การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีต


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Summary executive)

รายงานผลการใช้นวัตกรรมการสอนเรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีต

กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี 

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ของ

นายประเสริฐ  เชื้อสวย

ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ

โรงเรียนบ้านเขาดิน  จังหวัดลพบุรี

 

ประเทศไทยซึ่งได้พัฒนาประเทศตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ก่อให้เกิดกระแสบริโภค นิยม ที่คนมุ่งแต่จะแสวงหาความสุขด้วยเงินทอง ความร่ำรวย ความมั่งมีศรีสุขเป็นหลักใหญ่  วิถีชีวิตแบบพอเพียงที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานได้ถูกกระแสบริโภคนิยมทำลายลง เกษตรกรส่วนใหญ่ทำลายผืนดินของบรรพบุรุษด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว หวังเพียงเงินทองที่เข้ามาในระยะสั้นๆ  ผลสุดท้ายสิ่งที่เหลืออยู่ กลับเป็นเพียงผืนดินว่างเปล่าปลูกพืชไม่งอกงามเหมือนเช่นในอดีต เพราะผืนดินได้สูญเสียคุณสมบัติของดินที่อุดมสมบูรณ์จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปแล้ว

เกษตรประณีตเป็นความพยายามของปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานที่ทำเกษตรผสมผสานมานานปี  จากเล็กไปหาใหญ่  จากง่ายไปหายาก  บนรากฐานการพึ่งตนเองถึงความพอดี พอประมาณ ตามศักยภาพไม่โลภมาก รู้จักการใช้เหตุผลในการใช้จ่ายทำให้มีเงินเหลือ และรู้จักการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออม ทำให้มีอยู่มีกิน เหลือกินได้แจก ทำให้มีเพื่อน เหลือแจกได้ขาย ทำให้มีเงินจนกลายเป็นคนมีอยู่มีกิน มีเพื่อนมีกิน กินอาหารปลอดสารเคมี จึงมีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจแจ่มใส สามีภรรยาอยู่ด้วยกันทำงานด้วยกัน ลูกหลานอยู่ใกล้ ญาติสนิทมิตรสหายมากมาย ทำให้สุขภาพทางสังคมดีไปด้วย

ผู้วิจัยมีหน้าที่สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านเขาดิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 148 คน  ครู จำนวน 9  คน

ผู้วิจัยเห็นว่า การที่จะปลูกฝังปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนนั้น ควรกำหนด ลงไปในแผนการจัดการเรียนรู้  จากการศึกษาของทัศนีย์ ทองอยู่ (2542) ซึ่งศึกษาพัฒนาแผนการจัด การเรียนรู้ กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ตามความต้องการของชุมชน  การศึกษาชิ้นนี้พบว่า เนื้อหาการเรียนรู้ที่ชุมชนต้องการ 3 ลำดับแรกคือ งานเกษตร งานช่าง และงานอาชีพอื่นๆ  นอกจากนั้นแล้ว ประภัสสร  เตชะประเสริฐวิทยา ชัยชาญ วงศ์สามัญ และนิวัฒน์ มาศวรรณา (2549) ซึ่งศึกษากระบวนการปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนการสอนกลุ่ม สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีงานเกษตร ในระดับช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6  ผลการศึกษาพบว่า กิจกรรมการเกษตรที่มีการดำเนินการกันมากที่สุดในโรงเรียน 3 ลำดับคือ การปลูกผัก การเลี้ยงปลา และการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะเนื้อหาวิชาเกษตรที่มีการเรียนการสอนกันในโรงเรียนมากที่สุด 6 ระดับคือ การปลูกผัก การใช้เครื่องมือทางการเกษตร ความปลอดภัยในการทำงาน การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการเกษตรแบบผสมผสาน  ดังนั้น ผู้วิจัยจึงจะนำเกษตรประณีตเข้าไปผสมผสานกับการปลูกพืชผักสวนครัว จึงกลายเป็นเนื้อหาหลักสูตรการปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีตขึ้น

อย่างไรก็ดี  ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของแผนการจัดการเรียนรู้นั้น จะต้องจัดให้สอดคล้องกับเนื้อหาหลักสูตร ผู้วิจัยจึงจัดทำเป็นกิจกรรมการเรียนแบบโครงงานทดลอง ซึ่งจะเน้นการใช้ทักษะของกระบวนการกลุ่มของนักเรียนอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ มี 3 ประการ ดังนี้

1) เพื่อสร้างแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีต กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80

2)  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยแผนการจัดการเรียนรู้จากแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีตที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น

3) เพื่อวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการสอนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีต กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5

ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านเขาดิน จำนวน 24 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล มี 4 ประเภท คือ

1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรประณีต 

2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 

3) แบบประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงานระหว่างเรียน และ

4) แบบวัดความพึงพอใจ

การเก็บรวบรวมข้อมูลจะให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนการเรียนการสอนตามแผนการเรียนรู้ ในระหว่างเรียนผู้วิจัยจะประเมินทักษะกระบวนการการทำโครงงานของนักเรียน เมื่อเรียนจบแต่ละแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนจะทำแบบทดสอบหลังเรียน  และเมื่อเรียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 11 แผน แล้ว จึงให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชุดเดิมอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบวัดความพึงพอใจในการสอนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว

ผลของการวิจัยมีดังนี้

ในการวิจัยครั้งนี้ คะแนนระหว่างเรียนมี 3 ประเภท คือ คะแนนการปฏิบัติงาน และ คะแนนกระบวนการกลุ่มซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้ประเมินในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเรียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 11 แผน  และคะแนนประเภทสุดท้ายคือ คะแนนแบบทดสอบหลังเรียน  คะแนนของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 11 แผนดังกล่าวคิดเป็นอัตราร้อยละได้ดังนี้ ดังนี้คือ 82.23, 86.44, 86.52, 83.77, 83.88, 84.30, 84.36, 83.90, 86.36, 81.69 และ 85.71 ตามลำดับ โดยร้อยละของคะแนนรวมทั้งหมด = 84.47 นั่นก็แสดงว่า คะแนนตัวแรกของมาตรฐานเท่ากับร้อยละ 84.47 

ข้อสอบของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมี 40 ข้อ กำหนดให้คะแนนข้อละ 1 คะแนน ดังนั้น คะแนนเต็มของข้อสอบทั้งฉบับจึงเท่ากับ 40 คะแนน  กลุ่มตัวอย่างมี 24 คน  ดังนั้น คะแนนเต็มทั้งหมดจึงเท่ากับ 960 คะแนน  กลุ่มตัวอย่างทำข้อสอบได้ 839 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 87.40 โดยมีค่าเฉลี่ย 35.00 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.40  อัตราร้อยละ 87.40 คือ คะแนนตัวหลังของมาตรฐาน 80/80 

โดยสรุป แผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตประณีต กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในการศึกษาครั้งนี้จึงเท่ากับ 84.47/87.40 สูงกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้

สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนของกลุ่มทดลองเท่ากับ 23.96 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.515 คะแนน  คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 34.96 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 2.404 คะแนน  จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลองแตกต่างจากคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ในส่วนสุดท้ายคือ การวัดความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการสอนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตประณีต กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 นั้น ค่าระดับความพึงพอใจ 5 ระดับคือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ผลการวัดความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมากมากที่สุด โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.51 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  0.28 คะแนน

หมายเลขบันทึก: 247832เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2009 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นรายงานที่น่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่เห็นแต่เกษตรพอเพียงหรือเกษตรอินทรีย์ พึ่งจะเห็นว่ามีเกษตรประณีต ตอนนี้กำลังทำผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ อยากจะเห็นตัวอย่างนวัตกรรม ไม่ทราบพอจะอนุเคราะห์ได้ไหมคะ

ยินดี  แต่ผลงานยังไม่ทราบผลเลย  เป็นการรายงานที่นักเรียนปฏิบัติจริง จำนวน 5 รุ่น

ซึ่งโรงเรียนมีพื้นที่น้อย และก็พื้นที่เป็นหินเป็นส่วนใหญ่  จึงต้องใช้วิธีเกษตรประณีต  และก็ได้ผลดี ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงไม่ค่อยมีใครรู้จักวิธีการนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท