บันทึก KM สัญจร ครั้งที่ ๑ โดย “คุณลิขิต” ของ สคส.


เป็นที่มาของการทำ AAR บนรถบัส ทำให้การนั่งรถไม่น่าเบื่อ

บันทึก KM สัญจร ครั้งที่ ๑  โดย “คุณลิขิต” ของ สคส.
           นี่คือผลงานของ “คุณลิขิต” อาสา   คือทำโดยไม่ต้องมีใครสั่ง     ผมไปพบเข้าจึงเอามาบันทึกให้ได้อ่านรายละเอียดของกิจกรรม KM สัญจร ครั้งที่ ๑     และเพื่อย้ำความสำคัญของการมีคนที่มีวิญญาณของ “คุณลิขิต”  ในระบบการจัดการความรู้    และในองค์กร


KM  สัญจร  ครั้งที่ ๑
นภินทร  ศิริไทย[1]
          สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  จัดกิจกรรม KM สัญจร ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๕-๗ กรกฎาคม  ๒๕๔๘  โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ 
๑. เพื่อนำผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ไปเยี่ยมชมกิจกรรมการจัดการความรู้ของหน่วยงานและกลุ่มต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคมและหน่วยงานราชการ  ซึ่งจะเป็นแรงสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมเรียนรู้หรือสังคมที่มีความรู้เป็นฐาน  รวมทั้งเพื่อขอคำแนะนำจาก    แต่ละท่านเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและขยับขยายผลต่อไป 
๒. นำสื่อมวลชนไปสัมผัสพื้นที่และกิจกรรมการจัดการความรู้ในสถานที่จริง  ผู้ปฏิบัติจริง  เพื่อให้สื่อมวลชนได้เรียนรู้  เข้าใจ และสามารถสื่อสารถ่ายทอด เผยแพร่ผลของการปฏิบัติงานหรือการพัฒนาการทำงาน โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ
๓. เพื่อให้คณะทำงานหรือทีมงานของ สคส.  เอง  ได้ติดตามความก้าวหน้า  พัฒนาการ  และสัมผัสกิจกรรมการจัดการความรู้ในสถานที่จริง บริบทจริง  ผู้ปฏิบัติจริง 
สมาชิกของ KM  สัญจรในครั้งนี้ มีด้วยกันทั้งหมดกว่า  ๓๐  คน  ซึ่งแบ่งออกเป็น  ๓  กลุ่มตามเป้าหมายของการจัดกิจกรรม  คือ  กลุ่มแขกผู้ใหญ่  อาทิ  คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม, คุณสุรินทร์  กิจนิตย์ชีว์, ศ.นพ. เทพ  หิมะทองคำ, ดร. สุวัฒน์  เงินฉ่ำ  และผศ. ดร. เลขา   ปิยะอัจฉริยะ   กลุ่มผู้สื่อข่าว  และกลุ่มเจ้าหน้าที่ สคส.
วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘
โรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจุดหมายแรกที่คณะ KM สัญจรไปถึง โรงเรียนชาวนาเป็นโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ให้ความสำคัญแก่เกษตรกรในการพัฒนาตนเอง  โดยมีมูลนิธิข้าวขวัญทำหน้าที่ “คุณอำนวย”  เพื่อให้เกิดเวทีความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ส่วนผู้ที่ศึกษาและนำไปปฏิบัติจริง หรือ “คุณกิจ” คือ ชาวนาใน ๔ พื้นที่ คือ  อำเภออู่ทอง,  อำเภอดอนเจดีย์,  อำเภอบางปลาม้า  และอำเภอเมือง  เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก 
การดำเนินการของโรงเรียนชาวนาเริ่มจากเวทีตั้งโจทย์ระดมสมอง ทบทวนสถานการณ์การทำนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน    เมื่อ “คุณกิจ”  หรือเกษตรกรชาวนาได้ระดมปัญหาต่างๆ  ร่วมกัน  จึงได้เห็นพ้องกันที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่วิถีชีวิตและการผลิตที่ดีขึ้น
กิจกรรมในโรงเรียนชาวนา มี ๓  หลักสูตร  คือ  หลักสูตรประถม :   การกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี  เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำนาแบบไม่ใช่สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  เรียนรู้วิธีจัดการกับแมลงโดยวิธีธรรมชาติ  ให้แมลงควบคุมกันเอง , หลักสูตรมัธยม : การปรับปรุงดิน เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดินในนาข้าวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  และ หลักสูตรอุดมศึกษา :  การพัฒนาพันธุ์ข้าว เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกแบบชีวภาพของแต่ละพื้นที่
ตัวแทนนักเรียนชาวนาจากทั้ง ๔ อำเภอ เป็นผู้นำเสนอผลงานและสรุปผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามหลักสูตรโรงเรียนชาวนา ซึ่งจะมีดาวดวงใหม่ของกลุ่มนักเรียนชาวนาหลายคน ที่เป็นคนหน้าใหม่ของกลุ่มในการทำหน้าที่นำเสนอ
หลังจากนั้น พวกเราจึงลงพื้นที่ไปดูตัวอย่างแปลงนาทดลองของนักเรียนชาวนาตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  มีการหมักใบไผ่ด้วยจุลินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก – น้ำหมักชีวภาพ  และการร่วมกันทำกองทุนปุ๋ยหมัก   เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ของชาวนามาทำนาแบบชีวภาพ  ไม่พึ่งพาสารเคมี  ที่สำคัญเราได้เห็นพลังของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบกลุ่ม การพึ่งพา การยอมรับและเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ได้เห็น “คุณกิจ” ตัวจริงเสียงจริง  ได้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงในมุมมอง  แนวคิด  การแสดงออก  การกล้าแสดงความคิดเห็น และสายตาที่เปล่งประกายไปด้วยความสุขของนักเรียนชาวนา
หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นลง  พวกเราทำ AAR (After Action Review) กันบนรถทันที ระหว่างการสัญจรต่อไปยังจุดนัดพบที่ ๒  ทุกคนพูดความรู้สึกจากใจของตนเองออกมาว่า  มีความประทับใจที่ได้มาเห็นการจัดการความรู้ของนักเรียนชาวนาอย่างมาก  ที่ได้มีการนำความรู้ที่อยู่ในตัวนักเรียนชาวนาแต่ละคนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันสร้างเป็นความรู้ที่เหมาะสมไว้ใช้กับตนเองได้ต่อไป  อีกทั้งยังมีพึ่งพาตนเอง  รวมกลุ่มรวมพลังกัน  มีการร่วมกันฟื้นฟูพิธีกรรมและวัฒนธรรมข้าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  ที่สำคัญทำให้ชีวิตและงาน (การทำนา)  สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกัน  ครอบครัวมีความสุขได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา  สุขภาพร่างกายแข็งแรง  การเจ็บป่วยลดน้อยลง  เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีเหมือนในอดีต  มีความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนมากขึ้น  ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ต่อไปของโรงเรียนชาวนาและมูลนิธิข้าวขวัญ คือ  ทำอย่างไรที่จะมีการขยับขยายเครือข่ายโรงเรียนชาวนาให้กระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น  ทำอย่างไรเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจึงมีความเข้มแข็งและยั่งยืน  ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด  ช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนจากทุกๆ  ฝ่ายต่อไป
จุดนัดพบที่ ๒ คือ โรงพยาบาลตาคลี  อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์ คณะของเราได้รับฟังการนำเสนอผลการดำเนินการจัดการความรู้ใน ๒  กลุ่ม  คือ  เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์  และ เครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่มโรงพยาบาล จังหวัดนครสวรรค์ 
เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ มี นพ.สมพงษ์ ยูงทอง นายแพทย์ศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์  ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม เป็นตัวแทนในการนำเสนอ  ซึ่งเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์  มีความใฝ่ฝันร่วมกัน คือ  ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพลิกฟื้นแผ่นดินนครสวรรค์จากระบบเกษตรเคมีมาสู่เกษตรยั่งยืนด้วยกำลังเครือข่าย  โดยกิจกรรมรูปธรรมที่ได้ผลักดันและปรากฏผลไปบ้างแล้ว  ได้แก่
๑. การจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายโรงเรียนชาวนาประมาณ ๒๔  แห่ง  ซึ่งมีระดับความเข้มแข็งแตกต่างกันออกไป
๒. การทำเวทีสมัชชาขนาดใหญ่ในระดับจังหวัด  โดยได้ทิศทางหลัก ยุทธศาสตร์ และ กลยุทธ์ร่วมกัน
๓. การจัดตั้งวิทยุชุมชนระดับอำเภอ เพื่อเป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง  ทั้งหมด  ๖  แห่ง  และกำลังพยายามเชื่อมโยงวิทยุชุมชนอื่นๆ เข้าหากัน
๔. เริ่มเชื่อมโยง  ๓  ภาคส่วนเข้าด้วยกันตามแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  ได้แก่  การสร้างความรู้และปัญญาเพื่อการขับเคลื่อนงาน การประสานกับภาครัฐ (องค์การบริหารส่วนจังหวัด, ผู้ว่าฯ  CEO, หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ)  และการเคลื่อนไหวสื่อสารกับสังคม เพื่อก่อกระแสเป็นวาระในสังคมระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติ
โดยวิธีการของโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ มีดังนี้ คือ
๑. กลุ่ม หรือ Team : ใช้กระบวนการเวทีสรุปบทเรียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ โดยมีกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม ทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย”  หลัก  เพื่อชักชวนให้พื้นที่จัดตั้งกลุ่มทดลองเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมี  ในขณะที่บางพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว ก็จะข้ามขั้นไปประเด็นเรื่องวิธีการเรียนรู้ต่อไป
๒. วิธีการเรียนรู้  :  หลังจากจัดตั้งและเห็นด้วยในหลักการ ก็ได้เริ่มกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม โดยถือหลักสำคัญที่ยึดถือร่วมกันว่า  ทุกคนต้องเป็นนักเรียนและเป็นครูพร้อมกันไป  เรียนรู้และแบ่งปันความรู้และปัญญาไปด้วยกัน
          ๒.๑ แปลงทดลอง-เรียนรู้ร่วมกัน  มีการเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศน์ของนาข้าว และให้กำหนดประเด็นทดลองศึกษาเปรียบเทียบตามที่แต่ละกลุ่มสนใจ โดยระหว่างดำเนินการแปลงทดลอง จะต้องมีการจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้ด้วย  ซึ่งแต่ละคนจะปรับเปลี่ยนวิธีการต่างกันออกไปตามความสมัครใจหรือความเชื่อที่หลากหลาย  หลังจากดำเนินการแปลงทดลองเสร็จแล้ว  ก็จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อประมวลความรู้-ปัญญาของบุคคลและของกลุ่ม
          ๒.๒ การคัดพันธุ์ข้าว  สมาชิกของโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนหนึ่งไปเข้ารับการอบรมเรียนรู้ความสำคัญของพันธุ์ข้าว และกระบวนการคัดเลือกพันธุ์ ที่มูลนิธิข้าวขวัญ  จังหวัดสุพรรณบุรี  (เป็นการไปเรียนรู้กับกลุ่มที่เข้มแข็งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำมาประยุกต์ปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง  ถือเป็นการเรียนลัด  และเรียนรู้จากความสำเร็จของคนอื่นหรือพื้นที่อื่น)
          ๒.๓ การพัฒนาสูตรปุ๋ยและกระบวนการพัฒนาฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน  โดยได้แนะนำและส่งเสริมให้มีการนำสูตรปุ๋ยไปทดลอง เปรียบเทียบกันในแปลงทดลองร่วมของกลุ่มต่างๆ  ตามความพร้อมและความสมัครใจ เพื่อหาสูตรปุ๋ยที่ดีที่สุด
          ๒.๔ การส่งเสริมการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยชุมชน เพื่อพึ่งตนเองและขยายไปสู่การพาณิชย์  รองรับการขยายตัวของเกษตรกรที่จะหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี
          ๒.๕ การส่งเสริมการขยายตัวของการใช้ปุ๋ยชีวภาพ  เป็นมาตรการหนุนเสริมให้กลุ่มที่มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นในการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยชุมชน โดยการจัดสรรงบเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำจาก อบจ. ขณะเดียวกันก็จัดสรรงบประมาณอีกส่วนหนึ่งให้กับกลุ่มประมาณ ๘ กลุ่ม จัดตั้งเป็นกองทุนปุ๋ย  โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผลิตปุ๋ยเองหรือจัดซื้อกันเองภายในเครือข่าย
สำหรับในปี ๒๕๔๘  ได้มีการยกระดับการขับเคลื่อนให้สูง-ซับซ้อน-ท้าทายยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ร่วม ผ่านเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องยุทธศาสตร์ชาวนา  จังหวัดนครสวรรค์  เมื่อวันที่ ๒๕  มิถุนายน ๒๕๔๘  ซึ่งสาระที่ได้มี ๓ เรื่องใหญ่ๆ  คือ เรื่องการขยายตัวและยกระดับเครือข่ายโรงเรียนชาวนา  การค้าข้าวร่วมกันของเครือข่าย และการพัฒนาโรงงานผลิตปุ๋ยชุมชน
หากจะกล่าวในภาษาการจัดการความรู้ จะเห็นว่า จังหวัดนครสวรรค์กำลังสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ในรูปของโรงเรียนชาวนา เพื่อเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและเชื่อมโยงกับภาคีพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งอยู่คนละสายงานหรือใกล้เคียงกัน เช่น ราชการ, มหาวิทยาลัย, ท้องถิ่น, กศน. ฯลฯ  เพื่อยกระดับการเรียนรู้ข้ามองค์กร
อย่างไรก็ตาม  นพ.สมพงษ์  ได้สรุปว่า การออกแบบระบบงานหรือการเคลื่อนไหว ซึ่งกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มเป็นเฟืองกลางอยู่นั้น ยังคงมีปัญหาเรื่องความครบขององค์ประกอบ โดยเฉพาะการบริหารการจัดการความรู้  การพัฒนายกระดับบุคคล-คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับ  ซึ่งการทำงานอยู่บนพื้นฐานของการเป็นอาสาสมัคร และกึ่งทางการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทำให้มีความจำกัดหลายเรื่อง  มีการคิดไปทำไปค่อนข้างสูง  ต้องใช้ความน่าเชื่อถือส่วนตัวของบุคคลเพื่อการชักชวน ขอร้องคนอื่นๆ เพื่อมาร่วมกันเขยื้อนภูเขาใหญ่เท่าที่จะเป็นได้  โดย นพ.สมพงษ์  มีคำพูดที่ใช้ปลอบประโลมตนเองและเพื่อนร่วมงานที่น่าสนใจ คือ  “เล็กล้มใหญ่ได้ถ้าใจถึง”  และ  “ผีเสื้อกระพือปีกสร้างพายุใหญ่ได้เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม”
แม้ว่าคณะ KM สัญจร ไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่จริง เพื่อไปสัมผัส พูดคุย ซักถามกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม “คุณกิจ”  ที่เป็นนักเรียนชาวนาของเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์  แต่จากการนำเสนอสรุปของ นพ.สมพงษ์  ทำให้ทราบว่า เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ เริ่มดำเนินการจัดการความรู้เพื่อเกษตรยั่งยืนจากหลักคิดพื้นฐานดังนี้คือ
๑. ปัญหาและความทุกข์หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา
๒. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนและต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นที่พึ่งได้
๓. เชื่อมโยงปัจเจกเข้าหากัน จัดตั้งวางระบบและเครือข่ายการเรียนรู้
๔. ความเท่าเทียมความมีศักดิ์ศรี
นอกจากนั้น เรายังได้เห็นจุดเด่นบางจุดที่แตกต่างกับโรงเรียนชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรีอยู่บ้าง เช่น เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ มีการดำเนินการในกลุ่มคนและพื้นที่ครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด  มีการระดมทรัพยากรในด้านต่างๆ  เข้ามาอย่างมากมาย  มีการร่วมมือกับคนหลายกลุ่มทั้งจากหน่วยงานราชการและองค์กรธุรกิจเอกชน  และมีการบูรณาการเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวงานต่างๆ เข้าหากันและหนุนเสริมกัน อาทิ เรื่องเกษตรยั่งยืน-วิทยุชุมชน-การเคลื่อนไหวด้านสุขภาพ/สาธารณสุข-งานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งต่างกับของโรงเรียนชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรีและมูลนิธิข้าวขวัญอยู่บ้าง ที่มีกลุ่มคนและพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมจำกัดเพียง ๔ อำเภอ อีกทั้งยังไม่มีการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนมากนัก  ซึ่งผู้บันทึกเห็นว่า  คงไม่มีพื้นที่ใดหรือวิธีการใดถูกต้องหรือดีกว่า  ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้น  แต่ละบริบท และแต่ละวัฒนธรรมมากกว่า 
ผู้บันทึกคิดว่านี่คือการจัดการความรู้ที่แท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดึงความรู้ฝังลึกที่อยู่ในตัวนักเรียนชาวนาแต่ละคน การบันทึกหรือสร้างความรู้ที่เหมาะสมขึ้นมาใช้ในพื้นที่หรือกลุ่มของตนเอง  การเรียนรู้กับคนอื่นหรือกลุ่มอื่นที่มีจุดเด่นหรือมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว การทำไปสร้างสรรค์ไป การริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ  ขึ้นมาใช้ทดแทนระบบหรือกระบวนการผลิตแบบเดิม การมีกัลยาณมิตรที่คอยเชื่อมโยงเครือข่ายและภาคีพันธมิตรต่างๆ  เพื่อหนุนเสริมการดำเนินการของกลุ่ม/องค์กรอย่างเหมาะสมบนฐานคิดที่ทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน
สำหรับการดำเนินการจัดการความรู้ของเครือข่ายการเรียนรู้ในกลุ่มโรงพยาบาล จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระดับจังหวัดกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) และได้รับงบ ประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ซึ่งในปี ๒๕๔๘  มีโรงพยาบาลในจังหวัดเข้าร่วมการเรียนรู้ จำนวน ๑๕  แห่ง  มีกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการความรู้มากมาย อาทิ
- การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้จัดการความรู้และผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (คุณเอื้อ) 
- การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระดับจังหวัดและโรงพยาบาลสำหรับผู้บริหารระดับจังหวัด,ผู้อำนวยการโรงพยาบาล, บุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความรู้และผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโรงพยาบาล, ทีมที่ปรึกษาพัฒนาคุณภาพระดับจังหวัด 
- การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะของ “คุณอำนวย” ในระดับจังหวัดและโรงพยาบาล ผลที่ได้คือ ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้เทคนิคการเป็น “คุณอำนวย” สามารถประสานงาน กระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปประเด็นบันทึกคลังความรู้จากเรื่องเล่า และเขียนแผนการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลและระดับจังหวัด เป็นต้น
- การจัดตลาดนัดความรู้โรคเบาหวาน  มี “คุณกิจ”  ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของแต่ละโรงพยาบาลมาเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปคลังความรู้  ส่วน “คุณอำนวย” ที่ผ่านการอบรมมาแล้ว  รับหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
กิจกรรมที่เครือข่ายฯ  จะทำต่อไป คือ 
- จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน Knowledge Vision เรื่องอื่นๆ ด้วย  สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน  หลังจากที่แต่ละโรงพยาบาลได้กลับไปประยุกต์ใช้กับงานของตนเองแล้ว จะนำกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกครั้งหนึ่ง 
- จัดมหกรรมการจัดการความรู้  โดยให้แต่ละโรงพยาบาลนำเสนอคลังความรู้ของตนเอง
หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอของเครือข่ายโรงพยาบาลแล้ว  คณะ KM สัญจรของเราเดินชมนิทรรศการเรื่องการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลทั้ง ๑๕ แห่ง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดตาก 
นี่เป็นเพียงการเดินทางของ คณะ KM  สัญจร  วันแรกเท่านั้น  แต่พวกเราได้รับความรู้  ได้เห็นมุมมองความคิด  ทัศนคติ  ได้สัมผัสบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ได้ซึมซับความมีน้ำใจ  ความตั้งใจของผู้คนต่างๆ  ที่ได้พบเจอมาตลอดระยะทางมากมาย  ทำให้ผู้บันทึกต้องมานั่งคิดทบทวนตนเองว่า  จริงๆ แล้ว ความสุขในชีวิตของเราอยู่ตรงไหน  เราต้องการอะไรในชีวิต  และอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด  วิถีชีวิตแบบใดที่เราพึงปรารถนา  และอีกหลากลายคำถาม  ซึ่งผู้บันทึกเองก็ยังไม่มีคำตอบให้กับตนเองในขณะนั้น  แต่รู้ว่า เรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว  และจะใช้เวลาที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการเรียนรู้ชีวิตและการทำงานให้ดีและคุ้มค่าที่สุด
 
วันที่  ๖  กรกฎาคม ๒๕๔๘
          วันที่สองของคณะ KM สัญจร เริ่มขึ้นที่โรงพยาบาลบ้านตาก โดยมีคุณเกษราภรณ์  ภักดีวงศ์  “คุณอำนวย”  ของโรงพยาบาลบ้านตาก เป็นผู้นำทางให้
          โรงพยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก มี ๖๐ เตียง แต่มีการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ เพื่อบรรลุเป้าหมายของโรงพยาบาลมานานตั้งแต่ยังไม่รู้จักการจัดการความรู้  มีการพัฒนา “ตัวแบบบูรณาการ ๑๐ ขั้นตอนสู่บ้านคุณภาพสร้างสุข”  สำหรับใช้เป็นแม่แบบของการพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อสร้างสุขภาพของโรงพยาบาลบ้านตาก  โดยพยายามสร้างความเข้าใจแบบง่ายๆ  ให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาลในการมองภาพรวมของการพัฒนาโรงพยาบาล เพื่อมุ่งสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนตามพันธกิจ วิสัยทัศน์  และนโยบายหลักของโรงพยาบาล  ซึ่งมุ่งเน้นผลลัพธ์สุดท้ายอย่างสมดุลใน ๓ ด้านที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพในอำเภอบ้านตากคือ  ประชาชนมีสุขภาพดี, เจ้าหน้าที่มีความสุข และโรงพยาบาลอยู่ได้  โดยเน้นพัฒนาอย่างเรียบง่ายสู่เป้าหมายอย่างสมดุล  มีการจัดหาความรู้ แล้วนำความรู้มาจัดการองค์กร (โรงพยาบาล) เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดความรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้มาจัดการให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพ  ซึ่งวิธีการเรียนรู้ของบุคลากรในโรงพยาบาลบ้านตาก คือ
          ๑. การเรียนรู้จากการศึกษาดูงาน (Learning by Seeing)
          ๒. การเรียนรู้จากการฝึกอบรม (Learning by Training)
          ๓. การเรียนรู้จากการอ่าน (Learning by  Reading)
          ๔. การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Learning by Doing)
          ที่สำคัญมีการจัดการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งเวทีจริง (Reality / Face to Face) และเวทีเสมือน (Virtual) โดยใช้ ICTเป็นเครื่องมือสำคัญ   นอกจากนั้น รูปแบบหรือเทคนิคในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก คือ
          ๑. ชุมชนนักปฏิบัติ (CoP)
          ๒. เพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist)  โดยมีการเชิญทีมอื่นมาแบ่งปันประสบการณ์
          ๓. การทบทวนหลังปฏิบัติการหรือการถอดบทเรียน (AAR)
          ๔. การเรียนรู้ร่วมกันหลังงานสำเร็จ (Retrospect)
          ๕. เรื่องเล่าเร้าพลัง (Springboard Storytelling)
          ๖. การค้นหาสิ่งดีๆ รอบๆ ตัว (Appreciative Inquiry)
          ๗. เวทีเสวนา Dialogue จัดกลุ่มพูดคุย ทำความเข้าใจกัน
          ที่โรงพยาบาลบ้านตากนี้ คณะของเราต่างรู้สึกประทับใจมาก แม้จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนของอำเภอเล็กๆ  แต่เมื่อเดินเข้าไปในโรงพยาบาลรู้สึกได้ทันทีว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่เล็กตามขนาดของโรงพยาบาลเลย  เพราะเหมือนกับเรากำลังเดินอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางทั่วไป  คือ  อากาศปลอดโปร่ง  สะอาด  สบายตา  มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย  เจ้าหน้าที่หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  คนไข้ไม่เยอะมาก  ไม่มีบรรยากาศของการรอคิวยาวเหยียดเพื่อรอการตรวจรักษาเหมือนเช่นโรงพยาบาลของรัฐทั่วไป  คณะของเราสัมผัสได้ถึงความสุขที่เกิดจากการทำงานในสถานที่ที่มีคุณภาพเช่นนี้ 
          จากโรงพยาบาลบ้านตาก คณะ KM สัญจร เดินทางต่อไปยังจังหวัดพิจิตร เพื่อไปพบปะกับเครือข่ายเกษตรธรรมชาติจังหวัดพิจิตร ซึ่ง สคส.ได้เชื่อมต่อและจุดประกายแนวคิดการจัดการความรู้ให้กับเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษจังหวัดพิจิตรไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๗  และนับตั้งแต่นั้นมา เครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนแนวทางการทำงาน และได้ผลผลิตที่สำคัญ คือ  ตารางแห่งอิสรภาพ  ซึ่งเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ช่วยให้เครือข่ายสามารถประเมินตนเอง  วางแผนพัฒนาโดยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้  ยกระดับความรู้เพื่อมุ่งไปสู่การมีสุขภาพดี  การลดหนี้สิน และสิ่งแวดล้อมปลอดสารพิษ ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และสังคม อันเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาของเครือข่าย
          ต่อมา แกนนำเครือข่ายหารือจัดทำแผนจัดการความรู้ต่อยอดปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙  โดยเริ่มจากการพัฒนาแกนนำให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการจัดการความรู้  ซึ่งมีกระบวนการขับเคลื่อนเป็น ๗  CoP  ได้แก่  นา, โรงสี, ผัก, สวนขนาดเล็ก, ไร่นาสวนผสม, โรงเรียนทายาทเกษตรกร  และ อบต.ปลอดสาร  ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนไปพร้อมกับกระบวนการของพื้นที่ ๑๒ อำเภอ การอบรมคุณอำนวยจึงได้มีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔-๑๕  พฤษภาคม ๒๕๔๘  ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร  โดยทีมวิทยากรจาก สคส.  ทำหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการอบรม  เพื่อให้ได้คุณอำนวยที่สามารถกลับไปช่วยในการขับเคลื่อน ๗ CoP  นั้นต่อไป
          และช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๘ มีกิจกรรมสมัชชาสุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปรส. และโครงการเมืองไทยแข็งแรง  ซึ่งเครือข่ายมีความเห็นร่วมจัดกับ สสจ. เนื่องจากมีเป้าหมายหลักเดียวกัน 
          ส่วนการขับเคลื่อนของ CoP ทั้ง ๗  ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาอย่างต่อเนื่องในเวทีเครือข่าย ๑๒  อำเภอ  แต่ประชาคมที่มีการใช้รูปแบบการจัดการความรู้ที่ค่อนข้างชัดในระดับจังหวัด คือ  ประชาคมผัก  อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงประสานงานกับภาคีระดับประเทศ  และในระดับจังหวัด กำหนดให้มีเวทีการนำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายสุขภาพอื่นๆ ในจังหวัดพิจิตร  ซึ่งกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะมีทีมคุณอำนวยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ตามกระบวนการที่ได้รับการฝึกอบรมมา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ช่วยให้กลุ่มได้รู้จักแกนนำเครือข่ายอื่นๆ  เพิ่มขึ้นมากมาย  รวมทั้งการสร้างกระแสความสนใจด้านการเกษตรปลอดสารพิษก็จะมีแนวทางขยายผลอย่างบูรณาการร่วมกับภาคีต่างๆ  ในจังหวัดพิจิตรต่อไป
          เมื่อคณะ KM  สัญจร เดินทางไปถึงตำบลบึงบัว  อำเภอวชิรบารมี  จังหวัดพิจิตร  เราก็ได้พบการเตรียมงานต้อนรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี  มีการจัดวงสนทนา จัดโต๊ะเก้าอี้  และนิทรรศการต่างๆ  ไว้อย่างสวยงามและน่าสนใจ    เราเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยการให้คุณสุรเดช  เดชคุ้มวงศ์  ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาพิจิตร เป็นผู้สรุปภาพรวมโครงการและการดำเนินการจัดการความรู้ก่อน  หลังจากนั้นจึงมีการแยกวงการพูดคุยเป็น ๒ วง คือ วงเกษตรกร  และวงหมอกับสาธารณสุขจังหวัด
          เสร็จจากวงสนทนา เราได้ไปชมพื้นที่เกษตรของกลุ่มชาวบ้านเกษตรกร มีการทำเกษตรชีวภาพ,  การทำไร่นาสวนผสม มีทั้งปลูกผัก,ผลไม้, เพาะเห็ด, เลี้ยงไก่, เลี้ยงห่าน, เลี้ยงกบ, เลี้ยงปลา  และผลผลิตอีกมากมาย
          หลังจากนั้น  คณะของเราเดินทางออกจากจังหวัดพิจิตรเพื่อไปจังหวัดพิษณุโลก 
วันที่  ๗  กรกฎาคม ๒๕๔๘
          ในวันสุดท้ายของการสัญจรในครั้งนี้ คณะของเราไปร่วมงาน Regional Forum ที่สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บรรยายเรื่อง “เส้นทางแห่งการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศในการบริการสุขภาพ”  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนกว่าพันคน  หลังจากการฟังบรรยาย คณะ KM สัญจร ก็ย้ายไปฟังการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง หรือ HKM ที่ สคส. ให้การสนับสนุนอยู่
โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกโรงพยาบาล ๑๗ แห่งในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ด้วยจุดหมายในการเสริมสร้างสัมพันธภาพและความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพงานของกลุ่มสมาชิกเครือข่ายโรงพยา-บาล  โดยการค้นหาความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิธีการปฏิบัติที่เกิดจากความสำเร็จในงาน ด้วยการปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกและผู้ที่สนใจในรูปแบบของเวทีพบปะ เสวนา  การประชุมสัมมนา  และการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มารวบรวมสังเคราะห์องค์ความรู้และจัดเก็บเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้  แล้วนำความรู้เหล่านั้นไปเผยแพร่ใน Website, Web Board และในเอกสาร หนังสือ นิทรรศการ ให้กับกลุ่มสมาชิกและผู้สนใจอื่นๆ  อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทีมงานบริหารโครงการ พัฒนางานการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล และการสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ  ต่อไป
โครงการฯ เริ่มจากกิจกรรม Kick-Off  เพื่อการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความผูกพัน  ความไว้วางใจในระยะต่อมา   อีกทั้งการฝึกอบรมพื้นฐานความรู้ด้านทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับสมาชิกเครือข่าย  การใช้เครื่องมือชุดธารปัญญา  อันได้แก่  การจัดทำตารางแห่งอิสรภาพ การประเมินตนเอง และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีวิสัยทัศน์การจัดการความรู้ของกลุ่มสมาชิกเป็นหลัก และใช้ประเด็นย่อยคือ กิจกรรมหัวหน้าพาทบทวน ๑๒  กิจกรรม มาเป็นเวทีทดลองนำร่องพัฒนาการจัดการความรู้ นอกจากนั้นยังใช้เครื่องมือ Peer Assist,  After Action Review  และ  CoP  ในการพัฒนาการจัดการความรู้ในกลุ่มสมาชิกเครือข่าย   โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิธีปฏิบัติในเวทีต่างๆ อีกทั้งทีมจัดการความรู้ในแต่ละโรงพยาบาล  ยังนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรและขยายวงการจัดการความรู้ภายในและทีมข้ามองค์กร
          ในปัจจุบัน ทีมบริหารโครงการฯ ได้ขยายเครือข่ายการพัฒนาองค์ความรู้  พัฒนาทักษะคุณอำนวย  ทั้งภายนอกและภายในเครือข่าย เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการจัดการความรู้และนำไปปฏิบัติในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล   ทำให้เกิดการขยายวงการจัดการความรู้และนำไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยส่งทีมวิทยากรและทีมที่ปรึกษาของสมาชิก  HKM  ไปให้ความรู้และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับเครือข่าย  และระดับองค์กร อาทิ เครือข่ายการเรียนรู้ในระดับจังหวัดนครสวรรค์  เครือข่ายการเรียนรู้ในระดับจังหวัดหนองคาย เครือข่ายการเรียนรู้ในระดับจังหวัดพิษณุโลก เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบงานสารบรรณ  มหาวิทยาลัยนเรศวร   เครือข่ายการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
          จากผลสรุปของโครงการนี้ พบว่า
หน่วยงานราชการที่ได้ดำเนินการจัดการความรู้ดังเช่นเครือข่ายโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่างนี้ จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการจัดความรู้ ดังนี้ คือ
          ๑. เครือข่ายได้พัฒนาวิธีการและกระบวนการทำงานใหม่ๆ
          ๒. ทำให้เกิดความริ
หมายเลขบันทึก: 2432เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2005 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์หมอวิจารณ์คะ ข้อความตอนท้ายของบันทึกนี้มีไม่ครบคะ รบกวนช่วยเพิ่มเติมให้ด้วยนะคะ ขอบพระคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท