เล่าเรื่องระหว่างวันที่๒๓-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

      

 

๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒

เรียน  เพื่อนครู ผู้บริหาร ที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒  ออกจากบ้านเวลา ๐๔.๓๐ น. เดิมตั้งใจจะไปร่วมประชุม ผอ.เขต ที่โรงแรมแอมบราสเดอร์ สุขุมวิท แต่มาคิดอีกทีได้มอบท่านรองฯยรรยง เจริญศรี ไปประชุมแทนแล้ว จะไปอีกทำไม เพราะวันนี้ก็มีเรียน  มอบแล้วก็ควรแล้ว     ตัดสินใจเดินทางกลับวิทยาลัยมหาดไทยที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  ถึงวิทยาลัย ๐๗.๓๐ น. ได้เวลาอาหารเช้าพอดี  เขามีคติการกินเพื่อสุขภาพว่า หนักเช้า  เบาเที่ยง  เลี่ยงเย็น  จัดการข้าวต้ม ๑ ชาม กาแฟ ๑ ถ้วย ข้าวเหนียวปิ้ง  ๑ ห่อ อิ่มพอดี  หลังเข้าแถวเคารพธงชาติมีเรียนเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริหารภาครัฐแนวใหม่  วิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  อยู่เมือง  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เนื้อหาสาระหนักไปทางการเน้นถึงความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศทั้ง MIS (Management Information System) และ GIS (Geographic Information System) ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้วิชานี้ เพราะพื้นความรู้มีไม่เพียงพอ และศัพท์เทคนิคไม่คุ้นเคย  แต่ก็เบาใจเพราะอาจารย์มอบ power point ให้ไปศึกษากันเอาเอง   อาหารกลางวันเป็นข้าว  ไข่ราดน้ำพริกหวาน เนื้อปลาผัดต้นหอม  ต้มผักกาดดอง  และข้าวซอย  ๑ ถ้วย  ท่านผู้ว่าฯพินัย  อนันตพงศ์ เล่าให้ฟังว่าเพิ่งไปชุมพรมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว  ผมปรารภว่าอยากลงไปทำ Action Learning สักสัปดาห์ที่ชุมพร ท่านบอกว่าเขาคงสลับกันไปเคยอยู่ใต้อาจไปเหนือหรืออีสาน  บ่าย ดร.สุรพล  กาญจนจิตรา  บรรยายเรื่อง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่านยกกรณีเปรียบเทียบการเมืองการปกครองระหว่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ  เย็นหลังออกกำลังกายขับรถออกไปแหลมฉบังเพื่อหาซื้อยาสามัญประจำตัว  กลับเข้ามาทานข้าวนิดหน่อยเพราะต้องกินยา ปล่อยให้ท้องว่างไม่ได้  กลางคืนเริ่มทำ IS ในหัวข้อที่อาจารย์เห็นชอบไว้  อยู่วิทยาลัยเดือนนี้อากาศเริ่มร้อน แต่ก็ไม่มากเพราะอยู่ชายทะเล  ต้นไม้เริ่มเปลี่ยนสีของใบ  สอบถามพรรคพวกที่ประชุม ผอ.เขตว่ามีอะไรแปลกใหม่หรือไม่ เขาก็บอกว่าเหมือนเดิม  ดูรายชื่อผู้ผ่านการสอบเป็น ผอ.เขต รุ่นใหม่ มีคนที่รู้จักหลายท่านก็โทร.ไปแสดงความยินดีกับเขา ถือว่ายอดเยี่ยมมากที่ผ่านด่านเข้ามาได้

วันอังคารที่ ๒๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒  เช้านี้ก็เหมือนทุกเช้าทานอาหารแล้วไปเข้าแถวร้องเพลงชาติ สวดมนต์ ลงชื่อเข้าห้องเรียน  อาจารย์ประพนธ์  ผาสุกยืด มาช้าเพราะรถที่ไปรับประสบอุบัติเหตุ พวกเราจึงออกแนะนำตัวกันไปเรื่อย ๆ เมื่ออาจารย์มาถึงก็บรรยายรวดเดียว  เป็นการเรียนเรื่องการจัดการความรู้กับภาวะผู้นำ  ภาคเช้าเป็นทฤษฏี  บ่ายปฏิบัติจริงแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ผลัดกันเล่าความสำเร็จในชิ้นงานคนละเรื่อง มาสรุปเป็นหางปลาออกไปรายงานหน้าชั้น  ผมออกรายงานเป็นตัวแทนกลุ่ม ๓  เวลาผมออกหน้าชั้นเพื่อน ๆ อยากให้เล่านิทานให้ฟัง  ก็เป็นนิทานสั้น ๆ สนุก ๆ ทะลึ่งตึงตัง  เย็นเสื้อชุดลำลองที่ตัดไว้มาส่ง  กลับขึ้นไปเอากระเป๋าที่ห้องพักชั้น ๔ ไฟฟ้าดับต้องขึ้นและลงบันได  ขับรถกลับเมืองนนท์  ถึงบ้านแล้วออกไปบางลำพู รับคุณลิขิต  อ่ำหิรัญกุล  นิติกรจาก สพท.ชุมพร เขต ๑ ไปทานข้าวที่ครัวจันทเกษม ใต้หอพักคุรุสภา  พบคุณศักดิ์ชัย  เสนีวงศ์ ผอ. โรงเรียนบ้านหาดภราดรภาพ ชุมพร  ผอ.พิษณุ  ตุลสุข  ได้ทักทายกันตามสมควร  กลับเข้าบ้านเพื่อเตรียมเสื้อผ้าเดินทางไปเชียงใหม่พรุ่งนี้ 

วันพุธที่ ๒๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒   ออกจากบ้าน ๐๔.๓๐ น. ด้วยรถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่)  เพียงครึ่งชั่วโมงก็มาถึงสนามบินดอนเมือง คณะมากันแล้วกำลังเช็คอิน ผมนำกระเป๋าเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์  แล้วไปเช็คอิน ได้ที่นั่งใกล้หน้าต่าง  เข้าไปรอที่รับรองผู้โดยสารด้านใน  จับกลุ่มพูดคุยกันในหมู่นักศึกษา นปส.๕๓  พวกเราประมาณ ๓๐ คนแยกมาขึ้นเครื่องที่ดอนเมืองเพราะสะดวกและใกล้บ้าน  ส่วนใหญ่นั่งรถบัสจากวิทยาลัยมาขึ้นที่สุวรรณภูมิ   เครื่องของเราออกก่อนประมาณ ๑ ชั่วโมง คือ ๐๖.๓๐ น. ใช้เวลาเดินทางเพียง ๕๕ นาทีก็ถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่  สภาพอากาศของเชียงใหม่  ดูแห้งแล้งมาก มองจากเครื่องบินไม่เขียวเหมือนหน้าฝน  สภาพอากาศเต็มไปด้วยหมอกควัน  ที่สนามบินมีรถตู้มาจอดคอย ๑๕ คัน  ผมมีรายชื่ออยู่คันที่ ๘  แต่ไม่เห็นว่ารถอยู่ไหน จึงอาศัยรถคันหมายเลข ๕ ไปก่อน ภาคเช้าพวกเรามีนัดกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิบูลย์  สงวนพงศ์ และคณะที่ศาลากลางจังหวัด  แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นหอประชุมริมน้ำในศูนย์ราชการ  เป็นอาคารสร้างใหม่จุคนได้ ๓๐๐ ที่นั่ง มีห้องใต้ดินสำหรับเป็นห้องน้ำและห้องอื่น ๆ แต่เพิ่งเปิดใช้งานกับพวกเราเป็นกลุ่มแรก  เสียเวลาคอยคณะจากสุวรรณภูมิประมาณ ๑ ชั่วโมง แต่ก็มีน้ำชากาแฟและของขบเคี้ยวไว้บริการ  เมื่อพร้อมแล้วท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายชูชาติ  กีฬาแปง บรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัด ตามด้วย ททท. และประธานหอการค้าจังหวัด  ปัญหาเฉพาะหน้าของเชียงใหม่ขณะนี้คือหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าที่เพิ่มมลพิษอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังจะมาเยือนคือผลผลิตลำไยและลิ้นจี่คาดว่าจะออกมามากจนล้นตลาด เพราะปีนี้อากาศหนาวนาน ทั้งลิ้นจี่และลำไยออกดอกมาก  ทางจังหวัดอยากจะเปิดการเจรจาค้าขายกับพม่าและจีนโดยตรง  แต่ก็ทำไม่ได้เพราะเรื่องการติดต่อต่างประเทศอยู่นอกอำนาจหน้าที่ของจังหวัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา  ลำพูน  ลำปาง น่าน และแพร่ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประตูทองการค้าสู่โลก โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา น่าอยู่ทุกถิ่นที่” ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๑ คือ สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๒ เพิ่มมูลค่าฐานเศรษฐกิจเดิม  ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ สนับสนุนทั้งฐานเศรษฐกิจเดิมและเศณษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน  การบรรยายจบลงเกือบบ่ายโมง  หลังอาหารเที่ยงพวกเราขึ้นรถตู้ตามหมายเลขที่กำหนด ผมได้หมายเลข ๘ รถวิ่งตามกันไปรวม ๑๕ คัน มีตำรวจทางหลวงนำ มุ่งหน้าไปดอยอ่างขาง  ใช้เส้นทาง ๑๐๗ สันทราย  แม่แตง  เชียงดาว  ฝาง  ตลอดเส้นทางมีทุ่งนาสลับป่า ถนนคดเคี้ยวไปตามไหลเขา  ป่าผลัดใบมีร่องรอยของไฟป่าตลอดทาง พืชไร่ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวโพด  พืชสวนสองฝั่งถนนมีทั้งลำไยและลิ้นจี่ ออกดอกเต็มต้น สอดคล้องกับที่ได้ฟังบรรยายมาเมื่อเช้านี้  มาจอดพักรถที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เลยอำเภอไชยปราการ ก่อนถึงอำเภอฝาง  จากนั้นรถเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข ๑๒๔๙ มุ่งดอยอ่างขาง พอเลยหมู่บ้านถนนจะลาดชันขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ เป็นความชันที่มีระยะทาง ๒ – ๔ กิโลเมตรต่อลูกเขา นอกจากรถมีสภาพดีแล้ว คนขับต้องคุ้นเคยเส้นทาง   ที่น่ากลัวเพราะทางจะโค้งหักศอกและทำมุมสูงเกิน ๔๕ องศา  เป็นอย่างนี้ตลอดเส้นทาง  เคยคิดจะขับรถมาเองมาเจอของจริงต้องเปลี่ยนใจ และหากไม่จำเป็นก็คงไม่มาเที่ยวเล่นอีก  แต่ก็อุ่นใจตรงที่สองข้างทางต้นไม้ใหญ่ ๆ ขึ้นอยู่หนาแน่น หากเกิดอุบัติเหตุหวังว่าจะไปติดไปค้างอยู่กับต้นไม้  ใช้เวลาไต่ระดับขึ้นสันเขาไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๒ ชั่วโมงอากาศที่ร้อนกลับเย็นลง แปลว่าเราขึ้นมาอยู่ในที่สูง ระดับเหนือเมฆแล้ว ทางเริ่มลาดชันลงสู่หุบเขาเหมือนลงอ่าง ไม่นานก็เห็นชุมชนก้นอ่างมีสถานีอนามัย  โรงแรม สนามฟุตบอล ร้านค้า และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  จากป่าที่แห้งแล้งมาตลอดทาง ที่นี่กลับมีไม้ดอกสวยงามมากมายหลายชนิด ทั้งที่ปลูกในกระถางประดับสองข้างทาง และปลูกเป็นแปลงใหญ่ สลับสีกันไป ความเหนื่อยกลับหายไป นอกนั้นไม้ผลจำพวกท้อ มีปลูกต่อเนื่องเป็นไร่ขนาดใหญ่  ระบบจ่ายน้ำเห็นท่อวางเป็นแนว น่าจะให้น้ำทางท่อ  พวกเราไปฟังบรรยายสรุป ณ ที่ทำการของสำนักงาน  อ่างขาง เป็นชื่อตำบลๆหนึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ติดกับเขตแดนพม่า คือ ห่างกันเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร อยู่ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่  อ่างขาง ภาษาทางเหนือหมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยม ลักษณะของดอยอ่างขางนั้น เป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขายาวๆ ล้อมรอบไปด้วยเขาสูงทุกด้าน ตรงกลางของอ่างขาง เดิมเป็นเขาสูงดังเช่นที่เห็นทั่วไป ในบริเวณใกล้เคียง แต่เนื่องจากเป็นเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อยๆละลายเป็นโพรงแล้ว ยุบตัวลงกลายเป็นหลุม ในอดีต ดอยอ่างขางเคยมีหมู่บ้านชาวเขา ทั้งม้ง,เย้าและมูเซอ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และพื้นที่สามารถปลูกฝิ่นได้งาม เนื่องจากดินมีโครงสร้างที่เหมาะสมลักษณะอากาศ และภูมิประเทศก็เอื้ออำนวย ดอยอ่างขางมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตอนกลางคืน จะหนาวเย็นจัดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ประกอบกับมีการทำไร่เลื่อนลอยชาวไทยภูเขา ในที่สุดก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น เมื่อป่าไม้บนภูเขาเหลือน้อยฝนตกลงมา น้ำฝนก็ชะหน้าดินไหลลงสู่หุบเขาดิน ไม่สามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้ ทำให้ธาตุอาหารในดินลดน้อยลง เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินหมดไป ชาวไทยภูเขาก็หาพื้นที่ทำไร่ใหม่ต่อไป ซึ่งได้ส่งผลให้ดอยอ่างขาง มีสภาพเป็นดอยหัวโล้น มาเป็นระยะเวลาอันยาวนานจากอดีต  จากการเสด็จพระราชดำเนินของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมพสกนิกรและชาวไทยภูเขาหลายหมู่บ้าน ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า ชาวเขาส่วนใหญ่ปลูกฝิ่นแต่ยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของประเทศชาติ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในอนาคตได้ ดอยอ่างขางก็เกิดปัญหาดังกล่าวที่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขด้วยเช่นกันในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดิน และไร่จากชาวเขา ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นก็ทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดชรัชนี ดำเนินการใช้เป็นสถานีทดลอง ปลูกไม้เมืองหนาว ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวเขา เพื่อชาวเขาจะได้นำวิธีการไปใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ ทรงพระราชทานไว้ว่า “ให้ช่วยเขาช่วยตัวเอง”งานพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขา และพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้เริ่มต้นขึ้นด้วย โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขาตั้งแต่เมื่อ ได้โปรดเกล้าฯจัดตั้ง โครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปีพ.ศ. 2512 การดำเนินงานของดอยอ่างขาง ก็ได้พัฒนาเป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกลางปีพ.ศ. 2514 ไต้หวันได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาสภาพพื้นที่และความเหมาะสมในการปลูกไม้ผลเมืองหนาว หลังจากนั้นก็ได้ส่งเชื้อเห็ดหอม และพันธุ์พืชถวายโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้ทรงนำมาใช้ประโยชน ์ตามพระราชประสงค์ในโครงการหลวง โดยเฉพาะการเพาะเห็ดหอมนั้น เมื่อนำมาเพาะกับไม้ก่อ ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นของภาคเหนือก็จะได้ผลผลิตเห็ดหอมสดๆ ส่งออกตลาดได้เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้ทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว โดยเริ่มจากการปลูกแอปเปิ้ล และ พันธุ์ไม้ อื่น ๆ ตามมา วันนี้ดอยอ่างขางมีสีสันของสภาพพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาด้วยการ ใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมบางส่วน ที่เคยโล่งเตียนอันเป็นผลมาจากการ ถูกทำลายในอดีต ก็ได้กลับกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นป่าก็ได้รับการฟื้นฟู ทั้งด้วยการปลูกป่าด้วยไม้โตเร็ว และปล่อยทิ้งพื้นที่ที่เคยเป็นป่าให้เกิดเป็นป่าใหม่ โดยวิธีธรรมชาติสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าวิจัยพืชผลเมืองหนาว ที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อนำผลการทดลองค้นคว้า และวิจัยไปส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขา ในพื้นที่ไปปลูก เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นเพื่อ ชาวเขาจะได้ตั้งหลักแหล่งที่อยู่ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และต้นน้ำลำธารดอยอ่างขางนับได้ว่าเป็นพื้นที่“ที่สูง”เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศแหล่งหนึ่ง และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีแนวพระราชดำริให้การพัฒนาต่างๆในพื้นที่ จะต้องสอดคล้อง กับการอนุรักษ์พื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก บนภูเขา เพื่อทดน้ำมาใช้ในการเกษตรกรรม หรือการปลูกป่าฟื้นฟูป่าธรรมชาติ บนดอยอ่างขาง นอกจากมีสถานีเกษตรหลวงอ่าวขางแล้ว ยังมีหมู่บ้านชาวเขาที่ยังคงมีวิถีชีวิตน่าสนใจ และปลูกพืชผลเมืองหนาวให้ชมเช่นกัน เช่น มูเซอดำ บ้านขอบด้ง ห่างจากสถานี 3 กิโลเมตร ชาวปะหล่อง บ้านนอแล ติดชายแดนพม่า ห่างจากสถานีประมาณ 8 กิโลเมตร ชาวจีนฮ่อ บ้านหลวง ระยะทางห่างจากสถานี 6 กิโลเมตร ส่วนที่บ้านคุ้มคึกคักที่สุด มีร้านอาหาร และที่พักบริการด้วย บ้านคุ้มอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีดอยอ่างขาง เหมาะสำหรับการเที่ยวชมธรรมชาติ และศึกษาการปลูกพืชผลเมืองหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม–กุมภาพันธ์ เนื่องจากอากาศหนาวเย็น และดอกไม้ดอกนานาชนิดออกดออกสวยงามสะพรั่งไปทั้งดอย สำหรับสถานีเกษตรหลวงอ่างขางการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องติดต่อล่วงหน้า  ฟังบรรยายสรุปจบลงทำให้รักพระเจ้าอยู่หัวมากล้นเหลือรำพัน จากนั้นพวกเราขึ้นรถไปชมฐานปฏิบัติการของกองพลทหารม้าที่ ๒ รักษาพระองค์  บ้านนอแล ทางขึ้นเขาลงหุบไปอีกประมาณ ๓๐ นาที ฐานปฏิบัติการมีสนามเพลาะ มีศาลาที่ประทับส่วนพระองค์สำหรับทอดพระเนตรแนวชายแดนไทย-พม่า  จากบนเนินสามารถมองเห็นเขาหัวโล้นฝั่งพม่าได้ชัดเจน  สำหรับฝั่งไทยมีการปลูกผักแบบขั้นบันไดสลับกับสวนป่าให้เห็นทุกลูกเขา  ได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันตามสมควรจึงเดินทางต่อไปที่โรงผลิตปุ๋ยชีวภาพดอยหัวโล้น มีการปลูกผักกาดเขียวและสตรอเบอรี่ของชาวกะเหรี่ยงเผ่าปะหร่อง  ทำแปลงผักขวางไหล่เขา มีหลังคาพลาสติกโค้งคลุมในบางแปลง  มีการนำมูลสัตว์และเศษวัชพืชมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพในจุดนี้  ลงจากจุดนี้ได้เข้าพักที่รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งระดับ ๔ ดาว ปลูกที่พักตามไหล่เขา เป็นหลัง ๆ แยกกันอยู่หลายระดับ  อาคารแรกสำหรับบริหารจัดการ มีส่วนรับประทานอาหารไปด้วยในตัว  ผมลากกระเป๋าขึ้นไปอาคาร ๒ ห้อง ๒๗๓  พักกับบัดดี้เก่า นายอำเภอไพศาล  ศิลปวัฒนานันท์  ห้องพักสะอาดและกว้างขวาง  ไม่มีเครื่องปรับอากาศเพราะอุณหภูมิในห้องขณะนี้ ๑๘ องศาเซนเซียส  เก็บสัมภาระแล้วลงไปทานอาหารเย็น เป็นอาหารผสมทั้งเหนือทั้งกลางและฝรั่ง เป็นแบบบุฟเฟ่  มีการแสดงของเยาวชนชาวเขาให้ชมกันด้วย  อากาศจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว ๓ ทุ่ม อุณหภูมิภายนอกประมาณ ๑๕ องศาเซนเซียส เรียกว่ากำลังสบาย ๆ ผมกลับขึ้นห้องพักอาบน้ำและหลับไปด้วยความเหนื่อยกับการเดินทาง 

วันพฤหัสบดีที่ ๒๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒  ตื่นเพราะเสียงโทรศัพท์เตือนจากโรงแรม อาบน้ำแต่งตัวลากกระเป๋าแต่เช้าตรู่ไปทานอาหาร มีทั้งอาหารฝรั่งและไทย  อิ่มแล้วเดินชมสินค้าที่ชาวไทยภูเขานำมาจำหน่าย เป็นพวกเครื่องประดับที่ทำจากในเมืองหรือกรุงเทพฯ บางชิ้นเป็นของป่าจำพวกเขาสัตว์  อุดหนุนไปตามสมควรเพื่อกระจายรายได้สู่ชนบท มีเวลาเหลือสำหรับเก็บภาพเป็นที่ระลึก  ต้นเมเปิ้ลออกใบใหม่แล้ว หากเป็นฤดูใบไม้ร่วงสีสันคงสวยงามเหมือนญี่ปุ่น เช้าการศึกษาดูงานยังคงอยู่ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  แต่ลงลึกไปถึงการจัดการกับผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้เมืองหนาว  เดินชมโรงงานเป็นแผนก ๆ ไป พร้อมของสด ๆ ให้ลองชิม เช่น ลูกสตรอเบอรี่ สดหวานกรอบ  ส่วนผักกาดไม่มีใครชิมในโรงงาน  แต่ได้ชิมตอนอาหารเย็นวานและเช้านี้ทั้งสดทั้งกรอบ  จากนั้นไปชมแปลงไม้ดอกเมืองหนาวมีกุหลาบหลากสายพันธุ์ ดอกเล็กดอกใหญ่ สีสันงดงาม มีทั้งไม้ในร่มและไม้กลางแจ้ง มีแปลงเล็กและแปลงใหญ่  ใช้เวลาเก็บภาพอย่างไม่รู้เบื่อ แม้แสงแดดจะร้อนจัดไปหน่อย   หลังอาหารเที่ยงที่หน้าสวนดอกไม้ชื่อสวนสมเด็จ ๘๐ พรรษา พวกเราเดินทางกลับเชียงใหม่  ทางขาลงอันตรายมากหากประมาทหรือไม่ชำนาญทาง เพราะเป็นทางลาดลงเขาค่อนข้างยาว  ไม่สามารถหยุดรถด้วยเบรกได้ เว้นแต่ใช้เกียร์ต่ำช่วย  กลับถึงตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๖.๓๐ น.  เข้าพักที่โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน  มาพักห้อง ๕๐๑๑ คู่กับนายอำเภอไพศาล  ศิลปวัฒนานันท์   เย็นนี้มีงานเลี้ยงขันโตก  ผมงดเพราะมีนัดกับทีมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมที่มาประชุม สบมท. มีท่าน ผอ. นริศร์  ฤทธาภิรมย์ โรงเรียนพัทลุง  ผอ.โพยม  จันทร์น้อย จากนนทบุรี ทานข้าวเย็นกันที่สวนอาหารข้าวเม่าข้าวฟ่าง สาขาเชียงใหม่  สาขาเดิมเขาอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เขาพยายามจัดบรรยากาศให้ใกล้เคียงกัน  แต่ยังไม่แล้วเสร็จ  ได้พบทีมผู้บริหารจากเพชรบุรี เขต ๒ เหมือนกันแต่เขามีนัดกับผอ.ประภัสสร ไชยชนะใหญ่ สพท.ลำพูน เขต ๒ นั่งคุยก้นประมาณ ๔ ทุ่มกลับโรงแรมที่พัก ส.ส.วิทยา  ทรงคำ ให้คนเอาเครื่องลาบเหนือมาฝากไว้ให้ที่ฝ่ายต้อนรับของโรงแรม ตัวท่านเองยังติดประชุมที่กรุงเทพฯ ผมตามไปสมทบกับคณะ กป.๓ ที่นัดไว้ที่โรงแรมพิงค์พะยอม สังสรรค์กันจนเที่ยงคืนจึงกลับไปนอน  

วันศุกร์ที่ ๒๗  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒  อาหารเช้าที่โรงแรม วันนี้เดินทางไปจังหวัดลำพูน ต้องลงไปทางใต้อีกประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ผมก็ไม่เคยแวะมาก่อน  เขาพาไปไหว้พระธาตุหริภุญไชยและอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี  ทางจังหวัดเขาจัดการต้อนรับไว้อย่างดี มีดอกไม้ธูปเทียนให้เป็นชุด ๆ วันนี้ได้ทำบุญแต่เช้า  จากนั้นเดินทางไปศาลากลางจังหวัดลำพูน  ห้องประชุมเป็นแบบเก่าแต่จัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีจอคอมพิวเตอร์หน้าที่นั่งทุกที่ในการฟังบรรยาย  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายดิเรก  ก้อนกลิ่น มาต้อนรับและบรรยายพิเศษด้วยท่านเอง  งานหลักของท่านช่วงนี้คือการใช้วัฒนธรรมของลำพูนจูงใจนักท่องเที่ยว  ท่านได้เสนอเครื่องมือวิเศษให้พวกเราทราบคือเครื่องเรียกฝน ที่พระจากแม่ฮ่องสอนคิดขึ้น ท่านว่าได้ผลและเห็นกับตามาแล้ว  ผู้แทนนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ได้บรรยายสภาพการจ้างงานที่จะส่งผลให้คนตกงานเพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในเวลาอันใกล้นี้   ตอนเที่ยงไปทานอาหารกันที่ร้านดาวคะนองลำพูน ติดถนนใหญ่  อาหารมีทั้งพื้นเมืองประเภทแกงอ่อม แกงแค แกงฮังแลและอาหารทั่วไป  บ่ายเข้าไปศึกษาระบบบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน   ใช้บ่อบำบัดถึง ๗ บ่อจึงได้น้ำที่ปกติ  พวกเราศึกษางานท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจัด ผมเดินทางกลับก่อนคนส่วนใหญ่ เพราะเปลี่ยนเที่ยวบินมาลงที่ดอนเมือง  เครื่องออกจากเชียงใหม่ ๑๖.๔๕ น. ต้องถึงสนามบินก่อนเวลา ๑ ชั่วโมง แต่ก็มีโอกาสแวะไปกราบนมัสการพระเกจิชื่อดังของเชียงใหม่ ก่อนเข้าสนามบิน คือพระครูบาน้อย วัดศรีดอนมูล ท่านให้พรให้ธรรมะกับพวกเรา ที่สำคัญได้วัตถุมงคลมาด้วย ถึงดอนเมือง ๑๘.๐๐ น. มาแวะเดินเล่นที่ห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วานจน ๓ ทุ่มเพื่อหนีรถติดในวันสิ้นเดือน ชั้นล่างกำลังจัดมหกรรมอาหารเมืองเหนือพอดี  

 

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

     

 

 

 เพลง :  สมมติ

ศิลปิน : โดม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 245729เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ครูบนเขาภูพานทอง

อ่านเรื่องเล่าเรื่องระหว่างวันที่๒๓-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แถมได้ดูภาพวิวและดอกไม้สวยๆภาคเหนือ...อากาศที่ร้อนๆสดชื่นขึ้นเยอะเลย...ขอบคุณมากค่ะที่ฝากสิ่งที่พบเห็นแบ่งปันให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไป...ได้พบเห็นสิ่งที่สวยงามด้วยแบบไม่ต้องลงทุน

อ่านเรื่องเล่าของท่านผอ.เขตแล้ว  ฝันอยากไปดอยอ่างขาง อยากดูดอกไม้สวย  สัมผัสอากาศเย็น ๆ คงต้องหาโอกาสแม้จะลำบากในการเดินทาง ขอบคุณสำหรับความรู้  บรรยากาศชวนอ่านเพลงไพเราะ  มีโอกาสจะแวะเข้ามาอ่านอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท