การประชุมชี้แจงเรื่องมาตรการตามมติครม. 20 ธันวาคม 2548 : การประกันตัวแรงงานต่างด้าวก่อนจดทะเบียน


บันทึกย่อ
การประชุมชี้แจงเรื่องมาตรการตามมติครม. 20 ธันวาคม 2548
การประกันตัวแรงงานต่างด้าวก่อนจดทะเบียน

 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลา  13.30-16.30 น.  ได้มีการประชุมชี้แจงต่อ นายจ้าง ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548  ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน  โดยมีผู้ร่วมประชุมชี้แจง คือ


·        พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ - รองนายก และรมต.ยุติธรรม
·        นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ - รองนายก และรมต.พาณิชย์
·        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน - รมต.แรงงาน
·        นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ - ปลัดกระทรวงแรงงาน
·        นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี - อธิบดีกรมการจัดหางาน
·        พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ – ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ?? (ไม่แน่ใจว่า เป็นตัวแทนมาหรือไม่ เพราะไม่มีบทบาทในเวทีนี้เลย)

·        ·        ·        ·        ·        ·        –??


จากการร้องเรียนของภาคเอกชน ในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มี ทร.38/1 จะต้องจ่ายเงินประกันตัว 10,000 บาท และ 50,000 บาท สำหรับผู้ที่ไม่มี ทร.38/1 จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ  จึงมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก  ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฏหมายในการให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว  ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวมีความผิดตามพรบ.คนเข้าเมือง


อย่างไรก็ตามเงินประกันตัวแรงงานต่างด้าวนี้เป็นอัตราตาม พรบ.คนเข้าเมืองกำหนด  ทำให้มีนายจ้างและผู้ประกอบการ สมาคมประมง สภาหอการค้า เจ้าของธุรกิจด้านเกษตร และโรงงานกว่า 1,000 คน  เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อร่วมหาทางออกสำหรับการแก้ปัญหาการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่งคงของประเทศ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน  ได้หารือกับผู้เข้าร่วมประชุมถึงเงินประกันตนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีทร. 38/1 ในอัตรา 50,000 บาท นี้ผู้ประกอบการรับได้หรือไม่ และขอให้เสนออัตราที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการจะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้  เนื่องจากขณะนี้มีการนำเข้าแรงงานลาว และกัมพูชา ที่เข้าถูกต้องตามกฎหมาย[1] โดยเสียค่าใช้จ่าย 11,000 บาท และหากแรงงานเหล่านี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดเลยคงเป็นไปไม่ได้


นายจ้างหรือผู้ประกอบการนำเสนอปัญหา และอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานต่างด้าว ดังนี้


·        นายกสมาคมหอการค้าไทย  ได้เสนอว่า ถ้าจะให้นายจ้างเสียเงินแค่ 3,800 บาทก็เดือดร้อนมาแล้ว และ  ขอผ่อนผันเป็นรายเดือน  สำหรับแรงงานทุกประเภทไม่คำนึงว่า ได้จดทะเบียนแล้วหรือไม่  และต่อไปเมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ก็จะนำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมายมาทดแทน  โดยขอผ่อนผันต่อไปอีก 1 ปี โดยไม่เสียค่าประกันตน


·        ผู้แทนของสภาอุตสาหกรรม เสนอว่า รัฐบาลควรมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะเอาเรื่องความมั่นคง หรือเศรษฐกิจ  ถ้าจะเอาเรื่องความมั่นคงก็ผลักดันกลับประเทศต้นทางให้หมด เพื่อให้นำเข้ามาใหม่อย่างถูกกฎหมาย  แต่ถ้าเอาเรื่องเศรษฐกิจก็ขอให้เสียค่าปรับ 10,000 บาท  สำหรับผู้ที่ไม่มี ทร. 38/1


·        ผู้แทนจากสมาคมผลไม้ ได้เสนอว่า  แต่ละอุตสาหกรรมควรเสียค่าประกันตนในอัตราที่ไม่เท่ากัน และตามระเบียบแล้วเขาไม่ควรต้องเสีย  หากจะต้องเสียค่าประกันตนขอให้ไม่เกิน 10,000 บาท


·        หอการค้าปทุมธานี เสนอว่า ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเงินกู้ธนาคารได้เพียง 25,000 บาท ซึ่งไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปประกันตนแรงงานต่างด้าว  จึงได้เสนอให้ผู้ที่มี ทร.38/1 เสียค่าประกันตน 500 - 1,000 บาท และกรณีที่ไม่มี ทร.38/1 เสียเงิน 2,000 บาท


·        ผู้ประกอบกิจการอิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่ง มีลูกจ้างต่างด้าว 30 คน  ได้เสนอให้เสียค่าประกันตนสำหรับผู้ที่มี ทร.38/1 เสีย 5,000 บาท  และผู้ที่ไม่มี ทร.38/1 เสีย 10,000 บาท โดยสามารถ ผ่อนชำระเป็นงวดได้ในระยะเวลา 2 ปี


·        ผู้ประกอบการประมงรายหนึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันต้นทุนสูงขึ้น ราคาปลาตก ปลาจำนวนน้อย  เรือประมงแต่ละลำต้องใช้คนงาน 30 คนขึ้นไป และแรงงานที่มาทำงานได้ไม่ถึงเดือนก็หนี จึงขอให้เสียค่าจดทะเบียนสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมประมงเพียง 3,800 บาท


·        ตัวแทนผู้ประกอบการจังหวัดสมุทรสาคร  ได้กล่าวว่า ได้มีการประชุมภายในจังหวัดแล้ว และเสนออัตราค่าประกับตน  สำหรับผู้ที่มี ทร.38/1 ไม่เกิน 5,000 บาท  และสำหรับผู้ที่ไม่มี ทร.38/1 ไม่เกิน 10,000 บาท  และหากมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการใดๆ ขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบล่วงหน้า


·        ตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี ได้กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นคนมอญและกระเหรี่ยง ซึ่งมาอยู่เป็นครอบครัว ทำให้เคลื่อนย้ายลำบาก และเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจ ไม่สร้างปัญหาเรื่องความมั่นคง  แต่การเคลื่อนย้ายแรงงานควรจัดการโดยการเปิดรับจดทะเบียนทั้งปี หรือทุก 3 เดือน


·        นายกประมงจังหวัดชุมพร  ได้กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อวาน (12 มี.ค. 49) มีจับกุมแรงงานประมงที่ชุมพร และจังหวัดอื่นๆตามแนวชายฝั่งทะเล และเสนอแนะถึง การจัดระบบต้องไม่มีผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ  โดยให้ภาคเอกชนร่วมกับรัฐจัดทำให้ถูกตามกฎหมาย  และเสนอให้มีการจัดตั้ง กบร.จังหวัด โดยให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  และให้กรมการจัดหางานกำหนดแนวทางให้จังหวัดดำเนินการ และมีการเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือนโดยนำส่งที่ส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มี one stop service ชายแดน แยกแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงออกจากกิจการอื่นๆ


·        ประธานชุมชนตลาดท่าเรือคลองเคย ได้เสนอให้เสียค่าประกันตนสำหรับผู้ที่ไม่มี ทร.38/1 5,000 บาท


อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้สรุปในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันหลายอาชีพมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว  ซึ่งขอให้ตัวแทนกลุ่มนายจ้างและผู้ประกอบการกลุ่มละ 2 – 3 คน เข้าประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปเรื่องอัตราค่าประกันตนแรงงานต่างด้าวที่ไม่เป็นภาระต่อนายจ้าง และเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบและความมั่นคงในประเทศ รวมถึงขอให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการดูแลความมั่นคงด้วย


เมื่อย้ายมาประชุมที่ห้องประชุมศ.นิคม  โดยมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี และตัวแทนกลุ่มนายจ้างและผู้ประกอบการประมาณ 30 คน  ซึ่งพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ได้กล่าวว่า หากได้ข้อสรุปที่เป็นตัวเลขเร็ว จะนำเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค. 49)


นายจ้างและผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ เกษตร และบริการ ได้มีข้อเสนอต่างๆ ดังนี้


·        นายจ้างบางราย และตัวแทนเกษตรกรรายย่อยจาก อ.ฝาง กล่าวว่า ค่าประกันตนแรงงานต่างด้าว 5,000 บาทต่อคนก็ไม่สามารถแบกรับภาระได้


·        เจ้าของธุรกิจประมงรายหนึ่ง  เสนอให้แยกแรงงานประมงออกจากธุรกิจประเภทอื่นๆ และขอให้เสียเงินในอัตราเดียวกับปี 2539 คือ 1,000 บาท


·        นายกสมาคมแปรรูปอาหารสมุทรสาคร ได้เสนอว่า การจ้างงานในธุรกิจต่างๆมีความแตกต่างกันมาก จึงไม่ควรใช้บรรทัดฐานเดียวกัน


·        ตัวแทนกลุ่มไร่หญ้่าปทุมธานี  เสนอให้เสียค่าประกันตนผู้ที่ไม่มี ทร.38/1  1,000 บาท และผู้ที่มี ทร.38/1  500 บาท


·        ประมงรายย่อยสมุทรสาครรายหนึ่ง เสนอให้เสียค่าประกันตนผู้ไม่มี ทร.38/1 1,000 บาท ส่วนผู้ที่มี ทร.38/1 ให้ใช้อัตราเหมือนเดิม


·        ผู้ประกอบคนหนึ่ง จากจังหวัดราชบุรี ได้เสนอว่า ค่าประกันคนแรงงานต่างด้าว 5,000 บาท  ถ้าแรงงานหลบหนีให้คืนเงินบางส่วน และห้ามเปลี่ยนนายจ้าง


·        ผู้ประกอบการหลายรายเสนอให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกไปอีก 1 - 2 เดือน  บางรายขอให้ผ่อนจ่ายค่าประกันตนเดือนละ 500 - 1,000 บาทต่อเดือน


·        นายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย  เสนอว่า ควรใช้โควต้าเดิมที่ขอ เพื่อให้สามารถควบคุมจำนวนแรงงาน และความมั่นคงของประเทศ  โดยให้นายจ้างและผู้ประกอบการจ่ายเงินตามโควต้่า


·        ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้เสนอให้ แก้ไขกฎระเบียบการจ้างแรงงานต่างด้าวในธุรกิจภาคการเกษตรให้สามารถให้เครื่องมือที่ทันสมัยได้เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ


·        ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งน้ำจืดรายหนึ่ง เสนอให้เพิ่มโทษแรงงานที่โยกย้ายหรือหลบหนี


·        ตัวแทนจากสมาคมโรงสีข้าวไทย  ได้กล่าวว่า ตนเองต้องแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดช่วยจัดหางานที่ถูกต้องให้ด้วย  และเสนอให้ห้ามโยกย้ายแรงงานข้ามจังหวัด "แบบเดิม" หรือข้ามโรงงาน  และค่าประกันตนสำหรับผู้ที่ไม่มี ทร.38/1 1,000 บาท


·        ตัวแทนผู้ประกอบการจากชลบุรี  ได้กล่าวว่า ชลบุรีขาดแคลนแรงงาน 50,000 คน  ซึ่งจะมีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายในเดือนเมษายนนี้  และผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยื่นโควต้ายินดีชำระเงิน


·        ผู้ประกอบการบางคนเสนอว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว จึงค่อยมาจดทะเบียนกันใหม่  และมีการตั้งคำถามว่า การจ่ายเงินประกันตัวแรงงานต่างด้าวช่วยเรื่องความมั่นคงของประเทศได้อย่างไร


นายสมศักด์ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า การจัดระบบแรงงานต่างด้าวนั้นต้องแยกประเภทแรงงาน เพราะมีทั้งแบบเช้าไปเย็นกลับ แรงงานประมงที่อยู่กลางทะเล และอื่นๆอีก มีแผนจะตั้งศูนย์บริหารแรงงานต่างด้าว ที่ระนอง ตาก และเชียงใหม่  รวมทั้งแบ่งโซนพื้นที่ชายแดนกับในเขตเมือง  แต่ยุบสภาก่อน  ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่เป็นสุญญากาศทางการบริหาร  และจะหาทางผ่อนปรนให้สามารถแบกรับภาระได้ แต่ไม่ผิดกฎหมายพรบ.คนเข้าเมือง ตามมาตร 54 หนังสือค้ำประกัน และเงินสด เพื่อไม่ให้นายจ้างและผู้ประกอบการถูกลงโทษทางกฎหมาย


นายจุฑาธวัช อธิดีกรมการจัดหางานได้ชี้แจงเกี่ยวกับการจ้างแรงงานว่า ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง  และห้ามคนงานหนี  หากคนงานหลบหนีขอให้ส่งรูปคนงานมาให้ที่กรมการจัดหางาน โดยส่งรูปต่อไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อติดตามจับกุมต่อไป  สำหรับแรงงานในธุรกิจประมงนั้นจะหาแนวทางที่จะจัดการเฉพาะกลุ่มต่อไป


ส่วนนายสมศักดิ์ ได้ชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า โควต้าแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างขอเท่าไรก็ให้ตามจำนวนที่ขอมา  แต่ไม่สามารถขยายจะเวลาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้  ดังนั้นขอให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 30 มีนาคม 2549  ส่วนเรื่องอัตราค่าประกันนั้นให้ชลอไว้ก่อน  โดยจะมีคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการได้  อย่างไรก็ตาม จะต้องปรึกษากับนักกฎหมายว่า ขัดต่อกฎระเบียบหรือไม่  หากไม่สามารถเป็นได้ก็ให้ยึดตามระเบียบเดิม  

แม้ว่ายังไม่มีข้อสรุปถึงอัตราค่าประกันตัว  นายสมศักดิ์ ได้กล่าวว่า จะนำเรื่องพิจารณาในครม.ในวันนี้ (14 มี.ค. 49) คือ


·        สำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะสิ้นสุดใบอนุญาตในวันที่ 30 มิถุนายน 2549  จำนวน 700,000 กว่าคน จะให้เสียค่าใช้จ่าย 3,800 บาท คือ ค่าตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และใบอนุญาตทำงาน


·        การตั้งคณะกรรมเพื่อพิจารณาเรื่องอัตราค่าประกันตนแรงงาน
นอกจากนี้นายจ้างและผู้ประกอบการก็รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานคือ หากนายจ้างไปขึ้นทะเบียนแรงงานไว้ จะเป็นข้อผูกมัดให้ต้องจ่ายเงินค่าประกันตนตามมติของคณะกรรมการ ซึ่งยังไม่ทราบว่า จะเป็นจำนวนเท่าไร   และปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งนายจ้างอาจจะถูกริบเงินประกันหากลูกจ้างหลบหนี   รวมทั้งจำนวนเงินประกันตน หรือหนังสือรับรองจากธนาคาร ซึ่งผู้ประกอบการหรือนายจ้างบางรายไม่สามารถหามาค้ำประกันได้  จึงมีข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ควรจะสามารถใช้หลักทรัพย์ หรือใบจดทะเบียนบริษัท เพื่อค้ำประกันได้  แต่ในกรณีของเกษตรกรรายย่อยควรจะฝ่ายปกครองในพื้นที่เป็นผู้ค้ำประกันได้


บันทึกและเรียบเรียงโดย
สุภา วิตราภรณ์
องค์การ PATH
14 มีนาคม 2549



[1] ข้อเท็จจริงเรื่องการนำแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือ มีความพร้อมเฉพาะจากประเทศลาว แต่ในส่วนของกัมพูชา ยังไม่พร้อมและกำลังอยู่ในระหว่างเจรจาต่อรอง (แหล่งข้อมูล: หารือกับโครงการพรมแดน- 2 มีนาคม 2549 และ คุณนรา 9มีนาคม 2549)

หมายเลขบันทึก: 24229เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท