เป็นบุญของเราที่ได้เป็นอิสระที่จะเลือกทำงานที่เรารักและถนัด
  • การออกจากตำแหน่งของผมจึงออกได้อย่างง่ายดาย   ตอนหนุ่มๆ ลาออกจากตำแหน่งบ่อยเสียจนภรรยาบอกว่าทนอยู่ให้ครบเทอมเสียบ้างเถิด   เดี๋ยวคนเขาจะว่าเป็นคนเปราะ ไม่อดทน
  • ผมมีความคิดมาตั้งแต่หนุ่มๆ ว่าการไม่หวังเอา ไม่หวังเป็น หัดลดละความอยากความต้องการทำให้จิตใจเบาสบาย  
  • แต่ผมก็เป็นคนขยันขันแข็ง ทำงานหนักโดยที่ไม่รู้สึกว่าหนักหรือเหนื่อย    ตอนแรกก็สงสัยว่าเราน่าจะเป็นคนมีกิเลสสูงที่บ้างาน    ตอนหลังจึงรู้ว่าขยันแบบนี้เขาไม่เรียกว่าโลภ   เขาเรียกว่ามีฉันทะ
  • ที่ชอบสุดสุดคือการทำงานทำให้ได้ทดลองวิธีทำงานแปลกๆ ใหม่ๆ   ได้ฝึกฝนตนเอง   ผมบอกตัวเองว่าการได้มีโอกาสทำงานในหน้าที่ที่ผมเคยทำมาเป็นโอกาสที่น้อยคนนักจะได้    ถือเป็นกำไรชีวิต    มีเงินร้อยล้านพันล้านก็ซื้อไม่ได้
  • ผมเสียเงินซื้อหนังสือไม่น้อย    ใหม่ๆ ภรรยาบ่นมากเพราะตอนนั้นเรารายได้น้อย    ตอนหลังๆ รายได้ดีขึ้นผมเสียเงินซื้อกล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ พีดีเอ ไม่น้อย  ตอนแรกก็อธิบายได้ไม่ชัด    แต่ตอนนี้ผมอธิบายว่าเป็นการลงทุนเพื่อการเรียนรู้    ผมใช้สิ่งเหล่านี้ช่วยในการเรียนรู้ตลอดชีวิต    เป็นคำอธิบายที่โอ่เกินไปหรือเข้าข้างตัวเองเกินไปหรือไม่ ก็ไม่ทราบ
  • ชีวิตที่พอเพียงต้องเป็นชีวิตที่เรียนรู้   ต้องตามโลกทัน   ต้องรู้เท่าทันโลก   เพื่อจะได้พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่   ไม่ถูกโลกทุนนิยม วัตถุนิยมชักจูง   เพื่อจะได้มีความสมดุลระหว่างการใช้จ่ายกับการมีรายได้   และเบียดเบียนผู้อื่นให้น้อยที่สุด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

  • วิจารณ์ พานิช
    ๑๖ เมย. ๔๙
หมายเลขบันทึก: 24825เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอเรียนอาจารย์ว่า คงมีคนไม่น้อยที่คิดและเป็นแบบอาจารย์ (ตัวเองด้วย) แต่พวกเรามักจะไม่ "สามารถ" ขนาดอาจารย์ ที่จะพิสูจน์วิถีทางดำเนินชีวิตแบบนี้ ในช่วงชีวิตระยะเดียวกับที่อาจารย์ได้พิสูจน์ให้เห็นจากการกระทำมาแล้ว ว่า"อยู่ได้ และ สง่างาม" แล้วมาเล่าต่อให้เป็นกำลังใจกับผู้อื่น

ปิติและรู้สึกภูมิใจในตัวเองเมื่อได้อ่านบันทึกชุดนี้ของอาจารย์ค่ะ รู้สึกว่าเราเดินตามรอยคนที่น่าเคารพนับถือโดยไม่รู้ตัว และเห็นตัวอย่างแล้วว่า คนแบบนี้อยู่ได้ เป็นแบบอย่างได้ในสังคม ถึงแม้ตัวเองคงจะทำได้สัก 1 ในล้านของอาจารย์ก็จะไม่เปลี่ยนแนวแล้วค่ะ

   ขอบพระคุณท่านอาจารย์เฉยๆไม่ได้แล้วสำหรับบันทึกตอนนี้ ขอใช้ "กราบขอบพระคุณ" แทนคำเดิมครับ  และกล่าวแทนความรู้สึกของอีกหลายๆคนที่มาอ่านแต่ไม่ได้แสดงทัศนะอะไรไว้ที่ตรงนี้ .. เป็นบันทึกที่โดนใจมาก  และเป็นเครื่องนำทางให้หลายๆคนได้คิดว่าแก่นสารสาระของการมีชีวิตอยู่นั้น ควรจะเป็นอะไร  อันไหนเป็นของจริง  ของปลอม หรือจอมหลอกลวง .. ผมเองแม้จะทำได้ไม่สมบูรณ์เท่า  ด้วยมีข้อจำกัดเรื่องสติ-ปัญญา และโอกาส  แต่กล่าวด้วยความมั่นใจว่ายึดถือแนวทางการเป็นชน "กลุ่มน้อย" แบบท่านอาจารย์มาโดยตลอด 
    ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่มิใช่เป็นการอวดอ้างใดๆ  มีตัวอย่างเล็กๆ ดังนี้ครับ ..

  • ผมปฏิเสธไม่รับมรดกใดๆจากพ่อแม่ ยกให้พี่ๆเขาทั้งหมดเพราะผมได้เรียนหนังสือ  ตอนนี้หลานๆก็สบายกัน เราก็อิ่มใจ
  • ได้รับคัดเลือกเรียนต่อปริญญาตรีเป็นอันดับที่หนึ่งของรุ่นเพราะได้เกรดวิชาเอกสูงสุด เกือบ 4.00 แต่ตอนเรียนปี 3
    ผมแจ้งกับพี่ชายว่าไม่เอาแล้ว เกียรตินิยม ขอใช้เวลาเรียนรู้จากงานกิจกรรมที่ชอบ  ผมจึงจบปริญญาตรีด้วยเกรด 2.88 แต่ไม่เสียใจเลย  เพราะได้อะไรที่ดีกว่านั้นมาก
  • ผมเป็น รองหัวหน้าคณะ และ รองคณบดี 3-4 สมัย แต่ผมไม่เคยไปสมัครหรือร้องขอ  ทุกครั้งเขาขอให้ไปช่วยก็ยินดีช่วย ถึงเวลาต้องออกตามวาระก็สบายใจดี  ไม่เห็นมีอะไร
  • บรรณาธิการอาวุโส มติชนเคยเขียนยกย่องผมเป็น
    "เพชรดีที่จันทรเกษม" โดยเราไม่ได้ส่งเรื่องราวไปเลย ท่านไปพบเห็นเอง  และผมก็รู้สึก "เช่นนั้นเอง" กับเรื่องนี้
  • รางวัล "ครูดีศรีจันทรเกษม" ผมก็ได้มาแบบไม่ได้สมัคร เขาแอบทำกันเองไม่ให้ผมรู้ เพราะกลัวผมปฏิเสธ  ขนาดรูป เจ้าหน้าที่ยังต้องไปแกะจากบอร์ดประชาสัมพันธ์เลย พอรู้ว่าได้ ผมรำพึงในใจว่า "ทุกขลาภ" และ "เช่นนั้นเอง"
  • ผมเคยเป็นตัวแทนคณาจารย์ในบอร์ดของสถาบัน 2 สมัยโดยการสมัครและไม่หาเสียงเลย ไม่ว่าด้วยวาจาหรือเอกสาร  ครั้งที่ 3 ที่เขาหาเสียงกันหนักหน่วง ผมก็ยังทำแบบเดิม ผลคือไม่ได้รับเลือก  แล้วผมก็ไม่เคยสมัครอีกเลย
  • อดีตอธิการบดีเคยบอกในที่ประชุมว่าผมน่าจะสมัครรับทุนMonbusho ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น  ผมอ่านดูเงื่อนไขแล้วคิดว่า คนเหมาะที่จะไปน่าจะไม่ใช่ผม จึงไม่สมัคร  จนวันสุดท้าย  ทางกรมฯโทรเลขถึงอธิการว่าให้แจ้งให้ผมไปสมัครด่วน ก็ไปสมัครหลังกำหนด 1 วันเพราะเตรียมหลักฐานไม่ทัน  จากผู้สมัครนับร้อย จาก ทั้ง 36 สถาบัน ผมได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 2 คน ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น 18 เดือน  ทราบภายหลังว่าคนที่ลุ้นอยากให้ผมไปชื่อ "อาจารย์วีระ" ซึ่งผมได้แต่ขอบคุณอยู่ในใจเพราะไม่ได้รู้จักตัวท่านเลยจนบัดนี้ 
  • สมัยเรียน ผมทำงานและกิจกรรมหลายอย่างมาก .. ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท .. รับจ้างซ่อมวิทยุตามร้าน .. เป็น Lab boy ทั้ง ชีวะ  เคมี  ฟิสิกส์  เป็นนักร้องในวงดนตรีสถาบัน เล่นละครหาเงินช่วยมหาวิทยาลัย  เป็นประธานชมรมโสตฯ ศึกษาการล้าง-อัด-ขยายรูปด้วยตนเองแล้วสอนน้องๆ  ช่วยกันถ่ายภาพทำ สคส.ขายหาเงินช่วยสถาบัน .. เป็นประชาสัมพันธ์องค์การนักศึกษา .. เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล .. นั่นคือแหล่งเรียนรู้ของผม
  • ไม่เคยส่งผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการเลย จนบัดนี้ เพราะใจมันยังต้านอยู่ ทั้งๆที่อดีตอธิการบดีบางท่านพูดซ้ำหลายครั้งว่า "ของคุณมันเกิน รศ.แล้ว" .. (อันนี้ดูจะไม่เข้าท่า  เพราะยังอยากรอดูว่าการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการอย่างสง่างามน่าจะมีมากกว่าเพียงวิธีที่ทำๆกันอยู่)
  • ฯลฯ

        ขอปวารณาตัวว่าจะเดินตามแนวทางนี้ร่วมกับท่านอาจารย์ตลอดไปครับ.

 

   ขอบพระคุณท่านอาจารย์เฉยๆไม่ได้แล้วสำหรับบันทึกตอนนี้ ขอใช้ "กราบขอบพระคุณ" แทนคำเดิมครับ  และกล่าวแทนความรู้สึกของอีกหลายๆคนที่มาอ่านแต่ไม่ได้แสดงทัศนะอะไรไว้ที่ตรงนี้ .. เป็นบันทึกที่โดนใจมาก  และเป็นเครื่องนำทางให้หลายๆคนได้คิดว่าแก่นสารสาระของการมีชีวิตอยู่นั้น ควรจะเป็นอะไร  อันไหนเป็นของจริง  ของปลอม หรือจอมหลอกลวง .. ผมเองแม้จะทำได้ไม่สมบูรณ์เท่า  ด้วยมีข้อจำกัดเรื่องสติ-ปัญญา และโอกาส  แต่กล่าวด้วยความมั่นใจว่ายึดถือแนวทางการเป็นชน "กลุ่มน้อย" แบบท่านอาจารย์มาโดยตลอด 
    ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่มิใช่เป็นการอวดอ้างใดๆ  มีตัวอย่างเล็กๆ ดังนี้ครับ ..

  • ผมปฏิเสธไม่รับมรดกใดๆจากพ่อแม่ ยกให้พี่ๆเขาทั้งหมดเพราะผมได้เรียนหนังสือ  ตอนนี้หลานๆก็สบายกัน เราก็อิ่มใจ
  • ได้รับคัดเลือกเรียนต่อปริญญาตรีเป็นอันดับที่หนึ่งของรุ่นเพราะได้เกรดวิชาเอกสูงสุด เกือบ 4.00 แต่ตอนเรียนปี 3
    ผมแจ้งกับพี่ชายว่าไม่เอาแล้ว เกียรตินิยม ขอใช้เวลาเรียนรู้จากงานกิจกรรมที่ชอบ  ผมจึงจบปริญญาตรีด้วยเกรด 2.88 แต่ไม่เสียใจเลย  เพราะได้อะไรที่ดีกว่านั้นมาก
  • ผมเป็น รองหัวหน้าคณะ และ รองคณบดี 3-4 สมัย แต่ผมไม่เคยไปสมัครหรือร้องขอ  ทุกครั้งเขาขอให้ไปช่วยก็ยินดีช่วย ถึงเวลาต้องออกตามวาระก็สบายใจดี  ไม่เห็นมีอะไร
  • บรรณาธิการอาวุโส มติชนเคยเขียนยกย่องผมเป็น
    "เพชรดีที่จันทรเกษม" โดยเราไม่ได้ส่งเรื่องราวไปเลย ท่านไปพบเห็นเอง  และผมก็รู้สึก "เช่นนั้นเอง" กับเรื่องนี้
  • รางวัล "ครูดีศรีจันทรเกษม" ผมก็ได้มาแบบไม่ได้สมัคร เขาแอบทำกันเองไม่ให้ผมรู้ เพราะกลัวผมปฏิเสธ  ขนาดรูป เจ้าหน้าที่ยังต้องไปแกะจากบอร์ดประชาสัมพันธ์เลย พอรู้ว่าได้ ผมรำพึงในใจว่า "ทุกขลาภ" และ "เช่นนั้นเอง"
  • ผมเคยเป็นตัวแทนคณาจารย์ในบอร์ดของสถาบัน 2 สมัยโดยการสมัครและไม่หาเสียงเลย ไม่ว่าด้วยวาจาหรือเอกสาร  ครั้งที่ 3 ที่เขาหาเสียงกันหนักหน่วง ผมก็ยังทำแบบเดิม ผลคือไม่ได้รับเลือก  แล้วผมก็ไม่เคยสมัครอีกเลย
  • อดีตอธิการบดีเคยบอกในที่ประชุมว่าผมน่าจะสมัครรับทุนMonbusho ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น  ผมอ่านดูเงื่อนไขแล้วคิดว่า คนเหมาะที่จะไปน่าจะไม่ใช่ผม จึงไม่สมัคร  จนวันสุดท้าย  ทางกรมฯโทรเลขถึงอธิการว่าให้แจ้งให้ผมไปสมัครด่วน ก็ไปสมัครหลังกำหนด 1 วันเพราะเตรียมหลักฐานไม่ทัน  จากผู้สมัครนับร้อย จาก ทั้ง 36 สถาบัน ผมได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 2 คน ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น 18 เดือน  ทราบภายหลังว่าคนที่ลุ้นอยากให้ผมไปชื่อ "อาจารย์วีระ" ซึ่งผมได้แต่ขอบคุณอยู่ในใจเพราะไม่ได้รู้จักตัวท่านเลยจนบัดนี้ 
  • สมัยเรียน ผมทำงานและกิจกรรมหลายอย่างมาก .. ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท .. รับจ้างซ่อมวิทยุตามร้าน .. เป็น Lab boy ทั้ง ชีวะ  เคมี  ฟิสิกส์  เป็นนักร้องในวงดนตรีสถาบัน เล่นละครหาเงินช่วยมหาวิทยาลัย  เป็นประธานชมรมโสตฯ ศึกษาการล้าง-อัด-ขยายรูปด้วยตนเองแล้วสอนน้องๆ  ช่วยกันถ่ายภาพทำ สคส.ขายหาเงินช่วยสถาบัน .. เป็นประชาสัมพันธ์องค์การนักศึกษา .. เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล .. นั่นคือแหล่งเรียนรู้ของผม
  • ไม่เคยส่งผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการเลย จนบัดนี้ เพราะใจมันยังต้านอยู่ ทั้งๆที่อดีตอธิการบดีบางท่านพูดซ้ำหลายครั้งว่า "ของคุณมันเกิน รศ.แล้ว" .. (อันนี้ดูจะไม่เข้าท่า  เพราะยังอยากรอดูว่าการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการอย่างสง่างามน่าจะมีมากกว่าเพียงวิธีที่ทำๆกันอยู่)
  • ฯลฯ

        ขอปวารณาตัวว่าจะเดินตามแนวทางนี้ร่วมกับท่านอาจารย์ตลอดไปครับ.

 

    กราบขออภัยครับ Click ซ้ำโดยบังเอิญ จึงโผล่ 2 รอบ

ตามมาอ่านจากบันทึกของ อ. Handy อ่านแล้วโดนมาก โยเฉพาะข้าสุดท้าย
"ชีวิตที่พอเพียงต้องเป็นชีวิตที่เรียนรู้   ต้องตามโลกทัน   ต้องรู้เท่าทันโลก   เพื่อจะได้พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่   ไม่ถูกโลกทุนนิยม วัตถุนิยมชักจูง   เพื่อจะได้มีความสมดุลระหว่างการใช้จ่ายกับการมีรายได้   และเบียดเบียนผู้อื่นให้น้อยที่สุด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม"
หรือว่าผมจะเป็นชนส่วนน้อย  อีกคนก็ไม่ทราบ
ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิดดี ๆ ของอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท