community development tsu
กลุ่มวิชาสัมมนา tsu สัมมนากลุ่มย่อย tsu เศรษฐกิจ 2 ระบบ

การพัฒนาที่ยั่งยืน


การพัฒนาที่ยั่งยืน หนทางสู่การอยู่ดีมีสุขในกระแสสังคมปัจจุบัน

การพัฒนาที่ยั่งยืน  หนทางสู่การอยู่ดีมีสุขในกระแสสังคมปัจจุบัน

 

 

                ชุมชนถือเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  มีวิถีชีวิต  วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลายตามภูมินิเวศน์  การพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย  ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน  สาเหตุสำคัญเพราะคนไทยไม่สามารถพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจได้  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมมีลักษณะเป็นสังคมสองระบบ  ที่มีทั้งระบบทุนและระบบชุมชน  ทำให้เกิดการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย  มีการใช้จ่ายเกินตัว  ชุมชนพึ่งตนเองได้น้อยลง  ส่งผลให้ชุมชนมีความอ่อนแอ  ประสบปัญหาด้านหนี้สิน สูญเสียวัฒนธรรมในการพึ่งพาอาศัยกันและกัน  มีการแก่งแย่งแข่งขัน  ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม  นอกจากนี้การพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาจะพิจารณาที่ประสิทธิภาพ  และความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาภายใต้กำหนดเวลาสั้นๆ  เท่านั้น  และยังให้ความสำคัญเฉพาะคนในรุ่นปัจจุบัน  แต่จากกระแสเรียกร้องในสังคมที่ต้องการให้การพัฒนานั้นคำนึงถึงการอยู่รอดและการกินดีอยู่ดีของคนในอนาคตร่วมกัน  จึงเป็นเหตุให้มีความยั่งยืนเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาและกระบวนการตัดสินใจ  ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  เพื่อให้ชุมชนสามารถกำหนดชีวิตและดำเนินชีวิตตามความต้องการของตนเองได้มากขึ้น  จึงจะนำมาสู่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งและสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน

                การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นแนวความคิดการพัฒนาที่เกิดขึ้นภายหลังจากความล้มเหลวในการพัฒนาประเทศที่ไม่สามารถทำให้คนในประเทศอยู่ดีมีสุขได้  จึงต้องแสวงหาทางออกที่นำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาประเทศร่วมกันของคนในชาติ  โดยมีเป้าหมายสูงสุด  คือ  การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ  คุณธรรมและความสุข   ก่อเกิดให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน  อันจะนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ส่งผลให้คนมีความสุขอย่างแท้จริง

 

การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นคืออะไร

 

หากจะถามถึงความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น  ก็มีผู้ให้นิยามความหมายไว้มากมาย  ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก 

สันติ  บางอ้อ (2546)  ได้ให้นิยามความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไว้ว่าการพัฒนาที่สนองตอบต่อความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต  ต้องประนีประนอม  ยอมลดทอนความสามารถในการที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง

นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์  (2549)  ได้ให้นิยามความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า การพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการ พื้นฐานของคน ทั้งยุคปัจจุบัน และยุคต่อ ๆ ไป และสร้างความสมดุลระหว่าง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม มนุษย์  และสิ่งแวดล้อม

                สบพันธ์  ชิตานนท์ (2549)  ได้ให้นิยามความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า   การพัฒนาที่บูรณาให้เกิดองค์รวม  คือ องค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะมาประสานกันครบองค์    และมีลักษณะอีกย่างหนึ่งคือ มีดุลยภาพ  กล่าวคือธรรมชาติแวดล้อมกับเศรษฐกิจจะต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน  จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าเป็นภาวะยั่งยืนทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางสภาพแวดล้อม การคุ้มครองสภาพแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยใช้มนุษย์เป็นแกนกลางการพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดความสมดุล  ระหว่างคนธรรมชาติ และสรรพสิ่ง  เพื่อให้อยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลกัน ไม่ทำลายล้างกันทุกสิ่งในโลกก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

จากนิยามความหมายดังกล่าวข้างต้น  สามารถที่จะสรุปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยได้ก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความสมดุลหรือมีปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันในระหว่างมิติต่างๆ  ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม จิตใจ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อันจะเป็นองค์ประกอบที่จะรวมกันหรือองค์รวมในการทำให้ชีวิตมนุษย์สามารถอยู่ดีมีสุขได้  ทั้งสำหรับคนในรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต

 

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

            สันติ  บางอ้อ กล่าวไว้ว่านับตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (2504-2509) เป็นเครื่องมือนำทางในการพัฒนาประเทศเป็นต้นมา สาธารณชนได้ให้ความสนใจติดตามว่า มีอะไรเกิดขึ้นในสังคมไทยบ้าง ผลของการพัฒนาเป็นเช่นไร และนับตั้งแต่แผนฯ 8 (2540-2544) เป็นต้นมา ทำไมสภาพัฒน์จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดของการพัฒนา จากที่เคยกำหนดเป็นด้าน ๆ มาให้ความสำคัญกับการบูรณาการในทุก ๆ ด้านอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งแนวคิดและทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา พร้อมกับปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาให้มากที่สุด

                การพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศไทย  ตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก .. 2504  จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  7   เป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านความเจริญเติบโตการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  จนละเลยการพัฒนาทางด้านสังคม  ด้านสิ่งแวดล้อม  และด้านอื่นๆ  ก่อให้เกิดปัญหาการพัฒนาที่ไม่ได้สัดส่วน เมืองบางเมืองเจริญเร็วกว่าชนบทมาก  เกิดช่องว่าระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้น จนเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมือง  ก่อเกิดปัญหาปัญหาของเมืองในรูปแบบต่างๆ เศรษฐกิจในภาพรวมที่ขยายตัว กลับมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างเห็นได้ชัด รวยกระจุกจนกระจาย ก่อเกิดเป็นปัญหาสังคมที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น  วัฒนธรรมอันดีงามเริ่มถูกละเลย ทรัพยากรธรรมชาติค่อยๆ ร่อยหรอลงจนยากที่จะฟื้นฟู และบางประเภทก็ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมามีเหมือนเดิมได้ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่มีและเหมาะสม ก็ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมลง  ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การมองย้อนกลับมาดูต้นตอของสาเหตุที่ทำให้ประเทศชาติของเราไม่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนานั้น  ถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถรู้จักตนเองได้  อันจะเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง  ไม่ก่อเกิดความผิดพลาดขึ้นเฉกเช่นในอดีต   ดังนั้นสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ประเทศชาติของเราไม่สามารถที่จะไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ มีดังต่อไปนี้

                    1.  ความต้องการการบริโภคสินค้า และบริการที่ไม่สมเหตุสมผล ฟุ่มเฟือย  เป็นเหตุให้เกิดการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการผลิตและบริการที่เกินพอดี  เกินความต้องการของการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง  มีของเหลือทั้งเป็นมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมมาก  และทำให้คุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทร ขาดสมดุล แม้จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม

                    2.  การที่ชุมชนไม่เข้มแข็ง รับวัฒนธรรมและแนวความคิดผิดๆ มาจากต่างประเทศ เกี่ยวกับความฟุ่มเฟือย  วัตถุนิยม  และบริโภคนิยม  ทั้งยังขาดการอบรม     ละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม  ทำให้สังคมเปลี่ยนเป็นสังคมบริโภค  กอบโกย  สะสม  เกิดการลงทุนทางธุรกิจที่สูญเปล่า ทำให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจเกิดความขัดแย้งทางสังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างรุ่นแรง

                    3.  การเคลื่อนย้ายทุนจากต่างประเทศ  ส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม  ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายทางธุรกิจของประเทศ  วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปลายปี 2540  เป็นบทเรียนที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพิงอยู่กับทุนต่างประเทศโดยขาดรากฐานที่มั่นคงภายใน  ทำให้เกิดการล่มสลายของระบบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  นอกจากนั้นการเปิดรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและกระดาษ  โดยไม่มีกลไกหรือมาตรการที่เข้มแข็งในการตรวจสอบผลกระทบของอุตสาหกรรมเหล่านี้  ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมาอย่างรวดเร็ว

                    4.  นโยบายการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐในอดีต   ทำให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก  โดยขาดการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  มีการใช้ทรัพยากรเป็นฐานการผลิตอย่างฟุ่มเฟือย  เกินอัตราการฟื้นตัวของระบบธรรมชาติ  ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของระบบนิเวศ       (สบพันธ์ ชิตานนท์,2549)

                    จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น  ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก  เพราะนำเอาวัฒนธรรมตะวันตก และระบบทุนนิยมเข้ามาบริหารประเทศ  ทำให้เกิดสภาพที่เสื่อมโทรมแทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม  คุณภาพชีวิต   ศีลธรรม  คุณธรรม   ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง

 

จุดหมายปลายทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

                จากประสบการณ์การผิดพลาดในการดำเนินงานพัฒนาประเทศ  ส่งผลให้ทุกฝ่ายต่างเกิดความตระหนักและร่วมกันหาทางออก  จนเกิดแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาใหม่  โดยเปลี่ยนวิธีการพัฒนา  โดยหันมาใช้คน”  เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยจะเห็นได้จากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8   ฉบับที่ 9  และฉบับปัจจุบัน  ที่ให้สำคัญต่อการพัฒนาคนและกระบวนการพัฒนาที่บูรณาการการเชื่อมโยงกันทุกด้านในลักษณะองค์รวม  อย่างมีดุลยภาพ  โดยมีเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน  และสิ่งแวดล้อม  เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป  ดังนั้นเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน  การพัฒนาในแต่ละด้านจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

                1.  มิติทางเศรษฐกิจ     การทำให้เกิดดุลยภายของการพัฒนา คือ เศรษฐกิจที่มีรากฐานมั่นคง มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งตนเองได้  โดยมีเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวคิดหลัก   ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย  และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

2.  มิติทางสังคม    จะต้องรวมหมายถึง  วัฒนธรรม  และภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งเป็นระเบียบวิถีชีวิตของสังคม ที่ทำให้มนุษย์ปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นได้  โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้รวมถึงศาสนธรรม  ซึ่งเป็นระเบียบจิตใจของคนในสังคมที่ทำให้สังคมอยู่ได้โดยสงบสุข  สิ่งเหล่านี้ล้วนถือเป็นการสร้างเงื่อนไขสังคมใหม่  ให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา  ก่อให้เกิดความเอื้ออาทร  ความรัก  ความสามัคคี  สมานฉันท์ต่อกัน  ชุมชนสังคมมีความเข้มแข็ง

                3.  มิติทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    หมายถึง  ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์  ทั้งเป็นสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันเป็นระบบนิเวศน์  ที่สามารถให้คุณและให้โทษต่อมนุษย์ได้  ทั้งที่ขึ้นกับความสมดุลหรือไม่สมดุลของระบบนิเวศ  โดยจะต้องมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเทคโนโลยีและการพลังงาน ที่สะอาด ปลอดภัย ปลอดมลภาวะ   เพื่อการมีสภาพแวดล้อมที่ดี

 

                4.  มิติทางการเมืองการปกครอง   ปฏิรูปการเมือง การปกครอง การบริหารให้มีการกระจายอำนาจ   ภารกิจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่นโดยแท้จริง   ให้สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหา  และพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น   และพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง  (นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์ ,2549 )

กรณีศึกษา    ชุมชนตำบลดอนประดู่

                ชุมชน ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นชุมชนที่มุ่งพัฒนาตนเองไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการเมืองการปกครอง ชุมชนมีการพัฒนาตนเองโดย

                1.  ด้านเศรษฐกิจ    ชุมชนมีการพัฒนาตนเองโดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ที่มุ่งหวังให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตน มีการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการจัดตั้งกลุ่มน้ำดื่มบ่อมุด  กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มเหล่านี้ทำการผลิตสินค้าให้แก่คนในชุมชนได้บริโภค  ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาจากภายนอกผลิต ส่วนกลุ่มผลิตข้าวสังหยด เป็นกลุ่มพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งสินค้าออกนอกชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง  จากการตั้งกลุ่มต่างๆขึ้นมาจะเห็นได้ว่า ชุมชนมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งหวังการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง สิ่งนี้ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

                2.  ด้านสังคม   จากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้คนในชุมชน ตระหนักถึงปัญหาที่ต้องการการพัฒนาพร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน ทำให้คนเกิดความรัก ความสามัคคีกัน เอื้ออาทรต่อกัน สมานฉันท์ต่อกัน ทำให้ ชุมชน สังคม มีความเข้มแข็ง

                3.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   การพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนนั้น ชุมชนตำบลดอนประดู่ ได้ดึงเอาทรัพยากรน้ำ ที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้เป็นทุนในการพัฒนาชุมชนของตน  ให้สามารถพึ่งตนเองได้  นอกจากนี้ ยังมีการดึงเอาแก๊สชีวภาพ จากเกษตรกรที่เลี้ยงหมู่ ซึ่งแต่ก่อนเป็นมลภาวะในชุมชนแต่ปัจจุบันได้ดึ่งส่วนนี้มาใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน เป็นต้น สิ่งนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นชัดเจนว่า  การพัฒนาชุมชน ของตำบลดอนประดู่ ได้คำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

                4.ด้านการเมืองการปกครอง   ชุมชนตำบลดอนประดู่นั้นมีการปกครองที่กระจายอำนาจไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาต่างๆในหมู่บ้านของตนอย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ยังมีการประชุมร่วมกัน ระหว่างสภาองค์การบริหารส่วนตำบล  และผู้ใหญ่บ้านเพื่อทำการพัฒนาชุมชนร่วมกัน และมุ่งให้ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง

                จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ชุมชนมีการพัฒนาตนเองโดยคำนึงถึง การพัฒนาคน  สังคม เศรษฐกิจ  และรักษาดุลยภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน สิ่งนี้เองได้นำชุมชนไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 

การเมือง/ปกครอง

เศรษฐกิจ

ภาพประกอบที่  1   แสดงกรอบแนวคิดของการเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

(สบพันธ์ ชิตานนท์ ,2549)

                ดังนั้นทุกฝ่ายควรตระหนักถึงความสำคัญในการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแท้จริง  ที่เกิดขึ้นจากความสมดุลและการเชื่อมโยงระหว่างมิติทางด้านเศรษฐกิจ  โดยใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวนำ  มิติทางด้านสังคม  มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และมิติทางด้านการเมืองการปกครอง  และที่สำคัญ  คือ  คนในชุมชน/สังคม  จะต้องมีสติ  ไม่มีความโลภ  ไม่มีกิเลสตัณหา  ใช้สติในการดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เข้ามาถาโถมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนในการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตลอดไป

 

หมายเลขบันทึก: 244163เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ตามมาอ่าน
  • การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • แนะนำให้อ่านเรื่อง กรณีศึกษาของสมาคมหยาดฝน
  • ขอบคุณครับ
  • ดีใจพบ tsu ครับ

ทำไม สมัยนี้ถึงนิยมการพัมนาที่ยั่งยืนนัก

และถ้าจะทำการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับตัวบุคคลมีวิธีแนะนะอย่างไรบ้าง พัฒนาตนเองให้

อยู่อย่างยั่งยืน คล้าย ๆ ชุมชนหน่ะ

จะรอคำตอบน้า...

คิดอย่างไร กับ สังคมปัจจุบัน ... ถึงนำเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมานำเสนอวันนี้

เราสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ช่วยแนะนำหนังสือหน่อยดิ อยากอ่าน

เราเรียนเอกจีน แต่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนหน่ะ

ตอนนี้เรา เราไม่ได้เรียน เราโดนรีไทน์ออกจากมหาวิทยาลัย

แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ยั่งยืนหล่ะ ทั้ง ๆ ที่เรายังเรียนไม่จบ ป.ตรีเลย

ยังไม่มีงานที่แน่นอนและมั่นคงเลย แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ยั่งยืน ช่วยแนะนำ

หน่อยดิ ในฐานะที่เธอรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งนี้ ได้โปรดช่วยหน่อย น้า

ขอบคุณค่ะสำหรับคำแนะนำที่ คุณขจิต ฝอยทอง แนะนำมา พวกเราจะนำคำแนะนำนี้ไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น

ถึง...bkk... ทำไมต้องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะว่า การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะคนยังไม่มีความสุข ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นมากมาย สิ่งเหล่านี้คือเครื่องชี้วัดถึงการพัฒนาที่ไม่ประสบผลสำเร็จหรือที่เรียกว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั่นเอง ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ แนวทางของการแก้ไขการพัฒนาที่ผิดพลาดในอดีตโดยให้ความสำคัญกับการหวนกลับคืนสู่รากเหง้สาของตนเอง ทั้งด้านสังคมที่จะให้ความสำคัญกับวัฒธรรมชุมชนเป็นหลักและทางด้านเศรษฐกิจที่ให้ควมสำคัญกับเศรษฐกิจพอเพีงที่ทำเพื่ออยู่ เพื่อกิน มิได้หวังผลกำไร และสิ่งที่เราแนะนำมานี้จะต้องเริ่มพัฒนาจากตัวบุคคลก่อนเป็นอันดับแรก และพัฒนาไปสู่ระดับชุมชนต่อไป

ถึง...เด็กเรียน... เพราะสังคมปัจจุบันเป็นสังคมหลังสมัยใหม่ ที่เป็นสังคมที่เริ่มหวนสู่รากเหง้าของตนเองที่สืบเนื่องมาจาก ความล้มเหลวของสังคมสมัยใหม่ที่มีความทันสมัยในทุก ๆ ด้าน แต่ในสังคมปัจจุบันยังพัฒนาได้ไม่ถึงเป้าหมายของการอยู่ดี มีสุข ยังมีปัญหาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ดังนั้น หน่วยงาน องค์กรทุกระดับ จึงหวนกลับสู่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม คือมีการพัฒนาบนฐานของความสมดุล ดุลยภาพ ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน

ถึง...สานฝันต่างแดน... หนังสือที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็คือ หนังสือของพระธรรมปิฎก ชื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเพราะจะเป็นสำนวนการเขียนที่เป็นภาษาของพระ นอกจากนี้ก็หนังสือทั่วไป และใน internet เพราะเป็นเรื่องที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

ถึง...อ้วน..น่ารัก... สิ่งแรกเราควรไปหันไปถามปู่ ย่า ตา ยาย ของเราว่าเค้าใช้ชีวิตกันอย่างไร แตกต่างจากคนในปัจจุบันอย่างไร เพราะแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน ก็เป็นการพัฒนาที่ต้องการให้คนในปัจจุบันกลับไปใช้ชีวิตเหมือนกับปู่ ย่า ตา ยายของเราในอดีต ที่ไม่มีปัญหาหนี้สิน มีทรัพยากรให้บริโภคอย่างพอเพียง การใช้ชีวิตก็ไม่ต้องไปแข่งขันกับผู้อื่น สิ่งแวดล้อมก็ดี ไม่เสื่อมโทรมเหมือนในปัจจุบันนี้

นางสาวสุณัฐดา ปุราถานัง

การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกตัวอยยย่างๆๆ ใกล้ตตัวเรามากที่สุดให้น๊อยคร่า

ว่าเปนแบบไหนเพราะจะไปทำรายงานส่งอาจารย์คร่า ขอบคุณคร่าา

ความยั่งยืนคือคนธรรมชาติต้องไปด้วยกันเป็นคู่ขนานแบบอาศัยซึ่งกันและกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท