คนท้องกับการแท้งทางสังคม


การท้อง การแท้งของผู้หญิง จึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่มันยังสะท้อนการแท้งทางสังคม หรือ การติดขัดของความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เอื้อต่อการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในอีกทางหนึ่ง


            คนทั่วไป จะดีใจที่จะได้เป็นพ่อเป็นแม่ (รวมถึงเป็นปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาของอีกชีวิตที่จะจุติบนโลกใบนี้)


               ถ้าจะถามผมและภรรยา เราต่างก็ดีใจ เป็นสุขคอยนับวันรอเขาจะคลอดออกมา


               ผมพาภรรยาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลในท้องถิ่นมาแล้วสองครั้ง เราพบอีกสองครอบครัวที่มาพบหมอในวันนัดพร้อมกัน หนึ่งครอบครัวเป็นลาหู่ อีกหนึ่งครอบครัวเป็นกะเหรี่ยง


                เมื่อวานนี้ ผมเพิ่งทราบข่าวจากภรรยาว่า ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่มาฝากครรภ์พร้อมกันกับภรรยาผมนั้น บัดนี้ เธอแท้งเสียแล้ว!


                ผู้หญิงจนๆคนหนึ่ง แท้งลูก ก็คงไม่ทำให้แผ่นดินไหว สังคมสะเทือนแต่อย่างใด แต่ถ้าเรามองลึกลงไปด้วยหัวใจมนุษย์ปุถุชนเดียวกัน เธอคงเจ็บปวดไม่น้อย


                 เท่าที่ผมทราบมาจากภรรยา เธอคนนี้ ต้องขี่รถมอเตอร์ไซด์จากอำเภอปางมะผ้า ไปทำงานรับจ้างที่อำเภอปาย ผ่านถนนที่คดเคี้ยว บางช่วงก็สูงชัน และเป็นหลุมเป็นบ่อ ระยะทางสี่สิบกว่ากิโล มันไม่ใกล้สำหรับผู้หญิงท้องสามเดือนกว่าเลย


                   อะไรทำให้เธอต้องตัดสินใจเสี่ยงต่อการแท้งลูก (และแน่นอน เป็นการทำร้ายทรมานสังขารตัวเอง มิพักรวมถึงการอาจถูกสังคมตราหน้าอย่างอยุติธรรมเอาง่ายๆว่าเป็น “แม่ประสาอะไร”) เช่นนั้น ทั้งๆที่พยาบาลผู้ดูแลครรภ์ก็ย้ำอยู่แล้วเรื่องให้ระมัดระวังเรื่องเช่นนี้ อาจจะด้วยความจำใจ ไม่มีทางเลือกมากพอสำหรับประทังชีวิต หรืออาจเพราะความประมาทของผู้หญิงและสามีเอง หรืออาจด้วยสาเหตุอื่นใด ผมก็มิอาจทราบได้


                     กระนั้น ก็ตาม ผมก็คิดตามประสาคนช่างคิดของผมไปเรื่อยแล้วว่า นอกจากเราจะมานั่งเสียดายกับกรณีเช่นนี้แล้ว เราจะทำอะไร (ในเชิงรุก) ได้อีก


                     มองในมิติประวัติศาสตร์ ผมคิดว่า ในสมัยก่อน (ซึ่งผมเกิดไม่ทัน) สังคมไทย เวลาผู้หญิงท้อง จะมีคนมากมาย โดยเฉพาะแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิง มาช่วยกันเป็น “ทีม” ฝากครรภ์ ดูแลกันทุกวัน ดึกดื่นก็ยังมาช่วยดู ถูกผิดว่ากันอีกเรื่อง แต่ก็ระดมความรู้กันจากหลายฝ่าย ที่น่าสนใจ คือ ไม่ผูกขาดว่าใครถูกใครผิดเสมอไป แต่เปิดช่องให้ถกเถียงแก้ไขได้อย่างยืดหยุ่น


                       แต่ในยุคปัจจุบันที่สังคมบูชาความเชี่ยวชาญ การตั้งครรภ์ การดูแลครรภ์ การฝากครรภ์ อะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับผู้หญิงท้อง เช่นนี้ เรื่องนี้ถูกยกให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ ของโรงหมอ (ซึ่งชาวบ้าน แม้แต่ผู้รู้ หมอตำแยก็ห้ามเถียง หรืออยากจะเถียงแต่ก็ไม่กล้า) ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่สามารถดูแลครอบคลุมสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อมผู้หญิงท้องได้ เธอถึงต้องไปทำงานตะลอนๆ อีกทั้งกลไกสังคมแบบเก่า ที่เคยเป็น “ทีม” ฝากครรภ์ดั้งเดิมในชุมชน บัดนี้ ก็อ่อนเปลี้ยลงไปแล้ว
                        ผู้หญิงชนบท คนจนๆที่มีอีกหนึ่งชีวิตน้อยๆที่จะเกิดมาจนอีกคนหนึ่ง จะเหลือที่พึ่งอะไรได้มากมายอย่างแต่ก่อน ลำพังเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถึงแม้จะช่วยให้อัตราการตายของเด็กลดลง แต่ถ้ามันทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีการดูแลครรภ์จากภายนอกมากขึ้น มันก็น่าคิดว่า จะทำให้ “ทีม” เดิมของชุมชนเสื่อมสลายลงหรือเปล่า

“” “”


                          ผมคิดว่า เทคโนโลยีด้านการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็น  หากเปรียบเทคโนโลยีด้านการฝากครรภ์นี้กับรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเข้าถึงถิ่นที่ทุรกันดาร แต่ต้องมีการสร้าง/ผลิตซ้ำทางเลือกอื่นๆ เช่น การมีเส้นทางเดินเท้า การใช้ม้าต่าง วัวต่าง เอาไว้สำหรับคนด้อยโอกาส หรือในยามที่ขาดแคลนน้ำมัน หรือรถเสียด้วย 


                         มิพัก ต้องพูดถึงว่า ชาวบ้านจนๆจะมีปัญญาซื้อรถโฟร์วิลไหม?...


                        ผมคิดว่า นักพัฒนาชุมชน ต้องหันกลับมาตรวจสอบตัวเองด้วยว่าการพัฒนาของเราครอบคลุมถึงเรื่องดังกล่าวนี้ มากน้อย แค่ไหน


                         มิใช่ว่า พอผู้หญิงแท้ง แล้วโบ้ยเป็นเรื่องของหมอ ของตัวผู้หญิงเอง ชุมชนไม่เกี่ยว แล้วทุกอย่าง ก็จะถูกกาลเวลากลืนหายไป ชุมชนก็จะเริ่มถูกสอนให้ศิโรราบ และเสพติด”ความเชี่ยวชาญ” แบบแยกส่วน ซึ่งกำหนดจากสังคมภายนอก


แน่นอนว่า ไม่ใช่ชุมชนทั้งหมดที่จะถูกครอบงำ แต่จะมีสักกี่ชุมชน หลุดพ้นจากกับดักทางความคิดเช่นนี้


ในฐานะคนธรรมดาๆ ผมอยากจะเห็น “นัก” พัฒนา “นัก” การแพทย์ “นัก”สาธารณสุข “นัก” วิชาการ  “นัก” การปกครอง และอีกหลายๆ “นัก” เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ มิใช่จะมองเห็นคนท้อง เป็นแต่เรื่องหมอ หรือเรื่องผู้หญิง ไม่เกี่ยวกับชุมชน หรืองานที่ตนเองทำ
การท้อง การแท้งของผู้หญิง จึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่มันยังสะท้อนการแท้งทางสังคม หรือ การติดขัดของความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เอื้อต่อการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในอีกทางหนึ่ง


ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกมองมุมไหน?
                       
              

หมายเลขบันทึก: 24469เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

        ทางสาธารณสุข พยายามพัฒนาสุขภาพของชุมชน

ด้วยวิธีแบบองค์รวม (Holistic)ดูแลกันทั้ง กาย ใจ จิตและสังคม

และที่แน่นอนที่สุดนั้น คือการ "พึ่งตนเองทางสุขภาพ"

เรื่อง พึ่งตนเองเป็นเรื่องสำคัญ โรงหมอ และเจ้าหน้าที่สุขภาพ มากมายที่อ่านคำว่า การสร้างสุขภาพ ได้ แต่การปฏิบัติบางครั้งก็ติดด้วยอะไร...มากมาย

ตอนนี้พึ่งใครก็ยากนะครับ  "พึ่งตัวเอง" เถอะครับ

และทุกอย่างมันเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันไปหมด คงต้องช่วยกันคิดและพัฒนาทั้งระบบ ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆพร้อมกันครับ

ขอลปรร ด้วยคนครับ..

เริ่มที่ความจริงของการแท้งกันก่อนครับ  สาเหตุนั้นมีหลายอย่าง

อาจจะไม่ใช่จากความเครียด  การทำงาน  หรือการกระทบกระเทือนจากการเดินทางก็ได้ครับ  มันยังมีปัจจัยภายในของตัวมดลูกของแม่เอง ปัจจัยภายในที่ตัว Fetus เอง  การแท้งครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เด็กคนนี้อาจจะไม่แข็งแรง  หรือมีความผิดปกติมากๆที่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ครับ

แต่ถ้าหากว่าการแท้งครั้งนี้เกิดจากพฤติกรรม หรือวิถีชิวิตที่ไม่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ก็ไม่สิ่งสะเทือนความรู้สึกเช่นกัน ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน  มีความเกี่ยวโยงกับหลายระบบในสังคมเราตอนนี้  ถ้าตั้งคำถามว่าใครมีส่วนต้องรับรู้  มีส่วนที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญ  ผมคิดว่าก็คงเป็นเราทุกคน  และคนที่จะเริ่มต้นก็คือคนที่รู้จักการนำ  รู้เรื่องของสังคมดีๆที่เราต้องการ  สังคมในอุดมคติ  ซึ่งคงจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน..

ต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ มันทำใจยาก ผมเองขอเป็นกำลังใจ

และจะพยายามเช่นกัน หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท