ข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะต่อกรณีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวปี 48


จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะ ต่อกรณีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ 2548

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) มีความห่วงใยอย่างยิ่งในมติครม.ในวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ในเรื่องการจัดการระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงของแรงงานข้ามชาติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและในภูมิภาค รวมถึงผลกระทบต่อชุมชนต่างๆ

เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการอนุญาตให้มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ โดยกำหนดให้นายจ้างวางเงินประกันตัวแรงงาน ที่จะขัดต่อสภาวะการทำงานที่ยุติธรรม ทั้งนี้เนื่องจากการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในครั้งที่ผ่านมามีการกำหนดให้มีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานเป็นเงิน 3,800 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตทำงาน ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อประกันสุขภาพ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่านายจ้างส่วนใหญ่ได้ทำการหักค่าจ้างของแรงงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน อันนำมาซึ่งการเกิดหนี้สินของแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งนายจ้างยังยึดบัตรอนุญาตเพื่อควบคุมไม่ให้ลูกจ้างหลบหนีหรือเปลี่ยนงานไปสู่สภาพการจ้างงานที่ดีกว่า และก่อนที่จะใช้หนี้สินที่เกิดจากการจดทะเบียนจนหมด

ดังนั้นการมีค่าใช้จ่ายในการประกันตัวที่เพิ่มขึ้นอีก10,000 บาทหรือ 50,000 บาท ในทางปฏิบัติมีแนวโน้มว่านายจ้างจะหักค่าจ้างของแรงงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อผ่อนจ่ายเงินค่าประกันตัวและค่าจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะความความเสี่ยงที่รุนแรงและเป็นการผลักดันให้แรงงานเข้าสู่สภาพของการใช้แรงงานบังคับ และตกอยู่ในสภาวะรูปแบบการทำงานที่เลวร้าย

หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แรงงานจะอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันและต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อจะหาเงินมาผ่อนจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประกอบกับแรงงานไม่มีทางเลือกในการทำงาน และไม่มีอำนาจในการต่อรองเพื่อเปลี่ยนสภาพการจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพทางด้านร่างกายและจิตใจของแรงงานข้ามชาติ

ในขณะเดียวกันมีกลุ่มนายจ้างได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เราจึงมีความห่วงใยว่าหากนายจ้างปฏิเสธที่จะเข้าสู่ระบบในการจัดการนี้ ย่อมจะนำมาสู่การผลักดันให้ขบวนการนายหน้าและผู้มีอิทธิพลเข้ามามีบทบาทในการใช้อำนาจควบคุมและจัดการการจ้างงานแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ส่งผลกระทบให้เกิดการจ้างงานแบบใต้ดิน ก่อให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และขบวนการการค้ามนุษย์

อีกทั้งการที่รัฐจะไม่ใช้กรอบสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในมติครม.ในข้อ 17 การปฏิเสธดังกล่าวนั้นขัดแย้งกับหลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ต่อข้อเสนอที่รัฐบาลจะจัดให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเกษตรแบบพันธสัญญาในพื้นที่ชายแดนนั้น น่าวิตกว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตและเกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในชุมชนทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การกำหนดนโยบายและโครงการในลักษณะดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนนั้น ๆ ด้วย แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม รัฐบาลไทยควรยุตินโยบายและโครงการดังกล่าวไปก่อน

เครือข่ายฯ สนับสนุนในการจัดระบบที่จะคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าปัญหาในการจัดการแรงงานข้ามชาตินั้นเกิดจากการกำหนดนโยบายโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ มิใช่เกิดจากตัวแรงงานข้ามชาติเอง  ทั้งนี้เพราะแรงงานข้ามชาติยังไม่อยู่ในสภาวะที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้
               

 ดังนั้นนโยบายที่จะเกิดขึ้นจึงต้องคำนึงถึงสภาวะความเป็นจริงของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศพม่า อีกทั้งนโยบายของรัฐไทยในปี 2547 ที่เปิดโอกาสให้ผู้พลัดถิ่นจดทะเบียนอาศัยอยู่ชั่วคราวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขงในปัจจุบัน 
 

จากที่กล่าวมาข้างต้นเครือข่ายฯ มีความรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมติคณะรัฐมนตรีฯ ดังนั้นเราขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว  พร้อมทั้งเร่งดำเนินการจัดทำนโยบายบริหารแรงงานข้ามชาติที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ใช้กรอบสิทธิมนุษยชน ปราศจากการเลือกปฏิบัติ  แต่เนื่องจากขณะนี้แรงงานข้ามชาติถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการเปิดให้มีการระดมความคิดเห็นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งจากตัวแรงงานข้ามชาติเอง กลุ่มและองค์กรที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติและหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ รวมถึงนายจ้างและฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง  ภายในเดือนมีนาคม 2549
 
เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ
14 กุมภาพันธ์ 2549

หมายเหตุ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เป็นเครือข่ายระดับประเทศที่ประกอบไปด้วยองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติ จากพม่า ลาว กัมพูชาและเครือข่ายพันธมิตร  ประมาณ 10 กว่าองค์กร รวมตัวกันเพื่อทำงานเชิงนโยบายเพื่อก่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่
นายอดิศร เกิดมงคล โทร 09-7887138

หมายเลขบันทึก: 24230เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท