เรียนรู้จากเวที “คุณอำนวย” ครั้งที่ ๒ (๑๗ เมย. ๔๙)


ณ ศูนย์ฝึกอบรม บ้านผู้หว่าน จ. นครปฐม

เรียนรู้จากเวที “คุณอำนวย” ครั้งที่ ๒  (๑๗ เมย. ๔๙)

  • สภาพแวดล้อมของ “คุณอำนวย” ของ KM ในหน่วยราชการมีความซับซ้อนมาก   และมีกระแสคลื่นลมมาก    เดี๋ยวคลื่นเดี๋ยวลม   “คุณอำนวย” ต้องตั้งสติให้ดี   และรู้จักรับ รู้จักรุก
  • “คุณอำนวย” ในบางกรม บางหน่วยงาน ต้องทำงานกับ “คุณเอื้อ” หลายคน หลายจริต  หลายความต้องการ   ความต้องการของ “คุณเอื้อ” บางคนมาจากความต้องการคะแนนจาก กพร.   “คุณเอื้อ” หลายคนต้องการให้หน่วยงานทำ KM โดยตนเองไม่รู้จัก KM
  • หลายหน่วยงาน ทั้งภาคราชการ และธุรกิจเอกชน มี “ทีมคุณอำนวย” คือ “คุณอำนวย” ไม่ได้ทำงานคนเดียวโดดๆ 
  • คุณอำนวย ต้องเป็น ทศพักตร์ ตามบันทึกของ ดร. ประพนธ์   แต่คุณเรวัตร ใหญ่แก้ว จาก บ. ปูนซีเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด บอกว่า “คุณอำนวย” ต้องเป็น “ดาวยั่ว” ทำหน้าที่ยั่วยุ   ยั่วยุ “คุณกิจ” ให้เกิดการตั้งคำถาม   และหาคำตอบเองโดยลองปฏิบัติ 
  • ผมติดใจวิธีเริ่มต้น KM หน่วยงานที่เล่าโดย รศ. ดร. อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง ที่ให้ “คุณกิจ” แต่ละคน “ฝันเพื่อตัวเอง” ว่าอยากจะเป็นอย่างไร   แล้วให้เล่าให้เพื่อนฟังว่าตนฝันอย่างไร   ต้องการความช่วยเหลือเพื่อสานฝันอย่างไร   แล้วจึงร่วมกันเขียนวิสัยทัศน์ LO – KM ขององค์กร   พร้อมทั้งทำ SWOT สู่วิสัยทัศน์นั้น  
  • ผมชอบคำพูดของ ผศ. สมพงษ์ บุญเลิศ  มรภ. เชียงใหม่ ว่าการทำ KM ต้องวางธงไว้เป็นระยะๆ  หลายระยะ    ศ. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์เรียกว่าต้องมีทั้ง “เป้าหมายปลายทาง” และ “เป้าหมายรายทาง”
  • ผมติดใจแนวคิดของคุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์  บ. ปูนซีเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด   ที่บอกว่า ทำ KM เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กร เปลี่ยนจาก result-based ไปเป็น process-based   ซึ่งจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดของคนผ่านการสร้าง/เปลี่ยนแปลง ๒ อย่าง คือทักษะ กับ บรรยากาศ   
  • ผมดีใจที่คุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล บอกว่าการที่ สคส. ส่งหน่วยงานอื่นไปขอความช่วยเหลือให้ทีมของกรมอนามัยให้คำปรึกษาและเป็นวิทยากร KM มีผลทำให้ทีมแกนนำ KM ของกรมอนามัยได้รับความเชื่อถือจากคนภายในกรม    และติดใจวิธีจัด KM Workshop ที่สามารถทำให้คนที่หัวไวไม่เท่ากันสามารถทำ KM ไปด้วยกันได้   สัจจธรรมก็คือคนเราไม่เหมือนกัน มีดีกันคนละด้านสองด้าน ควรมีวิธีอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเกิดการ “สนธิพลัง” (synergy) กัน
  • ผมติดใจ “ศูนย์ความรู้” ของ ทญ. นนทลี วีรชัย  และ “แฟ้มภูมิปัญญา” ของ “พี่ติ๊ก” คุณสร้อยทอง เตชะเสน  จากกรมอนามัยทั้งคู่  จะขอส่งทีมไป “จับภาพ” นะครับ    ผมคิดว่าน่าจะเป็นนวัตกรรมในการดำเนินการ KM    สคส. กำลังสนใจ “หางปลา” ครับ
  • อ. วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ แห่ง มธ. ศูนย์ลำปาง ได้แสดง “ทอล์คโชว์” แบบไม่ NATO อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้บันทึกใน บล็อก เป็นตัวกระตุ้นการจดบันทึกของชาวบ้าน   และใช้เป็นตัวสร้างการยอมรับของ อบต.   เป็นวิธีใช้ประโยชน์ บล็อก ที่ชาญฉลาดจริงๆ   ดร. จันทวรรณ และ ดร. ธวัชชัย น่าจะปลื้มใจมาก   ทีม Patho OTOP ที่ “พี่เม่ย” มาเป็นตัวแทน ก็ใช้กุศโลบายใช้ บล็อก เป็นตัวล่อให้เจ้าหน้าที่ภูมิใจการปรับปรุงงานของตน คล้ายๆ กัน
  • ได้เรียนรู้การทำ KM + QCC ที่คุณกนิษฐา ศรีรัตนาภรณ์ แห่ง บ. บัตรเครดิตกรุงไทย จำกัก (มหาชน) ทำกับบริษัท outsource 6 บริษัท  
  • ผมไม่ได้พยายามเอ่ยถึงทุกๆ คน และทุกๆ เรื่องราวดีๆ   คอยรออ่าน “ขุมความรู้” และ “แก่นความรู้” ของ “คุณอำนวย” ที่ “คุณลิขิต” ทั้งสองคนบันทึกไว้ ก็แล้วกันนะครับ
  • เวที "คุณอำนวย" ครั้งที่ ๑ จัดเมื่อ ๒ - ๓ มิย. ๔๘ ที่บ้านผู้หว่านเช่นเดียวกัน
    วิจารณ์ พานิช
    ๑๗ เมย. ๔๙
    บ้านผู้หว่าน
หมายเลขบันทึก: 24225เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
KM ในกรมการแพทย์...?

กราบเรียน ท่านอาจารย์ หมอวิจารณ์ ที่นับถือ

 ผมขอเรียน หารือท่านอาจารย์ เรื่อง เครือข่าย KF-CoP หากจะขอรบกวนสถานที่ สคส ในวันที่ สคส จัดประชุมประจำเดือน หรือ สองเดือน เพื่อ เป็นเวที "ลปรร เพื่อการสร้างและพัฒนาให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้" จะเหมาะหรือไม่ครับ

ผมคิดว่าใช้ B2B (Bit to Bit) เป็นหลักจะดีกว่าไหมครับ    ไม่เสียเวลาและประหยัด    เป็นการ ลปรร. เคล็ดลับการเป็นคุณอำนวย ๕๐%   และ ร่วมกันวางแผนการทำงานให้สังคมไทย (จัด Training Workshop) ๕๐% จะดีไหมครับ   ผมคิดว่าต้องให้กระทบการทำงานประจำของสมาชิกให้น้อยที่สุดครับ

วันที่ ๒๖ เมย. สคส. จะทำ AAR กัน   แล้วคุณธวัชคงจะติดต่อ อ. JJ อีกครั้งนะครับ

วิจารณ์

รับทราบครับ ได้แจ้งให้ทีมงานต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท