ข่าวสิ่งแวดล้อมน่าคิด


แม้ประเทศไทยจะมีการนำเครื่องมือที่เรียกว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ทำไม่สิ่งแวดล้อมไม่อยู่ในระดับทรง ไม่ใช่ทรุดลงไปเรื่อยๆ
   ข่าวประจำวันจากหนังสือพิมพ์
 
เบรก3โปรเจคยักษ์ บ้านฉาง-โปแตช -ขส

เบรกโปรเจ็คต์ยักษ์ "เมืองใหม่สุวรรณภูมิ-เหมืองโพแทช-ขยายนิคมมาบตาพุด-บ้านฉาง เฟส 3" ให้ประเมินผลในเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ ระบุข้อมูลในอีไอเออาจไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-ชุมชน เตรียมเสนอกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งทำเอสอีเอเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวให้หน่วยงานอื่นที่จะทำโครงการขนาดใหญ่ต้องทำก่อนวางแผน กำหนดแผน โครงการต่างๆ และลงมือทำอีไอเอ เพื่อให้รู้ข้อดีข้อเสียก่อนตัดสินใจว่าจะทำหรือเลิกตั้งแต่แรก

สผ.ชงชะลอ 3 โครงการยักษ์ "เมืองใหม่สุวรรณภูมิ-เหมืองโพแทช-ขยายนิคมมาบตาพุด-บ้านฉาง เฟส 3" เพื่อให้ประเมินผลในเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ ระบุข้อมูลในอีไอเออาจไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-ชุมชน เตรียมเสนอกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติสั่งทำเอสอีเอเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวให้หน่วยงานอื่นที่จะทำโครงการขนาดใหญ่ต้องทำก่อนวางแผน กำหนดแผน โครงการต่างๆ และลงมือทำอีไอเอ เพื่อให้รู้ข้อดีข้อเสียก่อนตัดสินใจว่าจะทำหรือเลิกตั้งแต่แรก

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 21 มี.ค. ที่อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง กรณีศึกษาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ควรประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อหาแนวทางในการนำเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการจัดทำแผนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ระดับชาติ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งสุวรรณภูมิมหานคร, โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมและผังเมืองเขตมาบตาพุด-บ้านฉาง จ.ระยอง และโครงการพัฒนาเหมืองโพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แม้จะผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นการเตรียมการในการพัฒนาต่อไปในอนาคต แต่ก็คาดว่าอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากบางประเด็นในรายงานอีไอเอก็ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

ดร.ชนินทร์ ทองธรรมชาติ รองเลขาธิการสผ.กล่าวว่า การเสนอให้การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ แต่หากมีการดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือเอสอีเอ ตั้งแต่ก่อนการกำหนดนโยบาย แผน และแผนงานแล้ว ก็จะทำให้ทราบผลกระทบที่สำคัญ ข้อดีข้อเสียต่างๆ ทำให้เห็นภาพของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ช่วงก่อนกำหนดแผนงาน ซึ่งจะสามารถหาทางเลือกที่เหมาะสม ทั้งจะพัฒนาโครงการต่อไป หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาต่อไปตั้งแต่ช่วงต้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

ดังนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยในการสัมมนาครั้งนี้ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาขนาดใหญ่ 3 โครงการ ซึ่งยังพอมีเวลาที่อาจจะสามารถดำเนินการในการจัดทำเอสอีเอได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งข้อสรุปในการสัมมนาสผ.จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อขอให้จัดทำเอสอีเอกับ 3 โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวต่อไป

นางปราณี พันธุมสินชัย นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการพัฒนาเมืองรอบสนามบินสุวรรณภูมิว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานมีแผนที่จะพัฒนาแต่ต่างก็มีแนวทางไปคนละทิศทาง จนมองไม่เห็นว่าจะไปทางใด และสนามบินกำลังจะเปิดใช้ยังไม่มีข้อสรุปว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องการระบายน้ำ สภาพหมอกควัน หรือการขยายตัวของการพัฒนาเมืองที่หลายฝ่ายพยายามที่จะนำเข้าไป ทั้งๆที่แนวความคิดในอดีตต้องการจะแยกสนามบินออกจากเมือง จึงควรทำเพื่อคิดร่วมกัน

ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผอ.สำนักติดตามประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สผ.กล่าวถึงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-บ้านฉาง จ.ระยองว่า ล่าสุดพบว่า สภาพอากาศในบริเวณมาบตาพุด มีสภาพเกินคุณภาพมาตรฐานอากาศนั่นคือหากปล่อยให้มีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม เฟส 3 เพิ่มขึ้นอีก จะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้ ขณะเดียวกันคุณภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลมาบตาพุด ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เกินมาตรฐานด้วย ในกรณีของบ้านฉางก่อนหน้านี้มีการตกลงเป็นสัญญาประชาคมว่า ต้องการให้พื้นที่บ้านฉางซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็นพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทคลังสินค้า แต่ต่อมามีการผิดข้อตกลงแก้ไขให้พื้นที่ดังกล่าวดำเนินการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นได้ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่

ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อนุกรรมการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ว่า จากอีไอเอของโครงการนี้พบว่า ยังมีความไม่ชัดเจนหลายข้อเช่น ผลกระทบจากความเค็มของไอเกลือต่อพื้นที่เกษตรกรรม, การไหลของน้ำที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่, การจัดเก็บแร่ และอื่นๆ ผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ, ผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิประโยชน์ของประเทศ และบางหัวข้อก็ไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ ซึ่งโครงการเหมืองแร่โพแทชถือเป็นโครงการที่ตนเชื่อว่าสามารถจะทำเอสอีเอได้ดี เพราะถึงปัจจุบันแม้ว่าอีไอเอจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

(คอลัมน์:ข่าวหน้า 1)

 
ข่าวสด User 
22 มี.ค. 2549  
   

หมายเลขบันทึก: 24461เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท