ตำหุก เฮ็ดทุง


ผมยืนฟังเธอพึมพัม แล้วขอตัวกลับ เพราะไม่รู้ว่า ผมจะตอบคำถามแม่ใหญ่สาวยังไง...

สงกรานต์วันที่ ๑๔ เมษายน ผมและเพื่อนมุ่งหน้าไป จังหวัดอุบลราชธานี (เป็นครั้งแรกในชีวิต)

ระหว่างเดินทางก็มีการเล่นสงกรานต์กันตลอดทาง โดยเฉพาะอำเภอเดชอุดม ที่หนุ่มสาวเล่นสงกรานต์กันคลาคล่ำ ภาพของหนุ่มสาวแต่งตัวสมัยใหม่ เปิดเพลงฝรั่งเสียงดัง เต้นส่ายสะโพก โยกย้าย อย่างสนุกสนาน เป็นภาพที่เห็นจนชินตาในช่วงนี้  

เดินทางต่อไปยังอำเภอบุญฑริก อุบลราชธานี จุดหมายของเราคือ บ้านโนนทอง ตำบลห้วยข่า ติดชายแดนไทยลาว และกัมพูชา ที่ห่างจากจุดที่เราพักไม่เกิน ๑๐ กม. เราพักกันที่นี่ ๑ คืน เป็นคืนที่ระทึกใจเป็นที่สุด เพราะเกิดพายุฝนลมแรง จนนอนไม่ได้

เช้าๆผมเดินเที่ยวในหมู่บ้าน ตามประสาคนอยากรู้ว่า คนที่นี่มีวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง โอกาสดีที่ได้พบเจอ แม่ใหญ่สาว นั่งตำหุก ทอผ้าอยู่ ก็ตรงรี่เข้าไปชม พร้อมกับพูดคุย

อัธยาศัยคนชนบท เป็นมิตรและเป็นกันเอง กับคนแปลกถิ่นอย่างผม เราคุยกันหลายเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าทอผืนนั้น ทราบทีหลังเขาเรียกว่า"ทุงผะเหวด" ขนาดกว้างประมาณ ๒ ฟุตความยาวไม่ทราบเพราะ แม่ใหญ่เธอม้วนๆไว้ คาดว่าคงจะยาวน่าดู

แม่ใหญ่สาว ภูมิใจนำเสนอ"ทุงผะเหวด"  เธอพูดถึงลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้า อย่างภูมิใจ ภาพที่เห็นเป็นภาพลวดลายสัตว์ ม้า และช้าง ตลอดจน ภาพวัดวาอาราม เธอบอกว่า เธอคิดลายขึ้นมาเอง โดยดูจากในหนังสือบ้าง ส่วนภาพวัดวาอารามเธอก็ดูเอาจากวัดใกล้บ้าน ส่วนภาพสัตว์ เธอบอกว่า จะถักเป็นลายม้าและช้างเท่านั้น เพราะเป็นสัตว์ชั้นสูง และเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ความเป็นศิลปินพื้นบ้านที่ฝังอยู่ในสายเลือดแห่งศรัทธาของเธอ  

             

เธอบอกผมอีกว่า ทุงที่ได้นี้จะเอาไปถวายพระ ในงานบุญผะเหวด งานประจำปี เธอบอกอีกว่า "เธอมีความภูมิใจมากที่ได้ลงแรงถักทอทุงผืนนี้"

 ช่วงหลังๆทุงผะเหวด ไม่ค่อยมีใครทำ พอถึงเวลาต้องใช้ถวายพระ ก็ใช้วิธีการซื้อเอา ไม่มานั่งตำหุกเองให้เสียเวลา แม่ใหญ่สาวบอกว่า "คนเดี๋ยวนี้ อดทนน้อยลง"

ก่อนที่ผมจะลากลับ เธอพูดพึมพัมกับผมว่า "เด็กๆสมัยนี้ไม่ค่อยสนใจที่จะตำหุก ไม่รู้ว่า อีกหน่อยจะมีใครตำหุก เฮ็ดทุง อีกหรือเปล่า?"

ผมยืนฟังเธอพึมพัม แล้วขอตัวกลับ เพราะไม่รู้ว่า ผมจะตอบคำถามแม่ใหญ่สาวยังไง...

 

หมายเลขบันทึก: 24508เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ ผมเองเกิดในครอบครัวช่างทอผ้าของเมืองขอนแก่น เรื่องทอทุง หรือ ทอธุง หรือ ทอตุง นั้นแถวขอนแก่นมีน้อยมากอาศัยก็ซื้อเอาเวลาทำบุญผะเหวด ผืนหนึ่งก็ไม่แพงมากแต่ที่แพงคือคุณค่าทางด้านพหุลักษณ์สังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านนะครับ สนใจชุมชนของเราเชิญที่ ชุมชนอีสานศึกษา นะครับ

คุณ "ออต" ขอบคุณมากครับที่เข้ามาร่วม ลปรร. ช่วงนี้ผมมีโอกาสดีที่ได้ไปเที่ยวแถบทางอีสานบ่อยครับ ผมเป็นคนเหนือแต่กำเนิดครับ แต่ก็ชอบอะไรหลายอย่างที่อีสาน ผมชอบ "หมอลำ โปงลาง กันตรึม" ครับ สนุกสนาน ครึกครื้นดี

         ที่อีสานผมเองสนใจประเด็นหลายๆประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา วรรณกรรม และ ศิลปวัฒนธรรม เป็นโอกาสอันดีนะครับ ที่คุณออต เชิญชวนเข้าไปเยี่ยมชมชุมชนอีสานศึกษา

         รบกวนคุณ ออต ทำ Link ไปยังชุมชนด้วยครับ ผมคิดว่าหลายๆท่านสนใจที่จะเข้าไปเยี่ยมชมด้วยครับ

         ส่วนเรื่องการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นงานพัฒนาที่ท้าทายมากครับ  ทางโซนอีสานมี ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยอยู่ หากมีประเด็นงานพัฒนาที่ต้องการนำเอางานวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำงาน ติดต่อไปได้ครับ ที่ สกว.ภาค หรือติดต่อแลกเปลี่ยนกับผมผ่านทางอีเมลก็ยินดีครับ ที่ [email protected]

ขอบคุณมากครับที่ระบุชื่อผมไว้ในบล็อกลิงค์

อนึ่ง ถ้าสนใจงานศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ผมแนะนำให้อ่านงานของ อาจารย์สุริยา สมุทคุปต์ และอาจารย์พัฒนา กิตติอาษา ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาของอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ถ้าอยากรู้จักแก่นและพลวัตของวัฒนธรรมอีสานละก็ พลาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือชือ "ฮีตบ้าน คองเมือง : รวมบทความทางมานุษยวิทยาว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมอีสาน" อ่านแล้วเข้าใจง่าย แต่ลุ่มลึกทางวิชาการ เจืออรรถรสทางภาษา กลมกล่อม กำลังดี

น่าจะเหมาะกับจตุพรและผู้ที่สนใจงานแนวนี้นะครับ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยร่วมสมัยที่น่าสนใจ เช่น

               ผมได้อ่านมาบางเล่ม เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยแนะนำมาครับ

 
พี่วิสุทธิ์ ขอบคุณมากๆเลย น่าสนใจทุกประเด็นเลยครับ ผมคงต้องค่อยๆอ่านแล้ว จะได้นำข้อมูลมาย่อย มาคิด ใน Blog ของผมครับ ขอบคุณมากนะครับ

  ขอชื่นชมคนหนุ่ม(คิดว่าน่าจะหนุ่ม) ที่สนใจรากเหง้าอันเก่าแก่ของไทยเรา ไม่ว่าจะท้องถิ่นไหนก็มีความงามไม่แพ้กัน  แต่น่าเสียดายที่สมัยนี้คนเลือกที่จะดำรงชีวิตโดยการพึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีเพียงด้านเดียว  คิดไม่ออกว่ารากเหง้าวัฒนธรรมเหล่านี้มันน่าพิศมัยหรือจำเป็นตรงไหน  ความอยู่รอดที่ยั่งยืนจึงไม่ใช่การบันทึกในตำราหรือ VCD ผมว่าเราคงต้องช่วยกันทำให้มันมีความจำเป็นต่การดำรงชีวิตบ้าง

    ผมเคยคิดว่า  เอ๊ะ  ถ้าเราเชื่อกันว่าหากใครเอาผ้าที่ไม่ได้ทอมือมาไหว้ผู้ใหญ่ตอนปีใหม่แล้วจะย่อยยับอับจนลงแทนที่จะเจริญรุ่งเรือง มันคงทำให้แม่ใหญ่สาวนอนตายตาหลับนะ

ดิฉัน...เป็น"คนหนึ่ง"ที่ชอบใช้ผ้าไทย

เมื่อต้นเดือนเมษายน...ก็ได้ผ้าไทยทอมือ..

จากบ้านนาข่า จ.อุดร..ได้ฝากถึงคุณชายขอบ

2 ผืน...ไว้นุ่งเย็นๆ สบายตัว

ในเมืองร้อน...ร้อน...

 

    สวัสดีครับ  พี่จตุพร  การทอผ้านี้เป็นงานหัตถศิลป์มีความละเอียดอ่อนมาก  ยังมีหลายขั้นตอนที่ไครหลายคนไม่รู้ว่าทำยังไง  ผมกลัวสิ่งเหล่านี้จะหายไปจากความเป็นไทยมากเพราะ  ทุกวันนี้ผู้ที่เป็นนักเรียน  หรือนักศึกษาก็ไม่ได้ทราบขั้นตอนการทอผ้า หรือตำหูกเลย   ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท