ตัวอย่างดีๆที่อยากบอกต่อ


ในการที่เราจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้สั้นและรัดที่สุด วิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ก็คือ การไปดูตัวอย่างที่ดี ที่ประสบความสำเร็จ แล้วเอามาปรับใช้

      ผู้วิจัยเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาในเรื่องการจัดตารางเวลาของตัวเองมาก  คนรอบตัว (ที่ใกล้ชิดจริงๆ) จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  ถ้าผู้วิจัยปรับปรุงตัวในเรื่องนี้ได้  ชีวิตคงจะมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่านี้  ตอนแรกๆผู้วิจัยก็ไม่ค่อยสนใจคำวิจารณานี้สักเท่าไหร่  เพราะ  เห็นว่าชีวิตฉันเป็นของฉัน  ไม่เห็นจะแปลกอะไรถ้าเราจะทำงานช้า  เพราะ  ตัวเองคิดเสมอว่าช้าแต่ชัวร์ เคยคิดเปรียบเทียบการทำงานของตัวเองกับเด็กนักเรียน  สมมติว่ามีเด็กอยู่ 2 คน  อาจารย์บอกว่าให้ส่งรายงานภายในเวลา 16.00 น. ของวันนี้  เด็กคนที่หนึ่งรีบทำรายงานเสร็จตั้งแต่เมื่อคืนนี้  วันนี้รีบมาส่งงานตั้งแต่ 09.00น. กับ เด็กอีกคนหนึ่งก็รีบทำเหมือนกัน  แต่มัวแต่แก้  มัวแต่ปราณีตอยู่อย่างนั้น  กว่าจะได้เข้าเล่มก็เป็นเวลาบ่ายแล้ว  เด็กคนที่สองนี้มาส่งงานตอน 16.00 น. พอดี  ถามว่าอาจารย์รับงานของเด็กทั้ง 2 คนนี้ไหม  อาจารย์ก็รับของทั้ง 2 คน  ไม่เห็นว่าเขาจะรับของคนที่ 1 แต่ไม่รับของคนที่ 2 ไม่เห็นว่าจะมีคำถามตามมาว่าทำไมคนที่ 2 ถึงมาส่งงานตอน 16.00 น.  ไม่ว่าจะส่งงานตอนไหน  อาจารย์ก็รับทั้งนั้นขอให้ส่งทันเวลาก็พอ  ผู้วิจัยเปรียบเสมือนเด็กคนที่ 2 ที่คิด (เข้าข้าง) ตัวเองเสมอ  จนกระทั่งเมื่อต้องมาทำงาน  มีภาระงานมากขึ้น  เริ่มทำงานไม่ค่อยทัน แรกๆก็ยังเข้าข้างตัวเองอยู่  คิดว่าไม่เป็นอะไร  แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เริ่มบอกกับตัวเองว่าถ้าเป็นอย่างนี้เห็นทีจะไม่ไหวแล้ว  เพราะ  เราต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคน  ถ้าเราช้า  จะพลอยทำให้คนที่เกี่ยวข้องพลอยช้าไปด้วย  ดีไม่ดีจะทำให้เขาเดือดร้อนเพราะตัวเราเสียเปล่าๆ  ก็เลยคิดหาวิธีการแก้ไข  ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง

      วิธีการที่ใช้ในช่วงแรกๆ  มีอยู่ 2 วิธี  คือ

      1.ทำงานให้น้อยลง  โดยใช้วิธีการไม่รับงาน (แม้ว่าจะอยากทำก็ตาม) ยกเว้นงานที่ปฏิเสธไม่ได้  แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ทางออก  เพราะ  แม้จะมีงานน้อย  แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เอ้อระเหย  ก็ไม่ได้ทำให้ตารางชีวิต (เวลา) ของตัวเองดีขึ้น

      2.ทำงานให้ปราณีตน้อยลง  พยายามมองข้ามเรื่องเล็กเรื่องน้อย (รวมทั้งเรื่องใหญ่ๆด้วยค่ะ) แต่พอทำอย่างนี้ก็ทำให้เราทุกข์ยิ่งขึ้น  เพราะ  เมื่อทำงานไปแล้วก็ต้องเอากลับมาแก้  ความมั่นใจในตัวเองที่ว่าทำงานชัวร์เริ่มหายไป 

      เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยเริ่มคิด  เมื่อคิดได้ก็กลับมาเป็นคนเดิม  คือ  ทำงานช้าเหมือนเดิม  ตารางเวลา (ชีวิต) ก็รวนเหมือนเดิม

      จนกระทั่งได้มาทำงาน KM ความรู้อย่างหนึ่งที่ได้จากการทำงานนี้ก็คือ  ในการที่เราจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้สั้นและรัดที่สุด  วิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ก็คือ  การไปดูตัวอย่างที่ดี  ที่ประสบความสำเร็จ  แล้วเอามาปรับใช้  ผู้วิจัยก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า  ตัวเองคงต้องไปศึกษาตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการจัดตารางเวลามาเพื่อปรับใช้กับตัวเองซะแล้ว

      เหมือนสวรรค์มีตา (อีกครั้ง)  เมื่อไปที่บ้านผู้หว่าน  ผู้วิจัยเห็น "คุณอำนวย" หลายคนนำโน๊ตบุคส์มาด้วย  แถมยังนำมาเปิดใช้งานตอนที่กำลังทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีก  ตอนแรกที่เห็นผู้วิจัยคิดว่าสงสัยคุณอำนวยเหล่านี้ (ที่ใช้โน๊ตบุคส์) คงจะมีงานค้างทำไม่เสร็จก็เลยเอางานมาทำด้วย  หรือไม่ก็คงกำลังเตรียมข้อมูลที่จะนำเสนออยู่  จะมีสักกี่คนที่ฟังไป  บันทึกไป (จะทำทันได้ยังไง  คนพูดก็พูดเร็วกะตายไป)

      พอมาในวันนี้ผู้วิจัยรู้สึกเลยว่าที่ตัวเองคิดไว้ผิดทั้งหมด เพราะ  ผู้วิจัยเห็นตัวเองดีๆของการทำงาน  ก็เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังค่ะ

      ตัวอย่างที่ 1  เป็นของท่านอาจารย์ JJ บังเอิญวันนี้มีการจัดที่นั่งแบบใหม่ คือ จัดเป็นวงกลม  เลยทำให้ผู้วิจัยเห็นว่าท่านอาจารย์ JJ ซึ่งมีโน๊ตบุคส์วางอยู่บนตัก  กำลังปฏิบัติภารกิจที่สำคัญยิ่ง  นั่นคือ  บันทึก (ด้วยโปรแกรมอะไรสักอย่างหนึ่งค่ะ) สิ่งที่ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนพูด  อาจารย์บันทึกได้ครอบคลุม  ครบถ้วนมาก (ขอยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆค่ะ  เพราะ  ผู้วิจัยมองการทำงานของท่านอาจารย์ JJ ตลอดเลยค่ะ)  พอถึงตรงไหนที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่  ท่านอาจารย์ JJ  ก็จะเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อเขียนบันทึก  หรือไม่ก็แสดงความคิดเห็นต่อบันทึก  ทำอย่างนี้สลับกันตลอดเลยค่ะ  ผู้วิจัยเห็นแล้วทึ่งมาก

     สำหรับตัวอย่างที่ 2 คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณทวีสิน (แห่งปูนซิเมนท์ไทย) คุณอำนวยคนนี้ผู้วิจัยไม่ได้เห็นว่าท่านทำอะไรหรอกค่ะ  เพราะ  นั่งอยู่ไกลกันมาก  เห็นแต่มีโน๊ตบุคส์วางอยู่ตรงหน้าตลอด   แต่ที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็เพราะว่า  พอกลับมาถึงบ้าน  เมื่อเช็ค Mail ปรากฎว่ามี Mail ของคุณทวีสินส่งเข้ามาให้ผู้เข้าร่วมทุกคน  เป็น File รายละเอียดต่างๆของเวทีทั้ง 2 วันนี้ (ขอสารภาพค่ะว่าผู้วิจัยยังไม่ได้เปิดอ่านเลย) มีทั้งหมด 4 Files (ต้องขอขอบคุณคุณทวีสินมากค่ะ  ถ้าจะให้ขอบคุณมากกว่านี้ขอความอนุเคราะห์ปูนสัก 2 ตันอย่างที่คุณทวีสินบอกไว้นะคะ  พอดีกำลังซ่อมแซมบ้านขนานใหญ่อยู่ค่ะ)

    ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้มีความเหมือนกัน  คือ  การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานค่ะ  ผู้วิจัยรู้สึกทึ่งมาก  และคิดว่าตัวอย่างคงจะพอทำได้  เพราะ  มีความสามารถในการแยกโสตประสาทในระดับหนึ่งค่ะ  แต่อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าไม่ใช่ว่าเราเห็นตัวอย่างอะไรดีๆ  แล้วเราจะเอามาใช้ได้ทั้งหมด  โดยที่ไม่ต้องปรับอะไร  ในทางตรงกันข้าม  ตัวอย่างจะดี  มีคุณค่ามากขึ้น  ถ้าเราจับสาระสำคัญของตัวอย่างนั้นได้  และเอามาปรับเพื่อให้เข้ากับตัวเรา  จากตัวอย่างทั้ง 2 นี้  สิ่งที่ผู้วิจัยจะเอามาปรับใช้  คือ  การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน  เพื่อที่จะทำอะไรหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน  แต่ก่อนที่จะทำอย่างนี้ได้  ผู้วิจัยคงต้องไปเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีให้ดีกว่านี้ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24412เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2006 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท