ชีวิตที่พอเพียง : 2. ตัดสินใจไม่หาเงิน


ไม่หาเงินเสริมรายได้จากเงินเดือนราชการ หันไปฝึกกินอยู่แบบประหยัด แบบพอเพียง

ชีวิตที่พอเพียง : 2. ตัดสินใจไม่หาเงิน

  • คนเป็นหมอ กว่าร้อยละ ๙๐ เปิดคลินิกส่วนตัว เพื่อหารายได้เสริม   ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอ 
  • ผมเคยไปทำคลินิกของคนอื่น เพื่อหารายได้เสริมอยู่ปีสองปี   รายได้มากกว่าเงินเดือนราชการมาก   แต่รู้สึกว่าไม่ชอบ จึงเลิก  
  • การเป็นหมอที่รักษาคนไข้ ไม่ใช่แค่ได้ลาภลอยเป็นเงินเท่านั้น ยังมีของฝาก และความรู้สึกเป็นบุญคุณ และชื่อเสียงในหมู่คนไข้ ด้วย   สิ่งเหล่านี้คือผลประโยชน์ในรูปที่ไม่ใช่เงิน
  • การตัดสินใจเปลี่ยนจากเป็นแพทย์ทางคลินิก (รักษาคนไข้) ไปเป็นหมอปรีคลินิค (ทำ lab – ไม่รักษาคนไข้) เท่ากับเป็นการละจากผลประโยชน์ที่จะได้จากการรักษาคนไข้   ไปสู่ผลประโยชน์ในการทำงานเชิงระบบ ทำงานวิจัย ที่ผมรัก
  • เมื่อตัดสินใจเช่นนี้ ก็ต้องเตรียมตัวใช้ชีวิตแบบประหยัด แบบพอเพียง    ต้องขอบคุณคู่ชีวิต ที่ไม่บ่นอยู่นานเกินไป
  • แม่บ่นนานกว่า เกือบ ๑๐ ปี   “อุดมคติกินไม่ได้นะลูกเอ๋ย”   แม่ไม่ได้หวังพึ่งเงินจากเรา    แต่เป็นห่วงความมั่นคงของครอบครัว และหลานๆ 
  • ใช้เวลาหลายปี กว่าสังคมรอบข้างจะยอมรับว่าคนเป็นหมอที่ไม่มีเงินมาก ต้องอยู่อย่างประหยัด ก็มีเหมือนกัน
  • เพราะเลือกทางเดิน “นอกแถว” จึงมีโอกาสออกผจญภัย เผชิญโชค/เคราะห์ ในการทำงาน   มีโอกาสทำงานแบบไม่มีสูตรตายตัว    มีการเรียนรู้สูง    จึงมีประสบการณ์กว้าง   มีมุมมองที่ “มองต่างมุม” ได้มาก
  • มาตรฐานการครองชีพของเราจึงอยู่แบบคนทั่วไป ไม่ใช่มาตรฐานหมอ   เป็นมาตรฐานของ “ชีวิตที่พอเพียง”


วิจารณ์ พานิช
๑๔ เมย. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 23995เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2006 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
คนอ่านที่คิดคล้ายกัน

ดีใจที่มีหมอแบบนี้ ปรกติเคยพบแต่หมอที่เปิดคลีนิคเพื่อหารายได้ จนให้ความสำคัญกับคลีนิคมากกว่าโรงพยาบาลประจำของรัฐและให้ความสำคัญกับคนไข้ที่คลีนิคมากกว่าคนไข้ที่โรงพบาบาล  เคยคิดว่าความสุขแบบพอเพียงอาจเป็นเรื่องยากในสังคมปัจจุบัน  แต่ถ้ามีแบบอย่างให้เด็กรุ่นใหม่เจริญรอยตามบ้างจะดีไม่น้อย

สร้างกำลังให้นางเอก(/พระเอก) เมื่อตัดสินใจ "ไม่หาเงิน" 
        ในวัยทำงานแบบนึ้ เมื่อตัดสินใจไม่หาเงิน การเรียนรู้เพื่อฝึกใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ถ้าเปรียบเหมือนดูละครก็จะเป็นละครชีวิตละค่ะ นางเอกสู้กับนางร้ายวินาทีต่อวินาที แล้วละครเรื่องนี้ก็เป็นละครเรื่องของใครของมันด้วยสิค่ะ ใครอินกับเรื่องไหนก็จะเห็นนางร้ายเรื่องนั้นๆ ร้ายสุดๆ ก็เรื่องปัจจัย 4 หรือ 5 ในปัจจุบันที่แต่ละคนให้ความสำคัญต่างกัน ดิฉันเมื่อเริ่มทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง ก็ให้ความสำคัญไปกับเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร เครื่องใช้อำนวยความสะดวก แต่ก็ได้เลือกใช้ชีวิตการทำงานตามที่ต้องการ ทุกอย่างคือการเรียนรู้ แล้ววันหนึ่งฉันก็โชคดีที่ได้รู้จักวิธีการสร้างกำลังให้นางเอก พร้อมๆกับรู้จักดูแลสอดส่องนางร้าย นางร้ายประเภทอยากกิน อยากได้นู้นได้นี่ ดูเหมือนเป็นนางร้ายตัวเล็กๆ สำหรับดิฉันก็ตบไม่ให้เกิดได้ค่ะ (นางเอกชนะ) แต่อย่าลืมนะคะ นางร้ายมีหลายตัวค่ะ แล้วนางร้ายตัวใหญ่ของฉันก็มาปรากฏตัวค่ะเมื่ออายุฉันมากขึ้น อยากตอบแทนเลี้ยงดูครอบครัวให้ดีค่ะ อยากสร้างบ้านดีๆ อยากพาท่านไปเที่ยวที่ต่างๆ  ต้องเตรียมเงินเพื่อการดูแลรักษาท่าน คิดว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันดีไม่พอ เฮ้อ! ใช้เงินทั้งนั้น ความสามารถเราก็มี สามารถหารายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แล้วทำไมไม่ไปทำน่ะมาทำอะไรอยู่เนี่ยะ รายได้ก็น้อย ทุกข์จริงๆ ตอนนี้เหมือนดูละครน้ำเน่านางเอกกำลังถูกรังแก แล้วดิฉันก็หลงเห็นนางร้ายเป็นนางเอกไปแล้วค่ะ(เกิดทุกข์)  อย่าเพิ่งคิดว่านางเอกเสียท่านะคะ บอกแล้วว่าดิฉันโชคดีรู้วิธีการสร้างกำลังให้นางเอก และรู้วิธีดูนางร้ายออก ต่อให้มาดีแค่ไหนนางร้ายก็คือนางร้ายดิฉันดูออกค่ะ (จริงๆ เสียท่าไปแล้วเล็กน้อยค่ะ) เพราะรู้ตัวว่านางเอกของดิฉันกำลังจะเสียท่าไปทุกที(กำลังลดลง) ดิฉันจึงต้องรีบไปหาที่ที่ฝึกสร้างกำลังให้นางเอกไปหายุทธวิธีปราบนางร้าย จึงไปวัดป่าธรรมอุทธยาน จ.ขอนแก่นไปกราบหลวงพ่อกล้วย หลวงพ่อสอนว่า "ถ้าคิดแล้วทุกข์ ก็หยุดคิด ที่ทำดีแล้วก็ทำดีต่อไป ถ้าอยากทำดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องใช้กาลใช้เวลา" ในวินาทีที่นางเอกของฉันกำลังแข็งแรง แยกแยะนางร้ายได้ชัดเจน นางเอกย่อมชนะนางร้ายเป็นธรรมดา (เป็นละครยุทธจักรไปแล้ว..ธรรมะย่อมชนะอธรรม) เพราะการต่อสู้นี้เป็นแบบวินาทีต่อวินาที และมีนางร้ายมาปรากฏตัวเสมอในการดำเนินชีวิตตามปกติของเรา ฉันต้องเตือนนางเอกของฉันเสมอว่า "น้องสติ จงอยู่กับปัจจุบัน รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ตลอดเวลา รู้ว่าตอนนี้เดี๋ยวนี้กำลังทำอะไรอยู่ ทำไป ที่คิดดีทำดี ทำต่อไป"  และแอบช่วยนางเอกของฉัน เมื่อฉันเห็นนางร้ายก่อตัว ฉันก็จะบอกกับตัวเองว่า "ความคิด....ออกไป๊" และบอกกับตัวเองเสมอว่าอย่าได้หลง แม้คิดดี ถ้าเป็นความคิดที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน


ขออนุญาตใช้หัวข้ออาจารย์เป็นประเด็นในการ show & share และแสดงความคิดเห็นนะคะ กำลังหาโอกาสสร้าง blog ของตัวเอง เพราะรู้หัวข้อ/ประเด็นตามที่อาจารย์แนะนำค่ะ
ขอบคุณค่ะ

ดิฉันชื่นชมท่านอาจารย์มากๆ เลยค่ะ

ไม่ทราบว่าในเมืองไทยจะขยายจากร้อยละ ๑๐ ได้อีกหรือไม่

คุณหมอเจค็อบเคยพูดไว้ว่า"คุณหมอ"(ส่วนใหญ่)

๑.เห็นคนไข้เสียชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา

๒.รับเงินจากบริษัทยา

๓.คำนึงถึงการรักษา"โรค" มากกว่ามองสุขภาพองค์รวม

หมอที่ทำคลินิคหาเงินด้วยก็ไม่เป็นการเสียหายนะครับ   ยิ่งเป็นการช่วยทำประโยชน์ให้คนไข้ด้วยซ้ำไป   ถ้าเขารักษาในราคาไม่แพงเกินไป   และถือคนไข้เหมือนญาติ

ผมประทับใจหมอกระสวย ศาสตรสิงห์ ซึ่งเป็นหมอเปิดคลินิคอย่างเดียวที่หาดใหญ่ และรวยมาก คนไข้วันละ ๒ - ๓ ร้อยคน   วันหนึ่ง (ประมาณปี ๒๕๑๘) ผมไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กับทีมแพทย์ทหารอากาศแถวตำบลวังพา อ. หาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง   ได้คุยกับคนไข้คนหนึ่งซึ่งเคยไปรักษากับหมอกระสวย   คำพูดและน้ำเสียงที่เขาเล่าถึงคำพูดของหมอกระสวยทำให้ผมเข้าใจว่าทำไมคนไข้ติดหมอกระสวยมากขนาดนั้น   ข้อสรุปก็คือหมอกระสวยปฏิบัติต่อคนไข้เหมือนญาติ    หมอกระสวยเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว   ถ้ายังอยู่ก็จะอายุประมาณ ๘๕ ปี

ทุกอย่างอยู่ที่ความพอดีครับ    หมอที่ไม่เปิดคลินิคหาเงินไม่ได้เป็นคนดีกว่าหมอที่หาเงินครับ   ดีไม่ดีต้องดูที่หลายๆ ด้าน   อย่าตัดสินด้วยด้านเดียวครับ

ผมสังเกตว่าอาจารย์หมอของ มอ. ที่ผมเคยอยู่ คนที่เปิดคลินิคจะรู้จักคน มีสังคมกว้างขวาง    ผมเสียอีกเป็นคนแคบไม่เป็นที่รู้จักในหาดใหญ่   ตอนผมเป็นคณบดีเวลาจัดงานที่ต้องการความร่วมมือจากคนในหาดใหญ่ต้องอาศัยพวออาจารย์แพทย์ที่ทำคลินิคเป็นกรรมการ 

วิจารณ์ พานิช 

    ท่านอาจารย์กำลังพิสูจน์ "ความไม่หวั่นไหวในโลกธรรม" ได้แจ่มชัดจริงๆจากข้อเขียนตอบต่อจากคุณปิยะนุช  ผมจะต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ให้มากที่สุด  และอยากวิงวอนให้ช่วยเป็นกันให้มากๆ  ผมว่าสรรเสริญที่มาจากศรัทธานั้นเป็นเรื่องดี  และเป็นธรรมดาในโลกอย่างหนึ่ง  แต่คนส่วนมากจะรับมันมาแล้วก็เอียง  ไม่มากก็น้อย  ในที่สุดความจริงแท้ที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญาของผู้คนก็ถูกปิดกั้น  เนื่องจากความหวั่นไหวในโลกธรรมเป็นเหตุ  ... ขอขอบพระคุณมากครับ

อาจารย์หมอวิจารณ์ครับ ขอร่วม ลปรร.ด้วยนะครับ

     จริง ๆ แล้วในมุมมอง (ของผม...หมออนามัย)
รับรู้ว่าการที่แพทย์เปิดคลินิกส่วนตัวนอกเวลาราชการนั้น
เป็นสิทธิของแพทย์ และได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ทุกอย่างครับ
แต่สำคัญอยู่ที่เจตนาอันบริสุทธิต่อการดูแลสุขภาพประชาชน
และได้แอบแฝงเพื่อเบียดบังประโยชน์จาก รัฐ/รพ./ประชาชน
หรือไม่มากกว่าครับ

     แพทย์เปิดคลินิกส่วนตัว หรือ รพ.เอกชน ให้บริการ
เมื่อมองเข้าไปในระบบสุขภาพทั้งระบบ ไม่มีข้อใดเสียเลย
มีแต่ได้ และเป็นการแบ่งเบาภาระการเงินการคลังของรัฐ
ในการจัดสวัสดิการแก่ประชาชนได้มาก ตามหลักการว่า
หาก (1) มีความสามารถที่จะจ่าย
และ (2) พอใจที่จะจ่าย ได้
ประชาชนก็ควรจะจ่ายเองเพื่อสุขภาพตนเอง
แต่หากขาดข้อหนึ่งข้อใดไป ก็ได้รับสิทธิเสมอกัน

     ระบบหลักประกันสุขภาพ ก็จะเบาสบาย คนยากจน คนชายขอบ
ก็จะไม่ถูกแย่งใช้ทรัพยากรอันจำกัดจำเขี่ยอยู่แล้วไปเสียอีก
ซึ่งจะเหลือเป็นบริการที่ดีพอควร ไม่ใช่แย่เท่าเทียมกัน
เพราะไม่ว่าใครก็มาใช้สิทธิตรงนี้กันหมด
คลินิกแพทย์(ส่วนตัว) หรือ รพ.เอกชน ร่วมให้บริการในระบบฯ
จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม สำหรับฐานะของรัฐแบบไทย ๆ ในวันนี้

     ประเด็นจึงมาอยู่ที่ว่ารัฐ/องค์กรวิชาชีพ ได้พยายาม
ดำเนินการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ
และราคาไม่แพง จนเป็นการเอาเปรียบกันเกินไปหรือไม่

     เน้นว่าผมอาจจะคิดผิดและเพ้อไปเอง
แต่ก็คิดเช่นนี้จริง ๆ ครับ และคิดว่าทุกวันนี้
ประเด็นหน้าที่ของรัฐ/องค์กรวิชาชีพ
ยังดำเนินการไม่สมบทบาทครับ
(ตามทัศนะของผม)

     หมอกระสวยที่หาดใหญ่นั้นผมได้ทันไปใช้บริการด้วยครับ
ข้อมูลที่อาจารย์พูดถึงสัมผัสมาด้วยตนเอง และจริง ๆ เช่นนั้นครับ

เห็นด้วยกับคุณชายขอบครับ

ทุกอย่างขึ้นกับความพอดี

ความดี ต้องกำกับโดยคุณธรรมหลายข้อ  ไม่ใช่ข้อเดียว

วิจารณ์ พานิช

เป็นหมอแบบนี้ก็ดีแล้วค่ะ แต่อยากบอกให้ทราบอย่างหนึ่งว่าหมอกระสวยศาสตรสิงห์ยังไม่ได้เสียชีวิตนะคะเพราะว่าท่านเป็นปู่แท้ๆของหนูค่ะ และอนาคตหนูอยากจะเป็นคุณหมอที่ดีและเก่งอย่างคุณหมอค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท