สังเวชนียสถาน (4)


ผู้เขียนไปอินเดียมาหลายครั้ง ทางไปราชคฤห์สมัยแรกๆ ปี 2542 ขลุกขลักมาก ใครนั่งท้ายรถจะยอกไปทั้งตัว รู้สึกไม่ค่อยสบาย ไม่อยากอาหารไปหลายวันครั้งหนึ่งรถตกหลุมใหญ่ อาจารย์สำรวยกระเด็นจากเบาะ ศีรษะกระแทกของแข็งดังโป๊กคล้ายเสียงทุบหัวปลา ท่าทางไม่ค่อยดีเลย ดูคล้ายจะเป็นลมไปหลายรอบ

คณะของเราเดินทางจากพุทธคยาไปราชคฤห์ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ระยะทางเท่านี้ถ้าเป็นในไทยคงจะไม่เกิน 1 ชั่วโมงต้นๆ

แต่ถนนอินเดีย 2 เลนไม่ได้มีไว้ให้รถใช้เท่านั้น บนถนนมีทั้งรถ คน วัว แพะ และหลุมบ่ออีกสารพัด การเดินทางจึงขลุกขลักบ้างเป็นธรรมดา

บริษัททัวร์มักจะแนะนำให้นั่งเฉพาะครึ่งหน้า สัมภาระ(กระเป๋า)อยู่ครึ่งหลัง จะได้ไม่ยอก ไม่ชอกช้ำมาก

ผู้เขียนไปอินเดียมาหลายครั้ง ทางไปราชคฤห์สมัยแรกๆ ปี 2542 ขลุกขลักมาก ใครนั่งท้ายรถจะยอกไปทั้งตัว รู้สึกไม่ค่อยสบาย ไม่อยากอาหารไปหลายวัน

ครั้งหนึ่งรถตกหลุมใหญ่ อาจารย์สำรวยกระเด็นจากเบาะ ศีรษะกระแทกของแข็งดังโป๊กคล้ายเสียงทุบหัวปลา ท่าทางไม่ค่อยดีเลย ดูคล้ายจะเป็นลมไปหลายรอบ

อาจารย์จำรัส(ผู้บังคับการที่บ้าน)พลอยไม่สบาย(ใจ)ไปด้วย ถึงกับต้องสั่งผู้ใต้บังคับบัญชา(สามี)ให้กินผักมากๆ

อาจารย์สำรวยกับอาจารย์จำรัสเป็นคนไทยที่ใจบุญมากท่านหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเห็นมา ชอบชวนคนอื่นทำบุญ คนที่ไม่มีเงินไปนมัสการสังเวชนียสถานจะบินก่อน ผ่อนทีหลังกับท่านก็ได้ ดูจะไม่คิดดอกเบี้ยด้วย

กลับจากอินเดียคราวนั้น ท่านยังชวนทอดผ้าป่าท่านพระอาจารย์ ดร.วิชัย เป็นผ้าป่าสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่อำเภอหาแน้ว จังหวัดเลย

โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่นั่นทอด(ผ้าป่า)กันหลายครั้ง ครั้งแรกๆ ได้เสากับโครง ต่อมาได้อาคาร ครั้งหลังๆ จึงได้ประตู หน้าต่าง ผู้เขียนสมทบทุนกับท่านคราวละเล็กละน้อย ขอให้ท่านผู้อ่านได้ส่วนบุญทั้งหมดนี้ด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ทำทานมาก เมื่อบุญให้ผลจะมีลาภมาก เช่น เงินทอง วัตถุ สิ่งของ ฯลฯ คนที่ชักชวนคนอื่นทำบุญมาก เมื่อบุญให้ผลจะมีบริวารมาก ถ้าชอบทั้งสองอย่างต้องทำทั้งสองอย่างคือ ทำทานด้วย ชักชวนคนอื่นทำบุญด้วย

เขาคิชฌกูฎเป็นเขาที่ไม่สูงมาก คนญี่ปุ่นใจบุญไปสร้างกระเช้าขึ้นไปเหมือนกัน แต่เป็นเนินเขาคนละลูก ได้ยินมาว่า การตีความเรื่องพระคันธกุฎี(ที่พักมีกลิ่นหอม)อยู่คนละที่กัน

สมัยนี้มีการถวายของหอม โดยการขออนุญาตอบที่พักของพระพุทธเจ้าให้มีกลิ่นหอม จึงเรียกกุฏิพระพุทธเจ้าว่า พระคันธกุฎี

สมัยนี้ก็มีการถวายของหอมเหมือนกัน ทั้งธูปหอม เทียนหอม น้ำหอม น้ำอบ และอะไรอีกหลายอย่าง

คนไทยส่วนใหญ่เดินขึ้นเขาคิชฌกูฎได้ บริษัททัวร์มักจะถามล่วงหน้าว่า จะใช้คนหามหรือไม่ ถ้าใช้ต้องบอกล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เขาจะได้โทรศัพท์ไปบอกคนงานที่หมู่บ้านใกล้เคียงล่วงหน้า

วิธีหามของอินเดียใช้สาแหรกชนิดคนหาม 2 คน หามหัวท้าย ค่าหามรอบละ 400 รูปี แต่ต้องถามดีๆ ว่า 400 รูปีนี่เที่ยวเดียวหรือ 2 เที่ยว เพราะสัญญาที่นั่นไม่เที่ยง พูดไว้อย่างหนึ่ง ถึงเวลาไว้อาจจะเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" ได้สบายๆ

เจ้าหน้าที่บนยอดเขาคิชฌกูฏมี 2 คน เป็นตำรวจคนหนึ่ง เพราะเคยมีการปล้นจี้กันบนนั้น เป็นแขกอินเดียอีกคนหนึ่ง

เวลาเห็นคนชาติอื่นโดยเฉพาะญี่ปุ่นขึ้นไป ไม่เห็นเขาพูดอะไร แต่ถ้าเห็นคนไทยเป็นไม่ได้ ต้องพูดไทยว่า “ทำบุญๆๆ” หมายถึงให้ใส่รูปีหรือดอลลาร์ไว้ที่พระคันธกุฎี เขาจะได้เก็บไปอีกทีหนึ่ง

ก่อนขึ้นเขาคิชฌกูฏมีถ้ำเล็กๆ กล่าวกันว่า เป็นถ้ำสุกรขาตาที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระภิกษุบางท่านก็ค้านว่า ไม่น่าจะใช่ เพราะถ้ำนั้นน่าจะอยู่ไกลออกไปมากกว่า

จริงหรือไม่จริงคงไม่สำคัญครับ เราควรนอบน้อมถึงคุณความดีของท่านพระสารีบุตรมากมาย เช่น ความเป็นผู้ว่าง่ายของท่าน ฯลฯ

ครั้งหนึ่งมีสามเณรเดินตามหลังบอกว่า ท่านนุ่งห่มไม่เรียบร้อย ท่านก็ขอไปนุ่งจีวรใหม่ข้างทาง แล้วกลับมาถามสามเณรว่า “นุ่งห่มแบบนี้ใช้ได้หรือยัง... ท่านอาจารย์”

ก่อนนมัสการพระคันธกุฎีมีธรรมเนียมให้แวะไหว้กุฎิท่านพระอานนท์ก่อน ท่านพระอานนท์เป็นพระพุทธอุปัฎฐาก รับใช้ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอย่างดีเลิศ

ท่านพระอานนท์มีคุณความดีมากมาย เช่น ความเป็นผู้ทรงจำพระธรรมได้ทั้งหมด ฯลฯ การถ่ายทอดพระธรรมนับแต่ครั้งสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 อาศัยท่านพระอานนท์เล่ามาโดยลำดับ ทำให้พวกเรามีโอกาสศึกษาพระพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกมาจนทุกวันนี้

เมื่อถึงพระคันธกุฎีแล้ว พวกเราคงต้องสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ใครมีของบูชาอะไรก็นำมาถวายกันที่นี่ มีทั้งดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม และอะไรอีกมากมาย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การถวายของบูชาภายนอกเป็นอามิสบูชา มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ก็ยังน้อยกว่าการถวายคุณงามความดีเป็นเครื่องสักการะบูชา หรือปฏิบัติบูชา

คนที่ขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏหลายท่านสมาทานศีล แล้วกล่าวสาธยายพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

ถ้ากล่าวหรือพิจารณาด้วยความเข้าใจ จะเป็นกรรมฐานสำคัญยิ่งในพระธรรมวินัยนี้คือ พุทธานุสสติ(มีคุณความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ธัมมานุสสติ(มีคุณความดีของพระธรรมเป็นอารมณ์) และสังฆานุสสติ(มีคุณความดีของพระสงฆ์เป็นอารมณ์)

ถ้าท่านผู้อ่านทรงจำพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณไม่ได้ หรือทรงจำได้ แต่เกรงว่า จะลืม ผู้เขียนขอแนะนำให้นำหนังสือสวดมนต์แปลไปด้วย

ขอเสนอให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจแต่ละบทๆ ให้ดีก่อนสัก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย สาธยายหรือสวดบ่อยๆ จนมีความชำนาญ เมื่อมีความชำนาญแล้ว จะคิดตามได้เร็ว แม่นยำ และทำให้เกิดปีติ โสมนัสได้ง่าย กลับมาให้สาธยายต่ออีกสัก 3 เดือน หรือจะสวดมนต์สาธยายทุกวันได้ยิ่งดีใหญ่

ไปอินเดียไม่ใช่บาทสองบาท ค่าทัวร์ตกประมาณ 40,000-55,000 บาท แถมยังมีค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางอีกต่างหาก โดยเฉพาะคนไทยชอบช็อปปิ้ง เห็นอะไรก็อยากซื้อไปหมด ไปทั้งที... ไปให้คุ้มครับ ไม่ใช่จะไปได้บ่อยๆ

ภาพที่ 4: พระคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏ โปรดสังเกตพระไทยนุ่งห่มไม่เหมือนญี่ปุ่น
www.gotoknow.org/file/wullopporn/Rajgir-Guthi-S.jpg

แหล่งข้อมูล:                                                                                 

  • ขอขอบคุณ > ท่านพระอาจารย์เทพพนม วัดท่ามะโอ ลำปาง, คุณนงนุช, คุณอัจฉริยา เกตุทัต (ปุ๊ย), พี่จี๊ด (ทพญ.รัตนาวดี บุปผาเจริญสุข), พี่จ๋อง(ภก.บุญญาพร ยิ่งเสรี).

เชิญดาวน์โหลดแฟ้ม PDF ที่นี่:                                                  

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙.
  • เชิญอ่านบ้านสุขภาพที่นี่ > http://gotoknow.org/blog/health2you
หมายเลขบันทึก: 24681เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • เชิญชมภาพทางขึ้นภูเขาคิชฌกูฎ > คนอินเดียไม่นิยมฆ่าสัตว์ ทำให้มีนก กา และสัตว์อื่นๆ กระจายไปทั่ว รวมทั้งลิงในภาพ >>> http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/Rajgir-Uphill.jpg
  • เชิญชมภาพธงมนต์ธิเบต ชาวธิเบตเชื่อว่า ถ้าเขียนอักษรเป็นธงมนต์ หรือระฆังสำหรับหมุน ฯลฯ จะได้บุญทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ลมพัดธง มือหมุนระฆัง ฯลฯ >>> http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/Rajgir-Manta.jpg
  • เชิญชมภาพพระคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏอีกภาพหนึ่ง >>> http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/Rajgir-Guthi.jpg
  ตามมาอ่านเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ครับอาจารย์  ขอบพระคุณที่กรุณานำเรื่องราวดีๆมาเผื่อแผ่ อยู่เสมอ
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท