การวิจัยในชั้นเรียน : ใบความรู้ที่ 3


ใบความรู้ที่ 3 : การดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 1 : การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล

ใบความรู้ที่ 3
การดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 1 : การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล



      การดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน  มีขั้นตอน
ทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1สำรวจและวิเคราะห์ปัญหา
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวิธีการในการแก้ปัญหา
ขั้นตอนที่ 3 พัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรม
ขั้นตอนที่ 4  นำวิธีการหรือนวัตกรรมไปใช้
ขั้นตอนที่ 5 สรุปผล 

       สาระในขั้นตอนที่ 1 สำรวจและวิเคราะห์ปัญหา มีความสำคัญต่อการดำเนินการวิจัย
ในชั้นเรียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการวางแผนแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ครูพบปัญหาที่ต้องแก้ไขหรือพัฒนา  

        การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล  เพื่อการหาหรือกำหนดปัญหาสำหรับการวิจัย
ในชั้นเรียน สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้  

         การวิเคราะห์ปัญหาการสอนในชั้นเรียนโดยวิธีการเชิงระบบ เป็นการวิเคราะห์
ปัญหาจากผลผลิต ที่อาจจะเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัย หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจาก
กระบวนการ 

                
ปัจจัย หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมและเอื้ออำนวย
ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีเช่น สื่อ สถานที่เรียน บรรยาย  เวลาเรียน ความพร้อม
ของครู  การเตรียมการสอน ทัศนคติต่อการเรียน ความพร้อมนักเรียน เป็นต้น

                กระบวนการ  หมายถึง  วิธีการสอนของครู หรือความสามารถใน

การจัดการเรียนการสอนของครู หรือผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนการสอน ได้แก่

                      1.  ขั้นตอนการสอน เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการ

ถ่ายทอด  วิธีการสอน การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม การใช้สื่อ  การวัดและประเมิน เป็นต้น

                       2.  ผลผลิตในชั้นเรียน หมายถึง  คุณลักษณะของผู้เรียนหรือ

ผลการเรียนที่คาดหวังหรือที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับ
พุทธิปัญญา  จิตปัญญา และทักษะปฏิบัติ เช่น  นักเรียนไม่เข้าใจในบทเรียนเรื่องใด
เรื่องหนึ่ง นักเรียนไม่สนใจการเรียน นักเรียนมีนิสัยการเรียนที่ไม่ดี  นักเรียนไม่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์  นักเรียนขาดทักษะการปฏิบัติ

             ในการพิจารณาปัญหาการวิจัยที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ควรจะพิจารณาจาก
ผลผลิตที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เป็นสำคัญ  โดยต้องพิจารณาจากคุณลักษณะผู้เรียนว่า
เป็นไปตามจุดประสงค์ของการจัดการเรียน หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือไม่  หาก
ไม่เกิดตามคุณลักษณะที่เราต้องการ ต้องพิจารณาดูว่าสาเหตุเกิดจากปัจจัยใด หรือกระบวนการใด เพื่อหาประเด็นปัญหาการเรียนการสอนที่ครูสามารถแก้ไขปัญหาด้วย
ตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น

 ตัวอย่าง ครูประสิทธิ์ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เขียนลายมือไม่สวย เขียนลายมืออ่านไม่ออก

และนักเรียนบางคนใช้พยัญชนะบางตัวผิด ซึ่งได้วิเคราะห์ปัญหา เชิงระบบได้ดังนี้

                             

                                1. ปัจจัย                  1.1 สื่อการเรียนไม่มีคุณภาพ

                                                             1.2  สถานที่เรียนไม่เหมาะสม

                                                             1.3  บรรยากาศการเรียนไม่ดี

                                                             1.4  เวลาเรียนไม่เหมาะสม

                                                             1.5 ครูผู้สอนลายมือไม่สวย

                                                             1.6  นักเรียนไม่มีนิสัยรักการเขียน  

                                2.  กระบวนการ         2.1  ครูสอนตามคู่มือครู

                                                             2.2  กิจกรรมการเรียนไม่น่าสนใจ

                                                             2.3  ครูไม่ใช้แบบฝึกเพิ่ม

                                                             2.4  ครูสอนขาดความเอาใจใส่  

                                3.  ผลผลิต              นักเรียนลายมือไม่สวย   

                จากตัวอย่างสามารถวิเคราะห์ สรุปได้ว่า  ผลผลิต ได้แก่ นักเรียนลายมือไม่สวย 
เป็นปัญหา มีผลสาเหตุของ กระบวนการ หรือ ปัจจัย หรือทั้งสองส่วนร่วมกัน ตัวอย่างปัญหา
การเรียนการสอนในชั้นเรียนเรื่องอื่นๆ เช่น

ด้านพุทธิปัญญา เช่น
1. นักเรียนบวกเลข 2หลักไม่เป็น
2. นักเรียนจำศัพท์ภาษาอังกฤษในหมวดผลไม้ไม่ได้
3. นักเรียนจำชื่อต่างๆในตารางธาตุไม่ได้
4. นักเรียนไม่เข้าใจการเรียนเรื่องการคูณพหุนาม
5. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำในเรื่องการหารยาว
6. นักเรียนไม่เข้าใจการเรียนเรื่องพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่
7. นักเรียนไม่สามารถสรุปผลการทดลอง เรื่องการเกิดปฏิกิริยาของน้ำได้

ด้านจิตปัญญา เช่น
1. นักเรียนไม่ชอบเขียนตัวพยัญชนะไทย
2. นักเรียนเข้าชั้นเรียนสาย
3. นักเรียนไม่สนใจในการเรียน
4. นักเรียนไม่ชอบทำการบ้าน
5. นักเรียนมีเจตคติไม่ดี ในการเรียนภาษาอังกฤษ
6. นักเรียนขาดความรับผิดชอบการทำเวรความสะอาดห้องเรียน
7. นักเรียนขาดความกระตือรือร้น ในการเรียน
8. นักเรียนขาดความช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนในชั้นเรียน
9. นักเรียนไม่ชอบการมีส่วนร่วมในการเรียน

ด้านทักษะปฏิบัติ เช่น
1. นักเรียนอ่านออกเสียง ร ล ไม่ชัด
2. นักเรียนขาดทักษะในการสรุปสาระเนื้อหา
3. นักเรียนขาดทักษะในการบันทึกผลการเรียนรู้ ผลการทดลอง
4. นักเรียนขาดทักษะการพูดต่อที่ชุมชน
5. นักเรียนขาดทักษะในการวาดภาพ
6. นักเรียนขาดทักษะการพูดในโอกาสต่างๆ

เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ. วิจัยเพื่อการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2542.
กาญจนา วัฒนายุ. การวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน. นครปฐม :
สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา, 2544.
เบญจนี บุญอบ. เอกสารประกอบการฝึกอบรม เรื่อง การจัดทำแผนการเรียนรู้.
อัดสำเนา, 2548.
มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี. การวิจัยในชั้นเรียน (ออนไลน์). แหล่งที่มา :
www.kru.ac.th/commit/education/e-training/e-training.html. 8 มีนาคม 249 8 มีนาคม 2549.


คำสั่ง เมื่อทำการศึกษาสาระตามใบความรู้ที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทางไกลทำกิจกรรมตามแบบฝึกปฏิบัติที่ 3
เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ส่งผลการปฏิบัติกิจกรรมได้ที่
[email protected] ภายใน วันที่ 25 เมษายน 2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24630เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท