บรรณานุกรม


หนังสืออ้างอิง

บรรณานุกรม (Bibliography)

 

               บรรณานุกรม (Bibliography)เป็นหนังสืออ้างอิงที่ชี้แหล่งข้อมูล เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทที่บอกให้ทราบว่าจะหาสารสนเทศจากแหล่งใด และจะไม่มีสารสนเทศที่ต้องการทันที แต่จะบอกแหล่งที่ให้บริการว่าสามารถสืบค้นสารสนเทศได้จากที่ใด 

               บรรณานุกรม(Bibliography) คือหนังสือที่รวบรวมรายชื่อหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ  เข้าด้วยกัน โดยเรียงตามลำดับอักษรตัวแรกของผู้แต่ง ถ้าเป็นชาวต่างประเทศจัดเรียงตามลำดับอักษรตัวแรกของนามสกุล รายละเอียดของแต่ละชื่อเรื่อง  ประกอบด้วย ชื่อและนามสกุลของผู้แต่ง  ชื่อเรื่อง  สถานที่พิมพ์  สำนักพิมพ์  ปีที่พิมพ์ แต่ละรายชื่ออาจมีบรรณานิทัศน์สังเขปประกอบด้วยก็ได้  (สุทธิลักษณ์  อำพันวงศ์, 2535: 55)

        บรรณานุกรม  เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับรายชื่อหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ  ทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บรรณานุกรมของแต่ละรายการส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือหรือสิ่งพิมพ์  ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์  เมืองที่พิมพ์  ปีที่พิมพ์ อาจจะมีจำนวนหน้าและราคา หรือบางครั้งอาจจะมีบรรณนิทัศน์ประกอบด้วย

        ความสำคัญของบรรณานุกรม

        เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว มีผลให้เกิดการผลิตสารนิเทศในรูปแบบของ         สื่อสิ่งพิมพ์ตลอดจนสื่อในลักษณะอื่น ๆ เป็นจำนวนมากมายมหาศาลตามไปด้วย ดังนั้นบรรณารักษ์จึงต้องมีเครื่องติดตามความเคลื่อนไหวของสื่อสารนิเทศ เพื่อช่วยในการคัดเลือกสิ่งพิมพ์และสื่ออื่น ๆอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยในงานบริการผู้อ่านให้สามารถค้นคว้าหาสารนิเทศประกอบการศึกษา  วิจัย และการหาทรัพยากรสารนิเทศได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน เครื่องมือดังกล่าวข้างต้นก็คือบรรณานุกรม ซึ่งมีความสำคัญต่อหน่วยงานสารนิเทศทุกประเภทในฐานะเป็นคู่มือจัดหาและคู่มือบริการที่ห้องสมุดทุกแห่งและหน่วยงานสารนิเทศทุกหน่วยจะต้องมีไว้เพื่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพของบรรณารักษ์ ตลอดจนนักเอกสารสารสนเทศทุกคนจะขาดไม่ได้ บรรณานุกรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบรรณารักษ์ในแง่ทำหน้าที่เป็นคล้ายแผนที่นำทางของบรรณารักษ์ในการติดตามความเคลื่อนไหวในความก้าวหน้าทางวิชาการแขนงต่างๆ พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อทรัพยากรสารนิเทศทุกประเภท

               ประโยชน์ของบรรณานุกรม

                บรรณานุกรม เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีประโยชน์  ดังที่พิมลพรรณ ประเสริฐวงษ์ แรพเพอร์  ได้เสนอแนะไว้  3 ประการ  คือ

                     1) เพื่อช่วยในการหาหนังสือเล่มที่ต้องการ  (Locate) บรรณานุกรมจะเป็นเครื่องช่วยบอกให้ทราบว่าจะหาซื้อหนังสือเล่มที่ต้องการนั้นได้จากสำนักพิมพ์ใด หรือจะยืมได้จากหอสมุด แห่งใด (ในกรณีที่เป็นบรรณานุกรมที่ระบุแหล่งที่อยู่ของหนังสือเล่มหนึ่งๆ  เช่น  Nation  Union  Catalog) หรือช่วยให้ทราบว่าหนังสือหรือวัสดุที่เกี่ยวข้องในแขนงวิชาที่เราต้องการมีหรือไม่ กว้างขวางแค่ใด  มีใครเป็นผู้แต่ง  ผู้พิมพ์ พิมพ์เมื่อใด  ราคาเท่าไหร่

                     2) เพื่อช่วยในการพิสูจน์ตรวจสอบ  (Identify  และ Verify)  ว่ารายละเอียดของหนังสือเล่มหนึ่ง ๆ ซึ่งประกอบด้วยชื่อเรื่อง  ชื่อผู้เขียน  ปีพิมพ์ สถานที่พิมพ์  จำนวนหน้า  ภาพประกอบและข้อเท็จจริงอื่นๆ  เป็นไปตามนั้นจริง ๆ หรือทำให้ทราบแน่ชัดว่าบัดนี้ได้มีการพิมพ์หนังสือ    ชื่อนั้น ๆ  ขึ้นแล้วโดยสำนักพิมพ์หนึ่ง

                     3) เพื่อช่วยในการเลือกหนังสือ  (Selection) สำหรับบรรณารักษ์ บรรณานุกรมจะเป็นเครื่องมือช่วยในการคัดเลือกหนังสือที่ดีมีคุณค่าเหมาะสมกับผู้ใช้ห้องสมุด สำหรับผู้ใช้ห้องสมุดทั่วๆไป บรรณานุกรมจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้อ่านได้เลือกหนังสือที่ดี หรือเลือกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับแขนงวิชาที่ผู้อ่านต้องการใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้า ทั้งนี้เพราะบรรณานุกรมโดยทั่วไปมักจะให้คำวิจารณ์หรือให้เนื้อเรื่องเกี่ยวกับหนังสือหรือวัสดุที่ได้รวบรวมไว้อย่างย่อๆ ด้วย

               วิธีใช้บรรณานุกรม

                     1) พิจารณาดูว่าเรื่องที่ต้องการเป็นบรรณานุกรมทั่วไปหรือเฉพาะวิชา

                     2) พิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการเป็นบรรณานุกรมลักษณะใด

                          2.1)  เป็นบรรณานุกรมอย่างเดียว

                          2.2)  เป็นบรรณานุกรมที่มีบรรณนิทัศน์สังเขป

                          2.3)  เป็นบรรณานุกรมและมีคำวิจารณ์ประกอบ

                     3) เลือกใช้ประเภทบรรณานุกรมให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงที่ต้องการ

บรรณานุกรมสามารถจำแนกในลักษณะต่างๆ ได้  7  ประเภท  คือ 

               1. บรรณานุกรมทั่วไป เป็นบรรณานุกรมที่รวบรวมรายชื่อหนังสือ  หนังสือพิมพ์  สิ่งพิมพ์ต่างๆ  สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำกัดว่าพิมพ์ในประเทศใด  หรือภาษาใด 

               2. บรรณานุกรมแห่งชาติ เป็นบรรณานุกรมของหนังสือและสิ่งพิมพ์  ตลอดจนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ 

               3. บรรณานุกรมเพื่อการค้าหรือบรรณานุกรมของสำนักพิมพ์ เป็นบรรณานุกรมที่สำนักพิมพ์ บริษัทหรือร้านค้าจัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์ในการขายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์เหล่านั้น 

               4. บรรณานุกรมฉบับพิเศษ เป็นบรรณานุกรมที่จัดพิมพ์เฉพาะในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง หรือสิ่งพิมพ์ของนักเขียนคนใดคนหนึ่ง 

               5. บรรณานุกรมเลือกสรร เป็นบรรณานุกรมที่เลือกสรรแล้วว่าดีที่สุด 

               6. บรรณานุกรมเฉพาะวิชา เป็นบรรณานุกรมที่รวบรวมรายชื่อหนังสือ  สิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น 

               7. บรรณานุกรมของบรรณานุกรม  คือ หนังสือบรรณานุกรมที่ให้รายชื่อหนังสือที่เป็นบรรณานุกรมที่มีประโยชน์ โดยมากจัดทำในแขนงวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อบุคคลในวงการอาชีพหนึ่ง 

 

บรรณานุกรมที่ควรรู้จัก

 

 

            1. บรรณานุกรมสิ่งพิมพ์รัฐบาล  โดย  สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

                2. บรรณานุกรมสิ่งพิมพ์ของกระทรวงศึกษาธิการ  โดย กระทรวงศึกษาธิการ

               3. บรรณานุกรมสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เล่ม 1 โดยสำนักเลขาธิการรัฐมนตรี

 

สรุป

                 บรรณานุกรม คือ  หนังสือรวบรวมรายชื่อหนังสือ แต่ละชื่อจะบอกให้ทราบชื่อผู้แต่ง  ชื่อหนังสือ สถานที่พิมพ์  สำนักพิมพ์  หรือผู้จัดพิมพ์ ปีที่พิมพ์  จำนวนหน้า  ราคา บางเล่มให้รายละเอียดเรื่องย่อของหนังสือด้วย ซึ่งเรียกว่า  บรรณนิทัศน์ประกอบบรรณานุกรม มีประโยชน์สำหรับใช้เป็นคู่มือจัดหาและค้นหาทรัพยากรสารนิเทศทั้งหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนังสือบรรณานุกรมบางเล่มอาจรวบรวมเฉพาะชื่อหนังสือในแขนงวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง  หรือรวมรายชื่อหนังสือทั่ว ๆ ไปก็ได้

 

แหล่งที่มา

 

      นันทา วิทวุฒิศักดิ์. สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : ดี.ดี.บุ๊คสโตร์,2536.

      สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. การใช้บริการห้องสมุดและการเขียนรายงาน

การค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช, 2535. 

      สุนิตย์ เย็นสบาย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง. 

พิมพ์ครั้งที่2.  กรุงเทพฯ:

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎ

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2543.

_____ . สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ : ภาควิชา

บรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบัน

ราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2539.

หมายเลขบันทึก: 240985เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2009 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณคะ

ข้อมูลดีๆๆจริงเลยคะ....

งานอาจารย์ หายากจริงๆ

แล้ว บรรณานุกรมสามารถจำแนกในลักษณะต่างๆ ได้ 7 ประเภท มีแบบตัวอย่างไมครับ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท