เก็บตกจากการประชุม HA National Forum ครั้งที่ 7


เดินลงจากแฟลตเวลา 05.00 น. ถึงบริเวณที่รอรถเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เห็นผู้ร่วมเดินทาง 2 ท่านยืนคุยกัน ดูจากรูปพรรณสัณฐานเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนู๋อ๊อด (ปุญชรัศมิ์) และนู๋อ้วน (ศรีประภา) ประมาณ 5 นาที โชเฟอร์หนุ่ม (ประสิทธิ์) ผู้ขับรถตู้แต่ผู้โดยสารรู้สึกเหมือนนั่งรถไฟเหาะก็พารถมาจอดเทียบท่า นู๋นี  (นลินี) นู๋นาท (ศินาท) หนุ่มบอย (วันเฉลิม) ก็พาร่างแสนสวยและสุดหล่อขึ้นไปนั่งรอบนรถ อาจารย์น้อย (สุขุมาล) ผู้ทรงความรู้จนคนอื่นฟังและตามไม่ทัน แต่งตัวด้วยชุดสวยงาม พร้อมแววตามุ่งมั่นจะไปฟังวิชาการจากอาจารย์อนุวัฒน์ จาก พรพ. ก็มาถึง แต่รถก็ยังออกเทียบท่าไม่ได้เพราะยังขาดอีก 2 สาว ประมาณ 10 นาที นู๋อ้อม (รัตนวดี) นั่งรถส่วนตัวเลี้ยวเข้า รพ. มาโดยมีน้องชายขับมาส่ง  ตามมาเป็นคนสุดท้าย คือ พี่นันท์ (นันท์นภัส)
เย้ว ! รถออกจากชานชาลา เวลา 05.25 น. ตามนาฬิกาประเทศไทย ทีมพัฒนาคุณภาพ รพ. ส่งเสริมสุขภาพมีความมุ่งมั่นว่าการไปฟังวิชาการในครั้งนี้ทุกคนจะคว้าความรู้จากการประชุมมาให้มากที่สุด เพื่อนำมาพัฒนาหน่วยงานของตนเอง อ้อ ! ทีมงานคนอื่นๆ อาทิเช่น Boss (นพ. เอกชัย) สุดหล่อ  หนุ่มเอ๋ (ทวี) หน้าหวาน ไปเตรียมขาย CD เพื่อหาเงินเข้ากองทุนส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2549 แล้ว และนู๋น้อง (รัชนี) ลาพักผ่อนพาลูกไปเที่ยวกรุงเทพฯ และนัดเจอกันที่เมืองทองธานีเลย
พอรถออกทุกคนก็เงียบสนิท (หลับ) ปล่อยให้โชเฟอร์ของเราโชว์ฝีมือสุดสวิงริงโก้ ในการพารถทะยานไปถึงจุดหมายปลายทาง .... มาตื่นก็เมื่อรถเลี้ยวเข้าปั๊มน้ำมัน แถวสระบุรีเพื่อปล่อยทุกข์ และหาซื้อของกินตามอัธยาศัย นู๋นีห่วงลูกในท้องจะหิว ได้ยินเสียงแว่วจากหลังรถว่าตุนของกินมาเพียบ ระหว่างที่รอนู๋อ้วนเข้าห้องน้ำมีรถทัวร์มาจอด เปิดเพลงเสียงดังสนั่น มองไป   โอ๊ย! เด็กๆอนาคตของชาติเดินลงมาจากรถ เต้นตามจังหวะเสียงเพลง สูบบุหรี่ด้วย โอ้...ละหนอ   อนาคตของชาติ...
ก่อนจะไปเมืองทองคำสั่งจาก Boss ให้ไปรับที่โรงแรมแมนฮัตตัน คลองหลวงก่อน เพื่อเอาอุปกรณ์สำหรับขาย CD ไปที่งาน   รถวิ่งเข้าไปในเมืองทองธานีเสียงโทรศัพท์ หนุ่มเอ๋ดังขึ้น เสียงปลายทางมาจากนู๋น้องบอกว่าคนไม่มีบัตรเข้างานไม่ได้  โธ่เรา... พาน้องๆมาลำบากเสียแล้ว.... บอกนู๋อ๊อดจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้น้องๆ กลัวน้องจะอด.... Boss ของเราพาเข้าด้านหลังตรงที่จัดนิทรรศการ ทีมงานช่วยกันขนของคนละไม้คนละมือ เห็นแล้วสุขใจ ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมตามความถนัดของแต่ละคน ถ้าคนในองค์กรเป็นแบบนี้ รพ. ส่งเสริมสุขภาพ ไม่มีวันน้อยหน้า รพ. อื่นๆแน่ๆเลย  Boss บอกว่าเมื่อคืนกับหนุ่มเอ๋ช่วยกันปั๊ม CD นอนตั้งตี 3 เพราะงานนี้กะจะขายได้ 100,000 บาท   รู้สึกดีกับ 2  ท่านนี้จริงๆ อุทิศตัวเพื่อราชการโดยแท้
ไปถึงงานได้รับมอบหมายให้ฟัง Mr. Jerod Loeb   จาก JCAHO  สหรัฐอเมริกา ย่อมาจากอะไรก็ฟังไม่ทัน พูดเรื่อง “ การวัดผลงานบริการสุขภาพ ” (Measurement in Healthcare) จับประเด็นจากเนื้อหาได้ว่าสหรัฐอเมริกาเองเมื่อก่อนยังไม่มีการพัฒนาคุณภาพทางด้านการรักษาพยาบาล จนกระทั่งในปี คศ . 1752  Pensgeer  ได้เริ่มเก็บข้อมูลทางสถิติเป็นครั้งแรก   และในปี คศ. 1977 Florence Nightingale & Hutchman  ได้เก็บข้อมูลอัตราการตายของผู้ป่วยเพื่อดูคุณภาพผลการรักษา
Performance measurement เป็นการวัดผลงานที่ได้จากการทำงานของระบบ เช่นการใช้ทรัพยากร ผลกำไร นวัตกรรม คุณค่าเพิ่ม ซึ่งรวมไปถึงคุณภาพของผลงานด้วย
ตัววัด (Measures) กับ ตัวชี้วัด (Indicators)  สามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่นิยมจะใช้ตัววัดกับ Performance มากกว่า
ตัวชี้วัด (Indicators)  แบ่งเป็น
1.       Process Indicator วัดที่กระบวนการทำงาน
2.       Outcome Indicator วัดที่ผลลัพธ์
การใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด
1.       ใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพภายในองค์กร เช่นใช้ค้นหาปัญหา  ใช้ประเมินระดับผลงานก่อนการปรับปรุง ใช้ติดตามผลการพัฒนาหรือติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง
2.       ใช้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นการให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการและสาธารณะเพื่อประกอบการตัดสินใจ
3.       ใช้ประโยชน์เพื่อการวิจัย
ความท้าทายในการวัดผลงานบริการสุขภาพ (Key Challenge in Healthcare)  ที่ควรนำมาพิจารณาและ
หาทางออกที่เหมาะสม ดังนี้
1.       ทุกคนต้องการให้มีการวัดผลงาน แต่ไม่มีใครอยากวัดผลงานของตัวเอง
2.       ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป เช่น แพทย์ ผู้ป่วย ผู้จ่ายเงิน สังคม
3.       การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการมีความแตกต่างกันในแต่ละสถาบันที่ให้การดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้ผลลัพธ์สำคัญแตกต่างกัน ความท้าทายอยู่ที่การทำให้เกิดการยอมรับข้อมูลวิชาการและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลผู้ป่วย
4.       ไม่มีจุดเน้นหรือปรัชญาที่ยอมรับร่วมกันในเรื่องการวัด
5.       ไม่มีข้อสรุปว่าควรจะวัดอะไร การวัดทำให้เกิดการบิดเบือนจากการสังเกต
6.       ตัวชี้วัดเดี่ยวไม่เพียงพอ มองได้เพียงบางส่วน จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดหลายตัวเพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดของคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในแต่ละสภาวะ
7.       คุณภาพของข้อมูล (ความสมบูรณ์  ความน่าเชื่อถือ  ความทันสมัย)
8.       การจัดปรับข้อมูลตามระดับความเสี่ยง การนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้ป่วยแต่ละรายเข้ามาพิจารณาเชื่อมโยงกับผลลัพธ์อย่างไร
9.       ลำดับชั้นของการวัด การวัดผลงานของบริการสุขภาพอาจจะวัดได้ในระดับผู้ประกอบวิชาชีพ องค์กร เครือข่ายองค์กร ฯลฯ
10.    การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร จะเปรียบเทียบอย่างไร จะดูแนวโน้มอย่างไร
11.    การนำเสนอข้อมูลอย่างไร จะใช้ report card แบบไหน ทำอย่างไรให้สารสนเทศที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพได้มากที่สุด
12.    การวัดผลงานทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ต้องแสดงคุณค่าของการวัดผลงานว่าทำให้เกิดการปรับปรุงบริการสุขภาพที่สัมผัสได้อย่างไร
บทสรุป ทุกคนมีความคาดหวังกับการวัดผลงาน ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม 
เอวัง... ด้วยประการฉะนี้
               
                จบ Section นี้ได้เวลารับประทานอาหารเที่ยง ผู้คนมากมายเบียดเสียดแย่งกันกิน แย่งกันเข้าห้องน้ำ ทุกวันนี้ผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชาย ก็จะเห็นผู้ร่วมประชุมผู้หญิงผลุบเข้าห้องน้ำผู้ชาย  ของอย่างนี้ก็แบ่งๆกันใช้คงไม่เป็นไรหรอกนะ  จะหญิงหรือชายก็ขับถ่ายเหมือนกัน
                เวลา 13.00 น. ได้ไปนั่งฟังห้อง  Meeting room 3  เรื่อง  “ สองเครือข่าย HA/HPH แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “หรอยจังหู้ ... ฮิ ฮิ ฮิ ...”    ”       เพิ่งรู้  หรอยจังหู้ ...   วิทยากรมาจาก รพ. เทพา จังหวัดสงขลา       ส่วน  ฮิ ฮิ ฮิ ...  วิทยากรมาจาก รพ. พระปกเกล้า จังหวัดจันทรบุรี  ทั้งสอง รพ. มาพูดถึงการสร้างเครือข่าย โดยใช้กระบวนการ Empowerment  โดยการคัดเลือก อสม. ของชุมชนเขตเทศบาล แบ่งกลุ่มตามวันเกิด มีกิจกรรม “ ตั้งวง ถือหิน จึงพูด คนอื่นฟัง ”  ให้สาระในเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ  และมีกิจกรรมระดมสมอง “ แก้ปัญหาการทำงานของ อสม. ในชุมชนและแนวทางแก้ไขที่ทำโดยใช้ศักยภาพของ อสม.”   ส่วนจังหวัดจันทรบุรี มีปัญหา “ หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยรุ่น ”  ใช้กระบวนการ Empowerment   ในกิจกรรม “ โอ้ละหนอ ... my love ” กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้น ม.2  โดยมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ดังนี้
-          ละลายพฤติกรรมของนักเรียน
-          สร้างเป้าหมายในชีวิต  : วาดภาพโตขึ้นจะเป็นอะไร
-          หนทางสู่อนาคตที่สดใสต้องทำอย่างไร
สรุปบทเรียนทั้ง 2 รพ.  พบว่า
-          เครือข่ายองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพจากประชาชน โดยการสนับสนุน
เพิ่มศักยภาพกับประชาชนให้สามารถบรรลุเป้าหมาย
                -      พบหนทางการทำงาน HPH   ได้สำเร็จ
                -      สามารถสร้างเครือข่ายวัยรุ่น
                -  กระบวนการในการดำเนินงานของทั้ง 2 รพ. ใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้
1. เป้าหมายงาน  โดยการพัฒนาคุณภาพ HA/HPH
2. เป้าหมายการพัฒนาคน  พัฒนาทักษะของบุคลากร โดยการฝึกทักษะ Coaching
3. เป้าหมายการพัฒนาองค์กรให้เกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
                ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1.       การบูรณาการแผน โครงสร้างและกิจกรรมต่างๆ
2.       การเลือกปัญหาและกลุ่มเป้าหมาย
3.       ความเข้าใจแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพและการ Empower บุคลากร ให้เริ่มจากตนเองก่อน
4.       ความกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่าย
การบูรณาการ HA/HPH   แบ่งเป็น 4 ตอน
ตอนที่ 1 ภาพรวมของการจัดการองค์กร (การนำ การบริหารเชิงกลยุทธ์เน้นผู้รับผิดชอบผลงาน  การจัดการความรู้
               เน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การจัดกระบวนงาน) 
ตอนที่ 2  ระบบสำคัญของงาน
ตอนที่ 3 กระบวนการดูแลผู้ป่วย การเข้าถึงและการรับบริการ
ตอนที่ 4 ผลลัพธ์การดำเนินงานขององค์กร (ต่อผู้ป่วย บุคลากร ชุมชน)
ผลของการ Empower สมาชิกในเครือข่าย
-          ค้นพบตนเอง ยอมรับผู้อื่น
-          มีภาพฝันร่วมกัน
-          มีพลังใจในการทำงาน
-          เกิดบรรยากาศความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้
-          ได้ทบทวนแนวคิด สามารถปรับกลวิธีเพื่อให้เกิดความสำเร็จ
-          เสริมทักษะส่วนขาด จัดระบบการเรียนรู้ให้บุคลากร ผู้ป่วย ญาติ ชุมชน
-          ได้แผนงาน/โครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทีม เพื่อเสริมพลังให้บุคลากร ผู้ป่วย/ญาติ ชุมชน โดยเริ่มจากประเด็นปัญหา
-          มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมี commitment ร่วมกันที่จะนำแผนไปปฏิบัติ
ผลของการ Empower ของทีมผู้ปฏิบัติของแต่ละ รพ.
-          ถ่ายทอดประสบการณ์ดำเนินงานของตน
-          ถ่ายทอดความรู้สึกและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรม
-          นำเสนอผลลัพธ์เชิงคุณภาพของโครงการ
-          แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่คล้ายคลึงระหว่างทีม รพ. และคุณอำนวย
-          ร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน
สรุปคร่าวๆ พอสังเขป ของ สองเครือข่าย HA/HPH แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “หรอยจังหู้ ... ฮิ ฮิ ฮิ ...”    มีแนวคิด
จะจัดการอบรม Empowerment ให้บุคลากร จะได้มีวิทยากรกระบวนการใน รพ. บ้าง
                หลังจากไปใช้สิทธิ์เอาคูปองไปแลกอาหารว่างเพื่อเอามาให้น้องๆแล้ว พาตัวเองไปเข้าฟังห้อง Grand Ballroom   เรื่อง  “Creativity & Innovation”  โดยผศ.ดร. รัชนี สรรเสริญ และดร.สุริยัน นนทศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา  ได้ความว่า
                Creativity (ความคิดสร้างสรรค์)   เป็นการเชื่อมต่อและปรับเปลี่ยนความรู้ โดยใช้วิธีคิดที่ยืดหยุ่น เพื่อสร้างความคิดใหม่ๆที่เป็นประโยชน์  นำไปสู่การสร้างกระบวนงานใหม่  เช่นผู้นำชุมชนมาตรวจการซื้อ-จ้างของ รพ.
 Innovation  (นวัตกรรม) เกิดจากการนำความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การปฏิบัติ  เกิดความคิดใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยอาจเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลย หรือสิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีต
ภูมิปัญญา  คือประสบการณ์ องค์ความรู้ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา หรืออาจหมายถึงความคิดของวิถีชีวิตของชุมชนที่มีการพัฒนามาจากเดิม
ทางเดินสู่การสร้างนวัตกรรมหรือวงล้อของการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน
1.       ขั้นเตรียมการ  ขั้นนี้เป็นขั้นของการสะสมแนวคิดและมุมมองต่างๆ มีเทคนิคที่จะช่วยสร้างร่องของการเชื่อมต่อวิธีคิด เช่น
-          หยุดยั้งรอ ขอสังเกต สังเกตสิ่งที่ผ่านเข้ามาด้วยความบังเอิญ หรือจัดเวลาออกไปสังเกตสิ่งต่างๆอย่างมีเป้าหมาย พยายามหาความหมายหรือแนวคิดของเหตุการณ์ที่พบเห็น
-          มองจากมุมอื่น อ่านและซึมซับข้อมูลจากสิ่งต่างๆที่หลากหลาย เช่นหนังสือ ศิลปะ พูดคุยกับคนที่เราไม่รู้จักคุ้นเคย รับฟังอย่างตั้งใจ
-          ปรับจุดเน้นในหัวข้อประเด็นที่ต้องการปรับปรุง เป็นการสร้าง creative insight ด้วยการใช้คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาทดแทนถ้อยคำที่เป็น key words
-          มองให้ใกล้เข้าไปและวิเคราะห์ ใช้คำถาม เช่น ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน ทำไม อย่างไร
2.       ขั้นจินตนาการ เน้นการระดมความคิดให้ได้จำนวนมากที่สุด โดยไม่ด่วนที่จะปฏิเสธความคิดเร็วเกินไป ให้มองในเชิงบวกและเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ
3.       ขั้นพัฒนาแนวคิดและลงมือปฏิบัติ เป็นการคัดเลือกความคิดให้เหลือจำนวนประมาณ 2 เท่าของที่จะนำไปปฏิบัติ โดยใช้เกณฑ์ ความเป็นไปได้ที่จะนำไปปฏิบัติและความยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง จากนั้นเพิ่มคุณค่าให้กับความคิดที่เลือกไว้ด้วยคำถาม ดังนี้
-          เราจะปรับความคิดเพื่อรองรับข้อโต้แย้งที่จะนำไปสู่การปฏิเสธอย่างไร
-          เราจะแปลงความคิดเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของเราอย่างไร
-          เราจะเพิ่มพลังหรือคุณค่าของความคิดได้อย่างไร
-          เราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขจุดอ่อน
-          เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปได้ในการปฏิบัติ จะเกี่ยวข้องกับใคร
-          ความคิดนี้เปรียบเทียบกับสิ่งที่จะไปทดแทนแล้วเป็นอย่างไร ควรจะปรับ ขยาย หรือถอย
-          จะมีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นจากความคิดนี้ เราจะป้องกันอย่างไร
-          จะเกิดผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวอย่างไร
-          จะทดสอบความคิดนี้ในขนาดเล็กๆได้อย่างไร
มุมมองของการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
                - Knowledge (ความรู้)                                                                        - Attitude (ทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการ)       
- Skill  (ทักษะตามวิชาชีพ/ องค์กรต้องการ )                 - Habit (ลักษณะนิสัย)
บทสรุปที่ได้มา  “ จะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่กระบวนการคิด ”
เฮ้อ !  จบ  lecture  วันแรกเสียที     เดินกลับมาที่บูธ  ได้ยินเสียงผู้ร่วมทีมหลายๆคน บอกว่า เข้าไม่ได้เพราะไม่มีบัตร   จะทำอย่างไรดีหล่ะ  งบประมาณมีจำกัด ลงทะเบียนตั้ง 3500 บาท/คน แน่ะ   เสียง Boss  ตอบโต้เบาๆ ว่าปีหน้าจะทำบัตรปลอมมาแจก ถ้าเขาจับได้ ... ก็คงต้องบอกว่าวิชาความรู้แบ่งปันกันไป ก็เราคนไทยเหมือนกัน ความรู้ที่ได้ก็ไม่นำไปไหน ไปพัฒนาประเทศชาติเหมือนกัน  แต่อย่างไรพรุ่งนี้คงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่   ตอนเย็น Boss พาไป shopping  แถวรังสิต หากินเย็นตาโฟร์ตราไก่ แต่ได้กินเย็นตาโฟร์ที่น้ำเย็นเสียจนวุ้นเส้นแข็ง ไม่อร่อยที่ซู๊ดเลย ราคาตั้ง 50 บาท / ถ้วยแน่ะ  กลับไปนอนที่โรงแรมได้ฟังธรรมะในทีวี โดยอภินันทนาการจากพี่นันท์ แห่งวัดธรรมกายของเรา ซาบซึ้งในรสพระธรรมจริงๆ  นอนหลับอุตุเลย
วันที่ 2  Boss  นัดขึ้นรถ 7.30 น.  แต่ก็ยังไม่มา  ร้องเพลงรอ “  นัดกันแล้ว  นัดแล้วทำไมไม่มา ”  พวกเราทานอาหารเช้ากันจนอิ่ม   8.00 น. จึงเห็น Boss แต่งตัวหล่อ ยิ้มมาแต่ไกล ถามมาถามไป เมื่อคืนปั๊ม CD เลยได้นอน ตี 3 เหมือนเช่นเคย ก็ขอบคุณสวรรค์ที่ รพ. ส่งเสริมสุขภาพ ได้ผู้นำที่ขยันขันแข็งในการทำงาน  วันนี้ได้รับมอบหมายให้ไปฟัง ห้อง Meeting room  3    “ บูรณาการ KM ในงานบริการ รพ. ”  โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช วันนี้อยากให้น้องได้ไปฟังวิชาการอย่างมีความสุขจึงเอาป้ายชื่อให้น้องไป   พอไปถึงห้องประชุม ผู้คนสนใจ KM กันมาก ไม่มีบัตรไม่มีสิทธิ์ ทำอย่างไรหล่ะเรา  มองผ่านประตูเข้าไป  เก้าอี้มีไม่เพียงพอกับผู้ฟัง เห็นผู้คนนั่งกับพื้นสองฝั่งเต็มไปหมด นี่ถ้าเราเป็นวิทยากรคงภูมิใจน่าดู ที่มีคนสนใจฟังเรา  แต่เราจะเข้าได้อย่างไร มีคนเฝ้าประตูตั้ง 4 คน เร็วเท่าความคิดวิ่งไปหา Boss ขอยืมป้ายชื่อหน่อยนะ  เดี๋ยวเอามาคืน   ช่วงที่กำลังจะเข้าประตูเหลือบเห็นทีมผู้จัดกำลังขนเก้าอี้มา ถ้าเราได้เก้าอี้สักตัวคงจะไม่ทรมาน ตั้งชั่วโมงครึ่งแน๊ะ   น้องๆ ขอเก้าอี้ตัวหนึ่ง  แล้วรีบยกเก้าอี้เข้ามานั่งในห้อง ทีนี้ก็ตั้งใจฟัง  สมใจอยาก .....
เปิดมาด้วยการฉายวีดิทัศน์ของ รพ. บ้านตาก   มีกิจกรรมต่างๆที่เจ้าหน้าที่ของ รพ. ได้ใช้กระบวนการ KM มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เช่น การแทงน้ำเกลือเด็ก จากมีผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทำให้ทุกคนมีทักษะในการแทงน้ำเกลือเด็ก  ใช้ผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้มาเป็นวิทยากรให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานแทนการใช้เจ้าหน้าที่  การทำกิจกรรม 5 ส อย่างต่อเนื่อง ทำไปด้วยจิตวิญญาณไม่ใช่ทำด้วยหน้าที่ และการใช้เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป “Hospital OS” สามารถปรับโปรแกรมให้ใช้ได้ตรงตามความต้องการของเจ้าหน้าที่
สรุปประเด็นสำคัญของ KM
-          เป้าหมายต้องชัดว่าทำ KM ไปทำไม
-          ผู้บริหารต้องให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย  ทิศทาง    จุดเน้นคือการสร้างความท้าทาย และให้รางวัลยกย่อง
-          เอาความสำเร็จมาเล่าเรื่อง บันทึกให้เป็น KA  
-          ผู้บริหารและทีมงานต้องสร้างบรรยากาศของความเคารพซึ่งกันและกัน และเห็นคุณค่าของคน
-          สร้างบรรยากาศเชิงบวก ชื่นชมผลสำเร็จเล็กๆ
-          สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลว
-          สร้างวัฒนธรรมแนวราบ ลดการควบคุมสั่งการ หวังผลคนเป็นอิสระในการริเริ่ม สร้างสรรค์
-          จัดทีมเฉพาะ    ทีมคร่อมสายงาน
-          ส่งเสริมให้เกิด CoP ด้านต่างๆตามความเหมาะสม และให้รางวัล CoP  ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เด่น และเกิดนวัตกรรมในการทำงาน เกิดผลดีตามเป้าหมายของ รพ.
-          ส่งเสริมการจดบันทึก  รวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ จัดทำเป็น Knowledge base
-          ส่งเสริม CoP ให้มีการเพิ่มพูนความรู้ ทฤษฎี โดยเข้าร่วมประชุมวิชาการหรือเชิญวิทยากรมาบรรยาย
-          ส่งเสริมความรู้และทักษะการเป็นแกนนำ CoP การเป็นคุณอำนวย คุณลิขิต โดยวิธีการต่างๆ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใน
-          ใช้ AAR ในการส่งเวร
-          จัด Knowledge  sharing day, Innovation day
-          ร่วมกันวัดผล KM ว่ามีผลด้านต่างๆอย่างไรบ้าง ควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง
-          Peer’s  assist : เพื่อนช่วยเพื่อน
ยังไงก็ตาม KM ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จ    ได้เวลาเอาป้ายชื่อไปส่ง Boss
แล้ว ไปรับอาหารว่าง ปรากฏว่าที่อาหารว่างใส่กล่องหมด เลยไม่สามารถจะถือไปให้น้องได้  ต้องกินตามระเบียบถึงแม้ว่าจะอิ่มสักปานใด  ก็ต้องใช้สิทธิ์
                ห้องต่อไป Meeting room 10  “การพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์สู่สากล”  เข้าไม่ได้อีกตามเคย  มีคนเฝ้าประตู 2 คน ถามหาป้ายชื่อ บอกว่าไม่มีแต่ห้องนี้ยังไงฉันก็ต้องฟังเพราะเป็นวิชาชีพของฉัน ลองไปถามวิทยากรที่นั่งอยู่หน้าเวทีซิ ฉันรู้จักเขาดี แต่เขาจะรู้จักฉันมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่แน่ใจ  ฮา..ฮา ... พี่คมเนตรจาก รพ. ขอนแก่น รู้จักกันดี  ทนลูกตื้อไม่ได้ก็เลยต้องหาที่นั่งให้   เนื้อหาก็ไม่มีอะไร เป็นเรื่องของ รพ. จุฬาที่ได้รับการรับรองให้เป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แห่งแรกของเอเชียที่ได้มาตรฐานสากล ISO 15189
               
กลยุทธ์การพัฒนาห้องปฏิบัติการไปสู่มาตรฐานชาติและมาตรฐานสากล
1.       การมีส่วนร่วมของพันธมิตร (Partnership)
2.       การสร้างเครือข่าย (Net wok) ของหน่วยงานต่างๆ เช่น พบส.  
3.       การพัฒนาระบบการทำงาน
4.       การวัดผลลัพธ์ของกระบวนการทำงาน
5.       การติดตามและการประเมินผล
6.       การกระจายงบประมาณ
เหลียวกับมาดูห้องปฏิบัติการของตัวเองยังห่างไกลมาตรฐานสากลอีกหลายกิโล  ตอนนี้คิดแต่เพียงว่าเมื่อเรา
ไม่อยู่เราจะหาใครมาทำงานแทน ทำอย่างไรคนไข้จะได้รับผลตามเวลาที่กำหนด ทำอย่างไรแพทย์จะได้ใช้ผลในการวินิจฉัยโรคได้ทันที   แล้วสงกรานต์ปีนี้จะได้ปี๊กบ้านหรือปล่าว หรือต้องอยู่เฝ้าสมบัติของทางราชการ เฮ้อ! ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรรม
                ช่วงบ่ายเข้าไปฟัง “ สร้างโลกใบใหม่...สร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่า ”  เสียงผู้คุมหน้าประตู “อาจารย์คะ กรุณาแขวนป้ายชื่อด้วยคะ ”  หน้ามึนจริงๆเลยเรา นี่ถ้าเกิดเขามาดึงแขนเราแล้วพูดเสียงดังว่า “หัดรู้จักกฎกติกาของสังคมบ้าง ”  ไม่อยากนึกภาพเลยจะเอาหน้าไปไว้ไหนนะ   เฮ้อ ! รอดตัวไปอีกห้องหนึ่งแล้ว
                เรื่องเล่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการความรู้ในทุกวัฒนธรรม  สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นรูปแบบของการมีความสัมพันธ์อย่างอิสระของกลุ่ม เพื่อทำความเข้าใจและสำรวจความคิดร่วมกัน เปิดโอกาสให้สมาชิกได้ตรวจสอบ ฐานคติ อคติ และแบบแผนความคิดของตน โดยไม่มีเป้าหมายอื่นที่กำหนดไว้ล่วงหน้า สุนทรียสนทนา มุ่งไปที่กระบวนการคิดที่เป็นองค์รวม และเปลี่ยนแปลงวิถีของกระบวนการคิดร่วมกัน
                สุนทรียสาธก (Appreciative Inquiry : AI) เป็นการให้คุณค่าต่อสิ่งดีๆในผู้คนหรือในโลกรอบตัว เป็นศิลปะในการใช้คำถามต่อผู้คน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในศักยภาพของระบบและโอกาสพัฒนา  ทำให้เกิด
-          อุปสรรคกลายเป็นความท้าทาย
-          เปิดพื้นที่ให้กับมิติทางอารมณ์
-          นิยามความหมายใหม่ให้กับงาน
-          เรียนรู้มิติของความเป็นมนุษย์
-          ชื่นชมและเห็นคุณค่าของงาน  มีความภาคภูมิใจในงาน
-          สร้างวิสัยร่วมขององค์กรที่มีความหมาย
ช่วงเวลาสุดท้ายของวันนี้ 15.30-16.00 น. สมองเริ่มบวมเล็กน้อย เก็บเกี่ยวความรู้ให้มากที่สุดเพื่อทีมงานที่ไม่มีโอกาสมาฟังในวันนี้ ปัญหาเดิมๆก็เกิดขึ้นเหมือนเดิม คือถามหาป้ายชื่อ ไม่เป็นไร ใจเต็มร้อย มุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยว ต้องเข้าไปฟังให้ได้  “Meet HA Surveyor”   ทีมของนพ. สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์  ตัวแทนจากพรพ. สรุปประเด็นที่สำคัญอยู่ 3 เรื่องที่รพ. ควรจะเน้น
1. การบริหารความเสี่ยง เพิ่มช่องทางในการค้นหาความเสี่ยง ไม่ใช่เป็นเรื่องของคณะกรรมการแต่เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งความเสี่ยงสามารถหาได้จาก
- การทบทวนความสมบูรณ์ของเวชระเบียน
- C3THER
- การทบทวนตัวชี้วัด
- ปัจจัยความสำเร็จของทีม PCT  (Clinical risk)
2. การป้องกันและการเฝ้าระวังการติดเชื้อ
- การกำจัดของเสีย
- การทำให้ปราศจากเชื้อ
3. การเฝ้าระวังความคลาดเคลื่อนทางยา
4. ความสมบูรณ์ของเวชระเบียน (การบันทึกประวัติศาสตร์)
5. ระบบ IT
จบวันที่ 2 แล้ว  ตอนเย็น Boss พาไป shopping ที่เดิม  วันนี้ได้กินเย็นตาโฟร์ตราไก่สมใจอยาก  นู๋นี  ได้เสื้อคลุมท้อง 1 ตัว  พี่นันท์ได้กระโปรงตัวสวย 1 ตัว  นู๋นาทกับนู๋อ้อมได้รองเท้าคนละ 1 คู่ ส่วน Boss ได้ อุปกรณ์การ Write CD  หาเงินเหมือนเดิม  กลับถึงที่พักก็ได้ฟังธรรมะเหมือนคืนแรก  แต่คืนนี้หลับยังไม่ถึง 3 ทุ่มด้วยซ้ำ เหนื่อย...
เริ่มเช้าวันใหม่วันที่ 3 ทีมงานได้ส่งตัวแทนไปเดินพาเหรดที่กรมอนามัย งานทุกอย่างพวกเราทำได้ มีหนุ่มบอยที่หนีสาวๆไปนอนกับเจ้าหน้าที่ที่ไปจากศูนย์อนามัยตั้งแต่เมื่อคืน แต่เห็นนู๋นาทบอกว่า หนุ่มบอยรู้สึกสำนึกผิดที่ทิ้งเพื่อนๆไป    นอกจากนี้ก็มี สาวสวย นู๋อ้อม นู๋นาท และนู๋อ้วนที่ต้องไปตั้งแต่ตี 3 เพื่อแต่งตัว งานนี้เหนื่อยไม่ว่าขอสวยไว้ก่อน      ตอนเช้าเข้าฟัง  “Competency & Healthy organization”   จาก ผศ. ดร. จิระปะภา  มีสาระสำคัญ ดังนี้
                Care quality    ประกอบด้วย
-          ความปลอดภัยของผู้รับบริการ
-          ระยะเวลาที่น้อยที่สุดในการรักษา
-          ประสิทธิภาพของการรักษา
-          การมุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
Competency   ต้องหาส่วนขาดของพนักงานให้ได้ แล้วให้   Education training    และบุคลากรต้องมีความ
ใส่ใจในรายละเอียดของงาน เพื่อลดความผิดพลาด อาทิเช่น ผู้ป่วยสื่ออะไรให้แก่เรา แพทย์มักมองแต่ด้าน Physical อย่างเดียว  ไม่ได้มองถึงภาวะทางจิตของผู้รับบริการ ควรเน้น Deep listening , ผลข้างเคียงของผู้ป่วยเมื่อรับยา , การป้องกันการติดเชื้อ เช่นการล้างมือก่อนทำแผล
                วัตถุประสงค์ของการประเมิน Competency เพื่อเสริมสร้างให้ผู้บังคับบัญชาสามารถเพิ่มพูนทักษะให้กับบุคลากรได้
                Capability  เป็นความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้องค์ความรู้ใหม่ๆพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 
                ในการที่จะเป็น องค์กรสุขภาพ (Healthy organization)  จะต้องปรับสภาพแวดล้อมขององค์กร ให้เป็นแบบ Active participation และคนในองค์กรต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี
                ผลสำเร็จขององค์กร ดูจาก การบรรลุภารกิจขององค์กรและเป้าหมายของบุคลากร
-          การเงินดี
-          สามารถดูแลความต้องการของพนักงาน  เพื่อให้เกิดความผูกพัน รักในองค์กร
-          สามารถดูแลความต้องการของลูกค้า
บุคลากรในหน่วยงาน มีอยู่ 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 Career oriented   กลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานสูง เป็นคนเก่ง แต่จะทำงานในสิ่งที่ชอบ จะไม่ยึดติดในองค์กร
กลุ่มที่ 2  Company Oriented กลุ่มนี้ไม่ได้ใส่ใจกับความก้าวหน้า ภูมิใจที่ได้อยู่กับองค์กร  แต่ competency อาจไม่ดี
กลุ่มที่ 3   Ambivalent กลุ่มนี้ไม่ยึดติดกับองค์กรและทำงานไม่เก่ง
กลุ่มที่ 4    Ambassador   กลุ่มนี้มีความภาคภูมิใจในองค์กรและมี competency สูง
                สุดท้าย    ท้ายสุดของ lecture ช่วงเช้านี้  ไปฟัง       “เครื่องชี้วัดแบบไทย.... ไทย ง่ายนิดเดียว”    โดย รศ.นพ. จิรุตม์ จากจุฬาลงกรณ์
                วัดอย่างไร
1.       วัดเชิงคุณภาพ เช่นกิจกรรมทบทวน12 กิจกรรม ให้สรุปเป็นกรณีไป  ซึ่งวิธีวัดแบบนี้จะได้รายละเอียดของงานมาก
2.       วัดเชิงปริมาณ
-          การบริการผู้ป่วยและญาติ : การวัดความพึงพอใจ , จำนวนเรื่องร้องเรียน, ระยะเวลารอคอย
-          การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ: อัตราการติดเชื้อ , การล้างมือ, การปฏิบัติตามมาตรฐาน
-          การดูแลผู้ป่วยใน: ระยะเวลาวันนอน, อุบัติการณ์ความเสี่ยง (ตกเตียง   Bedsore  Phlebitis)
-          การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน: ความรู้ของผู้ป่วย, พฤติกรรมของผู้ป่วย, ความสามารถในการควบคุมน้ำตาล
จะวัดอะไรดี
-          คุณสมบัติของงานหรือผลงาน (สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการประเมิน)
-          สิ่งที่แสดงถึงความสามารถในการทำได้ตาม (หรือตอบสนอ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24638เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2006 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
... !!! บันทึกแบบ เข้าถึงอกถึงใจ ผู้ร่วมเดินทางจริงๆ นะคะ รู้กระทั่ง "Boss นัดขึ้นรถ 7.30 น. แต่ก็ยังไม่มา ร้องเพลงรอ “นัดกันแล้ว นัดแล้วทำไมไม่มา” ... อะไรจะเยี่ยมปานนั้น ... และขอแถมหน่อยว่า ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย เชิญเข้าร่วมชุมชนนะคะ อย่าลืมเข้าไปอนุมัติให้ด้วยน๊า ... เราจะได้ตามติดเรื่องราวของคุณเสิด ไปเรื่อยๆ จากลานแลกเปลี่ยนฯ จ้า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท