เรียนรู้ Peer assist โดยไม่ได้ตั้งใจ


พอได้หัวข้อที่ต้องบรรยาย ก็สะอึกนิดหนึ่ง เพราะเราไม่ได้ทำ Peer assist แบบเครือข่าย

เมื่อสัปดาห์ก่อน พี่จุด มาคุยด้วย เพื่อให้ไปช่วยบรรยาย KM ในการประชุมครั้งที่ 3 (4 พค 49) ของเครือข่าย discharge planning ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง 3 รพ. (รพ.มอ. รพ.สงขลา และ รพ.ศูนย์หาดใหญ่)  วันนั้น ก็คุยกันถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ คร่าวๆ แล้วก็ตกลงจะช่วยพี่จุด แต่มีเงื่อนไขว่า จะไม่พูดคนเดียว จะทำเป็นทีม คือมี พี่เม่ย และคุณโอ๋ ด้วย พี่จุดก็ OK

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พี่จุดก็ส่งโครงการในรายละเอียดมาให้ดู ชื่อโครงการ “สานสัมพันธ์เครือข่าย discharge planning” พร้อมทั้งกำหนดการในวันที่ 4 พ.ค. 49 โดยให้เวลาการบรรยาย KM ครึ่งเช้าเต็ม หัวข้อเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่ Peer assist, AAR, Retrospect รวมทั้ง IT ส่วนภาคบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มย่อยแยกตามหัวเรื่อง  พอได้หัวข้อที่ต้องบรรยาย ก็สะอึกนิดหนึ่ง เพราะเราไม่ได้ทำ Peer assist แบบเครือข่าย  ส่วน retrospect ยิ่งแล้วใหญ่ ยังไม่เคยได้ยินเลย  เมื่อวานก็เลยค้นเน็ตเร็วๆ หาว่า Peer assist เขาทำกันอย่างไร ได้ข้อเขียน “Peer assist: เรียนรู้ก่อนทำผ่านทีมช่วยคิดนอกกะลา” ของ สาโรจน์ เกษมสุขโชติกุล มา 1 เรื่อง

เพื่อให้การบรรยายมีประโยชน์ต่อการดำเนินงานของโครงการและตรงใจผู้เชิญผู้เชิญมากที่สุด  วันนี้จึงเชิญพี่จุดให้มาเล่ารายละเอียดโครงการ วิธีได้ทำไปแล้ว และที่กำลังจะทำ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมให้พี่เม่ยมาร่วมวงสนทนาด้วย  

พี่จุดเล่าว่า เครือข่ายมีการพบปะกัน 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรก เป็นการพูดคุยของทีมนำ หารือว่า รพ.ใดมีเรื่องเด่นเรื่องอะไร (best practice) ที่จะเป็นเจ้าภาพนำเสนอให้รพ.อื่นเรียนรู้  การพบกันครั้งที่ 2 ก็เป็นการให้แต่ละแห่งมานำเสนอเรื่องเด่นที่ได้รับมอบหมาย และมีการแยกเข้ากลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (แบบ free style)  หลังจากนั้น ก็ให้แต่ละแห่งไปพัฒนาใน 2 หัวข้อที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันในการพบปะครั้งที่ 3  ในระหว่างการกลับไปดำเนิน  พี่จุดบอกว่า พบอุปสรรคเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร เพื่อขอข้อมูล  รู้สึกกระบวนการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร  จึงอยากให้ความรู้เชิงทฤษฎี KM ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกเครือข่าย

หลังจากนั้น เราสองคน (ตนเองและพี่เม่ย) ก็ซักถามพี่จุดเพิ่มเติมในหลายๆ ประเด็น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ทำมาทั้ง 2 ครั้ง และที่จะทำในครั้งต่อไป รวมทั้ง เป้าหมายของโครงการทั้งหมด (บอกพี่จุดว่า ขอถามมากหน่อย เพราะอยากให้ความเห็น (โดยไม่ได้รับการร้องขอ) เกี่ยวกับ process ของกลุ่มย่อย และการดำเนินโครงการทั้งหมดด้วย เพราะเห็นเป็นโครงการที่ดี น่าสนใจ อยากลุ้นให้ทำสำเร็จ)

หลังจากฟังคำตอบจากพี่จุดในประเด็นคำถามหลายๆ คำถาม  เราสองคน ก็ได้ให้ความเห็นและคำแนะนำเบื้องต้นหลายๆ ประเด็น และ...

ท้ายสุด เราทั้งสามก็ช่วยกันปรับแก้โครงการ และ เพิ่มเติมรายละเอียดในกิจกรรมกลุ่มในวันที่ 4 พค ร่วมกัน และวางแผนว่า นอกจากจะไปช่วยบรรยายในภาคเช้าแล้ว เราจะไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในภาคบ่ายด้วย

ในขณะที่เราให้ความเห็นเรื่องหนึ่งคือ เราคิดว่า กระบวนการพบปะของเครือข่าย 2 ครั้งแรก ยังไม่ตรงกับวิธีการ Peer assist ตามทฤษฎีที่เราอ่านมาเสียทีเดียว  ดูเหมือนจะเป็นแค่ Best practice sharing มากกว่า  ส่วน Peer assist (เอาเอกสารมาอ่านกันตรงนั้น) เขาบอกว่า เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ก่อนทำกิจกรรม/โครงการ โดยเชิญทีมอื่นมาแบ่งปันประสบการณ์  โดยในการพูดคุยระหว่างทีมเจ้าบ้าน กับทีมเยือน (ทีมผู้ช่วย) แบ่งเวลาออกเป็น 4 ส่วน คือ

  • ส่วนแรก ทีมเจ้าบ้าน แบ่งปันข้อมูล บริบท ปัญหา และแผนงานต่างๆ ให้ทีมผู้ช่วยรับทราบ
  • ส่วนที่ 2 ทีมผู้ช่วยเหลือ ซักถามเพิ่มเติม
  • ส่วนที่ 3 ทีมผู้ช่วยเหลือนำเสนอมุมมองแนวคิด
  • ส่วนที่ 4 ทั้งสองทีมพูดคุย วิเคราะห์ไตร่ตรอง และตกลงขั้นตอนการปฏิบัติงาน/โครงการ

พอพูดถึงตรงนี้  เราสองคนก็ถึงบางอ้อ ว่า นี่ไง เรากำลังทำ Peer assist กันอยู่ หมายถึง ที่พี่จุดมาให้เราช่วย แล้ว เราให้พี่จุดเล่าเรื่องให้ฟัง  เราถามเพิ่มเติม แล้วให้ความเห็น  และสุดท้าย เราทั้งสามคน ก็ช่วยกันปรับแต่งโครงการร่วมกัน นี่ไง  Peer assist !!

เรียกว่า เราทั้งสามคน เรียนรู้ เทคนิค “Peer assist” โดยวิธี learning by doing แบบไม่รู้ตัว

เสร็จสิ้นจากการสนทนา เราทั้งสามคนก็จากกันด้วยรอยยิ้ม  ในส่วนตัวเองมีความสุขกับการสนทนาในวันนี้มาก ถึงแม้จะต้องรับศึกหนึกที่ต้องเตรียมไปบรรยายก็ตาม  แต่การสนทนาในวันนี้  ทำให้ตนเองเข้าใจแนวคิด Peer assist ได้ระดับหนึ่ง การบรรยายในวันที่ 4 พ.ค.ก็คงไม่ยากเกินไปแล้ว เพราะมีประสบการณ์จริงด้วย.. สดๆ ร้อนๆ

   
หมายเลขบันทึก: 24732เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นอกจากเรียนรู้ peer assist แล้ว    อ. หมอปารมีได้บันทึกให้เห็นว่าการประชุม KM ต้องมีการเตรียมตัวมากทั้งฝ่ายผู้จัดและฝ่ายวิทยากร    ต้องมีการทำความเข้าใจเป้าหมายของการประชุมให้ชัดเจน   เข้าใจเลยการประชุมไปถึงตัวกิจกรรมในเนื้องานที่ต้องการให้เกิดขึ้น    แล้วจึงร่วมกันออกแบบกิจกรรมในการประชุม    บันทึกนี้แสดงตัวอย่างจริงที่ชัดเจนมาก

วิจารณ์ พานิช

ขอบคุณท่าน CKO ค่ะที่ช่วยให้พี่เม่ยได้มีโอกาสรู้จัก "Peer assist" ได้ เนียน มากขึ้น

อาจารย์เขียนได้เหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์และรับรู้ความหนักใจในเบื้องแรก และความปิติเมื่อเข้าใจกระบวนการมากขึ้นแล้วเลยค่ะ

เราคนอ่านได้ประโยชน์มากในเวลาอันสั้น คือใช้เวลาอ่านแค่ 2-3 นาทีก็ตามเรื่องได้ทั้งหมด จากการที่อาจารย์และพี่เม่ย รวมทั้งพี่จุดคงใช้เวลามากกว่าเป็นหลายเท่ากว่าจะเข้าใจกระบวนการทั้งหมดนี้ ขอบคุณมากจริงๆค่ะ

เคยได้อ่านและได้ยินคำว่า Peer assist มาหลาย ๆ ต่อหลาย ครั้ง แต่ไม่รู้แปลว่าอย่างแท้จริง ฟัง ๆ แล้วก็พยักหน้า อ่าน ๆ แล้วก็ผ่านไป อะไร และก็ไม่เคยสนใจจะเปิดหาคำแปล หาความหมาย แต่วันนี้ได้อ่านบันทึกของอาจารย์ เลยเข้าใจความหมาย อย่างเนียน

ขอบคุณ อ.ปารมี  และพี่เม่ยมากที่ช่วยเหลือโดยไม่รีรอ  เมื่อ 26 เม.ย.49 วัน KM ครั้งที่ 5 ของคณะ มีโอกาสได้นั่งคุยกับท่านคณบดี  ได้เรียนท่านว่า  หากคณะฯมีคุณอำนวยเช่น อ.ปารมี จะช่วยให้ KM ก้าวหน้าไปไกลกว่านี้เยอะ  เพราะอ.ปารมีจะ เป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดี  และเมื่อพบว่าเราไม่เข้าใจจะช่วยเหลือและสอนให้ทำทันที จึงช่วยให้ตัวเองได้มีโอกาสพัฒนาเรื่องนี้ในอีกระดับหนึ่ง 

                     โครงการสานสัมพันธ์เครือข่ายเริ่มแลกที่เกิด  เพียงเพื่อได้แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ใน 3 รพ. โดย มอ. เริ่มคิดก่อน และนำเรื่องปรึกษา อ. สุเมธ ผอ.รพ.มอ  พญ .เสาด๊ะ รพ.หาดใหญ่ นพ.เฉลิมพงศ์ รพ.สงขลา ทั้ง 3 ท่าน เห็นด้วย จึงได้มีการดำเนินงานขึ้น พร้อมได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าฝ่ายพยาบาล ทั้ง 3 โรงด้วย ทำใหม่ๆก็ไม่ทราบหรอกว่ากระบวนการดังกล่าวเป็น peer assist  จนเมื่อมีโอกาสไปร่วมประชุม national forum ครั้งที่ 7 วันที่ 14-17 มี.ค.49 ของพรพ. ได้เข้าไปฟัง Peer Assist in DM Network โดย ดร.วัลลา คุณชนิกา ภก.เอนก และนพ.นิพัธ  เกิดความคิดว่า โครงการของเราก็น่าจะเป็น  Peer Assist ได้ จึงเริ่มหาความรู้จากตำรา  และคิดว่าน่าจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับทีมงานทั้ง 3 โรงด้วยกัน  จึงเขียนโครงการนี้ขึ้นพร้อมติดต่อคุณราศรีเป็นวิทยากร  แต่คุณราศรีเกิดมีปัญหาสุขภาพ  จึงปรืกษาคุณเนาวนิตย์ ควรเชิญวิทยากรท่านใดในคณะแพทย์ ได้รับคำแนะนำให้เรียนเชิญ อ.ปารมี เพราะเป็นผู้ที่ทำเรื่องKM ด้วยตนเองอย่างจริงจัง  ซึ่งตนเองร้อง อ้อ ทันที ทำไมเราจึงไม่ได้คิดถึงท่านนะ  และเมื่อติดต่อ  ท่านก็ได้ตอบรับ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือทันที

           วันนี้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง เพียงเพื่ออ่านและเขียน ใน blog ของแต่ละคน  กว่าจะจิ้มพิมพ์ได้แต่ละตัวจนเสร็จก็ใช้เวลานานโข  พอจะตีพิมพ์สายหลุด   ไม่เป็นไร เข้า net ใหม่ เริ่มจิ้มดีดต่อ พอตีพิมพ์สายหลุดอีก  ชักท้อแท้ เพราะใช้เวลากับเรื่องนี้นานเหลือเกิน  แต่พอนึกถึง อ.ปารมี พี่เม่ย คุณโอ๋ และ อ.วิจารณ์  ทำให้คิดว่าท้อไม่ได้  ท่านเหล่านั้นคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเราอย่างดี ทำให้เรามีโอกาสได้ความรู้ ต้องพยายามต่อ  ขณะจะเข้า Net ใหม่ เกิดความคิดแว๊ปเข้ามา  ทำไมเราไม่พิมพ์ใน word ก่อนละ ถ้าสายหลุดอีกก็ไม่ต้องจิ้มดีดใหม่ ว่าแล้วก็ทดลองทำทันที  และก็ได้ผล ไม่ต้องจิ้มใหม่อีกแล้ว  เหมือนที่ อ.สุธรรม  เคยพูดให้แง่คิดว่า ไม่ลองทำ ไม่รู้   ขอบคุณท่านทั้งหลายด้วยนะคะ
ชื่นชมพี่จุดมากๆ กับการดำเนินงานที่เล่ามา รวมทั้งเป็นกำลังใจให้กับการเขียน blog ด้วยค่ะ
เข้ามาขออนุญาต copy ภาพไปใช้นะคะ!...ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท