มาเพิ่ม Empowerment ด้วย SBM กันเถอะ


การกระจายอำนาจให้บุคลากรมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะเกิดพลังผสานร่วมที่ยั่งยืน

     เราคงได้ยินข่าวการร้องเรียนจากผู้ปกครองเรื่องการเรียกเก็บเงินนักเรียน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนเป็นประจำ มีทั้งในต้นปีการศึกษาช่วงรับเด็กเข้าเรียน ช่วงกลางเทอม หรือตลอดทั้งปี  ผู้ปกครองบางคนก็ร้องเรียนไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหาได้

     เรื่องนี้ที่จริง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 39 ได้ให้กระทรวงฯกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาโดยตรง ให้สามารถบริหารบริหารจัดการทั้งด้านวิชาการ  งบประมาณ  บุคคล และการบริหารทั่วไปได้อย่างเบ็ดเสร็จ  แต่ต้องบริหารในรูปองค์คณะบุคคล  คือกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ระบุไว้ในมาตรา 40 ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู  ผู้แทนองค์กรชุมชน  ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้แทนศิษย์เก่า  ผู้แทนพระภิกษุสงฆ์และหรือผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในพื้นที่  ผู้ทรงคุณวุฒิ  และมีผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของกรรมการดังกล่าวมี 3 ลักษณะ คือ 1)กำกับ  2)ส่งเสริมสนับสนุน และ 3)อำนาจอื่นๆตามที่กฏหมาย กฏ ระเบียบ ประกาศ ฯลฯ กำหนด

      ตามกฏหมายดังกล่าวก็คือ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM) ที่มีหลักการสำคัญๆอย่างน้อย 3 เรื่องให้โรงเรียนนำไปเป็นแนวทางในการบริหารคือ 1) การกระจายอำนาจ  2) การมีส่วนร่วม  3)ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้(accountability) นันเอง 

      ซึ่งตามกฏหมายกำหนดให้ ผู้บริหารสถานศึกษา ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ ก็เพราะเห็นว่าผู้บริหารเป็นบุคคลสำคัญที่จะสะท้อนภาพของการบริหารจัดการ  ผู้ช่วยเหลือ  ให้คำปรึกษา  สร้างแรงจูงใจ  กระตุ้นการทำงาน  ทบทวนรายงาน  สะท้อนความคิด  เปิดโอกาสให้ผู้แทนแต่ละกลุ่มได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่  จัดเตรียมการประชุม  บันทึกการประชุม  รายงานผลการประชุม  และสนับสนุนด้านอุปกรณ์  ห้องประชุม  วัสดุใช้สอย ฯลฯ รวมทั้งการพิจารณานำมติ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปสู่การปฏิบัติ

       ดังนั้นหากผู้บริหารจะใช้ศักยภาพที่หลากหลายของคณะกรรมการเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการ (รวมทั้งการกำหนดแนวทางในการระดมทรัพยากรด้วย)ก็จะทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างพลังผสานร่วม(Empowerment)เชื่อมโยงไปสู่ผู้ปฏิบัติอย่างเป็นระบบ อย่างโปร่งใส บนหลักธรรมาภิบาล ที่จะช่วยเป็นเกราะปกป้องคุ้มครองผู้บริหารให้พ้นจากข้อครหาใดใดทั้งมวล  โดยยิ่งจะเสริมบารมีทำให้ผู้บริหารมีความโดดเด่นเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

        พรบ.การศึกษาแห่งชาติประกาศใช้มาเป็นปีที่ 7 แล้ว แต่ผลการประชุมสัมมนายังพบว่า โรงเรียนใช้คณะกรรมการสถานศึกษาเป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างแท้จริงน้อยมาก ทั้งๆที่กระทรวงได้กระจายอำนาจให้โรงเรียนทำ SBM ได้เอง แต่ถ้าโรงเรียนจะยังทำเป็น SBM เทียมๆไม่ใช่ของแท้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 24193เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท