การประชาพิจารณ์หลักสูตร(2551) ในระดับสถานศึกษา


หากผู้เกี่ยวข้อง(Stakeholder) รู้ เข้าใจ ยอมรับในคุณค่าของหลักสูตรร่วมกัน ผมเชื่อว่า จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนหลักสูตร 2551 ซึ่งจะมีการทดลองนำร่องในปีการศึกษา 2552

      จากบทเรียนของประเทศนิวซีแลนด์ ที่พบว่า ในการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติจะต้อง “สร้างความเข้าใจ (และการยอมรับ) ในหลักสูตรใหม่ร่วมกันในทุกระดับ” ซึ่งจะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการใช้หลักสูตร

สำหรับในประเทศไทย จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา เรามักจะพบว่า “ไม่ว่าหลักสูตรจะออกแบบได้ดี หรือมีความคมชัดมากเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อถึงขั้นการนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum  Implementation) ก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร”  สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะ “ผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ(Stakeholder) ไม่เข้าใจหลักสูตร ไม่ตระหนักในคุณค่าของหลักสูตร หรือไม่เกิดการยอมรับหลักสูตรร่วมกัน”

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ในการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ไปสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษา ผมคิดว่า “การจัดทำประชาพิจารณ์(Public Opinion)  หรือการจัดสนทนากลุ่ม(Focused Group Discussion)” น่าจะเป็นสิ่งจำเป็น เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ รับรู้ เข้าใจ และเห็นคุณค่าของหลักสูตร เกิดการยอมรับหลักสูตรใหม่ร่วมกัน

ในการจัดประชาพิจารณ์หลักสูตร  ควรจัดประชาพิจารณ์อะไรบ้าง และ ใครควรเข้าร่วมกิจกรรมประชาพิจารณ์ ในส่วนของสิ่งที่มุ่งประชาพิจารณ์นั้น ผมคิดว่า ควรทำการประชาพิจารณ์ในเรื่องต่อไปนี้

(1) วิพากษ์หรือประชาพิจารณ์หลักสูตรแกนกลางประเทศ ว่ามีหลักการ จุดเน้น(คุณลักษณะ หรือสมรรถนะที่มุ่งเน้น) หรือมีแนวปฏิบัติอย่างไร ในทัศนะของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง เห็นว่ามีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไรบ้าง....การประชาพิจารณ์ในส่วนนี้ เป้าหมายหลัก คือ “เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลาง 2551”

(2) วิพากษ์ หรือประชาพิจารณ์ กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น ที่พัฒนาโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด...จุดมุ่งหมายก็คือ “เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบหลักสูตรท้องถิ่น” เห็นคุณค่า เห็นจุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่ควรปรับปรุง ในอนาคต

(3) วิพากษ์ หรือประชาพิจารณ์ ร่างหลักสูตรสถานศึกษา(ซึ่งยกร่างโดยคณะบุคคลคณะหนึ่ง) ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด

การจัดทำประชาพิจารณ์ หรือจัดสนทนากลุ่มเพื่อทำความรู้จักในเชิงวิเคราะห์หลักสูตรตามแนวทางข้างต้น ผมเชื่อว่า จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกระดับ รู้จักหลักสูตรเป็นอย่างดี ทั้งหลักสูตรแกนกลางประเทศ กรอบหลักสูตรท้องถิ่น และหลักสูตรสถานศึกษา....ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เช่นนี้ จะนำไปสู่การสร้างพลังในการขับเคลื่อนหลักสูตรในระยะต่อไป

ในประเด็นคำถามที่ว่า "ใครคือ ผู้เกี่ยวข้อง(Stakeholder)ที่ควรเข้าร่วมในการวิพากษ์หลักสูตร" ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่า น่าจะประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา แกนนำเครือข่ายผู้ปกครอง แกนนำชุมชน และแกนนำนักเรียน

 

        ในฐานะของผู้สนับสนุนการใช้หลักสูตร ผมอยากเห็นจริง ๆ ว่า “โรงเรียนใดบ้างจะทดลองดำเนินการประชาพิจารณ์หลักสูตรอย่างจริงจัง ตามแนวทางข้างต้น..อีกทั้งอยากรู้ต่อไปว่า ถ้าทำเช่นนี้แล้ว หลังจากใช้หลักสูตรไป 1 ปี โดยมีการขับเคลื่อนหลักสูตรอย่างเป็นระบบ  ผลจะเป็นอย่างไร....

หมายเลขบันทึก: 245743เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 06:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ  ดร.สุพักตร์

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านค่ะ
ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อคนรุ่นใหม่
ที่จะต้องดูแลประเทศชาติต่อไป
ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ.........

ครูแป๋ม

  • ขอบคุณครับ ที่เข้ามาเยี่ยม ให้กำลังใจ

เรียนท่าน ดร.สุพักตร์ ที่เคารพ

ถึงแม้ผมไม่ได้เป็นครู แต่ผมก็เป็นห่วงเด็กที่จะโตขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติบ้านเมืองต่อไป ในฐานะผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่ง ผมขอแสดงความคิดเห็นว่า

" ไม่ว่าหลักสูตรปีไหนๆที่ผ่านมาหลักการดีหมด แต่พอนำมาปฎิบัติจริง บอกตรงๆเลยว่า

ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่แตกต่างกัน"

ปัญหาอยู่มันก็คล้ายๆกัน อย่างไรในฐานะของประชาชน ผู้ปกครองนักเรียน ก็ขอฝากให้ท่านผู้มีความรู้ความสามารถ มีโอกาส ช่วยกันดูแลด้วย สงสารชาติบ้านเมืองนะครับ

ขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง

นพรัตน์สิงขร

( ราษฏรของชาติ)

  • ขอบคุณท่าน นพรัตน์สิงขร ครับ ที่เข้ามาเยี่ยมและให้ข้อคิดเห็น

เรียน อาจารย์ ดร.สุพักตร์

 หนูเข้ามาเป็นน้องใหม่ของ G2K เดินตามรอยของอาจารย์เพื่อเพิ่มวิทยายุทธ์ให้แข็งแรงขึ้นค่ะ ได้อ่าน+เขียน(พิมพ์) แสดงความคิดเห็น ทำให้เห็นหนทางสว่างไสวขึ้นมาก

เห็นด้วยกับอาจารย์นะคะ ว่าการทำประชาพิจารณ์หลักสูตร 51 เป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เคยเจอในอดีต แต่มีข้อควรระมัดระวังก็คือ Stakeholder ที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ จะต้องมาจากทุกกล่ม และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจึงจะเกิดผลสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมีเพียงผู้บริหารและครู ....หากผู้ทำการประชาพิจารณ์หลักสูตรเป็นเพียงคนบางกลุ่มแล้ว  การประชาพิจารณ์ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสร้างปัญหาการศึกษาชาติอีกต่อไป

 

คุณ Wilaiporn

  • ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น
  • การประชาพิจารณ์หลักสูตร จะต้องพยายามให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เข้ามามีบทบาทร่วม

สวัสดีค่ะดร.สุพักตร์

  • เป็นแนวคิดที่ดีเยี่ยม..และขอขอบคุณท่านมากๆที่ขยายแนวคิดสู่กัน
  • สำหรับครูควรมีบทบาทสำคัญที่จะต้องเข้าใจให้ชัดเจนและมีส่วนร่วมในการประชาพิจารณ์มากที่สุด..ด้วยว่าทุกท่านเป็นผู้ปฏิบัติ..การเห็นจุดดีจุดอ่อนตั้งแต่เริ่มต้นย่อมเป็นนิมิตฟหมายที่ดีที่คาดว่าจะนำไปปฏิบัติอย่างได้ผล..เพราะสุดท้ายแนวคิดจะดีการขับเคลื่อนจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่..ผู้ปฏิบัติจะต้องนำไปปรับใช้ในบริบทที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด
  • ขอขอบคุณอาจารย์มากๆที่ส่งเรื่องสำคัญมาให้ได้ศึกษาเพิ่มเติม

หลักสูตรที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะครูและผู้เกี่ยวข้องยังไม่เข้าใจกระบวนการที่ชัดเจน แม้หลักสูตรใหม่นี้ก็เช่นกัน หากครูยังไม่มีโอกาสรับความรูโดยตรง ได้ด้วยตนเองเชื่อแน่ว่าเกิดความเข้าใจผิดเบี่ยงเบนได้เช่นกัน

สังเกตจากการที่ตัวเองได้เข้าไปเรียนรู้ในโลกไซเบอร์ พบว่าเมื่อได้นำความรู้วามเข้าใจมาแลกเปลี่ยน กลับพบว่าครูทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจกระบวนการทำแม้แต่ในเนื้อหาหลักสูตร

ผู้บริหารบางคนในระดับโรงเรียนก็โยนความรับผิดชอบไปที่คนใดคนหนึ่งในโรงเรียน ครูผู้ร่วมงานเองก็ขาดความเข้าใจ ผลสุดท้ายปล่อยให้ใครคนหนึ่งในโรงเรียนทำขึ้นมา และใครคนนั้นเมื่อทำไม่ได้ ทำไม่ทัน ก็ขอเลียนแบบ ขอหลักสูตรจากที่อื่นมาใช้ ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเอวังแต่ ผลที่เกิดกับเด็กน้อยหาได้เอวังด้วยประการฉะนี้

ขอบคุณค่ะ และโปรดชี้แนะครูต้อยด้วยค่ะ

Stakeholder

ตามที่ท่านได้กรุณาให้ความรู้นั้นดูว่าสมบรูณ์ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิด และการสอดแทรกความรู้ความเข้าใจในการทำพิมพ์เขียว ส่งผลให้บ้านแข็งแรงน่าอยู่ได้จริง  แต่ยังไม่เห็นมีใครทำ นอกจากครูวงใน แล้วเชิญผู้นำชุมชนมาลงลายเซ็นก่อนงานเลี้ยงจะเลิกลา

ได้แต่ภาวนาให้สิ่งที่พบเห็นมีเพียงโรงเรียนไม่กี่โรงที่ทำแบบนี้นะคะ

กรุณารักษาสุขภาพด้วยค่ะ

ที่สำคัญต้องดูที่จุดมุ่งหมายด้วย ในสังคมปัจจุบันนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาต่อ และค่านิยมการรับราชการ  ตั้งแต่ หมอ อัยการ ทหาร  ตำรวจ ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคงสามารถเขียนกฏหมายปกป้องตนเองได้ ทำผลงานแอบอ้างเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะได้เงินเดือนสูงๆ การเรียนการสอนจึงมุ่งไปสู่ความสำเร็จในการสอบเรียนต่อ  ซึงมันคนละเรื่องกับหลักสูตร  จากการนิเทศการศึกษาพบว่า 

Stakeholder  ต้องการและชื่นชมผลงานของโรงเรียนที่เป็นอย่างที่กล่าว 

สุดท้ายแล้วเราลังสร้างคนเข้าสู่ระบบของสังคมที่เห็นแก่ตัวใช่หรือไม่  หลายคนที่จบวิศวะฯ  เป็นลูกจ้างของบริษัทที่มีเจ้าของจบ ป.4 หาคนที่จบมหา ลัย แล้วสร้างงานเองได้  มีไม่กี่คน ดูๆแล้ว การสร้างหสักสูตรการศึกษาจึงควรเป็น  "วาระแห่งชาติ" เพราะการศึกษาคือความมั่นคงของประเทศ ครับ 

ได้อ่านหลักสูตรแล้ว ปรับปล่อยเปลี่ยนบ่อยเหลือเกิน ตามไม่ทัน ในการที่จะให้การใช้หลักสูตรประสบผลสำเร็จควรเอาผู้ปฏิบัติ คือครูเข้าอบรมให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

อาจารย์คะ ดิฉันเรียน ป.เอก บริหารการศึกษา ม.บูรพา ค่ะ สนใจอยากจะทำ Dissertation

เกี่ยวกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวของหลักสูตร 2551 อยากเรียนขอคำแนะนำจากอาจารย์ค่ะ ว่าควรจะทำในรูปแบบไหนดีน่ะค่ะ

  • พัฒนา Action Model ในการขับเคลื่อนหลักสูตร(หา Concensus แล้ว ทดลองสัก 1 โรงเรียน
  • พัฒนารูปแบบการปลูกฝังทักษะชีวิต
  • พัฒนาบทบาทร่วมของเครือข่ายผู้ปกครอง ในการขับเคลื่อนหลักสูตร

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์ สำหรับคำแนะนำดีดี จะนำไปเขียนโครงร่างค่ะ เป็นกำลังใจในการสร้างความรู้ใหม่ ๆ ของอาจารย์นะคะ *-*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท