คลังโล่งรัฐวิสาหกิจแห่ส่งเงินเข้ากงสี


คลังโล่งรัฐวิสาหกิจแห่ส่งเงินเข้ากงสี คุมเข้มจัดลำดับบริหารการเบิกจ่าย-ลุ้นผ่านเดือน เม.ย.
     นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง     ขอยืนยันว่าปัญหาเรื่องการขาดกระแสเงินสดในปีงบประมาณ 2549 ได้ยุติลงแล้ว และเงินคงคลังได้กลับมา  สูงมากกว่า 40,000 ล้านบาท และเชื่อว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่เงินจากภาษีเงินได้นิติบุคคลเริ่มทยอยนำส่งเข้ามาในเดือน พ.ค.นี้ โดยในระหว่างที่เงินภาษีก้อนใหญ่ยังไม่ได้เข้ามานั้น รายได้หลักที่จะใช้ในการจ่าย     ให้กับฎีกาเบิกจ่ายจากส่วนราชการอื่น ๆ ประมาณวันละ 5,000 ล้านบาท จะมาจากเงินในส่วนของกำไรรัฐวิสาหกิจที่นำส่งเข้ามา โดยในเดือน เม.ย.นี้  รายได้ที่สำคัญ คือ กำไรจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะนำส่งเข้ามาประมาณ 13,000 ล้านบาท และรายได้ของรัฐวิสาหกิจอื่นที่ได้นำส่งมาก่อนหน้านี้    "การเบิกจ่ายก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้หน่วยราชการที่ยื่นฎีกาเข้ามาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ   โดยกรมบัญชีกลางจะใช้วิธีจัดลำดับรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้ 1. ค่าจ้างที่เป็นเงินเดือนค่าจ้าง   2. รายการเบิกที่เข้ามาก่อน  และ 3. รายจ่ายที่มีกำหนดระยะหมดอายุ เช่นถ้าไม่จ่ายจะถูกปรับตามสัญญา เป็นต้น ซึ่งกรมบัญชีกลางก็จะบริหารงานตามกรอบนี้ให้ผ่านพ้นเดือน เม.ย. ไปได้" นายบุญศักดิ์กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ต.ค. 2548 - มี.ค. 2549) รัฐวิสาหกิจได้นำส่งรายได้รวม 62,294 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,443 ล้านบาท  คิดเป็น 17.9%   โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารออมสิน   โรงงานยาสูบ  สำนักงาน   สลากกินแบ่งรัฐบาล โดยนำส่งรายได้จำนวน 6,000 5,835 และ 5,854 ล้านบาท ตามลำดับ
น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2548 ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ รวมมูลค่า 71,082 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 140 ล้านบาทต่อบริษัท โดยบริษัทจดทะเบียน 504 บริษัท เสียภาษีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณ 20% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบซึ่งมีจำนวนนิติบุคคลรวมประมาณ 260,000 บริษัท
บริษัทที่เข้าจดทะเบียนระหว่างปี 2544-2548 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่เข้าจดทะเบียนถึงปี 2548  รวมมูลค่า 55,152 ล้านบาท โดยหากเปรียบเทียบจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนกับจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลของนิติบุคคลทั้งระบบในช่วงปี 2544-2547 แล้ว พบว่าบริษัทจดทะเบียนเสียภาษีโดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ในขณะที่นิติบุคคลทั่วไปมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 16%   อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทซึ่งแสดงความสนใจจะเข้าจดทะเบียน เนื่องจากต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปี 2549 อีกจำนวน 120 บริษัท เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมีส่วนช่วยชดเชยภาระค่าใช้จ่ายในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน
ข่าวสด  มติชน  17  เมษายน  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24158เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2006 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท