การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงิน...ตอบคำถามข้อ 2


            ก่อนที่ตอบคำถามข้อที่ 2  ผู้วิจัยต้องขอขอบพระคุณทุกท่านนะคะที่อุตส่าห์อวยพรวันเกิดให้กับผู้วิจัย  อายุมากขึ้น  ผู้วิจัยก็ได้แต่หวังว่าความคิดความอ่านของตัวเองจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอาล่ะค่ะ! เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอตอบคำถามข้อที่ 2 เลยก็แล้วกันนะคะ

            สำหรับคำถามข้อที่สอง  ก็ยังคงเป็นคำถามเกี่ยวกับหน่วยงานสนับสนุนอยู่  จากความพยายามในการจับประเด็นคำถาม  ผู้วิจัยเข้าใจว่าคุณภีมกำลังบอกว่า  บทบาทของหน่วยงานสนับสนุนซึ่งมีหน้าที่โดยตรงและมีอยู่อย่างต่อเนื่องก็คือ  พัฒนาชุมชนและหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่  ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก  การสนับสนุนงบประมาณต่างๆก็คงจะเป็นในลักษณะของการให้การสนับสนุนเป็นรายกิจกรรมตามโครงการที่หน่วยงานมีในแต่ละปีตามความสามารถที่มีอยู่  และคงจะต่างหน่วยต่างทำต่อไปอีกนาน  หากเครือข่ายมีความเข้าใจในจุดนี้ก็คงจะพอใช้เป็นประโยชน์ได้บ้าง  คำถามก็คือ  ถ้าเรามีโอกาสทำตรงนี้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับที่อื่นๆเราจะทำอย่างไร?  เกิดผลอย่างไร?
            ผู้วิจัยขอตอบและแสดงความคิดเห็นดังนี้นะคะ
            1.ผู้วิจัยเห็นด้วยที่บอกว่าพัฒนาชุมชนและหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่มีบทบาทโดยตรงในการทำงานตรงนี้  แต่เฉพาะกองทุนหมู่บ้านและกลุ่มออมทรัพย์ (บางประเภท) เท่านั้นนะคะ  เพราะ  เป็นนโยบายของรัฐบาล  รัฐบาลสั่งการลงมาที่หน่วยงานไหน  หน่วยงานนั้นก็ต้องทำ  พูดง่ายๆ  คือ  มีเจ้าภาพชัดเจน  แต่สำหรับกรณีของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางนั้น  เป็นองค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาชน  และลักษณะการดำเนินงาน  ตลอดจนวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานก็ไม่สอดคล้องกับภารกิจของพัฒนาชุมชนที่มุ่งส่งเสริมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเท่านั้น (ข้อมูลนี้มาจากการสัมภาษณ์พัฒนาชุมชนจังหวัดค่ะ) ทำให้เครือข่ายฯไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร  ความจริงมีเจ้าหน้าที่ของพัฒนาชุมชนได้ชี้ช่องทางว่าหากเครือข่ายฯต้องการให้พัฒนาชุมชนทำงานร่วมกัน  ให้ไปติดต่อ.....(ขอโทษค่ะ  จำชื่อไม่ได้  ไม่ได้เอาเอกสารมาด้วยค่ะ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาชุมชนตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของพัฒนาชุมชนโดยตรง  แต่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่ม องค์กร  และประชาชน  แต่ก็มีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้เรายังไม่สามารถทำงานร่วมกันได้
            ในกรณีของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางนั้น  ทีมวิจัยของพวกเราได้เคยเข้าพบและพูดคุยกับท่านรองเจริญสุข  ชุมศรี  แล้ว  ท่านให้คำแนะนำว่าในการที่เครือข่ายฯจะขออนุมัติงบประมาณนั้นสามารถทำได้  เพราะ  ภารกิจ  รวมทั้งวัตถุประสงค์ของเครือข่ายฯสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ  ยุทธศาสตร์ภาค  ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด  และยุทธศาสตร์จังหวัด  แต่การที่จังหวัดจะอนุมัติงบประมาณให้ได้นั้นจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ  ซึ่งท่านรองฯเห็นว่า  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง (พมจ.)  เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่  ภารกิจที่สอดคล้องกับการทำงานของเครือข่ายฯ  ดังนั้น  ควรที่จะไปคุยและประสานงานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปางเพื่อให้หน่วยงานนี้เป็นเจ้าภาพให้  หากเครือข่ายฯต้องการที่จะทำโครงการอะไรก็ให้เสนอขึ้นมาผ่านพัฒนาสังคมฯ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้  เพราะว่ามีความถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้  หากตั้งคำถามต่อไปว่าตอนนี้เครือข่ายฯดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?  แล้วทำอย่างไร?  เกิดผลอย่างไร?  ผู้วิจัยก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้มากนัก  เพราะ  ช่วงหลังๆมุ่งไปที่ระดับกลุ่มมากกว่า  แต่เท่าที่ทราบ  คิดว่าน่าจะอยู่ในระดับเบื้องต้น  ทำโดยการที่ประธานเครือข่ายฯเข้าไปพูดคุยและเจรจาให้พัฒนาสังคมฯเป็นเจ้าภาพร่วมในการพัฒนาระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับกลุ่มและเครือข่ายฯ  ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  โดยว่าจ้าง อ.ดิเรก  ให้เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมให้ต่อ  เจ้าหน้าที่ของ พมจ. คนหนึ่งรับหน้าที่เป็นอาสาไอทีด้วย  สำหรับผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร  ยังไม่ทราบค่ะ  เพราะ  เพิ่มเริ่มต้นโครงการ  ที่ผู้วิจัยยกตัวอย่างนี้ก็เพราะว่าเห็นว่าเป็นความร่วมมือที่ชัดเจนที่สุด  ส่วนกรณีตัวอย่างอื่นๆยังคิดไม่ออกค่ะ 
             สำหรับในระดับองค์กรนั้น  ตอนนี้ใน 5 องค์กรที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการนี้  ผู้วิจัยเห็นว่ามีอยู่ 2 องค์กรที่ค่อนข้างจะเห็นผลที่เป็นรูปธรรมก็เลยจะขอยกตัวอย่างสัก 2 องค์กรนะคะว่าเขาทำกันอย่างไร? เกิดผลอย่างไร?
            องค์กรแรก  คือ  องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย  ตำบลล้อมแรด  อำเภอเถิน  จังหวัดลำปาง  ตอนนี้มีหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานอย่างชัดเจนอยู่ 2 หน่วยงาน  คือ  เทศบาลตำบลล้อมแรด  และ  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเถิน  จังหวัดลำปาง  (แต่ก็ยังคงมีลักษณะต่างคนต่างทำนั่นแหละค่ะ)
                  ·     เทศบาลตำบลล้อมแรด  จุดเริ่มต้นมาจากการที่องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชยเข้าไปพูดคุยกับทางเทศบาลว่าขณะนี้ทางกลุ่มทำอะไร  เพื่อเป็นการทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับทางเทศบาล  แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ  เทศบาลฯดูเหมือนว่าจะไม่ให้ความสนใจ  (ตามความรู้สึกของคณะกรรมการ) ทำให้คณะกรรมการไม่คิดจะสนใจและง้อเทศบาลเหมือนกัน  องค์กรยังคงทำงานไปเรื่อยๆด้วยความแข็งขัน  สมาชิกก็เพิ่มมากขึ้นๆ  ในอีกด้านหนึ่งแม้ว่าองค์กรจะไม่สนใจเทศบาล  แต่องค์กรหันไปเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนแทน  ซึ่งผู้นำชุมชนนี้เองเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับเทศบาล  กล่าวคือ  ผู้นำชุมชนได้ไปพูดคุยกับทางเทศบาลว่าต้องการของบประมาณมาพัฒนากลุ่มต่างๆที่อยู่ในชุมชน  โดยมีกลุ่มวันละบาทของบ้านดอนไชยรวมอยู่ด้วย  ซึ่งทางเทศบาลก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี  เจ้าหน้าที่กองสวัสดิการของเทศบาลได้ติดต่อมาทางประธานฯ  คือ  คุณกู้กิจ  ให้เขียนโครงการเข้ามาของบประมาณในการพัฒนาองค์กร  ผู้นำชุมชนก็มาแจ้งข่าวดีนี้เช่นกัน  โดยบอกให้องค์กรเขียนโครงการของบประมาณ 15,000 บาท  คุณกู้กิจจึงเขียนโครงการของบประมาณมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องอุปกรณ์สิ้นเปลืองของสำนักงาน  ขณะนี้ได้รับการอนุมัติโครงการและงบประมาณมาแล้ว  เรื่องต่อไปที่ทางองค์กรจะทำ คือ  การขอความอนุเคราะห์สถานที่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลในการทำร้านค้าสวัสดิการชุมชน  คูณกู้กิจ  และพี่นก  ยุพิน  บอกว่า  ตอนนี้ยังไม่ได้เขียนโครงการเข้าไป  แต่ได้คุยกันอย่างไม่เป็นทางการแล้ว  ได้รับคำแนะนำจากทางเทศบาลว่าขอให้ทางกลุ่มทำโครงการขึ้นมา  แต่ให้ระบุวัตถุประสงค์โครงการให้ครอบคลุมการทำประโยชน์ให้กับชุมชน  อย่าเขียนแบบว่าเมื่ออ่านแล้วเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ขององค์กรเพียงกลุ่มเดียว
                  ·     ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเถิน  จังหวัดลำปาง  ขณะนี้ได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณ (บางส่วน) ให้มาดำเนินการในเรื่องส่งเสริมอาชีพทำดอกไม้ประดิษฐ์  โครงการนี้คณะกรรมการของกลุ่ม  คือ  พี่นิด  เป็นคนเขียนโครงการ  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิก (บางส่วน) ของกลุ่มวันละบาทบ้านดอนไชย  เมื่อกลุ่มอื่นๆเห็นอย่างนี้ก็มาขอให้คณะกรรมการกลุ่มวันละบาทบ้านดอนไชยช่วยเขียนโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณไปยังหน่วยงานต่างๆให้  ซึ่งคณะกรรมการกำลังพิจารณาและให้ความช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆอยู่ค่ะ 
            องค์กรที่สอง  คือ  องค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่ทะ-ป่าตัน  ตำบลแม่ทะ-ป่าตัน  อำเภอแม่ทะ  จังหวัดลำปาง  ขณะนี้เทศบาลตำบลแม่ทะ-ป่าตันให้ความสนใจและมีแนวโน้มว่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณในการจัดสร้างที่ทำการขององค์กร  จุดเริ่มต้นมาจากการที่เทศบาลเข้ามาพบว่ากลุ่มมีการดำเนินการเรื่องการออมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชน  ตอนแรกก็มีความไม่เข้าใจกันบ้าง  เพราะ  เทศบาลคิดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเถื่อน  แต่เมื่อทางเทศบาลได้เชิญคณะกรรมการกลุ่มนี้ไปพูดคุย  ประธานกลุ่ม  คือ  คุณอุทัย  ใจเชื้อ  ก็อธิบายให้ทางเทศบาลเข้าใจ  เมื่อเทศบาลเข้าใจก็มีความสนใจที่จะสนับสนุน  โดยขอให้ทางกลุ่มปรับชื่อกลุ่มให้มีชื่อของเทศบาลพ่วงท้ายเข้าไปด้วย  (จะได้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ทางเทศบาลให้การสนับสนุน) ซึ่งกลุ่มก็ทำตามที่ได้รับการร้องขอ  ไม่มีปัญหาอะไร  เวลาที่มีคนตาย  ทางกลุ่มก็จะเชิญเทศบาลให้ไปมอบเงินสวัสดิการให้  เมื่อถึงวันออม  ทางกลุ่มก็จะประกาศเสียงตามสาย  เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เทศบาลเกิดความเชื่อใจและมั่นใจในการทำงานของกลุ่ม  ต่อมาทางกลุ่มได้กู้เงินจากเครือข่ายฯไปซื้อที่ดินเปล่าเพื่อสร้างเป็นที่ทำการถาวร  ในส่วนของอาคารสำนักงานนั้น  ทางกลุ่มได้ให้คนรู้จักเขียนแบบให้  หลังจากนั้นก็นำไปเสนอกับทางเทศบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง  ซึ่งทางเทศบาลบอกว่ายินดีให้การสนับสนุน  แต่ก็คงจะให้เป็นเงินไม่ได้  เพราะ  ผิดระเบียบ  แต่สามารถให้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างได้ (บางส่วน)   ถ้าหากว่ากลุ่มต้องการเงินก็พอจะมีหนทาง  เช่น  ถ้าทางเทศบาลต้องการซื้อต้นไม้มาใช้ในการตกแต่งถนนหนทาง  สถานที่ต่างๆ  ก็ขอให้ทางกลุ่มเพาะกล้าไม้มาขายให้กับทางเทศบาล  ถ้าทำอย่างนี้ไม่ผิดระเบียบ  เทศบาลสามารถซื้อต้นไม้จากทางกลุ่มได้  เป็นต้น
            ตอนนี้คิดออกแค่นี้ค่ะ  ขอจบการตอบคำถามและความคิดเห็นในข้อ 2 แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ  ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะเข้ามาเขียนใหม่ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24561เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขยันแบบนี้ดีคะอาจารย์...ถึงระยะทางไกลแต่ทำให้ไกล้ได้รับทราบข้อมูลได้เร็วและละเอียดมากคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท