ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง


พระราชดำรัส “ใครว่าเราเชยก็ช่างเขา ขอให้เราพออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน”

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

 

  

พระราชดำรัส                  ใครว่าเราเชยก็ช่างเขา  ขอให้เราพออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน

เชย                    =       ไม่โมเดิร์น

พออยู่พอกิน         =       พอเพียง  ไม่จนกันทั่วหน้า

โมเดิร์น     หมายถึง  เศรษฐกิจกระแสหลักที่สร้างความร่ำรวย

เศรษฐกิจพอเพียง  จึงเป็นทั้ง

๑)    แนวทาง  ที่ไม่ใช่แนวทางสร้างความร่ำรวย  แต่เป็นแนวทางแห่งความพอเพียง  หรือแนวทางขจัดความยากจน

๒)    บอกสภาพว่าหายจนกันทั่วหน้า  พออยู่พอกิน

๓)    ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมันเท่านั้น แต่เป็นสังคมที่มีไมตรีจิตต่อกันด้วย

 

เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่หลากหลายและไม่ชัดเจน ถึงความหมายและหลักแนวคิดที่แท้จริงของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้จัดทำหนังสือเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะอธิบายความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งกรอบแนวคิดของหลักปรัชญาฯ ที่มุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา อันมีคุณลักษณะ ที่สำคัญ คือ สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ตลอดจนได้อธิบายคำนิยามของความพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม

ลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีความพอเพียง ๕ ดังนี้

         

(๑)  เศรษฐกิจพอเพียง

หายจน  พออยู่พอกินถ้วนหน้า

 

(๒)  สังคมพอเพียง

คิดถึงการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน มีไมตรีจิตต่อกัน เป็นสังคม รู้รักสามัคคี ไม่เบียดเบียนและทำร้ายกัน

(๓) ทรัพยากรธรรมชาติพอเพียง

อนุรักษ์และเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติ มีการใช้อย่างเป็นธรรม และยั่งยืน

 

(๔) มีปัญญาพอเพียง

ไม่โลภ มีไมตรีจิต พึ่งตนเอง  วิริยะ  อนุรักษ์ทรัพยากร

 

(๕) มีระบบการศึกษาที่สร้างปัญญาพอเพียง (มหาวิชชา) อย่างต่อเนื่อง

ต้องมีระบบการศึกษาที่ป้องกันคนกลับไปตกอยู่ในโมหภูมิอีก การมีแค่มหาวิทยาลัยสอนความรู้ไม่พอ  แต่ต้องเป็นมหาวิชชาที่นำคนออกจากโมหภูมิ

 

          ลักษณะสังคม ๕ ประการ หรือ เบญจลักษณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นสังคมที่ขจัดความยากจน และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีพระมหาชนกจึงสามารถนำมาเป็นหลักในการทำยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

 

๑.                ตัวทำลายเศรษฐกิจพอเพียง

ตัวทำลายเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทุนนิยมข้ามชาติที่อาศัยโลภจริตเป็นตัวขับเคลื่อนและใช้อำนาจและเครื่องมือไปบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ เปิดเสรีให้ทุนขนาดใหญ่เข้าไปทำการได้อย่างเสรี ก่อให้เกิดการทำลายเบญจลักษณ์ที่ กล่าวถึงข้างต้น กล่าวคือ

 

(๑)   ทำลายเศรษฐกิจพอเพียง

ช่องว่างทางเศรษฐกิจถ่างกว้างมากขึ้นๆ

 

(๒)  ทำลายสังคมพอเพียง

สังคมแตกสานซ่านเซ็น  ตัวใครตัวมัน ทำร้ายแย่งชิงกัน

 

(๓)  ทำลายทรัพยากรพอเพียง

ทำลายทรัพยากรเพื่อเปลี่ยนไปเป็นเงิน  จะได้ดูดได้ง่าย ๆ

 

(๔)  ทำลายปัญญาพอเพียง

ทำให้เกิดความโลภ แย่งชิงกันหวังพึ่งพิงต่างชาติ  ไม่ใช้ความเพียร  อันบริสุทธิ์  หวังรวยทางรัด

(๕) มีระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้คนทั้งปวงตกอยู่ในโมหภูมิ

เพราะไปลอกวิถีคิดเขามา

 

ระบบทุนนิยมข้ามชาติจึงทำลายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรุนแรง  ฉะนั้นในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงต้องพยายามป้องกันผลร้ายจากเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติ และพยายามปรับให้เป็นทุนนิยมชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ   พอเพียง

 

๒.                แนวทางขจัดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(๑)   ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงให้เต็มพื้นที่

(๒)  จำกัดและลดการทำลายจากเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติและปรับมาสู่ทุนนิยมชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง

             

                                                

                                          

 

ปฏิรูปการศึกษากับ๘ คุณธรรมพื้นฐานที่ควรปลูกฝัง



ด้วยภาวะวิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน หนทางที่จะผ่อนคลายคนไทยทุกคนก็ควรหันหน้าเข้าหากัน ร่วมคิด ร่วมแรง ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ทุกฝ่ายยอมลดเป้าหมายเพื่อพบกันครึ่งทาง เพื่อความอยู่รอด ปลอดภัย ความเจริญของประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จะด้วยวิธีใดก็ตามสิ่งสำคัญต้องอยู่บนรากฐานของคุณธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามควรแก่การประพฤติปฏิบัติ การพัฒนาบุคคลโดยใช้คุณธรรมนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคนในชาติให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยกาย วาจา ใจ การศึกษาก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา การพัฒนาการเมืองก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา สังคมกำลังเสื่อมโทรม ก็ต้องหันไปพึ่งการศึกษา การพัฒนาการศึกษาจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาประเทศ


ในการนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา โดยยึดคุณธรรมนำความรู้สร้างความตระหนักสำนึกในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี วิถีประชาธิปไตยพัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุขโดย ๘ คุณธรรมพื้นฐานประกอบด้วย


๑. ขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งานมีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง


๒. ประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ รู้จักทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ของตนเองอยู่เสมอ


๓. ซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกสำเอียง หรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง


๔. มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผนข้อบังคับและข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคม


๕. สุภาพ คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ มีสัมมาคารวะ เรียบร้อยไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทางเป็นผู้มีมารยาทดีงามวางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย


๖. สะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจและสภาพแวดล้อมมีความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น


๗. สามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุมีผล ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์


๘. มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอก เห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อมนุษย์และผู้ที่มีความเดียดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกายและสติปัญญาลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน


จากนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา ๘ คุณธรรมพื้นฐานข้างต้น สถาบันการศึกษาจึงควรเร่งรัดนำไปปลูกฝังคุณธรรมพัฒนา ให้กับเยาวชนของชาติ เพื่อให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข ก้าวสู่สังคมคุณธรรมนำความรู้ โดยขอความร่วมมือจากสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการประสบความสำเร็จสามารถนำไปสู่การปฏิบัติยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นทุกฝ่ายจะต้องมีความตั้งใจ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชน พ่อแม่ต้องดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด ครูต้องมีจิตสำนึกและวิญญาณของความเป็นครูเพิ่มขึ้น ภาครัฐและเอกชน องค์การศาสนา และสื่อมวลชน ต้องตื่นตัว กระตือรือร้น และผนึกกำลังเพื่อการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคงอย่างน้อยที่สุดทุกคนควรทำงานให้เต็มกำลัง เต็มความสามารถ และเต็มเวลาด้วย ๘ คุณธรรมพื้นฐานคือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจหากเกิดขึ้นกับครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน สถาบัน ตลอดจนประเทศใดแล้ว โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นก็จะพ้นวิกฤติทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม พัฒนาชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นสังคมคุณธรรมนำความรู้ ชีวิตของคนในชาติ คงจะดีกว่าเดิมสังคมไทยจะสงบสุขกว่านี้ ประเทศไทยก็คงเป็นไทยอยู่ตลอดไป มีการพัฒนาอย่างรุดหน้าไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลกนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน



อ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ, กรมวิชาการ. (2543). การปฏิรูปการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2550). ๘ คุณธรรมพื้นฐาน. (โปสเตอร์).

วิชัย ตันศิริ. (2549). อุดมการณ์ทางการศึกษา ทฤษฎีและภาคปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุพล ทิมอ่ำ. (ม.ป.ป.). การประชุมเชิงปฏิบัติการการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : บริษัทอักษรเจริญทัศน์.


ค้นคว้าเพิ่มเติม

กระทรวงศึกษาธิการ
http://www.moe.go.th/

นโยบายรัฐบาล
http://www.onec.go.th/policy/policy_g.htm

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
http://www.obec.go.th./index.htm

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
http://www.onec.go.th

หน้าที่ 2 - วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
ปฏิรูปการศึกษากับ ๘ คุณธรรมพื้นฐานที่ควรปลูกฝัง

วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมี พระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ชนชาวไทยโรงเรียนวรคุณอุปถัมภ์ทุกคนกลับมามอง คิดวางแผนการใช้ชีวิต ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ในสังคมและได้แบ่งปันเอื้อเฟื้อกันมากขึ้น และที่สำคัญได้เรียนวิธีการปลูกพืชจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้นในปี ๒๕๕๐ โรงเรียนมีโครงการที่จะขยายหลักปรัชญาแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ไปสู่นักเรียนและชุมชนโดยให้นักเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อดำเนินการแล้วจะมีการคัดเลือกตัวแทนครอบครัวที่เป็นตัวอย่างมอบเกียรติบัตร เพื่อเป็นการทำความดีถวายพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสแห่งปีมหามงคลและเพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศรอดพื้นจากภาวะวิกฤติที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ จากสภาพดังกล่าวโรงเรียนวรคุณอุปถัมถ์จึงมีความสนใจที่จะนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างความตระหนักโดยปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้และองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่นักเรียนและชุมชน ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ นำผลดำเนินการการไปศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ร่วมกับนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ในการนำแบบอย่างและองค์ความรู้ที่จะดำเนินวิถีชีวิต โดยกระบวนการเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง


“ขอให้ทุกคนมีความปรารถนา ที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกินมีความสงบ และทำงาน ตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอกิน ไม่ใช่ว่า จะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่มีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ฉะนั้น ถ้าทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวม ให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่า อยู่ตลอดกาล”

พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

“เพราะความพอเพียงหมายถึง การที่มีความพอ คือ มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดนี้ คนเราก็อาจจะเป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีความหรูหราได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔

 

หลักการ แนวคิด ของเศรษฐกิจพอเพียง



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ซึ่งต่อมาได้มีการนำแนวความคิดไปปฏิบัติกันหลายหน่วยงาน แต่คนส่วนมากมักเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งแท้จริงผู้ประกอบอาชีพอื่น ก็สามารถน้อมนำแนวพระราชดำรัสไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งสิ้น หลักสำคัญคือ ปรัชญา ๓ ห่วง 2 เงื่อนไข ประกอบด้วย หลัก ๓ ห่วง คือ ๑.)ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ๒.) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียงนั้น ๆ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น อย่างรอบคอบ ๓.) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ กับ หลัก ๒ เงื่อนไข คือ ๑.) ความรู้ ประกอบด้วยความรอบรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) ๒.) คุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน ) "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ ในด้านการศึกษา ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ยึดทางสายกลางที่อยู่บนพื้นฐาน ของความสมดุล พอดีพอประมาณอย่างมีเหตุผล มีความรอบรู้เท่าทันโลก เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนไทยเพื่อมุ่งให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย” (แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕- ๒๕๕๙) ด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภาพนอกได้เป็นอย่างดี (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙) และต่อเนื่องถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔) มีแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นแนวทางปฏิบัติควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวม “ที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” เพื่อการพัฒนาและบริหารประเทศเป็นไปในทางสายกลาง บนพื้นฐานดุลยภาพเชิงพลวัตของการเชื่อมโยงทุกมิติของการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งมิติตัวคน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง โดยมีการวิเคราะห์ “มีเหตุผล” และใช้หลัก “ความพอประมาณ” ให้เกิดความสมดุลระหว่างมิติทางด้านวัตถุกับจิตใจของคนในชาติ ความสมดุลระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง โดยมีการเตรียม “ระบบภูมิคุ้มกั

หมายเลขบันทึก: 248183เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2009 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ..เข้ามาทักทายชาวนครศรีค่ะ..ครูบันเทิงเคยอยู่เมืองคอน มา 8 ปี  คิดถึงค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท